LGBTQ movies
Images courtesy of film studios
Images courtesy of film studios

30 หนังและซีรีส์ LGBTQ+ ที่เราประทับใจมากที่สุด

ชวนไปดูภาพความหลากหลายของเพศสภาพ ความรัก และตัวตนมนุษย์ ผ่านภาพยนตร์และซีรีส์ที่เราประทับใจจากทั่วทุกมุมโลก

เขียนโดย: Pacharakamon Chomyindee
การโฆษณา

Time Out ร่วมฉลองจิตวิญญาณของตัวตนและความรักที่หลากหลาย ผ่านภาพยนตร์ ซีรีส์ และสารคดี 30 เรื่อง ผ่านโปรเจ็กเล็กๆ ของเราที่ชื่อว่า Time Out Pride Cinema

RECOMMENDED: ตัวละครจากหนังและซีรีส์ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ทุกแถบสีของความรัก

Love, Simon

ภาพยนตร์ดัดแปลงจากนิยายเรื่อง Simon vs. the Homo Sapiens Agenda โดย Becky Albertalli เล่าชีวิตของ ไซมอน เด็กหนุ่มธรรมดาทั่วไปที่มีครอบครัวสมบูรณ์ และเพื่อนไฮสคูลที่น่ารัก มีความลับเพียงข้อเดียวคือ เขาไม่เคยบอกใครว่าเป็นเกย์เท่านั้นเอง แต่ไซมอนก็มีเพื่อนที่ให้เขาระบายความรู้สึกที่ต้องปิดบังตัวตน นามว่า Blue (บลู) โดยที่ทั้งสองพูดคุยกันผ่านอีเมลทั้งที่ไม่รู้ว่าตัวตนอีกฝ่าย และในภาพยนตร์จะชวนให้เราอยากรู้ว่าคนไหนกันแน่ คือบลูที่ไซมอนคุยด้วยผ่านอีเมลลับๆ เหล่านั้น

แม้หน้าหนังจะเป็นเรื่อง coming-of-age ของชายหนุ่ม แต่ Love, Simon มีอะไรซ่อนไว้มากกว่านั้น ทั้งมุมมองความรัก ครอบครัว เพื่อน และการยอมรับตัวเอง โดยเฉพาะฉากที่ความลับทุกอย่างไม่ใช่ความลับอีกต่อไป ภาพยนตร์ก็เล่าทุกอย่างให้เราอินไปกับความรู้สึกตัวละครได้จนทำหลายคนดูไปแล้วน้ำตาซึม

The Favourite

หนังเลสเบี้ยนอิงประวัติศาสตร์ว่าด้วยเรื่องราวในรั้วในวังอังกฤษช่วงต้นศตวรรษที่ 17 เมื่อสมเด็จพระราชินีแอนน์ (โอลิเวีย โคลแมน) ต้องตกอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายทั้งการเมืองและเรื่องรักๆ ใคร่ๆ อันเป็นเส้นเรื่องหลัก

เรื่องทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นเมื่อ ซาราห์ (เรเชล ไวสซ์) หญิงคนสนิทของพระราชินี ผู้เป็นทุกอย่างให้พระองค์แล้ว ทั้งเรื่องส่วนตัว เรื่องในวัง นอกวัง รวมถึงเรื่องบนเตียง ได้พา อบิเกล (เอ็มมา สโตน) ญาติห่างๆ ซึ่งเป็นผู้ดีตกอับเข้ามาเป็นหญิงรับใช้ในวัง แต่ด้วยความทะเยอทะยานและอยากขึ้นไปอยู่ในสังคมชั้นสูง (อีกครั้ง) อบิเกลจึงใช้มารยาหญิงลวงล่อให้พระราชินีลุ่มหลงถึงขั้นยอมขับไล่ไสส่งซาราห์ออกจากวังและยกเธอขึ้นไปแทนที่

ด้วยความที่หนังเรื่องนี้เป็นผลงานการกำกับของ ยอร์กอส ลานธิมอส ผู้กำกับสายอินดี้ที่มีสไตล์อันโดดเด่น สิ่งที่คนดูได้จึงมีมากกว่าความบันเทิง ไม่ว่าจะเป็น การเสียดสีนักการเมืองเลวผ่านตัวละครขุนนางที่ไม่เคยเหลียวแลความทุกข์ร้อนของประชาชน การสะท้อนความต่ำตมที่มีให้เห็นอยู่ทั่วไปแม้ในสังคมชั้นสูง รวมถึงงานสร้างอันเป็นเอกลักษณ์ของเขา

นอกจากนี้หนังยังส่งให้ โอลิเวีย โคลแมน คว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจาก 2 เวทีใหญ่อย่างออสการ์และลูกโลกทองคำ มาครองได้สำเร็จ

การโฆษณา

Brokeback Mountain

หนังรักสุดคลาสสิกที่ทำเอาหลายคนอยากหยิบมาดูอีกซ้ำๆ เพื่อดื่มด่ำบรรยากาศกลางหุบเขาที่ซ่อนความลับในฤดูร้อนของปี 1963 ที่ความรู้สึกระหว่างสองคาวบอย แสดงโดย ฮีธ เลดเจอร์ และ เจค จิลเลนฮาล เกินเลยไปมากกว่าที่ควรจะเป็น เพราะทั้งคู่รู้ดีว่าเรื่องระหว่างทั้งสองอาจเป็นไปได้ยาก ในเมื่อสังคมยุคนั้นยังไม่เปิดรับ

Brokeback Mountain ดัดแปลงบทมาจากเรื่องสั้นรางวัล Pulitzer ของนักเขียน Annie Proulx ส่วนการกำกับเป็นฝีมือของ อั้งลี่ ผู้กำกับชาวไต้หวันที่มีผลงานกำกับเรื่องอื่นๆ เช่น Sense and Sensibility (1995), Hulk (2003) และ Life of Pi (2012)

Brokeback Mountain ได้เข้าชิง 8 รางวัลออสการ์ และคว้ามาครองได้ถึง 3 รางวัล คือ สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม สาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม และ สาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยม

Beach Rats

Beach Rats ว่าด้วยเรื่องราวการค้นหาตัวตนของ แฟรงค์กี้ (แฮร์ริส ดิคคินสัน) เด็กหนุ่มที่วันๆ ไม่ทำอะไร และดีแต่ออกไปเที่ยวเล่นเสเพลกับเพื่อนผู้ชาย โดยมีฉากหลังเป็นเมืองบรูคลิน นครนิวยอร์ก

นอกจากหนังจะนำเสนอสภาพสังคมสีเทาให้เราได้เห็นอยู่ตลอดทั้งเรื่องแล้ว ฉากโป๊เปลือยต่างๆ ก็อยู่เยอะพอสมควร แต่นั่นก็เป็นเพราะหนังต้องการใช้สิ่งนี้เป็นสัญลักษณ์บางอย่างที่ทำให้ แฟรงค์กี้ ได้ใช้เป็นกุญแจในการหาคำตอบให้ตัวเอง ว่าแท้จริงแล้วเขามีรสนิยมทางเพศแบบไหน

เสน่ห์ของ Beach Rats อยู่ที่การเล่าเรื่องด้วยภาพ ซึ่งชวนให้เราอยากรู้ว่าภายใต้ฉากนั้นตัวละครกำลังคิดอะไรอยู่ และแม้บทสรุปจะทำให้เรารู้สึกโกรธปนสงสารแฟรงค์กี้ แต่เมื่อติดตามตัวละครนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ ก็อาจพอเข้าใจได้ว่าเขากำลังต้องการทำอะไร

การโฆษณา

Dear Ex

“รู้ไหมว่าหนึ่งหมื่นปียาวนานแค่ไหน… หนึ่งหมื่นปีคือเวลาคนที่นายรักบอกว่าเขาอยากใช้ชีวิตอย่างคนปกติและทิ้งนายไป นับจากวันนั้น ทุกๆ วันก็เป็นเวลาหนึ่งหมื่นปี”

ประโยคที่อธิบายความเจ็บปวดแสนยาวนานจากการถูกคนรักทิ้งไปแต่งงานกับผู้หญิงของตัวละครเกย์ใน Dear Ex หนังไต้หวันที่สะท้อนเรื่องราวชีวิตของคนรักเพศเดียวกันในสังคมที่บีบบังคับให้ต้องทำตามขนบจนสร้างความเจ็บปวดให้ทั้งตัวเองและคนรอบข้าง และเป็นหนังที่ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากทั้งที่ไต้หวันและในบ้านเรา 

Dear Ex เล่าเรื่องผ่าน 3 ตัวละครหลัก คือ เกาอวี้เจี๋ย (รอย ชิว) เกย์หนุ่มนักแสดงละครเวที, หลิวซานเหลียน (เซี๊ยะ อิงชวน) มนุษย์แม่ขี้บ่น เจ้ากี้เจ้าการ และ ซ่งเฉิงซี (โจเซฟ หวง) ลูกชายของหลิวซานเหลียนที่เบื่อแม่ขั้นสุดและทำตัวเป็นเด็กมีปัญหา ซึ่งทั้ง 3 คนมาเกี่ยวข้องกันโดยมี ซ่งเชิงหยวน (สปาร์ก เฉิน) เป็นคนกลาง

ก่อนจะมาแต่งงานและมีลูกกับหลิวซานเหลียน ซ่งเชิงหยวนได้คบหาอยู่กับ เกาอวี้เจี๋ย แต่แล้ววันหนึ่งก็ตัดสินใจทิ้งลูกเมียกลับมาหาคนรักชายอีกครั้ง ก่อนที่จะจากทั้ง 3 คนไปด้วยอาการป่วยพร้อมกับยกเงินประกันทั้งหมดให้ เกาอวี้เจี๋ย ทำให้หลิวซานเหลียนและลูกชายต้องตามมาทวงความเป็นธรรม

เรื่องราวใน Dear Ex ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านสถานการณ์ที่ค่อนข้างตึงเครียด จริงจัง แต่ก็ชวนขบขันอยู่ในที ขณะเดียวกันความตลกร้ายนี้ก็แฝงไว้ซึ่งประเด็นน่าสนใจหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการยอมรับตัวเองซึ่งยึดโยงไปถึงเรื่องการเปิดกว้างของสังคม รวมทั้งประเด็นความสัมพันธ์ที่มองได้ทั้งชาย-ชาย ชาย-หญิง หรือแม้แต่ความสัมพันธ์ในครอบครัว

องค์ประกอบที่ดีงามอีกอย่างของ Dear Ex คือฝีมือการแสดง โดยเฉพาะ เซี๊ยะ อิงชวน ในบท หลิวซานเหลียน ที่ต้องถ่ายทอดความรู้สึกอันซับซ้อนของผู้หญิงที่ชีวิตครอบครัวพังทลาย มีสามีเป็นเกย์ ลูกก็เป็นเด็กมีปัญหา และยังต้องต่อกรกับ ‘ชายชู้’ ของสามีตัวเอง ซึ่งเธอก็ทำออกมาได้ดี การันตีด้วยรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากเวทีม้าทองคำ (Golden Horse Awards) รางวัลใหญ่ในวงการหนังภาษาจีนที่มาจากทั้งฮ่องกง ไต้หวัน และจีนแผ่นดินใหญ่

The Danish Girl

ถ้าคนที่เรารักไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไป เราจะยังรักเขาอยู่หรือเปล่า?

คำถามนี้วนอยู่ในหัวหลายรอบหลังจากที่ดู The Danish Girl จบ ก่อนจะพบว่าเราคงไม่อาจตอบได้ในทันที เพราะเราไม่รู้ว่าอีกคนจะเปลี่ยนไปเป็นแบบไหน ด้วยเหตุผลอะไร และเราจะเข้าใจได้มากน้อยแค่ไหนเมื่อมันเกิดขึ้นจริงๆ เหมือนเรื่องราวในหนัง

The Danish Girl สร้างจากเรื่องจริงของ ไอนาร์ เวเกเนอร์ (เอ็ดดี เรดเมน) จิตรกรชื่อดังชาวเดนมาร์ก และ เกอร์ดา (อลิเซีย วิกันเดอร์) ภรรยาซึ่งเป็นจิตรกรเหมือนกัน แต่ยังหาแนวทางของตัวเองไม่เจอทำให้ผลงานไม่เป็นที่ยอมรับ ทั้งคู่ยังไม่มีลูกด้วยกัน ชีวิตครอบครัวก็ดูปกติดี แม้จะมีเรื่องที่ไม่เข้ากันอยู่บ้างตรงที่ ไอนาร์ ไม่ชอบออกงานสังคม เพราะไม่อยาก ‘สวมบทเป็นตัวเอง’ ต่อหน้าใคร

ปัญหาของเขาและเธอ เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันหนึ่ง เพื่อนของ เกอร์ดา ไม่ว่างมาเป็นแบบให้เธอวาด เธอจึงขอให้ไอนาร์แต่งหญิงเป็นแบบแทน นั่นเป็นครั้งแรกที่ไอนาร์สัมผัสได้ถึงความรู้สึกส่วนลึกที่แท้จริงของตัวเองที่กระซิบบอกอยู่ตลอดเวลาว่า เขาเกิดมาเพื่อเป็นผู้หญิง ที่ทุกคนรู้จักในชื่อ ‘ลิลี่’ ในเวลาต่อมา

จากวันนั้นไอนาร์ก็ได้สวมบทเป็นลิลี่บ่อยครั้ง ทั้งไปออกงานคู่เกอร์ดา โดยบอกทุกคนว่าเป็นญาติของไอนาร์ รวมถึงเป็นนางแบบให้เกอร์ดาวาดจนผลงานของเธอโด่งดังในที่สุด แล้วลิลี่ก็เริ่มมีตัวตนชัดเจนขึ้นจนไอนาร์ไม่สามารถกลับไปทำหน้าที่สามีได้

เรื่องราวดำเนินต่อไปผ่านการหาทางของเรื่องนี้ของตัวละคร ทำให้เราได้เห็นประเด็นใหญ่ที่หนังถ่ายทอดผ่านชีวประวัติของจิตรกรคนนี้ นั่นคือเรื่องของ ‘ความเข้าใจ’ ไม่ว่าจะเป็น เกอร์ดา ที่เป็นตัวแทนของคนใกล้ชิด คนรัก ครอบครัว ซึ่งความเข้าใจจากคนกลุ่มนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ชาว LGBTQ+ ต้องการในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

และที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ ความเข้าใจจากสังคม โดยหนังได้เล่าถึงการพยายามหาทางรักษาไอนาร์ เขาต้องผ่านทั้งการฉายรังสี และถูกหมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเภทเพราะขาดความเข้าใจ เป็นเรื่องสะเทือนใจที่ใครหลายคนอดเสียน้ำตาให้ไม่ได้

การโฆษณา

Sex Education

ถึงจะฉาบหน้าด้วยคำว่า วิชาเพศศึกษา แต่ Sex Education ไม่ได้มีแค่เรื่องเซ็กส์อย่างเดียว แต่ยังร้อยเรียงเรื่องการใช้ชีวิต การตัดสินใจ ครอบครัว เพื่อน ความสัมพันธ์ และคนรัก ผ่านคาร์แร็กเตอร์ตัวละครที่หลากหลายที่สุดอย่างที่ซีรีส์เรื่องหนึ่งจะทำได้ วัยรุ่นเกย์ผิวสี วัยรุ่นที่พบว่าตัวเองเป็นไบ หรือครอบครัวที่มีผู้ปกครองเป็นเลสเบียน และยังฉายภาพความทับซ้อนเหล่านี้โดยที่ทุกประเด็นและทุกตัวละครมีน้ำหนักไม่น้อยไปกว่ากัน 

ตัวละครที่เราชอบมาคือ เอริก เอฟฟิออง (Eric Effiong) ที่รับบทโดย เอ็นคูติ กัตวา (Ncuti Gatwa) วัยรุ่นผิวสีที่ไม่เคยปิดบังเพศสภาพของตัวเอง แต่เลือกที่จะแสดงออกอย่างระมัดระวัง เนื่องจากมีครอบครัวที่เป็นห่วง จนกระทั่งมีเหตุการณ์ที่ทำให้เอริกได้ทบทวนตัวเองว่าแท้จริงแล้วเขาต้องการใช้ชีวิตแบบไหน และเป็นตัวเองในรูปแบบใด 

วันที่เอริกตัดสินใจลุกขึ้นมาแต่งตัวเป็นตัวเองแบบจัดเต็มชนิดที่ว่าพ่อของเขาต้องเป็นห่วงกว่าปกติ สุดท้ายแล้วกลายเป็นอีกซีนที่เราประทับใจ เมื่อเอริกไม่เพียงกล้าที่จะรักและเป็นตัวเอง แต่เขายังทำให้คนรอบข้างกล้าที่จะรักตัวเองด้วยเหมือนกัน

ในซีรีส์ก็ยังมีแง่มุมอื่นๆ ให้เราเรียนรู้และติดตามอีกมาก เรากล้าพูดว่า Sex Education เป็นอีกซีรีส์ที่ไม่ควรพลาด เพราะมีเนื้อหาเข้มข้น แต่ไม่หนักหน่วง ทว่าก็ไม่เบาจนมีเพียงความบันเทิง อีกทั้งชวนให้เราฉุกคิดเกี่ยวกับคำว่า
#หลากหลาย กันมากขึ้น เผื่อว่าวันหนึ่งสิ่งเหล่านี้อาจเป็นไปได้จริงในสังคม

Boys Don't Cry

Boys Don't Cry สร้างขึ้นจากเรื่องจริงของ แบรนดอน ทีนา บุคคลที่มีเพศสภาพเป็นผู้หญิงตั้งแต่กำเนิด แม้จะมีนิสัยชอบเล่นซนแบบผู้ชายๆ ตั้งแต่เล็ก แต่ก็ไม่มีใครคิดว่าเมื่อโตมาเธอจะเปลี่ยนการแต่งตัว ตัดผมสั้น ใช้ชีวิตแบบผู้ชายขึ้นมาจริงๆ โดยที่คนอื่นๆ รวมถึงแฟนของเขา ไม่มีใครรู้เลยว่าแท้จริงแล้วแบรนดอนไม่ใช่ผู้ชายอย่างที่เข้าใจ

จุดแตกหักเกิดขึ้นเมื่อความจริงเปิดเผย ซึ่งกลายเป็นเหตุการณ์ที่เปลี่ยนชีวิตของเขาไปตลอดกาล ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว กลุ่มเพื่อน หรือคนรัก จากที่เคยต้อนรับเขาอย่างดี กลับเปลี่ยนไปในทางที่เราเองก็คาดไม่ถึงเช่นกัน

Boys Don't Cry เป็นผลงานกำกับของ คิมเบอร์ลี เพียร์ซ ออกฉายในสหรัฐ เมื่อปี 1999 เป็นหนังกระแสหลักเรื่องแรกๆ ที่นำเสนอประเด็น Transgender หรือ 'คนข้ามเพศ' ให้สังคมในยุค 20 ปีก่อนได้รู้จัก ซึ่งน้อยคนนักที่จะเข้าใจคำนี้ ยิ่งแล้วใหญ่ในสังคมชาวอเมริกาที่ส่วนใหญ่มองว่า การข้ามเพศคือความผิดบาปอย่างร้ายแรง 

ความกลมกล่อมและการแสดงที่ทรงพลังทำให้หนังเรื่องนี้ยังกวาดรางวัลไปได้กว่า 50 รางวัล รวมถึงส่งให้ ฮิลารี สแวงค์ ในบทแบรนดอน ทีนา คว้ารางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำยอดเยี่ยม ในปี 2000 ซึ่งสิ่งน่าสนใจอีกอย่างก็คือ เรื่องทั้งหมดเกิดในรัฐเนบราสกา ของสหรัฐฯ ที่เป็นบ้านเกิดของฮิลารีเองด้วย

Boys Don't Dry ทำรายได้มากถึง 11 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ จากทุนสร้างเพียงแค่ประมาณ 2 ล้านเหรียญ และที่สำคัญที่สุดคือหลังจากหนังออกฉาย ก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อการรับรู้และการมีตัวตนของกลุ่มคนข้ามเพศในสังคมอเมริกาได้ไม่น้อย 

การโฆษณา

The Imitation Game

The Imitation Game (2014) อิงมาจากชีวิตของ 'อลัน ทัวริง' นักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษ ที่เป็นผู้คิดค้นเทคโนโลยีที่เป็นรากฐานของคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน โดยเขาก็ได้เข้าไปทำภารกิจลับระดับชาติให้กับรัฐบาล ในการถอดรหัสลับอินิกม่า (Enigma) ที่กองทัพนาซีใช้ ซึ่งเครื่องจักที่เขาคิดขึ้นมาได้ช่วยจบสงครามโลกให้จบเร็วขึ้นถึงราว 2 ปี ช่วยชีวิตผู้คนได้นับล้าน และเป็นรากฐานของเครื่องคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน

ทั้งในหนังและชีวิตจริง อลัน ทัวริง ต้องเจอทั้งอุปสรรคและความกดดันมากมาย เพราะเขามีนิสัยไม่เข้าสังคม ทำงานร่วมกับผู้อื่นไม่ได้ รวมถึงรสนิยมทางเพศที่ชอบผู้ชายด้วยกันที่เขาต้องปิดให้เป็นความลับ เพราะเป็นความผิดอาญาในอังกฤษในยุคนั้น

"Am I a war hero? Or am I a criminal?" (ผมเป็นวีรบุรุษสงคราม หรือเป็นอาชญากร?) คือประโยคที่นักแสดงเบเนดิกต์ คัมเบอร์แบทช์ (Benedict Cumberbacth) พูดในเรื่องตอนโดนจับกุม และสะท้อนถึงทั้งชีวิตที่ต้องทนอยู่กับความทุกข์และความโดดเดี่ยวของนักคณิตศาสตร์อัจฉริยะคนนี้

ทั้งนี้ ภายหลังรัฐบาลอังกฤษได้ประกาศขอโทษ อลัน ทัวริง และจะยกย่องเขาให้มีใบหน้าปรากฎอยู่บนธนบัตรใบละ 50 ปอนด์ โดยจะเริ่มใช้ในเดือนมิถุนายน 2021

Handsome Devil

ประเด็นเรื่องการบูลลี่ การเหยียด การแบ่งพรรคพวก คือสิ่งที่เราจะได้เห็นบ่อยๆ ในหนังหรือซีรีส์ฝรั่งแนว coming of age ที่มักจะมีฉากหลังเป็นไฮสคูล สะท้อนให้เห็นภาพของสังคมวัยรุ่นที่ต้องการ ‘การยอมรับ’ เพื่อให้ตัวเองได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม

เรื่องราวที่เกิดขึ้นใน Handsome Devil ก็ถือว่าอยู่ในขนบเดียวกัน ว่าด้วยเรื่องของ ‘การเป็นตัวของตัวเอง’ ถ่ายทอดผ่านชีวิตไฮสคูลของ เนด (ฟิออนน์ โอเชีย) หนุ่มวัย 16 ปี เด็กใหม่ของโรงเรียนประจำชายล้วน ที่ซึ่งคนหมู่มาก (นับตั้งแต่ครูใหญ่ไปจนถึงเพื่อนร่วมชั้น) เอาจริงเอาจังกับการแข่งขันรักบี้เป็นชีวิตจิตใจ ในขณะที่เนดเองไม่มีความสนใจในกีฬาชนิดนี้เลย และเมื่อรวมกับเรื่องที่เขาเป็นเกย์ด้วยแล้ว เนดจึงกลายเป็นคนส่วนน้อยที่ไม่ถูกยอมรับจากสังคมนักกีฬาชายล้วนแห่งนี้

ไม่นานหลังจากเนดย้ายมาที่โรงเรียนแห่งนี้ คอเนอร์ (นิโคลัส กาลิตซีน) หนุ่มนักกีฬาที่มักมีปัญหาต่อยตีกับเพื่อนร่วมโรงเรียนเก่า ก็เข้ามาเป็นเด็กใหม่และเป็นรูมเมตของเนด ความสัมพันธ์ฉันเพื่อนของทั้งคู่ เริ่มต้นไม่ดีเท่าไหร่ เพราะในขณะที่เนดไม่มีเพื่อนเลย คอเนอร์ กลับเป็นที่ยอมรับมากกว่าจากความสามารถในการเล่นรักบี้อันโดดเด่น เขาจึงเลือกที่จะอยู่ในกลุ่มใหญ่ มากกว่าที่จะเป็นเพื่อนเนด แม้จะนอนร่วมห้องกันทุกคืนก็ตาม

แต่หลังจากได้ค่อยๆ ทำความรู้จักกัน เนดและคอเนอร์ก็สนิทกันมากขึ้น จนเนดได้รู้ความลับบางอย่างที่คอเนอร์ปิดบังทุกคนมาตลอด และเขาก็ต้องการให้คอเนอร์เลิกวิ่งหนีความจริงและเป็นตัวของตัวเอง

Handsome Devil เล่าเรื่องผ่านความสัมพันธ์แบบ ‘เพื่อน’ ที่เข้าใจและสร้างพลังบวกให้กัน กลายเป็นหนังฟีลกู๊ดที่คนดูเองก็จะได้รับพลังบวกนั้นไปด้วย

การโฆษณา

Carol (2015) ให้อะไรเรามากกว่าการพูดถึงประเด็น 'หญิงรักหญิง' เพราะนอกจากบทที่ดัดแปลงมาจากนิยายคลาสสิคเรื่อง The Price of Salt ที่เขียนโดย แพทริเซีย ไฮสมิธ ผู้กำกับก็ยังถ่ายทอดความรู้สึกของตัวละครออกมาได้ดีเยี่ยม จนหนังเรื่องนี้ได้เข้าชิงออสการ์มากถึง 6 รางวัลเลย

หนังเล่าถึง 'แครอล' หญิงผู้เพียบพร้อมทั้งครอบครัว ฐานะ และหน้าตาในสังคมนิวยอร์กยุค 1950 กับ 'เทเรซ' พนักงานในห้างสรรพสินค้าอายุเพียง 20 ปี ซึ่งความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงทั้งสังคมและนิสัยทำให้ทั้งคู่ดึงดูดและอยากรู้จักกันมากขึ้นจนเกิดเป็นความรักที่ลึกซึ้ง 

เชื่อว่าสิ่งที่ทำให้หลายคนยกให้ Carol เป็นภาพยนตร์ที่ดีเยี่ยมและงดงามแห่งปี ฝีมือการแสดงของ 'เคท แบลนเชตต์' (รับบทเป็น แครอล) และ 'รูนีย์ มาร่า' (รับบทเป็น เทเรซ) ที่สามารถถ่ายทอดความรู้สึกของตัวละครออกมาได้อย่างสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นท่าทาง น้ำเสียง หรือแววตา ที่ทำให้เชื่อได้ว่า ทั้งสองตัวละครตกหลุมรักกันด้วยความรู้สึกอย่างแท้จริง

ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งคงเพราะการสื่อถึงความรักและการออกนอกกรอบสังคม มากกว่าการเล่าถึงความผิดแผกในการรักร่วมเพศ ทำให้ Carol เรียกว่าเป็นหนังรักที่สวยงามเรื่องหนึ่งก็คงไม่ผิดนัก เพราะถ่ายทอดทุกมุมมองออกมาได้งดงามราวกับผลงานศิลปะชิ้นหนึ่งเลย

หลายคนบอกว่าหนังเรื่องนี้เข้าใจยาก ในขณะเดียวกันหลายคนก็บอกว่าหนังเรื่องนี้เข้าถึงความรู้สึกคนดูได้อย่างเฉียบขาด รวมถึงควรค่าแก่การได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 2 สาขา ได้แก่ ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม และนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ซึ่งหนังเรื่อง Pain and Glory (2019) เป็นผลงานของผู้กำกับชื่อดังชาวสเปน 'เปโดร อัลโมโดวาร์' (Pedro Almodóvar) ที่เขียนบทมาจากชีวิตจริงของเขาเอง

โดยในเรื่อง เขาให้ชื่อตัวละครนำว่า 'ซัลวาดอร์ มัลโย' (รับบทโดย แอนโทนิโอ แบนเดอราส) ผู้กำกับวัยกลางคนที่ผ่านร้อนหนาวมามากมาย จนปัจจุบันเพียงมีชีวิตไปวันๆ อยู่กับความเจ็บปวดทั้งที่กินยาแล้วหาย และที่ฝังลึกจนการย้อนนึกถึงมีแต่ทำให้เขาจมดิ่งอยู่กับมันอย่างไม่รู้จบ

หากใครติดตามหนังของเปโดร จะรู้จักวิธีการเล่าเรื่องของเขาดี เช่นเดียวกับเรื่องนี้ที่เล่าเหตุการณ์ต่างๆ ตัดสลับไปมา ราวกับแบ่งย่อยเป็นจิ๊กซอว์หลายๆ ชิ้น ให้เราปะติดปะต่อเองไปจนจบเรื่อง หนังไม่มีจุดพีค มีเพียงบทสนทนาที่ไหลไปเรื่อยๆ เท่านั้น

เรื่องราวคร่าวๆ เกี่ยวกับชีวิตของผู้กำกับ ซัลวาดอร์ มัลโย ที่หมดไฟในการสร้างสรรค์ผลงาน เนื่องจากอาการเจ็บป่วยทางร่างกาย ทว่าวันหนึ่งเขาต้องกลับมาเจอกับนักแสดง อัลแบร์โต (รับบทโดย อัสซิเออร์ เอตซิอังเดีย) ที่เคยมีเรื่องบาดหมางกันจนไม่ติดต่อกันอีกเลยนับสิบปี ซึ่งการกลับมาเจอกันคราวนี้ทำให้ ซัลวาดอร์ ได้ปรับความเข้าใจกับนักแสดงเสียใหม่ พร้อมได้รับสิ่งอื่นๆ เข้ามาในชีวิต ที่ช่วยให้เขาลืมการเจ็บปวดไปได้ชั่วขณะ

เปโดร เป็นผู้กำกับที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเราจะได้เห็นภาพสะท้อนนั้นในหนังเรื่อง Pain and Glory นี้ด้วย รวมถึงชีวิตของเขาในวัยเด็ก ความยากลำบาก และครอบครัว ซึ่งหลอมรวมให้เป็นตัวเขาในปัจจุบัน ที่กลายเป็นผู้กำกับมีชื่อเสียงและมีผลงานเป็นที่ยอมรับในวงการภาพยนตร์

การโฆษณา

Call Me By Your Name

ความรู้สึกตอนดูฉากเอลิโอนั่งน้ำตาไหลหน้าเตาผิง หลังรู้ว่าโอลิเวอร์กำลังจะแต่งงานกับคนรักหญิง ยังฝังใจอยู่จนถึงทุกวันนี้ แม้จะดู Call Me by Your Name มาเมื่อเกือบ 3 ปีที่แล้วก็ตาม และเราเชื่อว่ายังมีอีกหลายฉากหลายตอนที่เข้าไปอยู่ในใจของคนที่ได้ดูหนังเรื่องนี้

Call Me by Your Name คือหนัง romantic drama และ coming of age ที่เล่าเรื่องผ่านความสัมพันธ์ของ เอลิโอ เพิร์ลแมน (ทิโมธี่ ชาลาเมต์) เด็กหนุ่มวัย 17 ปี และโอลิเวอร์ (อาร์มี แฮมเมอร์) ชายอเมริกันวัย 24 ปี ที่เริ่มต้นจากการแชร์ห้องนอนกันในระหว่างที่โอลิเวอร์เข้ามาอาศัยที่บ้านของเอลิโอในช่วงฤดูร้อน เพื่อทำงานวิจัยด้านโบราณคดี

แม้ว่าความสัมพันธ์จะเริ่มต้นได้ไม่ค่อยดีนัก แต่เราจะได้เห็นการเติบโตของตัวละครอย่างชัดเจน โดยในหลายๆ ซีนจะเห็นความสับสนและความไม่เข้าใจตนเองของเอลิโอ รวมถึงโอลิเวอร์ที่พยายามปกปิดความรู้สึกไว้ตลอดเวลา เมื่อทั้งสองค่อยๆ ชัดเจนในความรู้สึกและเผยให้อีกฝ่ายได้รู้ ทำให้ความสัมพันธ์นี้พัฒนาไปอย่างรวดเร็วและเปี่ยมไปด้วยความสุข

เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นในปี 1983 ซึ่งยุคนั้นการรักเพศเดียวกัน (homosexuality) ยังไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมมากนัก แต่สิ่งที่น่าประทับใจคือ ครอบครัวของเอลิโอที่รับรู้เรื่องราวความสัมพันธ์ของทั้งสอง สามารถยอมรับอย่างเข้าอกเข้าใจ ประโยคที่พ่อของเอลิโอพูดกับเขาในช่วงท้ายของเรื่อง สร้างความอบอุ่นหัวใจและทำให้เราเห็นคุณค่าของการ ‘ได้รัก’ อย่างทรงพลังที่สุด

“ตอนนี้ลูกอาจจะเศร้า เจ็บปวด แต่อย่าเร่งที่จะลืมมัน จนลืมความสุขที่เคยมีไปด้วยล่ะ”

การได้เฝ้ามองพัฒนาการของความสัมพันธ์นี้ในฐานะผู้ชม ทำให้เราได้ข้อคิดว่า สำหรับความรักแล้ว...เรามีสิทธิ์ที่จะทำในสื่งที่เราต้องการโดยไม่ต้องกังวลว่าจะเสียใจภายหลังหรือไม่ เพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าในอนาคตเราจะรู้สึกอย่างไร แต่สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือทำให้ตัวเองมีความสุขกับปัจจุบันมากที่สุด เพื่อที่ในอนาคตนั้นเราจะไม่ต้องมานั่งเสียดายที่ไม่ได้ทำตามความต้องการของเราจริงๆ

Me...Myself

เรื่องนี้น่าจะเป็นหนึ่งในผลงานการแสดงของ อนันดา เอเวอริงแฮม ที่หลายคนยังจดจำได้ กับการรับบท แทน หรือ ทันยา กะเทยนางโชว์ความจำเสื่อมที่ไปมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับผู้หญิงคนหนึ่ง ก่อนจะจำความได้และเกิดความสันสบเกี่ยวกับ ‘ตัวตน’ จริงๆ ของตัวเอง

ในวัยเด็ก ทันยา คือเด็กผู้ชายกำพร้าที่โตมาหลังเวทีคาบาเรต์โชว์ เหล่าพี่เลี้ยงนางโชว์คือคนที่เป็น ‘ต้นแบบ’ เดียวของเขา และในที่สุดทันยาก็เติบโตมาเป็นส่วนหนึ่งของคณะนางโชว์

ชีวิตปกติของทันยาเปลี่ยนไปตลอดกาล หลังจากโดนโจรชิงทรัพย์และใช้ไม้ฟาดหัวจนความจำเสื่อมก่อนจะถูก อุ้ม (ฉายนันทน์ มโนมัยสันติภาพ) ครีเอทีฟสาวที่ยังมูฟออนไม่ได้แม้จะถูกผู้ชายทิ้งไปนานหลายเดือนแล้ว ขับรถชนซ้ำในคืนเดียวกัน และอุบัติเหตุครั้งนั้นก็ทำให้อุ้มต้องเป็นคนดูแลทันยาในช่วงที่ยังจำอะไรไม่ได้ โดยอุ้มเรียกทันยาว่า แทน ตามจี้สร้อยที่คำว่า ยา หักไปตอนโดนปล้น

คนหนึ่งพยายามจำ ส่วนอีกคนก็อยากลืม และด้วยความเข้าใจกันบางอย่างก็ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ลึกซึ้งขึ้นและมีช่วงเวลาดีๆ ร่วมกันพักหนึ่ง ก่อนที่ความสุขจะจางหายไปเมื่อความจำของทันยากลับคืนมา

การสูญเสียความจำ ทำให้ทันยาลืมตัวตนที่ถูก ‘ยัดเยียด’ ไปชั่วขณะ และได้เป็นในแบบที่ตัวเองเลือก พอความจำกลับมาจึงทำให้เกิดคำถามถึงสิ่งที่ตัวเองเป็นว่า จริงๆ แล้วนี่คือสิ่งที่เราอยากเป็นหรือสิ่งที่คนอื่นอยากให้เราเป็นกันแน่ ขณะเดียวกันฝั่งของอุ้มก็สับสนกับเรื่องที่เกิดขึ้นไม่น้อยไปกว่ากัน

แม้สุดท้ายเราจะไม่รู้ว่าความสัมพันธ์ของอุ้มกับแทนลงเอยยังไง แต่คำตอบที่หนังทิ้งไว้ตอนท้ายว่า “แค่ยังรักก็พอแล้ว” ก็พอแล้วเช่นกันสำหรับคนดูอย่างเรา

การโฆษณา

Moonlight คือภาพยนต์ที่ดัดแปลงมาจากบทละครเวที "In Moonlight Black Boys Look Blue" ที่ Tarell Alvin McCraney เขียนขึ้นโดยได้แรงบันดาลใจจากชีวิตวัยเด็กของเขาเอง เล่าเรื่องของชายหนุ่มผิวดำชื่อว่า Chiron ใน 3 ช่วงอายุ เริ่มจากเด็กที่ได้รับความอบอุ่นจากมาเฟียค้ายาแทนความอ้างว้างจากแม่ที่ติดยา ช่วงวัยรุ่นที่พบตัวตนท่ามความความสัมพันธ์กับแม่ที่แย่ลง และเขาในวัยทำงานที่ย้อนกลับมาจากต่างเมืองเพื่อมาเจอความทรงจำเดิมๆ ที่ไม่เคยจางไป -- คนดำ เกย์ผิวดำ ยาเสพติด เรียกว่าเป็นหลากหลายบุคลิกภาพชายขอบที่ซ้อนทับกันอยู่อย่างน่าสนใจ

Jenkins ล้างขนบหนังคนดำที่เราเคยรู้จัก ไม่มีเพลงฮิปฮอป ไม่มีบทสนทนายืดยาว ไม่มีการตัดต่อฉึบฉับ เขาพาเราค่อยๆ เติบโตไปพร้อมๆ กับ Chiron ที่ต้องใช้ชีวิตท่ามกลางคาดหวังของสังคมรอบตัว ผ่านมุมกล้องที่สะท้อนหลากความรู้สึก งานภาพที่สวยจับใจ เพลงออเคสตราและเพลงเก่าที่เต็มเปี่ยมด้วยความหมาย และการแสดงของนักแสดงรุ่นใหญ่ที่ตีบทแตกอย่าง Naomie Harries ในบทแม่ที่มีก็เหมือนไม่มี ไม่ต่างอะไรจากคลื่นทะเลที่พัดมาแล้วก็ไป และ Mahershala Ali ในบท Juan มาเฟียค้ายาที่เหมือนแสงนำทางในคืนมืดมิด

“You could be gay, but you'll never let anybody call you a faggot.” เป็นหนึ่งในประโยคเรียบๆ แต่กินใจและมีพลังที่ Juan บอกกับ Chiron ในวัยเด็ก

การแสดงของ Ali ที่สะท้อนบทบาทซ้อนทับกันระหว่างชายค้ายากับ father figure สุดอบอุ่นทำให้เขาคว้ารางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์ในปีเดียวกันอีกด้วย

อีกความเจ๋งของ Jenkins คือนักแสดงทั้ง 3 คนที่มารับบท Chiron วัยเด็ก วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ คือ Alex Hibbert, Ashton Sanders และ Trevante Rhodes นั้นไม่เคยพบเจอกันเลยตลอดการถ่ายทำ เป็นความตั้งใจที่ต้องการสะท้อนแนวคิดของเขาที่ว่าเราอาจจะเป็นคนที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงวัย เราอาจจะเข้าใจตัวเราในบริบทที่แตกต่างกัน แต่ภายใต้ความแตกต่างภายนอกนั้นยังคงมีจิตวิญญาณ ความรู้สึก และตัวตนที่ไม่เคยเปลี่ยนไป และยังยึดโยงความแตกต่างเข้าด้วยกัน

Moonlight ไม่ใช่หนังที่มีฉากให้เราอ้าปากค้างหรือเสียน้ำตาเป็นวรรคเป็นเวร แต่เป็นความละมุนของการเล่าเรื่องที่ค่อยๆ แทรกซึมเข้ามาหาตัวเรา และมีแค่ตัวเราเองที่จะแปลความหมายที่แทรกซึมอยู่มากมายนั้นไปตามประสบการณ์ของเราแต่ละคน เหมือนที่ Juan บอกกับ Chiron วัยเด็กว่า “At some point, you gotta decide for yourself who you’re going to be. Can’t let nobody make that decision for you.”

Alex Strangelove

การ Coming Out นับเป็นก้าวเล็กๆ ของการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม แต่หลายคนก็ยังไม่กล้าที่จะทำ อาจเพราะความกลัวว่าคนอื่นจะมองเราแปลกแยก แต่เชื่อไหม... ไม่ว่าการเปิดเผยของเราจะขัดแย้งกับบรรทัดฐานในสังคมอย่างไร เราก็จะมีความสุขที่ได้ทำมันอยู่ดี

Alex Strangelove ภาพยนตร์ออริจินัลบน Netflix ที่พูดถึงการเปิดเผยตัวตนในประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ นำเสนอผ่านเรื่องราวของ 'อเล็กซ์ ทรูเลิฟ' ซึ่งรับบทโดย แดเนียล โดเฮนี (Daniel Doheny) เด็กหนุ่ม ม. ปลายที่มีชีวิตเรียบง่ายและเกือบสมบูรณ์แบบ ทั้งมีผลการเรียนที่ดี มีเพื่อนที่จริงใจ มีแคลร์ (รับบทโดย มาเดลีน เวนสเตน) แฟนสาวที่น่ารัก แถมเขายังพ่วงตำแหน่งประธานนักเรียนอีกด้วย ทว่าชีวิตกลับต้องสะดุดเมื่อเขาได้เจอกับแอตเลียต ซึ่งรับบทโดย แอนโทนีโอ มาร์ซิเอล (Antonio Marziale)) เกย์หนุ่มที่ทำให้อเล็กซ์เริ่มสับสนในรสนิยมของตัวเอง จนส่งผลต่อความสัมพันธ์ของเขากับแฟน

แม้เรื่องจะดำเนินไปตามสูตรหนังแนว Teenage - Coming of Age ที่มีจุดผลิกผันไม่แปลกใหม่เท่าไหร่นัก แต่ก็ถือว่าจัดจ้านในเรื่องของบทสนทนาที่เอ่ยถึงเรื่องเพศสัมพันธ์อย่างเปิดเผยตั้งแต่ต้นเรื่อง ซึ่งช่วยปูทางให้คนดูอย่างเรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติที่ควรพูดกันได้ตามกาลเทศะที่ถูกที่ควร

“I guess it’s always been there. I just had to be honest with myself.” นี่คือประโยคที่อเล็กซ์พูดกับแคลร์ตอนเขาสารภาพกับเธอว่าเป็นเกย์ แม้ฟังดูทำร้ายความรู้สึกผู้ฟังก็จริง แต่คงเป็นเรื่องดีที่สุดหากเรากล้าที่จะยอมรับในสิ่งที่เป็น และใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการ

หลังจากอเล็กซ์ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น และกล้าที่จะเปิดเผย เราคิดว่าหนังต้องการบอกคนดูว่า อาจเป็นตัวเราเองที่ตัดสินตัวเองในแง่ลบไปก่อน ทั้งที่สังคมภายนอกไม่เลวร้ายอย่างที่คิด เพราะฉะนั้นจงกล้าที่จะรัก และยอมรับในสิ่งที่เป็นคงดีกว่า

การโฆษณา

กว่า 10 ปี ที่ ‘รักแห่งสยาม’ ได้ครอบครองพื้นที่หนังดีในดวงใจของใครหลายๆ คน ด้วยประเด็นการค้นหาตัวตนของเด็กที่กำลังเติบโตในสภาพครอบครัวที่พังทลาย ทุกการเปลี่ยนแปลงของตัวละครสร้างความรู้สึกทางอารมณ์ให้กับคนดูได้หลายมิติ จนกลายเป็นหนังที่กลับมาดูทีไรก็รู้สึกอบอุ่นหัวใจทุกครั้ง

เรื่องราวความรักอันแสนอบอุ่น ลึกซึ้ง ตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ไปจนถึงรุ่นลูก ด้วยความที่บ้านอยู่ตรงข้ามกัน ทำให้ โต้ง (รับบทโดย มาริโอ้ เมาเร่อ) และ มิว (รับบทโดย พิช - วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล) เป็นเพื่อนที่ผูกพันธ์กันมาตั้งแต่เด็ก วันหนึ่งครอบครัวของโต้งเกิดปัญหาจนต้องย้ายบ้าน ทั้งสองจึงต่างคนต่างไปเติบโตตามเส้นทางชีวิตของตัวเอง แต่แล้วโชคชะตาก็ทำให้พวกเขาได้กลับมาเจอกันอีกครั้ง และการสานต่อมิตรภาพที่ลึกซึ้งกว่าเดิมก็ได้เกิดขึ้น ณ สยามสแควร์

การแฝงความหมายในซีนต่างๆ ให้คนดูได้ตีความเอาเอง อย่างซีนที่แม่กินไข่พะโล้ต่อจากพ่อ ซีนแม่ขับรถตามหาโต้งทั้งคืน หรือซีนที่โต้งกับมิวจูบกันหน้าบ้าน ต่างก็เข้าถึงอารมณ์คนดูได้สุดใจและด้วยบทภาพยนตร์ที่แปลกใหม่กับการแสดงที่ไหลลื่น ทำให้มาริโอ้และพิช ได้แจ้งเกิดในวงการบันเทิงอย่างเป็นทางการจากหนังเรื่องนี้

รักแห่งสยาม ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลมากมาย และคว้า 3 รางวัล จากงานประกาศรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 17 คือ รางวัลผู้แสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม, รางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, และรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม นอกจากนี้ยังมีรางวัลจากสำนักอื่นอีกมากมาย

มะเดี่ยว - ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ ใจความว่า ภาพยนตร์เป็นเหมือนบทบันทึกชีวิตของเราในช่วงนั้น มีมุมมองการเล่าเรื่องราวที่เติบโตไปกับความคิดและประสบการณ์ ซึ่งรักแห่งสยามตั้งใจจะสื่อสารว่า เมื่อมีความรักย่อมมีความหวัง และเราต้องเลือกสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดสำหรับตัวเอง
ต่อมามะเดี่ยวได้กำกับภาพยนตร์แนวคล้ายกัน อย่างเรื่อง Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ (2555) และ ดิว ไปด้วยกันนะ (2562)

ถ้าว่ากันตามทฤษฎีสี ‘สีฟ้า’ จัดว่าเป็นสีโทนเย็น ซึ่งฟังดูขัดกับชื่อหนังเรื่องนี้ที่แปลเป็นไทยได้ว่า ‘สีฟ้าคือสีที่อบอุ่นที่สุด’ แต่ถ้าได้ลองดูหนังเรื่องนี้เราเชื่อว่าทุกคนจะเข้าใจมากขึ้น ไม่ใช่แค่การตีความสีฟ้าเท่านั้น แต่ยังจะเข้าใจความหลากหลายและความเลื่อนไหลทางเพศไปด้วย

Blue is the Warmest Color เล่าเรื่องราวของ อเดล (แอดเดล เอ็กเซอโชโพลอส) เด็กสาวที่ไม่รู้จักความรักที่แท้จริง จนเมื่อเธอเริ่มค้นหาความหมายของมัน ด้วยการออกเดตกับ โทมัส (เจเรมี่ ลาเฮิร์ท) เพื่อหาคำตอบว่าความรู้สึกทางเพศที่เธอมีต่อผู้ชายนั้นใช่ความรักที่เธอต้องการหรือไม่ แต่มันกลับไม่ง่ายเอาเสียเลย เพราะเธอเอาแต่นึกถึง เอ็มม่า (รับบทโดย เลอา แซดู) ผู้หญิงแปลกหน้าย้อมผมสีฟ้าที่เดินสวนกันบนถนน

มีหลายเหตุผลที่ทำให้เราชอบหนังเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็น ซีนร่วมรักสุดดุเดือดระหว่างอเดลกับเอ็มม่าที่เป็นซีน long take ความยาวเกือบ 10 นาที หรือความสมจริงในซีนอารมณ์ ตอนที่อเดลกับเอ็มม่าทะเลาะถึงขั้นลงไม้ลงมือ การใช้มุมกล้องแบบ close up ตลอดทั้งเรื่อง เพื่อให้เห็นธรรมชาติของตัวละครและทำให้คนดูเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของหนังได้ลึกซึ้ง

สิ่งสำคัญที่ซื้อใจคนดูได้ไม่น้อย คือ ประเด็นที่หนังต้องการสื่อถึงความมีอิสระทางเพศ ด้วยการเลื่อนไหลระหว่างการชอบเพศชายและเพศหญิงสับเปลี่ยนกันไป ไม่มีการยึดติดกับเพศใดเพศหนึ่ง

แม้จะเป็นหนังอินดี้ที่ทยอยเปิดตัวตามเทศกาลหนังต่างๆ และเข้าฉายในไทยแบบเงียบๆ แต่ก็ประสบความสำเร็จจนได้รับรางวัลปาล์มทองคำ ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 66 มาแล้ว

การโฆษณา

A Fantastic Woman เป็นหนังฟอร์มเล็กจากชิลีที่หลายคนอาจจะมองข้าม คนส่วนใหญ่มักคิดว่าประเทศแถบละตินอเมริกามีความเปิดกว้างด้านความหลากหลายทางเพศ แต่หนังเรื่องนี้จะเปิดอีกหนึ่งมุมมองที่พวกเขามีต่อชาว LGBTQ+ เพราะเมื่อมองไปถึงระดับจิตใจแล้ว จะพบว่ากลุ่มคนเพศทางเลือกยังโดนปิดกั้นจากสังคมและถูกมองว่าแปลกแยกอยู่มาก

หนังเล่าเรื่องราวของ มารีนา (แดนีลา เวกา) นักร้องหญิงข้ามเพศที่พบรักกับหนุ่มใหญ่รุ่นพ่ออย่าง ออร์แลนโด (ฟรานซิสโก เรเยส) ในช่วงแรกความสัมพันธ์ของทั้งสองดูไม่น่าเป็นไปได้ ด้วยความแตกต่างเรื่องเพศและอายุ แต่หนังจะค่อย ๆ เผยให้เห็นถึงการบ่มเพาะความรักจนงอกงามขึ้น และทั้งคู่ก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของกันและกัน

จุดพลิกผันของเรื่องเกิดขึ้นเมื่อออร์แลนโดเสียชีวิตลง เพียงเพื่อจะได้บอกลาคนรักของตัวเองเป็นครั้งสุดท้าย มารีนาต้องต่อสู้กับอคติและการถูกเหยียดหยามจากสังคม โดยเฉพาะครอบครัวฝ่ายชาย รวมถึงเมียเก่าของเขาที่กีดกันเธอทุกอย่างโดยมี ‘กฎหมาย’ เป็นเครื่องมือ

ระหว่างทาง เราจะเห็นว่าแรงกระทำจากสังคมได้ยัดเยียดให้มารีนากลาย ‘ตัวประหลาด’ ซึ่งเห็นได้ชัดที่สุดในฉากที่มารีนาถูกพันหน้าด้วยเทปจนใบหน้าของเธอบิดเบี้ยว ที่น่าเศร้าที่สุดก็คือเธอเองก็ดูจะเชื่อในสิ่งที่ถูกตีตราไปด้วยและสูญเสียตัวตนจนแทบไม่สามารถกลับไปทำในสิ่งที่เธอรักอย่างการร้องเพลงได้เช่นเคย

หนังเล่าเรื่องอย่างเรียบง่าย ไม่หวือหวา ทำให้คนดูค่อยๆ ซึมซับและเข้าใจความรู้สึกของตัวละครอย่างสุดซึ้ง และด้วยการนำเสนอประเด็นที่ละเอียดอ่อนได้อย่างเข้มข้น ก็ทำให้ A Fantastic Woman สามารถคว้ารางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ประจำปี 2018 ได้สำเร็จ นอกจากนี้ แดนีลา เวกา ยังสามารถกระตุ้นให้คนในประเทศหันมาใส่ใจเรื่องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้นด้วย

Pose

Pose คือซีรีส์ตีแผ่ชีวิตชายขอบของเกย์ผิวสีในมหานครนิวยอร์ก ในช่วงยุค 80’s ยุคแรกเริ่มของการแพร่ระบาดของเชื้อ HIV ที่ทำให้การถูกยอมรับจากสังคมเป็นเรื่องยากสำหรับกลุ่มชายรักชาย และยิ่งยากขึ้นไปอีกสำหรับกลุ่มหญิงข้ามเพศผิวสีที่เป็นตัวดำเนินเรื่องของซีรีส์ทั้ง 2 ซีซัน

การถูกปิดกั้นโอกาสจากทั้งสังคมและครอบครัวเป็นเหมือนการยัดเยียดสถานะคนชายขอบซ้ำซ้อนพวกเขาให้อย่างน่าเศร้า ทำให้เกย์ผิวสีจำนวนมากในเรื่องต้องออกมาระเหเร่รอน เอาตัวรอดด้วยการขายเรือนร่างบ้าง เป็นเด็กส่งยาบ้าง

มีสิ่งหนึ่งที่รวมคนเหล่านี้เข้ามาเป็นครอบครัวเดียวกันคือ ‘บอลรูม’ งานแข่งขันเต้น เดินแบบอวดชุดเลิศหรูอลังการ ตามหมวดหมู่ที่กำหนดในแต่ละครั้ง และผู้ชนะก็จะได้ถ้วยรางวัลแห่งเกียรติยศมาครอง ซึ่งการแข่งขันแต่ละครั้ง จะเป็นการลงแข่งในนามของ ‘บ้าน’ ที่มี ‘คุณแม่’ ของแต่ละบ้านเป็นคนดูแล

หนึ่งในตัวละครหลักของเรื่องที่ถ่ายทอดประเด็นน่าสนใจหลายอย่าง คือ บลังกา (เอ็มเจ โรดริเกซ) คุณแม่แห่งบ้าน Evangelista สาวข้ามเพศที่ติดเชื้อ HIV และต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม LGBTQ+ ให้ดีขึ้น เราจะได้เห็นเธอลุกขึ้นสู้เพื่อความเท่าเทียมและความถูกต้องอย่างกล้าหาญ รวมถึงการสร้างพลังในการใช้ชีวิตให้คนรอบข้างอยู่เสมอ

ตอนนี้ซีรีส์ปล่อยออกมาให้ดูบนเน็ตฟลิกซ์แล้ว 2 ซีซัน เรื่องราวในซีซันแรกจะถ่ายทอดสภาพชีวิตในสังคมชายขอบของพวกเขาเป็นหลัก ส่วนในซีซัน 2 จะให้น้ำหนักเรื่องการต่อสู้เรียกร้องสิทธิมากขึ้น พร้อมกับการก้าวเข้าสู่ยุคที่วัฒนธรรมการเต้นโว้กในบอลรูมของพวกเขากลายเป็นวัฒนธรรมป็อป หลังคุณแม่มาดอนนา ปล่อยเพลง Vogue และดังระเบิดในยุคนั้น

สำหรับเรา Pose คือความลงตัวของการนำเสนอประเด็นสังคมควบคู่ไปกับความบันเทิงและงานคอสตูมสุดปัง ภาพไฮแฟชั่นสวยหรูที่ใช้โปรโมตซีรีส์ อาจทำให้หลายคนด่วนสรุปว่านี่คือซีรีส์ที่ขายความสวยงาม แต่จริงๆ แล้วเนื้อในของซีรีส์เรื่องนี้ ต้องบอกว่า ‘ทรงคุณค่า’ และเหมาะแก่การดูในช่วง Pride Month ที่สุด

การโฆษณา

ถ้าพูดถึงหนังรักเกาหลี ภาพจำของทุกคนคงเป็นหนังโรแมนติกที่มีบรรยากาศหวานปนเศร้า ซึ่ง No Regret หนังเกย์เกาหลีใต้ที่เข้าฉายในบ้านเกิดเมื่อปี ค.ศ. 2006 ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ให้ความรู้สึกเช่นนั้น และเป็นหนังเกาหลีใต้เรื่องแรกๆ ที่ฉายภาพชีวิตของคนรักเพศเดียวกันอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งถือว่าเป็นความแปลกใหม่และเปิดมุมมองวงการหนังเกาหลีใต้ให้กว้างขึ้น

เนื้อเรื่องพูดถึงความรักของชายสองคนที่มีชีวิตแตกต่างกันทั้งด้านฐานะ สังคม และพื้นฐานชีวิต ลี ซูมิน (รับบทโดย อี ยองฮุน) เด็กกำพร้าที่ต้องดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดในเมืองหลวงแสนวุ่นวายอย่างกรุงโซล รู้ตัวอีกทีเขาก็กลายเป็นโสเภณีในบาร์เกย์ ที่ที่เขาได้พบกับ ซง แจมิน (รับบทโดย คิม นัมกิล) ลูกค้าที่มาใช้บริการบาร์แห่งนี้

แจมินเป็นชายหนุ่มที่มาจากครอบครัวฐานะดี แต่ต้องปกปิดรสนิยมทางเพศของตัวเอง ทั้งสองพบรักกันและพยายามก้าวข้ามอุปสรรคของรักครั้งนี้ด้วยการทำลายกำแพงอคติทางสังคม จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมความรักที่ไม่มีใครคาดคิด

“เราเป็นอะไรกัน สำหรับคุณผมเป็นอะไร เพราะผมไม่มีการศึกษาอย่างนั้นหรือ? ถ้าอย่างนั้นผมจะตั้งใจเรียนหรือเพราะผมมันโสโครก...ถ้าอย่างนั้นผมจะซื่อสัตย์ต่อคุณ หรือเพราะว่าผมมันจน ถ้าอย่างนั้นผมจะทำงานให้หนักขึ้น”

ประโยคที่ซูมินพูดกับแจมินหลังรู้ว่าอีกฝ่ายกำลังจะแต่งงาน ซึ่งสัมผัสได้ถึงความน้อยเนื้อต่ำใจ แต่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงทุกอย่างเพื่อคนที่ตัวเองรัก ซีนนี้ถือเป็นอีกซีนอารมณ์ที่กินใจและเรียกน้ำตาจากคนดูได้ไม่น้อย

หนังทำให้เรามองเห็นอุปสรรคที่ทำให้ความรักของคนสองคนไม่เป็นไปตามความปรารถนา และการต่อสู้เพื่อเป็นที่ยอมรับกลับทำให้เกิดความกดดันมากมาย จนมีบางครั้งที่อาจตัดสินใจผิดพลาดไปบ้าง แต่สุดท้ายความรักก็จะดึงตัวเรากลับมาให้เดินในทางที่ถูกที่ควรได้อีกครั้ง

การคัดเลือกนักแสดงได้สมบทบาท รวมถึงฝีมือการแสดงที่สื่อสารผ่านเนื้อเรื่องที่ค่อนข้างสมเหตุสมผล ทำให้คนดูรู้สึกอินได้ไม่ยาก เราจะได้ทำความเข้าใจกับสถานการณ์ต่างๆ ไปพร้อมกับตัวละคร ซึ่งนำไปสู่การตีความฉากจบที่เป็นปลายเปิดเช่นภาพยนตร์แนวนี้อีกหลายๆ เรื่อง

No Regret ทำให้ผู้กำกับที่เปิดเผยว่าเขาชอบเพศเดียวกันอย่าง ลีซง ฮี อิล ได้รับรางวัลผู้กำกับภาพยนตร์อิสระยอดเยี่ยม (Best Independent Director) ในปี 2006 โดย Director's Cut Awards

Summertime

ช่วงปี ค.ศ. 1971 การออกมาเรียกร้องสิทธิสตรีเริ่มมีการเคลื่อนไหวอย่างจริงจังในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงฝรั่งเศส บ้านเกิดของ แคเธอรีน กอร์ซีนี ผู้กำกับหญิงฝีมือดี และเธอก็ได้หยิบประเด็นนี้ขึ้นมาถ่ายทอดในภาพยนตร์รักแนวดราม่า Summertime หรือชื่อฝรั่งเศส La Belle Saison ที่เล่าเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของผู้หญิงสองคนผ่านเหตุการณ์การประท้วง สังคมแวดล้อม สภาพครอบครัว และปัญหาการยอมรับตัวเอง

เดลฟีน (รับบทโดย Izïa Higelin) สาวชาวฝรั่งเศสผู้ออกเดินทางจากบ้านเกิดแถบชานเมือง เพื่อไปไขว่คว้าอิสรภาพและแสงสีความเจริญในเมืองหลวง ทำให้เธอได้พบกับ กา-รอล (รับบทโดย Cécile De France) สาวปารีสผู้เป็นหนึ่งในแกนนำเรียกร้องสิทธิสตรี

หลังจากนั้นมิตรภาพและความสัมพันธ์อันลึกซึ้งของพวกเธอก็เริ่มต้นและเติบโตขึ้นโดยมีมหานครปารีสเป็นฉากหลัง และเมื่อฝ่ายหนึ่งต้องเลือกระหว่างครอบครัวกับคนที่รัก ในขณะที่อีกฝ่ายต้องเลือกระหว่างอุดมการณ์กับความต้องการของหัวใจ ความรักของทั้งสองคนจึงมาถึงจุดที่ไม่สามารถเดินต่อบนเส้นทางเดียวกันได้ และสุดท้ายการตัดสินใจของพวกเธอจะทำให้ชีวิตของอีกฝ่ายเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

นอกจากเคมีที่เข้ากันระหว่างสองนักแสดง ที่ทำให้เราเชื่ออย่างง่ายดายว่าทั้งสองตัวละครตกหลุมรักกันอย่างแท้จริง อีกเสน่ห์ของหนังเรื่องนี้ก็คือ ความงดงามของศิลปะในการเล่าเรื่องด้วยภาพและเสียง เราชอบซีนที่นำเสนอบรรยากาศชนบทในเรื่องนี้มาก มันให้ความรู้สึกอบอุ่นด้วยแสงแดดอ่อนๆ กับลมโชยเบาๆ

ภาพยนตร์เรื่อง Summertime (La Belle Saison) ได้รับรางวัล Best Music จาก Lumières Awards ครั้งที่ 21 และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Best Film ในงานเดียวกันอีกด้วย

การโฆษณา

เรื่องราวของชายสองคนที่กลับมาสานต่อความสัมพันธ์ในวันที่ต่างคนต่างบอบช้ำ เชน (รับบทโดย ศุกลวัฒน์ คณารศ) เจ้าของสวนมะลิที่เพิ่งสูญเสียภรรยาพร้อมลูกสาวไป และ พิช (รับบทโดย อนุชิต สพันธุ์พงษ์) ศิลปินบายศรี อดีตคนรักของเชน ที่แม่เพิ่งจากไปและเขาเองก็กำลังต่อสู้กับโรคมะเร็ง

แม้ว่าโครงเรื่องจะดูไม่ซับซ้อน แต่เสน่ห์ของหนังอยู่ที่ความงดงามในวิธีการเล่าเรื่อง อาทิ การใช้มุมกล้องแบบ close-up การใช้เสียงประกอบจากธรรมชาติ หรือแม้แต่การตัดสลับภาพดอกไม้ที่เหี่ยวเฉากับฉากร่วมรักของเชนและพิช ที่เหทือนเตือนคนดูว่า ความรักอันงดงามย่อมมีเวลาจำกัด ไม่ต่างจากบายศรีสุดปราณีตที่สุดท้ายดอกมะลิลาก็จะโรยราไปตามกาลเวลาเช่นกัน

ด้วยการสื่อความหมายได้อย่างลึกซึ้งตามแบบฉบับศิลปินไทย ทำให้ผู้กำกับฝีมือดีอย่าง นุชี่ - อนุชา บุญยวรรธนะ คว้ารางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม อีกทั้ง ภาพยนตร์เรื่องมะลิลาก็ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากงานประกาศรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 28 และยังได้รับรางวัลจากเทศการภาพยนตร์นานาชาติมาแล้วกว่า 4 ประเทศ ได้แก่ เกาหลี ไต้หวัน สิงคโปร์ และอินเดีย

ไม่ได้ขอให้มารัก

ไม่ได้ขอให้มารัก (It Gets Better) ผลงานการกำกับของ กอล์ฟ - ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ เสนอประเด็นความหลากหลายทางเพศได้อย่างน่าสนใจ และบางครั้งหนังของเธอก็ตรง แรง และ ‘จริง’ เกินไปจนเคยมีหนังที่ถูกสั่งห้ามฉายมาแล้วเมื่อปี 2553 อย่างเรื่อง Insect In The Backyard

หลังจากนั้น 2 ปี ไม่ได้ขอให้มารัก ก็เข้าฉายด้วยเนื้อเรื่องที่แมสมากขึ้น โดยเป็นการเล่าเรื่องราวความรักของ 3 คู่ เส้นเรื่องแรกเกี่ยวกับ สายธาร (รับบทโดย เพ็ญพักตร์ ศิริกุล) กะเทยรุ่นใหญ่ที่ไปใช้ชีวิตบนดอยแล้วเกิดตกหลุมรัก ไฟ (รับบทโดย ปั้นจั่น ปรมะ) ช่างซ่อมมอเตอร์ไซค์หนุ่มรูปหล่อ เธอจึงพยายามทำให้เขามองข้ามเรื่องเพศแล้วรู้สึกรักเธอด้วยความรู้สึก

เส้นเรื่องที่ 2 เป็นเรื่องของ ต้นไม้ (รับบทโดย ซาหริ่ม ภาณุพงศ์) ลูกชายเจ้าของบาร์โชว์ที่ต้องปิดกิจการเพื่อนำเงินมาหมุน ทว่าเขากลับตกหลุมรัก ต้นหลิว (รับบทโดย เบลล์ นันทิตา) กะเทยทอมบอยที่ทำงานเป็นคนขับรถของบาร์

และเส้นเรื่องสุดท้ายเป็นเรื่องของ ดิน (รับบทโดย พาวิช ทรัพย์รุ่งโรจน์) เด็กมัธยมที่พ่อจับได้ว่าเป็นกะเทย จึงถูกส่งไปบวช ทำให้เขาได้พบกับหลวงพี่แสง (รับบทโดย กฤษตญาพนธ์ ธนะนารา) พระพี่เลี้ยงที่ดูแลเอาใจใส่ดินอย่างดี ทำให้เขาต้องพยายามกัดกลั้นความรู้สึกไว้ในผ้าเหลือง

ไม่ได้ขอให้มารัก เล่าเรื่องโดยเน้นการสร้างรอยยิ้ม กำลังใจ ผสมกลิ่นอายดราม่าหน่อยๆ และด้วยการจัดลำดับภาพอันยอดเยี่ยม เมื่อถึงจุดที่ทั้ง 3 เส้นเรื่องมาบรรจบกัน หนังเรื่องนี้จึงสร้างความประทับใจให้คนดูได้อย่างคาดไม่ถึง บอกได้เลยว่าเป็นหนังที่ครบรสและไม่ควรพลาด

การโฆษณา

God's Own Country

แค่ได้เห็นรูปโปรโมตหนังเรื่องนี้ เราก็นึกถึงหนังรักสุดคลาสสิกอย่าง Brokeback Mountain ขึ้นมาทันที และหลังจากได้ดูแล้วก็พบว่าหนังทั้งสองเรื่องมีกลิ่นอายหลายอย่างที่คล้ายกันแต่ก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกันอยู่บ้าง

God’s Own Country (2017) หนังเกย์จากฝั่งบริทิช เล่าเรื่องของ จอห์นนี่ (รับบทโดย จอช โอ’คอนเนอร์) เด็กหนุ่มที่อาศัยอยู่ในฟาร์มอันห่างไกลพร้อมพ่อที่ป่วยและย่าที่อยู่ในวัยชราการดูแลฟาร์ม พ่อ และย่า จึงเป็นเหมือนหน้าที่ที่เขาถูกยัดเยียดให้ต้องทำในวัยที่ควรจะได้ออกไปสนุกกับชีวิต

ด้วยแรงกดดันหลายอย่างและสภาพแวดล้อมอึมครึม สุดเปลี่ยวเหงาที่ถ่ายทอดผ่านท้องทุ่งในมณฑลยอร์กเชียร์ ทางตอนเหนือของอังกฤษ ทำให้ภายนอกเขาดูเป็นคนเข้มแข็ง ค่อนไปทางแข็งกร้าว ไร้ซึ่งความอ่อนโยน

วันหนึ่งพ่อของเขารับ จอร์จี้ (รับบทโดย อเล็ค เซคารนู) เข้ามาช่วยงานในฟาร์ม ทำให้จอห์นนี่รู้สึกไม่พอใจ เพราะคิดว่าพ่อกำลังมองว่าตัวเองยังทำหน้าที่ได้ไม่ดีพอ ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับจอร์จี้จึงเริ่มต้นไม่ดีเท่าไหร่

แต่หลังจากที่พวกเขาต้องขึ้นไปดูแลฝูงแกะที่เตร่ไปไกลจากฟาร์มกันสองต่อสอง ความเงียบเหงากับบรรยากาศหนาวๆ ได้นำพาให้ทั้งสองได้ทำความรู้จักกันมากขึ้น กระทั่งรู้ตัวอีกทีความรู้สึกไม่ชอบหน้าที่เคยมีก็ได้กลายเป็นความสัมพันธ์ลึกซึ้งจนตัดกันไม่ขาด และนั่นก็ทำให้เราเห็นเนื้อในอันเปราะบางของจอห์นนี่

God’s Own Country ใช้การเล่าเรื่องที่ไม่หวือหวา แต่เนื้อหามีความลึกซึ้ง จับใจ โดยเฉพาะการนำเสนอภาพความเป็น ‘คน’ ที่เต็มไปด้วยความรู้สึกอันหลากหลายและซับซ้อนผ่านตัวละคร จอห์นนี้ ซึ่งส่งให้เขาได้รับรางวัลนักแสดงชายยอดเยี่ยมจากเวที British Independent Film Awards 2017 หรือ BIFAs ส่วนหนังก็ได้รับรางวัลภาพยนตร์อิสระยอดเยี่ยมจากทั้งเวทีเดียวกันนี้และSatellite Awards ในปี 2018

บังเอิญรัก

บังเอิญรัก (Love by chance) มีเค้าโครงมาจากนิยายสุดฮิตบนเว็บไซต์ Dek-d ซึ่งมีชื่อออริจินัลว่า My Accidental Love is You รักนี้บังเอิญคือคุณ นอกจากนี้ ซีรีส์เรื่องบังเอิญรักยังได้รับรางวัล Asian Drama of The Year จาก Korean Updates Awards 2018 อีกด้วย โดยทั้งหมดเป็นผลงานของผู้กำกับ ศิวัจน์ สวัสดิ์มณีกุล

เรื่องนี้เล่าถึงความรักของคนสองคนที่บังเอิญมาพบกัน บังเอิญรู้สึกพิเศษต่อกัน และบังเอิญตกหลุมรักกัน โดยมี เอ้ (รับบทโดย เพิร์ธ-ธนพนธ์ สุขุมพันธนาสาร) นักศึกษาปีหนึ่งจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ และ พีท (รับบทโดย เซ้นท์-ศุภพงษ์ อุดมแก้วกาญจนา) หนุ่มหล่อลุคคุณหนูจากวิทยาลัยนานาชาติ ที่ทั้งสองบังเอิญรู้จักกันจากอุบัติเหตุบนท้องถนน

ด้วยความช่วยเหลือจากเอ้ทำให้พีทปลอดภัยจากแฟนเก่าที่กำลังขู่เอาเงินเพื่อแลกกับการปิดปากเงียบเรื่องที่พีทเป็นเกย์ ความมีน้ำใจและทัศนคติที่ดีของเอ้ทำให้พีทตกหลุมรักเขาตั้งแต่ตอนนั้น แม้จะเริ่มต้นจากสถานะความเป็นเพื่อน แต่ความใกล้ชิดและจริงใจ ทำให้ทั้งสองมีความรู้สึกที่ดีต่อกัน จนพัฒนาเป็นความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งเกินกว่าที่เพื่อนควรจะเป็น

ซีรีส์ไม่ได้เล่าประเด็นหนัก แต่เน้นซีนหรือบทสนทนาที่ทำให้คนดูต้องเขินไปตามๆ กัน และเนื่องจากมีตัวละครค่อนข้างเยอะ จึงมีพล็อตย่อยๆ ที่มีตัวละครหลายตัวมาเกี่ยวข้องกันและช่วยเพิ่มเสน่ห์ให้กับซีรีส์ขึ้นเยอะ

ผลงานซีรีส์เรื่องนี้ทำให้ เพิร์ธและเซ้นท์ สองนักแสดงนำของเรื่อง เป็นที่รู้จักมากขึ้นและมีผลงานในวงการบันเทิงให้เห็นอย่างต่อเนื่อง 

การโฆษณา

กลิ่นความฉาวจากหนังตัวอย่างหนังความยาว 1.15 นาที บวกกับชื่อ ปาร์ค ซานวุค ผู้กำกับมือดีชาวเกาหลีใต้ คือสองสิ่งที่ล่อให้คนดูอย่างเราตีตั๋วเข้าไปดู The Handmaiden ล้วงเล่ห์ลวงรัก ในโรงเมื่อสี่ปีที่แล้ว และมันก็กลายเป็นหนังที่หักมุมซ้ำซ้อน หลอกคนดูเก่งที่สุดเรื่องหนึ่งเท่าที่เคยดูมา

The Handmaiden ถูกดัดแปลงบทภาพยนตร์มาจากนิยายอังกฤษเรื่อง Fingersmith ของ ซารา วอเตอร์ ที่ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ.2002 (ฉบับแปลไทยชื่อ ‘เล่ห์รักนักล้วง’ โดยนันทวัน เติมแสงศิริศักดิ์) โดยเปลี่ยนฉากหลังยุควิคตอเรียนในหนังสือ มาเป็นเกาหลีช่วงปี 1930 ยุคที่เกาหลีตกอยู่ใต้การปกครองของญี่ปุ่น

เรื่องราวส่วนใหญ่ดำเนินอยู่ในคฤหาสน์หลังใหญ่ที่ปกคลุมด้วยบรรยากาศสุดอึมครึม ราวกับมีความลับซ่อนอยู่ในทุกซอกทุกมุม หนังเล่าเรื่องผ่านสามตัวละครหลัก คือ ซุคฮี (คิม เตรี) เด็กสาวนักล้วงกระเป๋าที่โตมาในครอบครัวมิจฉาชีพ ถูกหัวหน้าแก๊งส่งมาเป็นนางนกต่อในคราบสาวใช้ที่คฤหาสน์หลังนี้

ฟูจิวาระ (ฮา จองอู) หัวหน้าแก๊งมิจฉาชีพที่ต้องการฮุบสมบัติของ ‘นายหญิง’ แห่งคฤหาสน์หลังดังกล่าว เขาจึงส่ง ซุคฮี เข้าไปเป็นสาวใช้คนสนิทเพื่อคอยส่งข่าวและยุให้ฝ่ายหญิงตกหลุมรักตน

ฮิเดโกะ (คิม มินฮี) หญิงสูงศักดิ์ผู้มีสมบัติมหาศาล เหยื่อมี่ฟูจิวาระหมายตาไว้ เธออาศัยอยู่ในคฤหาสน์ของน้าเขยจอมโหด ภายใต้ใบหน้าอันใสซื่อ ไร้เดียงสา เธอได้ซ่อนความร้ายลึกไว้อย่างแยบยล

ความสนุกของการดูหนังเรื่องนี้คือเราไม่สามารถคาดเดาอะไรได้เลย เพราะเรื่องราวเดียวกันนี้ จะถูกเล่าผ่านมุมมองของตัวละครทั้งสาม แน่นอนว่าต่างคนต่างก็มีเซอร์ไพรส์ให้คนดูอึ้งได้ตลอดทั้งเรื่อง จนไม่รู้ว่าจะเชื่อใครได้บ้าง

นอกจากนี้ The Handmaiden ยังสื่อภาพการถูกกดขี่ของเพศหญิงในสังคมชายเป็นใหญ่ออกมาได้อย่างชัดเจน ชวนให้หดหู่ใจ และเมื่อถึงคราวที่พวกเธอลุกขึ้นมาตอบโต้ด้วยวิธีที่ไม่มีชายใดคาดคิดมันจึงสาแก่ใจคนดูอย่างเรานัก

The Handmaiden เป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างดราม่า อีโรติก และทริลเลอร์ จึงมี ‘ฉากรัก’ สุดเร่าร้อนและฉากเย้ายวนชวนสยิวที่มาให้เห็นเป็นช่วงๆ สลับกับงานภาพที่ดูราบเรียบและมุมภาพแปลกใหม่ในบางฉาก ทำให้คนดูได้ซึมซับอารมณ์อันหลากหลาย

The Handmaiden เป็นหนังเกาหลีเรื่องแรกที่ได้รับรางวัล BAFTA สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม และรางวัลอื่นๆ อีก 65 รางวัลจากหลายเวที

Maurice

Maurice ดัดแปลงบทภาพยนตร์มาจากนิยายอิงเรื่องจริงของ อี. เอ็ม. ฟอร์สเตอร์ เล่าเรื่องย้อนไป 30 ปี ในยุคที่ความสัมพันธ์ของคนรักเพศเดียวกันเป็นสิ่งผิดกฎหมาย มีโทษหนักถึงขั้นจำคุกประหารชีวิต

มอริซ (เจมส์ วิลบี) หนุ่มอังกฤษชนชั้นสูงผู้ได้รับการอบรมให้ยึดมั่นในกรอบบริบททางสังคมมาตั้งแต่เด็ก เขาได้เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และตกหลุมรักกับหนุ่มหล่อชื่อ ไคลฟ์ (ฮิวจ์ แกรนด์)

ขณะที่ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นท่ามกลางแรงกดดันจากสังคมที่ไม่ยอมรับ บีบให้ไคลฟ์ต้องจบปัญหาด้วยการแต่งงานกับผู้หญิงและคาดหวังให้มอริซทำแบบเดียวกัน แต่เรื่องแบบนี้มันไม่สามารถบังคับกันได้ สุดท้ายมอริซก็ได้พบกับรักครั้งใหม่กับ อเล็ค (รับบทโดย รูเพิร์ต เกรฟส์) หนุ่มคนใช้ของไคลฟ์ ที่มีฐานะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

Maurice เล่าเรื่องผ่านภาพที่สวยงามดุจภาพวาด ประกอบกับความงามของเครื่องแต่งกายยุควิคตอเรียนและเสียงเพลงประกอบที่เพลินหู องค์ประกอบเหล่านี้ทำให้หนังประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยได้รับ 3 รางวัลจากการเข้าฉายในเทศกาลหนังเมืองเวนิส ส่วนผู้กำกับอย่าง เจมส์ ไอวอรี่ ต่อมาก็มีผลงานการเขียนบทภาพยนตร์เรื่องดังอย่าง Call Me By Your Name (2017) อีกด้วย

การโฆษณา

Act Up หรือ Aids Coalition to Unleash Power คือกลุ่มรณรงค์หัวรุนแรงเรื่องโรคเอดส์ที่แผ่ขยายกิจกรรมไปหลายเมืองใหญ่ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส HIV ที่ลุกลามไปทั่วโลกและยังไม่สามารถควบคุมได้

ผู้กำกับชาวฝรั่งเศส Robin Campillo ถักทอประสบการณ์ของเขาในฐานะสมาชิก Act Up Paris ให้กลายเป็นภาพยนตร์สะท้อนภาพความรุนแรงของสถานการณ์โรคเอดส์ในปารีสในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ความรัก ความหวัง และความหมดหวังของผู้ติดเชื้อ ในชื่อว่า 120 Beats Per Minute (ชื่อฝรั่งเศสว่า 120 Battlements Par Minute) หรือรู้จักกันในชื่อย่อสากลว่า BPM ซึ่งสะกดและบีบหัวใจผู้ชมจนสามารถคว้ารางวัลมากมาย รวมถึงทั้ง Best Film จากเวที César ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศสในปี 2017 และรางวัล Grand Prix จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ในปีเดียวกัน

BPM เฝ้ามองความสัมพันธ์ระหว่าง ฌอง (Sean, แสดงโดย Nahuel Pérez Biscayart) เกย์วัยรุ่นเลือดบวก และ นาต็อง (Nathan, แสดงโดย Arnaud Valois) เกย์หนุ่มเลือดเนกาตีฟ ที่รู้จักกันที่ Act Up Paris

ด้วยพัฒนาการทางการแพทย์ในยุคต้นทศวรรษ 1990 เรารู้อยู่แล้วว่า BPM จะไปจบลงตรงไหน เพราะยิ่งนานวัน ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ที่ยิ่งพัฒนาลึกซึ้งมากขึ้นก็สวนทางกับสุขภาพของฌองที่ถดถอยลงเรื่อยๆ พร้อมๆ กับการเฝ้ามองเพื่อนผู้ติดเชื้อคนอื่นค่อยๆ จากไป

Robin Campillo พาเราเดินทางไปกับความรักที่ก่อตัวขึ้นพร้อมจุดจบอย่างละเมียดละไม เขาเปิดแสงจ้าและสีสดใสสำหรับช่วงเวลาปลุกเร้าของพลังแห่งความมุ่งมั่น พาเราไปยังบรรยากาศมืดทึมเมื่อต้องการสื่อถึงความสับสนระหว่างสิ่งที่ควรทำและกิเลสที่ยากเกินห้ามของมนุษย์ และแช่ภาพช้าสีหม่นในช่วงที่อยากให้เราสัมผัสถึงความรักและความสวยงามของการมีชีวิต และความพยายามมีชีวิตรอด

เราไม่ได้เสียน้ำตาให้ BPM ในตอนจบ แต่เป็นความรู้สึกบีบหัวใจที่ผสมปนเปกันระหว่างความเศร้า ความสะเทือนใจ ความสะท้อนใจ ความหงุดหงิด และความกลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่ตื้ออยู่ภายใน เป็นหนึ่งในหนังไม่กี่เรื่องที่ทำให้เรารู้สึกแบบนั้น

ในทางวิทยาศาสตร์ 120 ครั้งต่อนาทีคือจังหวะการเต้นของหัวใจที่บอกว่าเรายังมีชีวิต แต่สำหรับ Campillo ตัวเลขนี้คือสิ่งนี้คือสิ่งที่เตือนให้เราระลึกถึงความเป็นมนุษย์ และการมีชีวิตอยู่อย่างมีความหมาย

ปล้นนะยะ

ปล้นนะยะ ผลงานการกำกับของ พชร์ อานนท์ เมื่อปี 2547 เล่าเรื่องราวของ เจ๊พริก (จาตุรงค์ มกจ๊ก) กบ (โก๊ะตี๋ อารามบอย) เสือ (วินัย ไกรบุตร) และไนท์ (ธงธง มกจ๊ก) แก๊งกะเทยที่รวมตัวกันปล้นธนาคาร เพราะเชื่อว่าเงินจะทำให้มีชีวิตที่ดีขึ้น แต่แล้วทุกอย่างกลับตาลปัตร เมื่อพวกนางต้องปะทะกับแก๊งโจรหนุ่มฉกรรจ์ที่บุกเข้าไปปล้นธนาคารนั้นในวันเดียวกัน

หนังเน้นความตลกขบขันแบบดาร์กคอมเมดี้ตามสไตล์อันเด่นชัดของผู้กำกับ เจือๆ ไปด้วยความลุ้นระทึกของการเป็นหนังปล้นและความสะเทือนใจที่มาในช่วงท้ายของเรื่อง และสิ่งหนึ่งที่เราต้องยอมรับก็คือความกล้าของหนังเรื่องนี้ ที่เรียกได้ว่าเป็นการ ‘แหวกขนบ’ แบบไม่แคร์ใคร และถ้าไม่ใช่ พชร์ อานนท์ ก็คงไม่มีใครกล้าทำอะไรแบบนี้ เพราะถ้าพูดถึงการปล้นธนาคาร ไม่ว่าจะในชีวิตจริงหรือในหนัง ก็คงไม่มีใครคิดที่จะแต่งแดร็กแบบจัดเต็มเหมือนในเรื่องนี้แน่นอน

นอกจากการสร้างเสียงหัวเราะได้ในทุกสถานการณ์แล้ว 4 ตัวละครหลักยังเป็นตัวแทนของมิตรภาพระหว่างเพื่อนที่รักและเข้าใจกันได้เป็นอย่างดี รวมถึงการสะท้อนให้เห็น ‘ความโลภ’ ที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคนไม่ว่าเพศไหน และมันก็ทำให้เกิดความวุ่นวายและสูญเสียในที่สุด

เรื่องเด่น
    เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ
      การโฆษณา