ธงไทยที่โบกอยู่หน้าอาคารขนาดใหญ่หลังหนึ่งบนถนน Nishinotoin ในย่าน Gojo ของเมืองเกียวโต อาจจะทำให้นักท่องเที่ยวไทยหลายคนคิดว่าเป็นที่ทำการใหม่ของหน่วยราชการไทย ที่มาทำอะไรอยู่ตรงนี้
ซึ่งไม่ใช่ — ตึกสุดมินิมัลที่สุดแสนจะญี่ปุ๊นญี่ปุ่นตึกนี้คือ โรงแรมดุสิตธานี เกียวโต การปักธงครั้งแรกของแบรนด์ดุสิตธานีอย่างภาคภูมิใจในประเทศญี่ปุ่น และธงชาติไทยก็คือสัญลักษณ์ของความภาคภูมิใจนี้เอง
เราจะพาไปเยี่ยมโรงแรมลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่นแห่งนี้ไปพร้อมๆ กันครับ
The best of both cultures
ดุสิตธานี เกียวโต เป็นอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด ออกแบบโดยตั้งใจเบลนด์ความไทยและญี่ปุ่นเข้าด้วยกันตั้งแต่แรก แต่ด้วยความที่ตั้งอยู่กลางเมืองหลวงเก่าของญี่ปุ่น และญี่ปุ่นนั้นมีอัตราการท่องเที่ยวของคนญี่ปุ่นในประเทศสูงมาก ทำให้น้ำหนักการออกแบบจะหนักไปอยู่กับการสร้างอาคารสไตล์ญี่ปุ่นโมเดิร์นที่กลมกลืนไปกลับสภาพโดยรอบ และค่อยสอดแทรกด้วยรายละเอียดทางตกแต่งแบบไทยโบราณ (ช่วงอาณาจักรเก่าอย่างอยุธยา ล้อไปกับเกียวโตที่เป็นเมืองหลวงเก่าด้วยเช่นกัน) อาหารไทย นวดแบบไทยๆ และบริการแบบไทยๆ
อาคารแบบญี่ปุ่น (ที่รับแนวคิดมาจากวัฒนธรรมจีนอีกทอด) นั้นมักจะออกแบบขึ้นบนแนวคิด ปิดนอก-เปิดใน ตัวอาคารของโรงแรมดุสิตธานี เกียวโต นั้นก็ออกแบบภายใต้แนวคิดนี้เช่นกัน อาคารโดยเรียบกริบสีเทานั้นถูกปิดผิวด้วยระแนงไม้บังตาโดยรอบอาคาร ทั้งช่วยรักษาความเป็นส่วนตัวของพื้นที่ภายใน และชวนให้อยากรู้อยากเห็นไปในเวลาเดียวกัน
ประสบการณ์แบบดุสิตธานีเริ่มขึ้นเมื่อผ่านประตูเลื่อนเข้ามาและได้กลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ลอยหอมฟุ้งทั่วพื้นที่เปิดโล่งขนาดใหญ่ ที่เป็นทั้งล็อบบี้ ร้านของที่ระลึก และทีรูม ผนังที่กรุกระจกใสทั้งบานเปิดโล่งเห็นสวนกลางอาคารแบบขนมบ้านญี่ปุ่น ด้านบนประดับด้วยเส้นผ้าและหนัง เป็นความอ่อนช้อยที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการจัดดอกไม้ของทั้งไทยและญี่ปุ่น คือมาลัยและอิเคบานะ
สวนกลางโรงแรมบริเวณชั้น 1 นั้นเรียกว่าเป็นจุดเช็กอินห้ามพลาด และจุดนี้เปิดให้บุคคลภายนอกที่ไม่ได้เป็นแขกของโรงแรมก็เข้ามาชมได้เช่นกัน
Thai flavors
บริเวณชั้น 1 ที่เปิดให้คนที่ไม่ใช่แขกของโรงแรมเข้าได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะเป็นที่ตั้งของห้องอาหารหลักทั้งหมดของโรงแรม ซึ่งพระเอกคือ Ayatana ร้านอาหารไทยที่ออกแบบเมนูโดย โบ-ดีแลน แห่ง โบ-ลาน เสิร์ฟอาหารไทยแบบไฟน์ไดนิงในช่วงค่ำของทุกวัน
ความน่าสนใจคืออาหารของ Ayatana นั้นไทยจริงทั้งรสชาติและวัตถุดิบ หลายต่อหลายอย่าง เช่น เช่นมะพร้าวหรือใบตอง นั้นส่งตรงไปจากเมืองไทย ในขณะที่พืชบางประเภท เช่น กะเพรา ดุสิตธานีลงทุนทำฟาร์มทดลองปลูกกันในญี่ปุ่นเลย
แต่รสจัดแบบอาหารไทยนั้นก็ยังใหม่กับชาวญี่ปุ่นที่โตเกียว เรายังยินเสียงเปรยว่าเผ็ดไป (และการใช้ช้อนส้อมที่ยังยากสำหรับคนท้องถิ่น) แต่เราเชื่อความด้วยความเป็น โบ-ดีแลน ก็จะไม่มีการปรับรสชาติลงไปมากกว่านี้มากหรอก
ใกล้ๆ กันมี Koyo เทปปันยากิแบบ chef’s table ที่เสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าอร่อยรสดี มีคิวจองยาว และบาร์ Den Kyoto (ที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับร้าน Den ที่โตเกียว) บาร์สวยจัด มีค็อกเทลซิกเนเจอร์ตัวนึงที่ได้แรงบันดาลใจจาก “ส้มตำ” เป็นเบสวอดก้า เติมหยดน้ำปลา และมีกลิ่นมะกรูด ฟังดูแปลกแต่รสชาติจริงๆ นั้นลงตัวเลยล่ะ
Serene sleep
ห้องพักของดุสิตธานี เกียวโต มีอยู่ในทุกชั้นตั้งแต่ชั้น 1-4 ทั้งหมดออกแบบในสไตล์ญี่ปุ่นคอนเทมโพรารี คือมีเตียงนุ่มเป็นเซ็นเตอร์ และรายล้อมรอบด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่ใส่ความเป็นญี่ปุ่นในรายละเอียด เช่นบานหน้าต่างสไลด์ หรือลายพิมพ์บนตู้ — ถ้านึกภาพตามง่ายๆ ก็ประมาณโรงแรมดิโอคุระ ที่เพลินจิต
ขนาดนั้นกว้างขวางตั้งแต่ไทป์เริ่มต้นที่ 40 ตารางเมตร ไปจนใหญ่สุดที่ห้อง Imperial Suite ขนาด 173 ตารางเมตร ที่เห็นวิวได้รอบ แต่ต้องโน้ตว่าบางห้องอาจจะไม่มีหน้าต่างที่เปิดรับวิวได้ แต่ยังคงได้รับแสงแดดธรรมชาติ
Well treats
แต่ถ้าคิวจองเยอะจริงจังเห็นจะเป็น เทวารัณ สปาแบรนด์ที่โด่งดังของแบรนด์ที่ตั้งอยู่ในชั้นใต้ดิน ให้บริการสารพัดแพ็กเกจที่มีทั้งนวดไทย นวดต่างๆ เซสชันสมาธิ บำบัดด้วยยาแผนไทยโบราณ ฯลฯ เรียกว่าครบสมชื่อไทยแลนด์ดินแดนแห่งการนวด
ใกล้ กันเป็นสระว่ายน้ำในร่มที่เปิดดึกถึง 3 ทุ่ม และยิมที่เปิดยาวๆ ตลอด 24 ชั่วโมง
What we think
ดุสิตธานี เกียวโต นั้นโดดเด่นมากในงานแถลงข่าวของ Michelin Key ที่ประเทศญี่ปุ่นในเดือนพฤศจิกายน 2566 เพราะนักรีวิวโรงแรมชื่อดังของญี่ปุ่นนั้นแนะนำให้เป็นหนึ่งในโรงแรมที่เขาตื่นเต้น ด้วยความที่นำเสนอ hospitality ของทั้งสองวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่เขาไม่ค่อยเห็นบ่อยนักจากโรงแรมที่ญี่ปุ่น
ตอนที่เราไปเมื่อช่วงปลายปี 2566 นั้น ตัวโรงแรมเสร็จสมบูรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกเพียบพร้อม ยกเว้น Kati ร้านขนมไทยที่ยังไม่เปิดให้บริการ (และตอนนี้น่าจะเปิดให้บริการเรียบร้อยแล้ว) รวมๆ นั้นเรียกว่ากลุ่มดุสิตธานีปักธงแรกในญี่ปุ่นได้อย่างสวยงาม รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ด้านการออกแบบก็เก็บได้ละเอียด
ส่วนเรื่องที่ว่าเป็นการผสมผสานความเป็นไทยและญี่ปุ่นเข้าหากันนั้น ก็อาจจะต้องยอมรับว่าเป็นญี่ปุ่นมากกว่าสักหน่อย และแม้จะมีชื่อไทย อาหารไทย นวดไทย และการบริการแบบไทยๆ ที่ทำให้โรงแรมในไทยได้รับการยอมรับทั่วโลกนั้นก็อาจจะยังอยู่ในช่วงพัฒนา — แต่เราเชื่อว่าจะดี เพราะมีพนักงานไทยเยอะมาก รวมถึงคนญี่ปุ่นที่ทำงานในไทยมานานจนพูดภาษาไทยได้
ในเชิงที่ตั้งนั้น อาจจะไกลจากแหล่งท่องเที่ยวหลัก แต่แลกมาด้วยความสงบ เหมาะกับคนที่ไม่ชอบความพลุกพล่าน
และกระซิบตรงนี้ว่า เยื้องๆ โรงแรมมีซึเคเมงเด็ดมาก ชื่อร้าน Ginjo Kubota ถ้ามาเช็กอินต้องห้ามพลาดเลยล่ะ!