Church of Santa Cruz
Nathawuth Khamklee/Time Out Bangkok
Nathawuth Khamklee/Time Out Bangkok

ย้อนรอยวัฒนธรรมโปรตุเกสทั่วกรุงเทพฯ

ร่วมเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-โปรตุเกสครบรอบ 500 ปี กับร่องรอยทางวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม และร้านอาหารโปรตุเกสในกรุงเทพฯ

Sopida Rodsom
การโฆษณา

ปี พ.ศ. 2561 นี้ถือเป็นปีสำคัญของประเทศไทยและโปรตุเกส เพราะเป็นปีที่ทั้งสองประเทศเฉลิมฉลอง 500 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตที่มีมาต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และถือเป็นความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกที่ยาวนานที่สุดของประเทศไทย

ในปัจจุบันคุณยังสามารถเห็นร่องรอยของวัฒนธรรมโปรตุเกสในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร ภาษา รวมไปถึงสถาปัตยกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาคารห้องแถมที่ได้แรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมชิโน่-โปรตุกีส หรือแม้กระทั่งในจดหมายที่จัดแสดงในงาน ของขวัญแห่งมิตรภาพ (Great and Good Friends) นิทรรศการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูต 200 ปีระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา ก็ยังเขียนเป็นภาษาโปรตุเกส ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นภาษาหลักที่คนไทยใช้ติดต่อกับชาวต่างชาติในอดีต (ก่อนจะเปลี่ยนเป็นภาษาอังกฤษเหมือนในปัจจุบัน)

หลักฐานวัฒนธรรมโปรตุเกสที่ชัดเจนที่สุดในเมืองไทยคือขนมไทยที่ทำจากไข่แดงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทองหยิบ หรือทองหยอด ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากขนมโปรตุเกส หรือแม้กระทั่งทาร์ตไข่ ขนมโปรตุเกสที่เดินทางมาถึงประเทศไทยผ่านเมืองอาณานิคมอย่างมาเก๊า เป็นต้น ดังนั้นหากจะพูดว่าวัฒนธรรมโปรตุเกสแอบซ่อนอยู่รอบตัวเราก็คงจะไม่ผิดมากนัก ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่เราจะมาย้อนรอยดูวัฒนธรรมที่น่าสนใจที่มีอยู่ทั่วกรุงเทพฯ กันแล้ว

ชุมชนกุฎีจีน

หากจะพูดถึงชุมชนเก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพฯ ที่ยังคงความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม ชุมชนกุฎีจีน บนฝั่งธนบุรีก็น่าจะเป็นชุมชนแรกๆ ที่หลายคนนึกถึง เพราะชุมชนชาวไทยเชื้อสายโปตุเกสแห่งนี้ตั้งรกรากมานานตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากสินทรงก่อตั้งกรุงธนบุรี ภายหลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2310 โดยถึงแม้จะผ่านกาลเวลามานานกว่า 200 ปี ชุมชนกุฎีจีนก็ยังโดดเด่นในเอกลักษณ์ของวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่สงบสุขระหว่างชาวพุทธ ชาวคริสต์ และชาวอิสลาม รวมไปถึงวัฒนธรรมที่หลากหลายของชาวไทย และพ่อค้าชาวจีนที่อยู่ในละแวกเดียวกัน

  • Attractions
  • สิ่งก่อสร้างทางศาสนา
  • ธนบุรี

โบสถ์คาธอลิกเก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2313 โดยแต่เดิมนั้นก่อสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง จนกระทั่งโบสถ์ไม้เสียหายจากเพลิงไหม้ในปี พ.ศ. 2459 จึงได้รับการบูรณะใหม่เป็นโครงสร้างปูน วังซางตาครู้สมีความโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมแบบเรอเนสซองส์ผสมนีโอคลาสสิก และยอดโดมสีแดงเด่นเป็นสง่าที่มีรูปร่างคล้ายคลึงกับโดมของมหาวิหารฟลอเรนซ์ เห็นได้อย่างชัดเจนแม้ว่าจะอยู่อีกฟากของแม่น้ำเจ้าพระยา

การโฆษณา
  • Museums
  • ธนบุรี

ท้ายซอยหลักของชุมชนกุฎีจีนเป็นที่ตั้งของบ้านไม้ที่ได้รับการบูรณะใหม่ให้ดูขาวสะอาดตา ตกแต่งด้วยพื้นลายกระเบื้องสไตล์อาซูเลโฆส โดยชั้นล่างเป็นคาเฟ่เล็กๆ ที่ดูอบอุ่น เสิร์ฟเครื่องดื่มและขนมปังสัพพแหยก ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากอาหารโปรตุเกส ในขณะที่ชั้นบนเป็นส่วนของพิพิธภัณฑ์ บอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของราชอาณาจักรสยามและโปรตุเกสตั้งแต่สมัยพระเจ้ามานูเอลที่ 1 ทรงส่งเรือมาเยือนประเทศในทวีปเอเชีย

ชุมชนคอนเซ็ปชัญ

ถึงแม้จะไม่เป็นที่รู้จักมากเท่าชุมชนกุฎีจีน แต่ชุมชนคอนเซ็ปชัญนั้นเรียกได้ว่าเปย็นชุมชนโปรตุเกสที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพฯ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2217 โดยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้พระราชทานที่ดินผืนนี้ให้กับสังฆราชลาโนเพื่อก่อตั้งโบสถ์คริสต์โรมันคาทอลิก และเป็นที่อยู่อาศัยของชาวโปรตุเกส แต่ในปัจจุบันชุมชนแห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยของคนจากหลากหลายวัฒนธรรมที่มีความเชื่อทางศาสนาเดียวกัน โดยโบสถ์วัดคอนเซ็ปชัญอันเป็นศูนย์กลางของชุมชนนั้นถือเป็นโบสถ์คริสต์โรมันคาทอลิกที่เปิดมายาวนานที่สุดถึงในปัจจุบัน

การโฆษณา
  • Attractions
  • สิ่งก่อสร้างทางศาสนา
  • ดุสิต

โบสถ์วัดคอนเซ็ปชัญ เป็นหัวใจหลักของชุมชนคอนเซ็ปชัญมายาวนานกว่า 3 ศตวรรษ โดยโบสถ์คริสต์โรมันคาธอลิคแห่งนี้ก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2218 แต่โบสถ์สไตล์นีโอโรเมอเนสก์ที่เราเห็นในปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2480 โดยด้านในมีรูปปั้นขนาดใหญ่ รวมไปถึงรูปปั้นพระแม่มารีจากประเทศโปรตุเกสอีกด้วย

  • Attractions
  • สิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์
  • เจริญกรุง

ซอยกัปตันบุช (ซอยเจริญกรุง 30) เป็นที่ตั้งของสถานทูตโปรตุเกส ซึ่งถือเป็นสถานทูตชาติตะวันตกที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยที่มีอายุเกือบ 200 ปี ภายในยังมีบ้านพักของเอกอัครราชทูต โดยบ้านหลังนี้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2403 ซึ่งโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมสไตล์โคโลเนียลแบบโปรตุเกส โดยเฉพาะอย่างยิ่งระเบียงด้านหน้าที่เห็นวิวแม่น้ำเจ้าพระยา

การโฆษณา

ศิลปะบนกำแพงสถานทูตฯ โดยสิลปิน Vhils

คุณสามารถสัมผัสความเป็นโปรตุเกสแบบไม่ต้องก้าวเข้าไปในสถานทูตโปรตุเกสด้วยซ้ำ เพราะศิลปินชาวโปรตุเกส Alexandre Farto หรือ Vhils ได้มาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะงานแกะสลักบนกำแพงในชื่อ Scratch the Surface 

อาหารโปรตุเกสในกรุงเทพฯ

  • อาหารอิตาลี
  • ลุมพินี
Il Fumo
Il Fumo

อดีตร้านอาหารอิตาเลียนชื่อดังที่ได้เปลี่ยนมาเสิร์ฟอาหารโปรตุเกส (ซึ่งเกือบจะเรียกได้ว่าร้านเดียวในกรุงเทพฯ) อันเป็นอาหารบ้านเกิดของเชฟประจำร้าน เชฟ Nelson Amorim และเชฟ Ricardo Nunes นอกจากจะเสิร์ฟอาหารโปรตุเกสแล้ว ร้านแห่งนี้ยังมีการจัดโปรโมชั่นพิเศษกับเชพในเมืองไทยและโปรตุเกสอยู่เสมอ โดยงานล่าสุดได้จัดกับเชฟ Vitor Matos จากร้าน Antiqvvm ร้านอาหารมิชลิน 1 ดาวในเมืองปอร์โต้

เมนูแนะนำ...

Meia Desfeita: จานเรียกน้ำย่อยที่ทำจากปลาบาคาเลา (ปลาค็อดตากแห้ง) เสิร์ฟกับพูเร่ถั่วลูกไก่ และไอศกรีมที่ทำจากน้ำมันมะกอก 

Arroz de Pato: เมนูจานข้าวเสิร์ฟคู่กับเนื้อเป็ดอินฟิวส์กับชาเอิร์ลเกรย์ 

Portukáli…Portakal…Portokál: เมนูของหวานที่ทำจากสารสกัดส้มรสขม (วัตถุดิบชื่อดังจากโปรตุเกส จนคำว่า "โปรตุเกส" แปลว่าส้มในหลายๆ ภาษา) โดยของหวานจานนี้เป็นพุดดิ้งโปรตุเกสชื่อ Pudim Abade de Priscos สอดไส้ด้วยมูสส้ม

  • อาหารไทย
  • ธนบุรี

บ้านไม้หลังเล็กๆ ที่อยู่อาศัยกันมานานกว่าห้ารุ่นได้รับการปรับปรุงให้คงเอกลักษณ์ดั้งเดิม และเปิดเป็นร้านอาหารและของหวานชาววังสำรับโปรตุเกส โดยใช้ความรักในการทำอาหารผสมผสานกับสูตรของบรรพบุรุษของเจ้าของร้านที่ทำงานในวัง ให้บริการเมนูอาหารหายากที่หลายคนอาจไม่รู้จัก

เมนูแนะนำ...

ต้มมะฟาด: เมนูอาหารไทย/จีน ที่ได้แรงบันดาลใจจากสตูว์แบบโปรตุเกสชื่อ cozida à Portuguesa ซึ่งใช้น้ำซุปสมุนไพร ซึ่งทางร้านบอกว่าเป็นเมนูโปรดของเอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทย

ขนมจีนโปรตุเกส: ขนมจีนน้ำยาพริกแกงแดงแบบไม่เผ็ด ซึ่งเกิดจากแรงบันดาลใจของชาวโปรตุเกสที่อยากทำพาสต้าไวท์ซอส แต่เปลี่ยนมาใช้เส้นขนมจีน และแกงกะทิแทน

หมูซัลโม: เมนูหมูทอดคลุกด้วยอบเชยและกระวานเทศ แล้วนำน้ำมันมาเคี่ยวราดเป็นซอสด้านบน

การโฆษณา

ขนมฝรั่งกุฎีจีน

ของอร่อยที่พลาดไม่ได้เลยเมื่อมาเยือนชุมชนกุฎีจีนก็คือ ขนมฝรั่งกุฎีจีน ขนมโบราณอายุนานกว่า 200 ปี ซึ่งเล่าต่อกันมาว่าได้รับอิทธิพลมาจากขนมต้นตำรับของชาวโปรตุเกส ที่ใช้วัตถุดิบเพียงแค่ 3 อย่างคือ แป้ง ไข่ และน้ำตาล นำไปอบ แล้วโรยหน้าด้วย ลูกเกด ลูกพลับ ฟักเชื่อม และน้ำตาล ขนมเก่าแก่ชนิดนี้เป็นขนมดังประจำชุมชนที่สืบทอดต่อกันมากว่า 5 ชั่วอายุคน โดยในปัจจุบันมีร้านขนมเพียงสี่ร้านที่ขายเขนมฝรั่งกุฎีจีนตำรับดั้งเดิม ได้แก่ บ้านป้าเล็ก บ้านป้าพรรณ ร้านหลานป้าเป้า และร้านธนูสิงห์

เรื่องเด่น
    เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ
      การโฆษณา