Drag Race Thailand season II, Angele Anang
Sereechai Puttes/Time Out Bangkok
Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

คุยกับ แองเจเล่ อานัง สาวข้ามเพศผู้ชนะการแข่งขัน Drag Race Thailand Season 2

เมคอัพอาร์ตทิสและนักแสดงผู้หลงใหลในสไตล์วินเทจ เซ็กซี่ จัดจ้าน กับก้าวกระโดดสู่การเป็นแดร็กควีนหน้าใหม่ของวงการ

Top Koaysomboon
การโฆษณา

แองเจเล่ อานัง หรือชื่อจริง อัญชลี อณังษ์ คือสาวข้ามเพศคนแรกที่ได้รับชัยชนะในการแข่งขัน Drag Race Thailand ทั้งยังเป็นผู้เข้าแข่งขันคนแรกที่สามารถเอาชนะโจทย์ประจำสัปดาห์ได้ถึง 6 โจทย์ หลังจากการขบเคี้ยวแข่งขันกันมาอย่างยาวนานตลอด 12 สัปดาห์

แองเจเล่สั่งสมประสบการณ์จากการเป็นนางโชว์ตั้งแต่อายุยังน้อย และเรียนรู้ศิลปะการแต่งหน้าจากการเป็นเมคอัพอาร์ตทิสอีกกว่า 8 ปี ก่อนจะก้าวเข้ามาอยู่ใต้แสงไฟสปอตไลท์ในฐานะ Drag เพื่อระเบิดพลังความคิดสร้างสรรค์อันน่าทึ่งให้เราได้เห็นกันในรายการ Drag Race Thailand จนเราต้องขอไปนั่งพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องราวบนเส้นทางสู่ความสำเร็จ บทบาทในสังคม LGBT ไปจนถึงแผนการในอนาคตที่เธอวาดไว้ เพื่อทำความรู้จักกับเธอให้มากขึ้น

Drag Race Thailand season II, Angele Anang

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

แองเจเล่เริ่มแสดงโชว์ตั้งแต่เมื่อไร

หนูเริ่มในตอนที่เด็กมากๆ เลยค่ะ แถมส่วนมากหนูจะอยู่กับเพื่อนผู้หญิง ก็เลยไม่ชินกับการอยู่ในกลุ่มกะเทย กลัวคนอื่นจะไม่ชอบตัวเอง กลัวถูกหมั่นไส้ อะไรอย่างนี้ กลายเป็นว่าหนูเลยมีท่าทางไม่มั่นใจในตัวเอง บุคลิกไม่ดี พี่ๆ เขาเห็นอย่างนั้นก็ให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา ทำให้หนูให้มั่นใจในตัวเองมากขึ้น พอหนูทำงานดี ได้เป็นตัวร้อง พี่ๆ ก็ร่วมยินดีกับหนูตลอด จนหนูเริ่มรู้สึกว่าเราเป็นครอบครัวเดียวกันจริงๆ สุดท้ายก็รักครอบครัวนี้มาก

คิดว่าการได้เริ่มทำงานตั้งแต่อายุยังน้อยทำให้ได้เรียนรู้อะไรบ้าง

เยอะเลยนะ อย่างแรกคือได้ประสบการณ์การทำงาน ทำให้หนูได้ฝึกฝนเร็วกว่าคนอื่น พัฒนาตัวเองให้เป็นคนที่ดีกว่าเดิม เรียนรู้ที่จะทำงานแบบมืออาชีพมากขึ้น แม้ว่าตอนแรกมันจะทำให้เรากลัวหรือไม่มั่นใจ อาจจะมีอุปสรรคบ้าง แต่มันก็ทำให้เราพยายามผลักดันตัวเองเข้ามาในวงการนี้ให้ได้ เพราะเรารู้ว่ามันเป็นสิ่งที่เราถนัดและอยากทำจริงๆ

มีจุดสูงสุดอะไรในการเป็น Drag ที่แองเจเล่อยากไปให้ถึงไหม

เอาจริงไม่เคยวาดฝันว่าจะเป็นนางโชว์มาก่อนเลย ตอนเด็กๆ เคยคิดแค่ว่าอยากเป็นแดนซ์เซอร์วงอิเล็คโทนตามเวทีบ้านนอก แต่ว่าหลังจากที่หนูได้เป็นตัวร้องแล้ว ถึงได้มาคิดว่าอยากทำอะไรที่เป็นอิสระมากขึ้น เลยออกมาเป็น Drag แข่งในรายการนี้ ซึ่งพอชนะก็รู้สึกว่าเราประสบความสำเร็จแล้ว เลยคิดว่าจะแพลนไปทัวร์แสดงหลายๆ ที่เพื่อดื่มด่ำกับตรงนี้ก่อน เร็วๆ นี้ก็มีคิวจะไปแสดงที่สิงคโปร์กับมาเลเซีย และถ้าเป็นไปได้ก็อยากไปทัวร์ในระดับโลก อย่างงาน DragCon (งานเฟสติวัลเฉลิมฉลองวัฒนธรรม Drag ที่สหรัฐอเมริกา) ที่อยากไปมากๆ แล้วคงจะพัฒนาฝีมือแสดงไปเรื่อยๆ เผื่อไปเป็นนักแสดงจริงจังเลยมากกว่า

ใช้เวลานานไหมกว่าจะเปิดใจกับที่บ้านว่าเป็น LGBT

ต้องยอมรับว่าตอนเด็กๆ หนูก็เป็นเด็กมีปัญหาคนหนึ่งเลย เพราะว่าพ่อกับแม่ทะเลาะกันบ่อย ก่อนที่ท่านจะเลิกกันแล้วพ่อก็ไปมีแฟนใหม่ จากนั้นแม่ก็เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง หนูเลยต้องไปอยู่กับพ่อ ซึ่งในทีแรกหนูก็รู้สึกไม่ชอบแฟนใหม่พ่อ ไม่ชอบสิ่งที่พ่อทำ เลยทำตัวมีปัญหา เกเร ไม่เรียนหนังสือ ตามประสาเด็กๆ พ่อเลยให้ช่วยงานทำธุรกิจโรงกลึงอยู่ที่บ้าน จนกระทั่งตอนที่หนูเลิกกับแฟนคนแรก ซึ่งทำให้หนูปล่อยตัว ไว้ผมยาว ออกสาวเป็นกะเทย แล้วเริ่มทำงานที่ร้านคาราโอเกะไปเลย ซึ่งพ่อบอกเสมอว่าไม่ชอบให้ทำงานแบบนี้ คอยตามหนูกลับบ้านเรื่อยๆ แต่พอเขาได้เห็นว่ามีคนชอบการแสดงของหนูแค่ไหนในรายการ Drag Race เขาก็เริ่มเข้าใจ และยอมรับในสิ่งที่หนูเป็น คอยช่วยเตือนให้หนูทำตัวดีๆ 

Drag Race Thailand season II, Angele Anang

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

ในฐานะผู้ชนะการแข่งขัน Drag Race คิดจะช่วยเป็นกระบอกเสียงให้กลุ่ม LGBT ในแง่ไหนได้บ้าง

หลายแง่เลยค่ะ หนูมีความคิดเยอะมาก โดยเฉพาะเรื่องความเท่าเทียมกันทางสังคม คือสังคมไทยก็เปิดกว้างด้านความคิดอยู่แล้วแหละ แต่ยังมีในด้านกฎหมาย ที่หนูคิดว่ากลุ่ม LGBT ทุกคนอยากได้ อยากมีสิทธิ์เท่ากับชาย-หญิง เช่น การแต่งงาน หรือ การเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ ที่มีในต่างประเทศแล้ว สังคมบางประเทศไม่ได้เปิดกว้างขนาดนั้นแต่ก็มีออกกฎหมายรองรับ หนูไม่รู้ว่าทำไมประเทศเรายังไม่รองรับ ไม่ให้สิทธิ์กลุ่ม LGBT สักที แต่คงไม่ถึงขนาดลงไปทำงานด้านการเมือง (หัวเราะ) เพราะหนูไม่ได้จบด้านนี้มา ไม่ได้รู้เรื่องการเมืองเยอะขนาดนั้น แต่หนูสามารถเป็นกระบอกเสียงไปบอกคนที่ทำด้านการเมือง เช่น พี่กอล์ฟ-ธัญญ์วาริน ให้ได้รู้ว่าตอนนี้กลุ่ม LGBT ต้องการอะไร มองหาอะไรอยู่ อะไรแบบนั้นมากกว่า คงไม่ลงไปจัดการด้วยตัวเอง เพราะทำไม่เป็น

ถ้าบอกว่าในสังคมไทยยังมีการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมต่อกลุ่มสาวข้ามเพศอยู่ แองเจเล่เห็นด้วยหรือเปล่า

เห็นด้วยค่ะ มันคล้ายกับว่าเรายังเป็นคนชั้นที่สอง คือไม่รู้นะว่าคนที่ยังปิดกั้นเราเขามองเราอย่างไร แต่ยังมีบางผับที่กะเทยเข้าไม่ได้จริงๆ ทั้งที่เราก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน เราก็อยากจะสนุกสนาน มีช่วงเวลาดีๆ เหมือนกัน บางทีก็อึดอัดเพราะไม่รู้เราทำผิดอะไร รู้สึกเหมือนเขาคิดว่าเขาเหนือกว่าเรา ส่วนตัวหนูไม่อยากให้มันเป็นแบบนี้เลยนะ อยากให้เขาเข้าใจในสิ่งที่เราเป็น ลองเทียบกันคุณเองมีสิทธิ์จะทำอะไรในชีวิตของคุณก็ได้ ดังนั้นทุกคนก็ควรมีสิทธิ์เป็นอะไรก็ได้ที่เขาอยากเป็น แต่เมื่อเราเปลี่ยนอะไรไม่ได้ เราก็แค่เป็นตัวของตัวเองต่อไป

"เมื่อเราเปลี่ยนอะไรไม่ได้ เราก็แค่เป็นตัวของตัวเองต่อไป"

ฝากอะไรถึงสาวข้ามเพศรุ่นเด็กสักหน่อยไหม

อยากบอกว่าให้เป็นตัวของตัวเอง ไม่ต้องสนใจว่าใครจะปฏิบัติกับเราอย่างไร ให้มีความสุขกับสิ่งที่เราทำ อย่าอายที่จะทำในสิ่งที่เราชอบ ถ้าอยากแต่งหน้าก็แต่งเลย อยากเอาผมทัดหูก็ทัดเลยลูก อยากออกสาว แต๋วแตกแค่ไหนก็ทำ แต่ขอให้อยู่ในหลักของความดี อย่าไปเดือดร้อนใคร เพราะว่าสมัยก่อนพี่ก็ทำแบบนี้ และพี่ไม่เคยสนใจใครเลย แล้วมันทำให้เราได้ปล่อดปล่อย ได้ระบายออกมา ไม่ต้องกดดัน พอเราไม่กดดันตัวเองทุกอย่างมันก็จะออกมาดี แล้วเราจะมีความสุขจากข้างในจริงๆ โดยที่ไม่มีใครสามารถทำอะไรเราได้ เพราะเรามีเกราะป้องกันเป็น ‘ตัวเราเอง’

Drag Race Thailand season II, Angele Anang

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

อ่านบทสัมภาษณ์อื่นๆ

  • Movies
  • ภาพยนตร์สารคดี

ด้วยจำนวนผู้ติดตามเกือบ 10 ล้านคนในช่องยูทูป ถ้าเราจะเรียก มาร์ค วีนส์ (Mark Wiens) ผู้นี้ว่าเป็นศาสนดาแห่งอาหารก็คงจะไม่เกินจริง กับภารกิจออกตามล่าของอร่อยทั่วทุกมุมโลกโดยเฉพาะโซนเอเชีย ตั้งแต่ร้านหรูจนถึงร้านข้างทางในซอกกำแพงที่หลายคนองข้าม 

ความหลงใหลในอาหารและการกินซึ่งติดตัวกับเขามาตั้งแต่เด็ก กับการเติบโตในฮาวาย ท่ามกลางความหลากของวัฒนธรรม ที่ยกให้อาหารเปรียบเสมือนช่วงเวลาแห่งการสังสรรค์ นำพาเขาได้ออกเดินทางไปทั่วโลก ก่อนจะหลงรักเข้ากับรสชาติของเอเชียและประเทศไทย ให้เขาได้ใช้ความชอบกินนี้เป็นตัวเชื่อม ระหว่างคนทำและคนกินไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลกได้มาเจอกัน ในฐานะฟู๊ดวล็อกเกอร์ 

Mark Wiens
HBO GOMark Wiens
“สำหรับผมอาหารคือสิ่งที่เราทุกคนต้องการเพื่อการดำรงชีวิต เราทุกคนต้องกิน ผมเลยคิดว่านี่คือสาเหตุที่ทำให้เป็นสิ่งที่ไม่ว่าใครก็มีส่วนร่วมได้” 

เขาเล่าให้ Time Out ฟังหลังจากที่เราถามว่าสำหรับเขาแล้วอาหารคืออะไร เพราะนอกจากอาหารจะเป็นสิ่งที่ไม่ว่าใครก็ต้องกินและสนใจ ยังเป็นสิ่งที่ทำให้เราทั้งหมดได้บินข้ามประเทศมาเจอเขาในประเทศสิงคโปร์ กับการเปิดตัวในฐานะผู้ดำเนินรายการใหม่ล่าสุดจากทาง HBO อย่าง Food Affair with Mark Wiens ที่เขาจะพาเราไปเจอรสชาติความอร่อยใ นประเทศที่ขึ้นว่าเป็นศูนย์กลางของอาหารในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง สิงคโปร์ 

อาหาร… ที่พาเขาเดินทางจากวล็อกเกอร์สู่พิธีกรรายการ

ใครที่เคยชมรายการจากช่องของเขา เมักจะได้เห็นรีแอคชั่นสีหน้าที่เปี่ยมไปด้วยความสุขจากการได้กินอาหารอร่อยๆ ไม่ว่าอาหารตรงหน้าจะเป็นอาหารธรรมดาๆ ที่หากินได้ทุกวัน หรือเมนูแปลกแหวกพิสดานก็ตาม ทุกอย่างถูกบันทึกไว้อย่างเป็นธรรมดาไร้สคริปต์ไร้การปรุงแต่งใดๆ 

“ตอนแรกผมเริ่มเขียนบล็อคและถ่ายรูปอาหาร สักพักผมรู้สึกว่ามันค่อนข้างน่าเบื่อสำหรับผม เพราะว่าผมชอบกินอาหารข้างทาง และการกินอาหารข้างทางเต็มไปด้วยพลังงาน มีหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นขณะที่คุณกำลังกินอยู่ คุณได้เห็นวิถีชีวิตของผู้คน คุณเห็นการทำอาหารตรงหน้า เลยเป็นสาเหตุให้ผมเริ่มถ่ายวิดีโอ เพราะรู้สึกว่าน่าจะเป็นตัวที่ถ่ายทอดทุกอย่างที่ผมเห็นได้ดีกว่า และผมก็ทำมาจนถึงทุกวันนี้” 

อาหาร… ที่นำไปสู่ความหลงใหล

“ความหลงใหลในอาหาร” ที่ไม่ใช่แค่คำอธิบายความสนใจในตัวเขาเอง แต่ยังสามารถเหมารวมได้ทั่วทั้งเอเชียเลยทีเดียว ผมคิดว่าความหลงใหลนี้สามารถใช้ได้กับทุกคนโดยเฉพาะชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะอาหารถือเป็นส่วนสำคัญในวัฒนธรรม อาจจะมากกว่าที่ใดบนโลกด้วยซ้ำไป

“คนเอเชียนชอบกิน ไม่ว่าจะพบปะเพื่อนฝูงหรือครอบครัว การกินคือสิ่งที่ต้องทำ พวกเรามักจะพูดถึงการกินตลอดเวลา แม้กระทั่งกำลังกินข้าวอยู่ ก็อาจจะพูดถึงมื้อต่อไปว่าจะกินอะไรดี

ความหลงใหลที่ว่ายังเป็นหัวใจสำคัญของรายการ Food Affair with Mark Wein เพราะรูปแบบรายการจะเป็นไปสำรวจจักรวาลสองขั้วความอร่อย ตั้งแต่สตรีทฟู้ดข้างทางไปจนถึงอาหารไฟน์ไดนิ่งในร้านดีกรีดาวมิชลิน 

ตลอดทั้ง 6 ตอนในซีซั่นแรกนี้ มาร์ค วีนส์ พาเราไปเจอกับเชฟ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร รวมถึงเจ้าของร้านสตรีทฟู้ด ที่ทุกคนล้วนแต่แชร์ความหลงใหลในอาหารร่วมกัน สิ่งที่ผมชอบเกียวกับ Food Affair คือการที่ทุกคนได้แชร์เรื่องราวของตัวเอง จุดเริ่มต้มที่ทำให้ให้เชฟทั้งในร้านไฟน์ไดนิ่งและร้านข้างทางเริ่มต้นเส้นทางนี้ และมุมมองที่มีต่ออาหาร ซึ่งจะว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของพวกเราทุกคนก็ได้ นอกจากนี้ยังเป็นนำเสนอให้ทุกคนเห็นว่า

“เราสามารถมีประสบการณ์ที่ดีและน่าจดจำกับการกินอาหารไฟน์ไดนิ่ง เท่ากันกับเวลาที่เรานั่งกินอาหารข้างทาง”  

อาหาร… ที่มากกว่าแค่ความอร่อย 

“ผมอยากให้ทุกคนรู้สึกอยากกินอาหารที่เรานำเสนอในรายการ ขณะเดียวก็อยากให้ทุกคนได้ชื่นชมสิ่งที่อยู่ตรงหน้าด้วย เพราะอาหารทุกอย่างที่คุณกิน ถึงแม้ว่าคุณจะทำเองก็ตาม ล้วนแต่มีเรื่องราวความเป็นมา และอาหารทุกจานยังเป็นตัวแสดงถึงความพยายาม ความมุ่งมั่นของคนทำอาหารที่พยายามจะนำเสนอความอร่อยเหล่านี้” สิ่งที่เขาเพิ่งเล่าไปยิ่งเหมือนการตอกย้ำว่า “ความอร่อย” เป็นเรื่องปัคเจคบุคคล สิ่งที่เราได้จากการไปกินร้านอาหารต่างๆ คือเรื่องราว การฝึกฝน และการชื่นชมความสามารถของเชฟทั้งหลายหรือแม้แต่คุณป้าร้านส้มตำที่ฝึกฝนจนได้อาหารที่ตักเข้าปากแล้วเรากล้าพูดว่าอร่อยแบบไม่ต้องคิดมาก เพราะอาหารอร่อยก็คืออร่อยต่อให้จานละสิบบาทห้ามบาทหรือหลักพันหลักหมื่นก็ตาม

อาหาร… ที่เป็นตัวแทนแห่งความหลากหลาย

มาร์ค วีน เกิดที่ฮาวาย ก่อนจะเริ่มออกเดินทางพร้อมครอบครัวของเขาตั้งแต่อายุ 5 ขวบ กับการย้ายไปอยู่เมืองเล็กๆ ในหุบเขาของประเทศฝรั่งเศส ก่อนจะย้ายไปประเทศคองโก ตามมาด้วยประเทศเคนยา ทำให้เขาถือว่าเติบโตมาท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างแท้จริง โดยเฉพาะกับอาหาร “ทุกครั้งที่ผมได้กินอาหารจากประเทศต่างๆ ผมจะคิดว่ามันจะดีขนาดไหนถ้าได้กินในประเทศนั้น ผมเลยตั้งใจว่าสักวันจะต้องเดินทางไปกินอาหารพวกนั้นที่ประเทศต้นตำรับให้ได้” หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัยเขาเริ่มออกเดินทางท่องเที่ยวในทันที และประเทศไทยก็คือจุดหมายปลายทางแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ด้วยความที่เขาชอบกินตั้งแต่เด็ก ทุกเมืองที่เขาไปการตามล่าหาของอร่อยข้างทางเลยเป็นเหมือนมิชชั่นของเขา ที่นำไปสู่การรวมตัวเป็นคอมมิวนิตี้อาหารหรือถ้าจะเรียกว่าแฟนเบสของเขาก็ว่าได้ 

Mark Wiens
HBO GOMark Wiens

“สิ่งที่ผมชอบมากที่สุดสำหรับอาหารข้างทางของสิงคโปร์ คือทุกอย่างอยู่ในที่เดียวกันหมด คุณสามารถไปที่ศูนย์อาหารและสั่งอาหารแต่อย่างมากินพร้อมกันได้ในมื้อเดียว ถ้าเป็นประเทศอื่นเราอาจจะต้องติดอยู่บนถนนไม่ต่ำกว่าชั่วโมงสำหรับการย้ายร้าน” เขาให้คำตอบว่าจุดเด่นของอาหารสิงคโปร์คืออะไร และอะไรที่ทำให้ที่นี่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของวงการอาหาร “ด้วยความที่สิงคโปร์มีความนานาชาติมาก เป็นศูนย์กลางของหลายๆ วงการ ทำให้มีคนจากทั่วโลกบินมาที่นี่ รวมถึงเชฟด้วยเช่นกัน พวกเขาสามารถมาที่นี่แล้วทดลองกับรสชาติอาหารใหม่ๆ เพราะมีกลุ่มคนที่พร้อมเปิดรับสิ่งเหล่านั้นในทันที 

“สำหรับประเทศไทยเองก็เช่นกัน โดยเฉพาะหลายปีหลังมานี้ จากที่อาหารไทยมักจะไม่ได้จัดอยู่ในหมวดไฟน์ไดนิ่ง แต่เราก็มีร้านอาหารศรณ์ มีเชฟต้น-ธิติฏฐ์และคนอื่นๆ อีกมากมาย ที่พยายามจะนำพาอาหารไทยไปสู่อีกระดับ ในมุมมองของผมสิ่งที่ทำให้วงการอาหารในประเทศไทยโดดเด่นคืออาหารไทย และสำหรับสิงคโปร์คือความหลากหลาย แต่ทั้งหมดก็เชื่อมโยงกันภาจใต้คำว่าอาหาร ที่เราทุกคนชอบเหมือนกัน”

สามารถรรับชมซีรีส์ Food Affair with Mark Wiens ได้แล้ววันนี้ทาง HBO Go 

รายชื่อร้านอาหารที่อยู่ในรายการสามารถตามรอยกันได้

  • Zén
  • Selera Nasi Lemak
  • Hainanese Delicacy
  • Peach Blossoms
  • Violet Oon
  • Old Nyonya
  • Old Tiong Bahru Bak Kut Teh
  • Cloudstreet
  • Kotuwa
  • Samy’s Curry
  • Kazu Sumiyaki
  • Burnt Ends
  • Kwong Satay
  • Movies

ผลงานภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของผู้กำกับหนังแนวอินดี้ ที่ได้นักแสดงชาวอังกฤษฝีมือดีเบอร์ต้นๆ ของวงการมาร่วมงานด้วย แน่นอนว่าเรากำลังพูดถึง Memoria หนังยาวลำดับที่ 9 ของ เจ้ย - อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่เขาเองก็ยอมรับว่าการสร้างผลงานเรื่องนี้ล้วนเป็นความท้าทายครั้งใหม่ ตั้งแต่เป็นครั้งแรกที่อภิชาติพงศ์บินไปถ่ายทำหนังถึงต่างประเทศ ครั้งแรกที่เขาถ่ายทำเป็นภาษาต่างประเทศทั้งเรื่อง และครั้งแรกที่เขาร่วมงานกับนักแสดงชาวต่างชาติทั้งหมด

โดยเฉพาะ ทิลดา สวินตัน (Tilda Swinton) นักแสดงชาวอังกฤษฝีมือชั้นครู ซึ่งรับบทนำในเรื่อง

อภิชาติพงศ์และทิลดารู้จักกันมายาวนานกว่า 10 ปี และเคยพูดถึงการร่วมงานกันมานานแล้ว แต่เพิ่งได้มีโอกาสจับมือกันสร้างผลงานจริงๆ ใน Memoria ภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องการออกตามหาเสียงลึกลับที่ เจสสิก้า ได้ยินอยู่ในหัวของเธอเองในประเทศโคลอมเบีย ซึ่งพล็อตเรื่องทั้งหมดอภิชาติพงศ์เล่าว่าอิงขึ้นมาจากชีวิตจริงของเขา

โดย Memoria เปิดตัวครั้งแรกในเทศกาลภาพยนตร์คานส์ ครั้งที่ 74 ในปี 2021 และได้รับรางวัลขวัญใจคณะกรรมการ หรือ Jury Prize  

Tilda Swinton/Apichatpong Weerasethakul/Memoria
Sereechai Puttes/Time Out Bangkok


“สำหรับผมภาพยนตร์เป็นสิ่งที่ทำให้ผมหลุดออกจากโลกแห่งความจริงได้ตั้งแต่เด็ก มันช่วยให้ผมหนีออกจากพื้นที่ที่น่าเบื่อและว่างเปล่าในตอนนั้น” อภิชาติพงศ์เริ่มเล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นของการทำภาพยนตร์

“แต่พอผมกลับมาทำความเข้าใจกับสถานที่ ผู้คน ผมได้เห็นสิ่งที่สวยงามมากๆ หนังเรื่องนี้เลยเป็นเหมือนตัวเชื่อมระหว่างผมและโลกภายนอก ผมเลยอยากฉายหนังเรื่องนี้เพื่อเป็นการฉลองจุดกำเนิดของตัวเอง”

“ผมเลยอยากฉายหนังเรื่องนี้เพื่อเป็นการฉลองจุดกำเนิดของตัวเอง”

 Memoria จะดำเนินเรื่องด้วยภาษาอังกฤษและสเปนเป็นหลัก (ทั้งชื่อเรื่องก็มาจากภาษาสเปน) ซึ่งเป็นอีกความตั้งใจของอภิชาติพงศ์ เพราะเขาบอกเองว่า “อยากสร้างหนังในสถานที่ที่ตัวเองและทิลดาไม่คุ้นเคย” ด้วยเหตุนี้สถานที่ถ่ายทำทั้งเรื่องจึงอยู่ในประเทศโคลอมเบีย ที่ผู้คนใช้ภาษาสเปนเป็นส่วนใหญ่

“พอเราพาตัวเองไปอยู่ในสถานที่ที่ไม่คุ้น มันทำให้เราควบคุมอะไรไม่ได้ ผมเลยต้องไว้ใจทีมงานโคลอมเบียที่ร่วมงานด้วย แล้วใช้เวลาที่เหลือมาโฟกัสกับตัวละคร เจสสิก้า อย่างเต็มที่” อภิชาติพงศ์พูด

ทิลด้า ในฐานะนักแสดงนำบอกว่า ระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ เธอรู้สึกเหมือนทั้งเธอและอภิชาติพงศ์ได้ทิ้งตัวตนของตัวเองไว้ข้างหลัง และกลายเป็นคนอื่นจริงๆ ในระหว่างการแสดง 

Memoria
©Kick the Machine FilmsMemoria

ความน่าสนใจอีกอย่างที่ต้องพูดถึงใน Memoria ก็ต้องเป็นเรื่อง ‘เสียง’ ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ ซึ่งเราว่าทีมงานออกแบบและจัดวางได้อย่างน่าติดตาม โดยอภิชาติพงศ์เล่าว่า

 “ทั้งหมดเริ่มมาจากอาการของผมที่มักได้ยินเสียง ปัง! ในตอนเช้าและสะดุ้งตื่น เป็นอาการเรียกว่า Exploding Head Syndrome (EHS)” และจากการฉายหนังไปแล้วในหลายประเทศ อภิชาติพงศ์ก็พบว่ามีอีกหลายคนที่มีอาการแบบเดียวกับเขา

“ผมเคยไปพบหมอเกี่ยวกับอาการนี้ด้วย แต่จู่ๆ วันหนึ่งตอนอยู่ในโคลอมเบียเสียงนั้นก็หายไป” อภิชาติพงศ์เล่า (ซึ่งจุดนี้ทำให้เกิดเรื่องราวต่างๆ ในภาพยนตร์) และหากใครสังเกตจะสัมผัสได้ว่าอภิชาติพงศ์แอบใส่อารมณ์ขันลงไปในฉากนี้ให้พอได้ยิ้มระหว่างนั่งดู

ทิลด้าก็บอกเช่นกันว่า “ฉันอยากให้พวกคุณเตรียม โสตประสาท เอาไว้ให้ดี เพราะหากคุณชมภาพยนตร์เรื่องนี้ คุณจำเป็นต้องใช้มัน”

Tilda Swinton/Apichatpong Weerasethakul/Memoria
Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

พูดถึงเสียงในภาพยนตร์ที่เป็นตัวจุดประกายสิ่งต่างๆ ในผลงานเรื่องนี้ ทั้งในและนอกจอ อภิชาติพงศ์บอกเราว่าความตั้งใจหนึ่งเลยก็คือ เขาต้องการให้ทุกคนมาสัมผัส ‘เสียงนี้’ ในโรงภาพยนตร์ที่มีระบบเสียงและสิ่งแวดล้อมที่เครื่องเล่นชนิดอื่นอาจให้ไม่ได้ และเมื่อคุณได้ฟังเสียงนี้อย่างชัดเจนเต็มสองหู คุณอาจเข้าใจหนังเรื่อง Memoria มากขึ้น

“ฉันรู้สึกว่าเสียงนั้นเป็นสิ่งที่หากคุณได้ยินแล้วจะอยากได้ยินอีก แต่สำหรับ เจสสิก้า หรือสำหรับคนดูหนังเรื่องนี้มันเป็นสิ่งลึกลับที่จะทำให้เกิดเหตุการณ์บางอย่าง” ทิลด้าอธิบาย

สำหรับอภิชาติพงศ์ที่เขาตั้งใจทำงานร่วมกับนักออกแบบเสียง (sound designer) เพื่อนำเสียง ปัง! ที่ดังอยู่ในหัวให้ออกมาเป็นเสียงในภาพยนตร์ เขาพูดว่า “ถ้าคุณได้ยินแล้วตั้งตารอที่จะได้ยินมันอีก ในตอนนั้นคุณอาจกำลังเป็นเหมือน เจสสิก้า ที่เกิดความสงสัยและเสพติดเสียงนี้ขึ้นมา”

Tilda Swinton/Apichatpong Weerasethakul/Memoria
Sereechai Puttes/Time Out Bangkok
“ฉันรู้สึกว่าหนังของอภิชาติพงศ์ทำให้พวกเรารู้สึกถึงประเทศไทยได้ ทั้งที่พวกเราถ่ายทำกันในประเทศอื่น”

เราหันไปถามความรู้สึกของ ทิลด้า ที่บินมาโปรโมตภาพยนตร์พร้อมกับอภิชาติพงศ์ในเมืองไทยถึงความรู้สึกเกี่ยวกับบ้านเกิดของผู้กำกับที่เป็นเพื่อนที่ดีต่อกันมานับสิบปี 

“ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฉันมาประเทศไทย แต่มันเป็นครั้งแรกที่ได้มาทำงานร่วมกับอภิชาติพงศ์ มันจึงเป็นอะไรที่พิเศษและเป็นความทรงจำส่วนตัว ความผูกพันธ์ของฉันและอภิชาติพงศ์เป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่ามาก ภาพยนตร์เรื่องนี้เลยมีคุณค่ามากขึ้นไปอีก” ทิลด้าบอก และการที่เธอ อภิชาติพงศ์ พร้อมทีมงานได้นำภาพยนตร์เรื่องนี้ไปฉายทั่วโลกก็เป็นเรื่องน่ายิน แต่สำหรับประเทศไทยทิลด้าบอกว่า เธอรู้สึกว่ามันพิเศษกว่าที่ใดๆ

“เพราะฉันรู้สึกว่าในบางฉากในหนังของอภิชาติพงศ์ มันทำให้พวกเรารู้สึกถึงประเทศไทยได้ ทั้งที่พวกเราถ่ายทำกันในประเทศอื่น”

Memoria (2021)
NEON/Apichatpong Weerasethakul

เรารู้สึกว่าหลายฉากในภาพยนตร์ Memoria ชวนรู้สึกถึงความว่างเปล่า หยุดนิ่ง หรือบางทีก็เต็มไปด้วยความวุ่นวายที่ไม่น่าพิศมัย หรือบางครั้งก็มีการพูดถึงการล้มตายอยู่ในเรื่องนี้ด้วย ทำให้หลายคนอาจรู้สึกว่าอภิชาติพงศ์กำลังพูดถึงโรคทางจิตใจอยู่หรือเปล่า

“ผมบอกตรงๆ ว่าตอนถ่ายทำผมไม่ได้คิดเรื่องนั้น ตอนถ่ายหนังเรื่องนี้ผมถ่ายทำตามลำดับตอน เพราะฉะนั้นมันรู้สึกเหมือนว่าผมกำลังเฝ้ารอที่จะเข้าใจ เจสสิก้า และความหมายของตัวภาพยนตร์เองมากกว่า” อภิชาติพงศ์ตอบ

ฝั่งทิลด้าที่เป็นผู้สื่อสารกับคนดูและตัวละครเอง เธอให้ความเห็นว่า “สิ่งที่ทุกคนต้องการถามอาจเป็น ‘คนๆ หนึ่งจะอยู่ในสภาวะว่างเปล่าแต่เต็มไปด้วยความคาดหวังได้อย่างไร’ และถ้านั่นเป็นสิ่งที่คุณหยุดคิดถึงไม่ได้ หนังเรื่องนี้ก็อาจกระตุ้นจิตใจของคุณ”

“และส่วนตัวแล้ว ฉันคิดว่าตัวเองเป็นคนชอบการหยุดนิ่ง และฉันชอบสภาวะนิ่งเฉย” ทิลด้าพูดต่อ ซึ่งเธอหมายถึงการได้อยู่นิ่งเพื่อทบทวนตัวเองและสภาพแวดล้อม โดยทุกคนจะได้สัมผัสสิ่งนี้บนจอภาพยนตร์ด้วย

Tilda Swinton/Apichatpong Weerasethakul/Memoria
Sereechai Puttes/Time Out Bangkok
“ผมอยากทำงานร่วมกับทิลด้าในสถานที่ที่ทั้งผมและทิลด้าไม่คุ้นเคยมาก่อน” 

มาพูดถึงการร่วมงานกับคนอื่นกันบ้าง ภาพยนตร์เรื่องนี้อภิชาติพงศ์ได้ ‘สยมภู มุกดีพร้อม’ ผู้กำกับภาพที่สร้างผลงานอันน่าจดจำไว้ เช่น ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ ที่กำกับโดย อภิชาติพงศ์ หรือ Call Me by Your Name หนังขึ้นหิ้งรางวัลออสการ์

“ผมทำงานร่วมกับเขาครั้งแรกเมื่อปี 2001 เป็นการกำกับหนังแนวฟีเจอร์ฟิกชั่นเรื่องแรกของทั้งผมและเขา ซึ่งในตอนนั้นเมืองไทยให้ความสำคัญกับความสวยงามของเฟรมภาพ เพราะได้อิทธิพลมาจากการถ่ายโฆษณา มันอาจออกมาสมบูรณ์แบบ แต่ผมมองว่ามันถ่ายทอดอารมณ์ได้น้อย ซึ่งสยมภูเป็นคนเดียวในตอนนั้นที่เห็นด้วยกับผม” อภิชาติพงศ์เล่าให้เราฟัง ก่อนจะบอกอีกว่าสิ่งที่ทั้งสองชอบเหมือนกันอีกอย่างหนึ่งคือ การถ่ายหนังด้วยฟิล์ม 35mm เพราะทำให้ฉากกลางแจ้งออกมาภาพสวย

เรื่องการทำงานร่วมกับทีมโคลอมเบีย อภิชาติพงศ์ให้เหตุผลว่า “ส่วนหนึ่งก็คือผมอยากทำงานร่วมกับทิลด้าในสถานที่ที่ทั้งผมและทิลด้าไม่คุ้นเคยมาก่อน และเมื่อผมต้องทำงานในที่ที่ไม่คุ้นเคย ผมก็ต้องไว้ใจทีมงาน และสามารถนำเวลาที่เหลือมาโฟกัสที่ตัวละครแทน”

Tilda Swinton/Apichatpong Weerasethakul/Memoria
Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

สุดท้าย เราถามอภิชาติพงศ์ที่หลายคนเรียกเขาว่า ‘ผู้กำกับหนังอินดี้’ ถึงความตั้งใจในอนาคตว่าเขาจะเปลี่ยนมาทำหนังสายเมนสตรีมบ้างไหม และนี่คือคำตอบของเขา

“ผมคิดว่ามันไม่ได้ขึ้นอยู่กับผม และมันไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่าไหร่ ผมคิดว่ามันขึ้นอยู่กับว่าคุณกำลังทำงานกับใครมากกว่า และสำหรับผมแล้วการทำหนังยังเป็นสิ่งที่ผมอยากใส่ความพยายามกับมัน เหมือนกับหนังเรื่องนี้ที่พวกเราต้องลุยฝุ่นในอุโมงค์ ซึ่งฉากนั้นถ่ายทำยากมาก แต่พอมองกลับไปแล้วมันเป็นประสบการณ์และความทรงจำที่มีคุณค่า ผมชอบบรรยากาศแบบนี้”

การโฆษณา

เราเชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะรู้จัก เชฟแพม-พิชญา สุนทรญาณกิจ ในฐานะเชฟอาหารยุโรปมากความสามารถ ร้านอาหารแห่งใหม่ของเธอที่เปิดตัวอยู่ในตึกเก่าอายุกว่าร้อยปีใจกลางย่านสำเพ็งจึงน่าสนใจ เพราะเป็นร้านอาหารไทย-จีนร่วมสมัย เชฟแพมให้ชื่อร้านแห่งนี้ตามชื่อตึกซึ่งสร้างโดยบรรพบุรุษของเธอว่า Potong (โพทง)

“แพมเรียนทำอาหารยุโรปมาก็จริง แต่แพมก็เติบโตมาในครอบครัวที่ทำอาหารแบบไทย-จีน” เชฟแพมเริ่มเล่าให้พวกเราฟังเกี่ยวกับสไตล์อาหารของ Potong ที่ค่อนข้างฉีกไปจากร้านอื่นๆ ที่เชฟทำอยู่ 

Potong
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok

จุดเริ่มต้นของ ‘โพทง

เชฟแพม: “ตึกนี้เป็นของบรรพบุรุษที่สร้างขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ซึ่งก็คือรุ่นเทียดของแพมที่อพยพมาจากจีน พวกเขามาตั้งรกรากที่นี่ด้วยการเปิดห้างร้านผลิตและขายยาจีน ชื่อว่า ‘ผู่-ท้ง’ แปลว่า simple, ordinary แต่คนไทยจะออกเสียงว่า โพทง คุณปู่ของแพมบอกว่าที่ใช้ชื่อนี้ก็เพรา อยากให้ครอบครัวมีความสุขแบบเรียบง่าย"

โดยเริ่มแรกร้านจะขายยาอยู่ 3 ชนิด คือ ยาสำหรับสุภาพบุรุษที่ทำมาจากกระดูกเสือ แต่ตอนนี้เลิกผลิตไปนานแล้ว ต่อมาคือ ยาดม ที่รู้ว่าทำก็เพราะตอนมาค้นตึกเมื่อ 3 ปีก่อน แพมเจอลังใส่ขวดยาดมแต่ไม่มีตัวยา และสุดท้ายก็คือ ยาสำหรับสตรี เป็นชนิดเดียวที่ยังทำอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ ชื่อว่า ‘ยาปอคุนเอี๊ยะบ๊อ’ 

ถ้าให้นับตั้งแต่รุ่นเทียดเริ่มทำร้านขายยาจีน ตึกนี้ก็น่าจะมีอายุประมาณ 130 ปีแล้ว ซึ่งในตอนนั้นเล่ากันว่าตึกนี้เป็นตึกที่สูงที่สุดในย่าน และเป็นร้านขายยาจีนที่มีชื่อเสียงด้วย

ภาษาจีนจะออกเสียงว่า ผู่-ท้ง แปลว่า simple, ordinary คุณปู่บอกว่าที่ใช้ชื่อนี้ก็เพราะ อยากให้ครอบครัวมีความสุขแบบเรียบง่าย
เชฟแพม-พิชญา
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok
potong pharma
potongpharma

“ต่อมาร้านโพทงก็ต้องย้ายไปผลิตยาที่อื่น เพราะการผลิตยาสมัยนี้ต้องมีโรงงาน ตึกนี้เลยเปิดให้เช่าเป็นร้านขายรองเท้า 2 ชั้นจากทั้งหมด 6 ชั้น ส่วนชั้นอื่นๆ จะปิดไม่ได้ใช้งานมาโดยตลอด แพมเลยไม่มีโอกาสได้เห็นด้านในตึกนี้เลยตั้งแต่เกิด จนกระทั่งร้านรองเท้าย้ายออกไปเมื่อไม่กี่ปีที่แล้ว และครั้งแรกที่คุณพ่อคุณแม่พามาดูตึกนี้ เราก็รู้สึกว่ามันสวยและมีรายละเอียดที่เต็มไปด้วยความทรงจำ สิ่งของหลายๆ อย่างยังอยู่ที่เดิม เพราะไม่เคยเปิดให้ใครขึ้นมา ทั้งรูปภาพ ขวดใส่ยา และโครงสร้างของตึก เราเลยอยากเปลี่ยนตึกนี้ให้กลายเป็นร้านอาหาร และเล่าเกี่ยวกับครอบครัวเชื้อสายไทย-จีน เลยเอาชื่อร้านขายยามาตั้งเป็นชื่อร้านอาหารว่า โพทง”

ตอนเข้ามาดูตึกนี้แพมอยากเก็บทุกอย่างไว้เท่าที่จะทำได้ เพื่อจะรักษากาลเวลานี้ให้มันอยู่กับเราได้นานที่สุด
Potong
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok
Potong
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok


ความเก่า-ใหม่ที่เข้ากันได้

แพม: “ตอนเข้ามาดูตึกนี้ครั้งแรกแพมตัดสินใจว่าจะเก็บทุกอย่างไว้ให้มากเท่าที่จะเป็นไปได้ แม้ว่ามันจะยากเพราะเป็นตึกเก่าร้อยปี เราเลยต้องเข้าใจว่าอะไรที่มันต้องเอาออกเลย หรืออะไรที่ใส่กลับไปได้ใหม่ เพื่อรักษากาลเวลานี้ให้มันอยู่กับเราได้นานที่สุด อย่างเช่นตู้เก่าในห้องอาหารชั้น 2 หรือประตูหน้าต่างที่เป็นสีเขียวสีฟ้า ซึ่งเป็นสีที่คนสมัยก่อนนิยม เราก็พยายามขัดสีเก่าให้ขึ้นมา"

ตอนที่เราคุยกับสถาปนิกว่าต้องการให้ร้านอาหารออกมาแบบไหน มันเลยเกิดเป็นคอนเซ็ปต์ที่เราพยายามวางของเก่าคู่กับของใหม่ ซึ่งดีไซน์และคอนเซ็ปต์นี้เรียกว่า ‘Juxtaposition’ เป็นการนำของที่คอนทราสต์กันมากๆ ให้มาอยู่ข้างกัน อย่างเช่นส่วนไหนที่ต้องดึงออกไป เราจะใช้ของทันสมัยเข้ามาแทนเลย หรือตรงชั้น 1 จะมีทั้งป้ายร้านยาเก่าและป้ายร้านอาหารใหม่อยู่ด้วยกัน หรือหากเดินเข้ามาก็จะเจอบาร์ดูทันสมัย แต่ถ้ามองขึ้นไปบนเพดานจะเห็นว่าเป็นของเก่าหมดเลย แต่ทั้งหมดก็ออกมาลงตัวเข้ากันดี

 

เอกลักษณ์ของบ้านคนจีน

แพม: “ถ้าพูดถึงบ้านหลังนี้เป็นพิเศษ ให้สังเกตว่าบนพื้นจะมีช่องไฟที่โดนปิดไว้ ซึ่งแต่ก่อนจะสามารถดึงเปิดได้และใช้เป็นช่องส่งของ เนื่องจากสมัยก่อนยังไม่มีโทรศัพท์มือถือ เวลาเจ้าของร้านจะเรียกลูกน้องที่ทำงานอยู่ชั้นล่าง เขาก็จะตะโกนผ่านช่องนี้แทน ไม่ต้องเดินลงไป แพมว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจมาก เวลาคนมานั่งรับประทานอาหารเขาก็จะถามว่าช่องนี้คืออะไร"

และอีกหนึ่งเสน่ห์ของตึกนี้ก็คือ ถ้ามองขึ้นไปตรงระเบียงจะเห็นงานปูนปั้นสไตล์ชิโน-โปรตุกีส สมัยก่อนเป็นอะไรที่หายากในย่านนี้ แต่ด้วยกาลเวลาทำให้สีที่เคยฉูดฉาดจางลงมากแล้ว

Potong
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok
Potong
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok

ร้านโพทงในสมัยเชฟแพม

แพม: “เดิมตึกนี้มีทั้งหมด 6 ชั้น แต่เราปรับปรุงให้เหลือ 5 ชั้น ชั้นแรกจะเป็นบาร์ ‘Cino (ซิโน่)’ เปิดให้คนที่เดินผ่านไปมาสามารถเดินเข้ามาสั่งอาหารและเครื่องดื่มได้เลย จะเสิร์ฟเมนูอลาคาร์ท คอมบูชาที่เราหมักเอง รวมถึงชาหลายพันธุ์และค็อกเทล เมื่อเดินขึ้นมาชั้น 2-3 จะเป็นห้องรับประทานอาหารหลัก และชั้นบนจะมีชื่อว่า ‘Eight Tigers Room’ เราจะเสิร์ฟคอร์สเมนูที่เป็นหัวใจหลักของร้านนี้ เป็นอาหารสไตล์ progessive Thai-Chinese ที่ทวิสต์ใหม่ให้เป็นรูปแบบของแพม เพราะแพมเรียนทำอาหารตะวันตกมา

“ถ้าหากขึ้นไปบนชั้น 4-5 จะเป็น ‘Opium Bar (โอเปียม บาร์)’ เรียกว่าแยกเป็นอีกร้านหนึ่งเลย เพราะถ้าใครไม่ได้มากินอาหารที่ร้านโพทง ก็สามารถขึ้นมานั่งดื่มที่บาร์นี้ได้เช่นกัน ส่วนเหตุผลที่ตั้งชื่อว่าโอเปียมเพราะห้องนี้เป็นห้องที่คนสมัยก่อนสูบฝิ่นกันจริงๆ”

Potong
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok
Potong
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok


อาหาร progressive Thai-Chinese 

แพม: “แพมเรียนอาหารยุโรปมาก็จริง แต่แพมก็เติบโตมาในครอบครัวที่ทำอาหารแบบไทย-จีน และรู้สึกว่ายังไม่มีใครนำอาหารไทย-จีนมานำเสนอแบบไฟน์ไดนิง แพมเลยอยากทำร้านโพทงขึ้นมา เพื่อเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัวไทยเชื้อสายจีน

“เสน่ห์ของอาหารไทย-จีนก็คือ มันเป็นการผสมรวมกันของสองวัฒนธรรม อาจต้องเล่าย้อนกลับไป 2-3 ร้อยปีก่อน ช่วงที่คนจีนอพยพมาอยู่เมืองไทย โดยเฉพาะชาวฮกเกี้ยนกับชาวแต้จิ๋ว พวกเขาเข้ามาพร้อมวัฒนธรรมการกิน แต่อาหารจีนบางอย่างไม่สามารถหาวัตถุดิบได้ที่นี่ หรือบางคนเข้ามาทำอาชีพค้าขาย แต่รสชาติกลับไม่ถูกปากคนไทย พวกเขาก็ต้องปรับรสชาติ เปลี่ยนวัตถุดิบ ผสมความเป็นไทย-จีนเข้าด้วยกัน ซึ่งแพมมองว่ามันมีเสน่ห์มากๆ เพราะอาหารไทยหลายอย่างก็ได้รับอิทธิพลมาจากจีนเยอะ อย่างเช่น เมนูเส้น เมนูผัด การใช้กระทะเหล็ก (wok)”

 

ย่าน = อาหาร

แพม: “ก่อนจะเกิดเป็น 20 คอร์สเมนูนี้ แพมต้องไปเดินเยาวราชทั้งตลาดเก่า ตลาดใหม่ คุณแม่ของแพมที่โตมาในย่านเป็นคนพาเดินหาวัตถุดิบ และเราก็พบว่ายังมีวัตถุดิบอีกเยอะมากๆ ที่เราไม่รู้จัก แต่คนสมัยก่อนใช้กันมานานแล้ว แพมเลยพยายามเรียนรู้ว่าสมัยนั้นเขาใช้อย่างไร แล้วค่อยนำมาปรับใช้กับอาหารที่เราอยากทำที่โพทง จนได้ออกมาเป็นคอร์สเมนูแรกของร้าน เป็นอาหารที่มีรสชาติและวัตถุดิบสไตล์ไทย-จีน ผสมความเป็นเยาวราชเข้ามาด้วย

“อย่างเช่นคอร์สหนึ่ง ก่อนจะเกิดเป็นเมนูนั้นแพมมาดูการก่อสร้างที่ตึกทุกวัน และจอดรถไว้ตรงถนนทรงวาด ซึ่งทุกครั้งที่เดินกลับตอนร้านปิดหมดแล้ว แพมจะได้กลิ่นเครื่องเทศแบบที่ไม่เคยเจอที่ไหนมาก่อนเลยในชีวิต ซึ่งถนนหลังซอยทรงวาดนี้เขาจะขึ้นชื่อเรื่องเครื่องเทศมากๆ แพมเลยรู้สึกว่าเราต้องมีเมนูหนึ่งที่นำเสนอเครื่องเทศ มีกลิ่นอายของซอยทรงวาด ทำให้ออกมาเป็นเมนูของหวาน “ไอศกรีมซีอิ๊วดำ” 

“ไอศกรีมทำจากซีอิ๊วดำหมักเองนาน 6 เดือน ส่วนข้างบนไอศกรีมเป็นน้ำตาลเป่ารูปพริกแห้ง ข้างในมีผงหม่าล่า ผงพะโล้ กานพลู ซินนามอน เวลากินให้ตีพริกแห้งก่อน เพื่อให้เครื่องเทศต่างๆ โรยลงบนไอศกรีม รสชาติจะมีทั้งความเค็ม หวาน เผ็ด เป็นเมนูที่สะท้อนความเป็นถนนทรงวาดมากๆ”


Potong
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok

แพมชอบการใช้เวลาของการทำอาหาร มันช่วยสร้างรสชาติอีกมิติหนึ่งขึ้นมา

แพม: “อีกคอร์สที่เป็นของโปรดของแพมเป็นของคาวทำจากข้าวโพด เราจะใช้ทุกส่วนตั้งแต่เปลือก แกนตรงกลาง ไปจนถึงผมข้าวโพด จานนี้เกิดจากตัวแพมเองที่ชอบกินข้าวโพดตั้งแต่เด็กๆ ทั้งซุปข้าวโพด หรือข้าวโพดปิ้งที่ขายในเยาวราช เลยเกิดเป็นเมนูนี้ขึ้นมา หรืออีกเมนูทำจาก ‘ไก่ดำ’ เป็นวัตถุดิบที่คนรุ่นใหม่น่าจะลืมกันไปแล้ว แต่คนสมัยก่อนนิยมเอาไปต้มเป็นซุปเพื่อให้มีรสหวาน แต่จะไม่กินเนื้อ แพมเลยตั้งใจเอาไก่ดำมาเป็นพระเอกของจานด้วยการใช้เทคนิคใหม่"

นอกจากนี้ อีกสิ่งสำคัญก็คือ โพทงจะเน้นการทำวัตถุดิบเองทุกอย่าง ตั้งแต่ซีอิ๊ว มิโสะ ชา เราจะเริ่มตั้งแต่ศูนย์ เพราะแพมชอบการใช้เวลาของการทำอาหาร มันช่วยสร้างรสชาติอีกมิติหนึ่งขึ้นมา ซึ่งการทำของหมักดองมันเป็นศาสตร์ที่น่าสนใจมาก ในร้านจะได้เห็นว่ามีห้อง fermentation อยู่ด้วย

เอกลักษณ์ของอาหารสไตล์เชฟแพม
 

แพม: “แพมจะยึดตามปรัชญาของตัวเองทุกครั้งที่คิดเมนูใหม่ เพราะอยากให้ทุกเมนูเป็นไปตามสิ่งที่ตั้งใจจริงๆ อาหารที่แพมทำจึงต้องมีสิ่งเหล่านี้ คือ “5 Elements” ประกอบด้วย Salt, Acid, Spice, Texture และ Maillard Reaction อย่างเช่นเรื่องเนื้อสัมผัส (texture) จานนั้นจะต้องมีความกรอบ ความนุ่ม หรือจะนุ่มไปอย่างเดียวเลย

“แต่สำหรับที่โพทงจะมี “5 Scents” หรือการเพิ่มประสาทสัมผัสทั้ง 5 ซึ่งก็คือ การฟัง เกิดจากเมื่อลูกค้ามาถึงเขาจะได้ฟังเรื่องราวต่างๆ การดู เขาจะได้ชมความสวยงามของสถานที่และอาหาร การได้กลิ่น อาหารของแพมจะเล่นกับกลิ่นบ่อยๆ อย่างเช่น การรมควัน การได้รส ก็คือการลิ้มลองอาหาร และสุดท้าย การสัมผัส การกินอาหารที่ร้านจะมีการใช้มือหยิบจับกินเองด้วย ซึ่งแพมเชื่อว่าถ้าความตั้งใจทั้งหมดนี้เกิดขึ้นพร้อมกันในร้านโพทงจะช่วยสร้างความทรงจำในการมากินร้านนี้ได้แน่นอน”

เชฟแพม-พิชญา
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok
Potong
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok


เสน่ห์ของโพทงที่ไม่เหมือนใคร

แพม: “ตอนเริ่มทำร้านอาหารโพทง แพมตั้งใจจะเก็บทุกรายละเอียดทุกอย่างตั้งแต่ลูกค้าเดินเข้ามา อย่างเช่นในห้องน้ำ ขวดสบู่จะใช้เป็นขวดยาสมัยก่อนของปอคุนเอี๊ยะบ๊อ หรือ ด้านหนึ่งบนใบเมนูจะเป็นภาพวาดโดยน้องชายของคุณปู่ ซึ่งเขาวาดตอนไปอยู่ต่างประเทศ แพมเจอมาจากสมุดสเก็ตช์ของแก เพราะอยากนำมาโชว์ให้เห็นว่าเขาเก่งมาก ส่วนข้างหลังจะเป็นเมนูอาหาร 20 คอร์ส ซึ่งชื่อเมนูต่างๆ จะแฝงอยู่ในข้อความที่เป็นจดหมายซึ่งแพมเขียนถึงบรรพบุรุษ แพมอยากให้ลูกค้าตื่นเต้นว่า คำว่า “dear” จะกลายเป็นเมนูอะไร คำว่า “great great” จะกลายเป็นเมนูอะไร ซึ่งรายละเอียดพวกนี้ทำให้ลูกค้าสนุกกับการกิน และสร้างความทรงจำที่ดีด้วย

“แพมคิดว่าเสน่ห์ของโพทงก็คือ ความมีเรื่องราวที่เราไม่ได้สร้างขึ้นมาเอง จุดต่างๆ มีเรื่องราวแฝงอยู่ เป็นเรื่องราวที่เราอยากนำกลับมาเล่าอีกครั้ง เพราะตึกนี้ถูกปิดมานานเป็นร้อยปี ไม่มีใครรู้ว่าตึกนี้เคยทำอะไร แต่เมื่อได้เข้ามาสัมผัสจะรู้สึกเหมือนได้ย้อนเวลากลับไปอีกครั้ง”

แพมคิดว่าเสน่ห์ของโพทงก็คือ ความมีเรื่องราวที่เราไม่ได้สร้างขึ้นมาเอง จุดต่างๆ มีเรื่องราวแฝงอยู่ เป็นเรื่องราวที่เราอยากนำกลับมาเล่าอีกครั้ง

 

Potong
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok


แพม: “โพทงเป็นเหมือนบ้านหลังแรกของความเป็นตัวเรา แพมฝันอยากทำร้านอาหารแบบนี้มานานแล้ว และได้ทำในบ้านหลังแรกของครอบครัว ความตั้งใจของแพมคือ อยากสืบทอดและสานต่อความเป็นโพทง หรือ ผู่ท้ง ในรูปแบบใหม่ผ่านอาหาร เพราะแพมรักการทำอาหาร

และแพมเชื่อว่าทุกครอบครัวต้องเคยมีช่วงเวลาพูดคุย แลกเปลี่ยนความทรงจำกันระหว่างมื้ออาหาร แพมเลยเชื่อว่า อาหารจะเป็นสิ่งที่ช่วยรวมความรู้สึกและความทรงจำเข้าไว้ด้วยกัน
เรื่องเด่น
    เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ
      การโฆษณา