ผลงานภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของผู้กำกับหนังแนวอินดี้ ที่ได้นักแสดงชาวอังกฤษฝีมือดีเบอร์ต้นๆ ของวงการมาร่วมงานด้วย แน่นอนว่าเรากำลังพูดถึง Memoria หนังยาวลำดับที่ 9 ของ เจ้ย - อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่เขาเองก็ยอมรับว่าการสร้างผลงานเรื่องนี้ล้วนเป็นความท้าทายครั้งใหม่ ตั้งแต่เป็นครั้งแรกที่อภิชาติพงศ์บินไปถ่ายทำหนังถึงต่างประเทศ ครั้งแรกที่เขาถ่ายทำเป็นภาษาต่างประเทศทั้งเรื่อง และครั้งแรกที่เขาร่วมงานกับนักแสดงชาวต่างชาติทั้งหมด
โดยเฉพาะ ทิลดา สวินตัน (Tilda Swinton) นักแสดงชาวอังกฤษฝีมือชั้นครู ซึ่งรับบทนำในเรื่อง
อภิชาติพงศ์และทิลดารู้จักกันมายาวนานกว่า 10 ปี และเคยพูดถึงการร่วมงานกันมานานแล้ว แต่เพิ่งได้มีโอกาสจับมือกันสร้างผลงานจริงๆ ใน Memoria ภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องการออกตามหาเสียงลึกลับที่ เจสสิก้า ได้ยินอยู่ในหัวของเธอเองในประเทศโคลอมเบีย ซึ่งพล็อตเรื่องทั้งหมดอภิชาติพงศ์เล่าว่าอิงขึ้นมาจากชีวิตจริงของเขา
โดย Memoria เปิดตัวครั้งแรกในเทศกาลภาพยนตร์คานส์ ครั้งที่ 74 ในปี 2021 และได้รับรางวัลขวัญใจคณะกรรมการ หรือ Jury Prize
“สำหรับผมภาพยนตร์เป็นสิ่งที่ทำให้ผมหลุดออกจากโลกแห่งความจริงได้ตั้งแต่เด็ก มันช่วยให้ผมหนีออกจากพื้นที่ที่น่าเบื่อและว่างเปล่าในตอนนั้น” อภิชาติพงศ์เริ่มเล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นของการทำภาพยนตร์
“แต่พอผมกลับมาทำความเข้าใจกับสถานที่ ผู้คน ผมได้เห็นสิ่งที่สวยงามมากๆ หนังเรื่องนี้เลยเป็นเหมือนตัวเชื่อมระหว่างผมและโลกภายนอก ผมเลยอยากฉายหนังเรื่องนี้เพื่อเป็นการฉลองจุดกำเนิดของตัวเอง”
“ผมเลยอยากฉายหนังเรื่องนี้เพื่อเป็นการฉลองจุดกำเนิดของตัวเอง”
Memoria จะดำเนินเรื่องด้วยภาษาอังกฤษและสเปนเป็นหลัก (ทั้งชื่อเรื่องก็มาจากภาษาสเปน) ซึ่งเป็นอีกความตั้งใจของอภิชาติพงศ์ เพราะเขาบอกเองว่า “อยากสร้างหนังในสถานที่ที่ตัวเองและทิลดาไม่คุ้นเคย” ด้วยเหตุนี้สถานที่ถ่ายทำทั้งเรื่องจึงอยู่ในประเทศโคลอมเบีย ที่ผู้คนใช้ภาษาสเปนเป็นส่วนใหญ่
“พอเราพาตัวเองไปอยู่ในสถานที่ที่ไม่คุ้น มันทำให้เราควบคุมอะไรไม่ได้ ผมเลยต้องไว้ใจทีมงานโคลอมเบียที่ร่วมงานด้วย แล้วใช้เวลาที่เหลือมาโฟกัสกับตัวละคร เจสสิก้า อย่างเต็มที่” อภิชาติพงศ์พูด
ทิลด้า ในฐานะนักแสดงนำบอกว่า ระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ เธอรู้สึกเหมือนทั้งเธอและอภิชาติพงศ์ได้ทิ้งตัวตนของตัวเองไว้ข้างหลัง และกลายเป็นคนอื่นจริงๆ ในระหว่างการแสดง
ความน่าสนใจอีกอย่างที่ต้องพูดถึงใน Memoria ก็ต้องเป็นเรื่อง ‘เสียง’ ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ ซึ่งเราว่าทีมงานออกแบบและจัดวางได้อย่างน่าติดตาม โดยอภิชาติพงศ์เล่าว่า
“ทั้งหมดเริ่มมาจากอาการของผมที่มักได้ยินเสียง ปัง! ในตอนเช้าและสะดุ้งตื่น เป็นอาการเรียกว่า Exploding Head Syndrome (EHS)” และจากการฉายหนังไปแล้วในหลายประเทศ อภิชาติพงศ์ก็พบว่ามีอีกหลายคนที่มีอาการแบบเดียวกับเขา
“ผมเคยไปพบหมอเกี่ยวกับอาการนี้ด้วย แต่จู่ๆ วันหนึ่งตอนอยู่ในโคลอมเบียเสียงนั้นก็หายไป” อภิชาติพงศ์เล่า (ซึ่งจุดนี้ทำให้เกิดเรื่องราวต่างๆ ในภาพยนตร์) และหากใครสังเกตจะสัมผัสได้ว่าอภิชาติพงศ์แอบใส่อารมณ์ขันลงไปในฉากนี้ให้พอได้ยิ้มระหว่างนั่งดู
ทิลด้าก็บอกเช่นกันว่า “ฉันอยากให้พวกคุณเตรียม โสตประสาท เอาไว้ให้ดี เพราะหากคุณชมภาพยนตร์เรื่องนี้ คุณจำเป็นต้องใช้มัน”
พูดถึงเสียงในภาพยนตร์ที่เป็นตัวจุดประกายสิ่งต่างๆ ในผลงานเรื่องนี้ ทั้งในและนอกจอ อภิชาติพงศ์บอกเราว่าความตั้งใจหนึ่งเลยก็คือ เขาต้องการให้ทุกคนมาสัมผัส ‘เสียงนี้’ ในโรงภาพยนตร์ที่มีระบบเสียงและสิ่งแวดล้อมที่เครื่องเล่นชนิดอื่นอาจให้ไม่ได้ และเมื่อคุณได้ฟังเสียงนี้อย่างชัดเจนเต็มสองหู คุณอาจเข้าใจหนังเรื่อง Memoria มากขึ้น
“ฉันรู้สึกว่าเสียงนั้นเป็นสิ่งที่หากคุณได้ยินแล้วจะอยากได้ยินอีก แต่สำหรับ เจสสิก้า หรือสำหรับคนดูหนังเรื่องนี้มันเป็นสิ่งลึกลับที่จะทำให้เกิดเหตุการณ์บางอย่าง” ทิลด้าอธิบาย
สำหรับอภิชาติพงศ์ที่เขาตั้งใจทำงานร่วมกับนักออกแบบเสียง (sound designer) เพื่อนำเสียง ปัง! ที่ดังอยู่ในหัวให้ออกมาเป็นเสียงในภาพยนตร์ เขาพูดว่า “ถ้าคุณได้ยินแล้วตั้งตารอที่จะได้ยินมันอีก ในตอนนั้นคุณอาจกำลังเป็นเหมือน เจสสิก้า ที่เกิดความสงสัยและเสพติดเสียงนี้ขึ้นมา”
“ฉันรู้สึกว่าหนังของอภิชาติพงศ์ทำให้พวกเรารู้สึกถึงประเทศไทยได้ ทั้งที่พวกเราถ่ายทำกันในประเทศอื่น”
เราหันไปถามความรู้สึกของ ทิลด้า ที่บินมาโปรโมตภาพยนตร์พร้อมกับอภิชาติพงศ์ในเมืองไทยถึงความรู้สึกเกี่ยวกับบ้านเกิดของผู้กำกับที่เป็นเพื่อนที่ดีต่อกันมานับสิบปี
“ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฉันมาประเทศไทย แต่มันเป็นครั้งแรกที่ได้มาทำงานร่วมกับอภิชาติพงศ์ มันจึงเป็นอะไรที่พิเศษและเป็นความทรงจำส่วนตัว ความผูกพันธ์ของฉันและอภิชาติพงศ์เป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่ามาก ภาพยนตร์เรื่องนี้เลยมีคุณค่ามากขึ้นไปอีก” ทิลด้าบอก และการที่เธอ อภิชาติพงศ์ พร้อมทีมงานได้นำภาพยนตร์เรื่องนี้ไปฉายทั่วโลกก็เป็นเรื่องน่ายิน แต่สำหรับประเทศไทยทิลด้าบอกว่า เธอรู้สึกว่ามันพิเศษกว่าที่ใดๆ
“เพราะฉันรู้สึกว่าในบางฉากในหนังของอภิชาติพงศ์ มันทำให้พวกเรารู้สึกถึงประเทศไทยได้ ทั้งที่พวกเราถ่ายทำกันในประเทศอื่น”
เรารู้สึกว่าหลายฉากในภาพยนตร์ Memoria ชวนรู้สึกถึงความว่างเปล่า หยุดนิ่ง หรือบางทีก็เต็มไปด้วยความวุ่นวายที่ไม่น่าพิศมัย หรือบางครั้งก็มีการพูดถึงการล้มตายอยู่ในเรื่องนี้ด้วย ทำให้หลายคนอาจรู้สึกว่าอภิชาติพงศ์กำลังพูดถึงโรคทางจิตใจอยู่หรือเปล่า
“ผมบอกตรงๆ ว่าตอนถ่ายทำผมไม่ได้คิดเรื่องนั้น ตอนถ่ายหนังเรื่องนี้ผมถ่ายทำตามลำดับตอน เพราะฉะนั้นมันรู้สึกเหมือนว่าผมกำลังเฝ้ารอที่จะเข้าใจ เจสสิก้า และความหมายของตัวภาพยนตร์เองมากกว่า” อภิชาติพงศ์ตอบ
ฝั่งทิลด้าที่เป็นผู้สื่อสารกับคนดูและตัวละครเอง เธอให้ความเห็นว่า “สิ่งที่ทุกคนต้องการถามอาจเป็น ‘คนๆ หนึ่งจะอยู่ในสภาวะว่างเปล่าแต่เต็มไปด้วยความคาดหวังได้อย่างไร’ และถ้านั่นเป็นสิ่งที่คุณหยุดคิดถึงไม่ได้ หนังเรื่องนี้ก็อาจกระตุ้นจิตใจของคุณ”
“และส่วนตัวแล้ว ฉันคิดว่าตัวเองเป็นคนชอบการหยุดนิ่ง และฉันชอบสภาวะนิ่งเฉย” ทิลด้าพูดต่อ ซึ่งเธอหมายถึงการได้อยู่นิ่งเพื่อทบทวนตัวเองและสภาพแวดล้อม โดยทุกคนจะได้สัมผัสสิ่งนี้บนจอภาพยนตร์ด้วย
“ผมอยากทำงานร่วมกับทิลด้าในสถานที่ที่ทั้งผมและทิลด้าไม่คุ้นเคยมาก่อน”
มาพูดถึงการร่วมงานกับคนอื่นกันบ้าง ภาพยนตร์เรื่องนี้อภิชาติพงศ์ได้ ‘สยมภู มุกดีพร้อม’ ผู้กำกับภาพที่สร้างผลงานอันน่าจดจำไว้ เช่น ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ ที่กำกับโดย อภิชาติพงศ์ หรือ Call Me by Your Name หนังขึ้นหิ้งรางวัลออสการ์
“ผมทำงานร่วมกับเขาครั้งแรกเมื่อปี 2001 เป็นการกำกับหนังแนวฟีเจอร์ฟิกชั่นเรื่องแรกของทั้งผมและเขา ซึ่งในตอนนั้นเมืองไทยให้ความสำคัญกับความสวยงามของเฟรมภาพ เพราะได้อิทธิพลมาจากการถ่ายโฆษณา มันอาจออกมาสมบูรณ์แบบ แต่ผมมองว่ามันถ่ายทอดอารมณ์ได้น้อย ซึ่งสยมภูเป็นคนเดียวในตอนนั้นที่เห็นด้วยกับผม” อภิชาติพงศ์เล่าให้เราฟัง ก่อนจะบอกอีกว่าสิ่งที่ทั้งสองชอบเหมือนกันอีกอย่างหนึ่งคือ การถ่ายหนังด้วยฟิล์ม 35mm เพราะทำให้ฉากกลางแจ้งออกมาภาพสวย
เรื่องการทำงานร่วมกับทีมโคลอมเบีย อภิชาติพงศ์ให้เหตุผลว่า “ส่วนหนึ่งก็คือผมอยากทำงานร่วมกับทิลด้าในสถานที่ที่ทั้งผมและทิลด้าไม่คุ้นเคยมาก่อน และเมื่อผมต้องทำงานในที่ที่ไม่คุ้นเคย ผมก็ต้องไว้ใจทีมงาน และสามารถนำเวลาที่เหลือมาโฟกัสที่ตัวละครแทน”
สุดท้าย เราถามอภิชาติพงศ์ที่หลายคนเรียกเขาว่า ‘ผู้กำกับหนังอินดี้’ ถึงความตั้งใจในอนาคตว่าเขาจะเปลี่ยนมาทำหนังสายเมนสตรีมบ้างไหม และนี่คือคำตอบของเขา
“ผมคิดว่ามันไม่ได้ขึ้นอยู่กับผม และมันไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่าไหร่ ผมคิดว่ามันขึ้นอยู่กับว่าคุณกำลังทำงานกับใครมากกว่า และสำหรับผมแล้วการทำหนังยังเป็นสิ่งที่ผมอยากใส่ความพยายามกับมัน เหมือนกับหนังเรื่องนี้ที่พวกเราต้องลุยฝุ่นในอุโมงค์ ซึ่งฉากนั้นถ่ายทำยากมาก แต่พอมองกลับไปแล้วมันเป็นประสบการณ์และความทรงจำที่มีคุณค่า ผมชอบบรรยากาศแบบนี้”