เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าตั้งแต่เมื่อไหร่ที่ ย่านอารีย์ เริ่มกลายเป็นถิ่นยอดฮิตสำหรับคนชอบใช้ชีวิตข้างนอกขึ้นมา เพราะย่านอยู่อาศัยเก่าแก่แห่งนี้เติบโตและพลุกพล่านขึ้นจากเมื่อก่อนอย่างเห็นได้ชัด จากที่มีเพียงแค่บ้านที่อยู่กันมาจากรุ่นสู่รุ่น ทว่าตอนนี้ความสงบของอารีย์เรียงแถวไปด้วยคอนโดสูงและคาเฟ่เก๋ๆ หรือมีสเปซชวนให้คนออกมาใช้ชีวิตผุดขึ้นมามากมาย
เราอาจจะคิดว่า พื้นที่แฮงก์เอาต์ หรือสเปซพบปะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อารีย์มีความเป็น ‘คอมมูนิตี้’ แต่กลายเป็นว่ายังมีพื้นที่บนโลกออนไลน์ ทั้งเป็นเพจ หรือกลุ่มบนเฟซบุ๊ก (ที่มีสมาชิกกว่า 5 หมื่นคนและค้าขายกันคึกครื้นมาก) ที่ช่วยดึงให้ชาวอารีย์ ทั้งคนอยู่และคนค้าขายให้รู้จักกันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ซึ่งก็อาจเพราะช่วงนี้หลายคนเลือกจะ “สนับสนุน” ธุรกิจบ้านใกล้เรือนเคียงมากขึ้นด้วย เลยเกิดเป็นสังคมย่อมๆ ที่คอยสนับสนุนกัน และทำให้คนข้างนอกก็อยากเข้ามาทำความรู้จักและเป็นส่วนหนึ่ง
ตอนนี้ย่านอารีย์เลยกลายเป็นพื้นที่มีสีสัน น่าใช้เวลาเดินเล่นสนุก ในขณะเดียวกันก็ยังคงเสน่ห์ของย่านอยู่อาศัยไว้ได้ เราเลยไม่แปลกใจเท่าไหร่หากจะมีบางคนพูดว่า “อยากย้ายมาอยู่แถวนี้”
วันนี้เราเลยอยากชวนมาทำความรู้จักกับเพื่อนบ้านอีกคนหนึ่ง ที่คอยบอกเล่าเรื่องราวดีๆ ของย่านนี้ให้ทุกคนฟัง ผ่านเพจที่ใช้ชื่อว่า “เพื่อนบ้านอารีย์” ที่จะพาทุกคนไปทำความรู้จักคนและสิ่งที่เกิดขึ้นในย่าน ซึ่งหลายคนอาจเคยมองข้ามไป
จากคนนอกสู่คนใน
“ผมไม่ได้เป็นคนอารีย์โดยกำเนิด แต่ก็อยู่ที่นี่มา 5 ปีแล้วครับ ผมอาศัยอยู่ในคอนโด ก็เลยมีความเป็นมนุษย์คอนโดสูง ไม่เหมือนกับชาวอารีย์ที่เขาอาศัยอยู่ในย่านนี้ และรู้จักเพื่อนบ้านตัวเองจริงๆ อย่างสมัยตอนผมอยู่ที่บ้านเกิด เราก็รู้จักเพื่อนบ้านข้างๆ เหมือนกัน แต่พอย้ายมาอยู่คอนโดก็เป็นอีกแบบหนึ่งไปเลย เราเจอคนหน้าคุ้นๆ ที่สระน้ำ หรือเจอกันในลิฟต์ทุกวันแต่ก็ไม่เคยคุยกัน”
คุณฮามิช มัสอิ๊ด แอดมินเพจ "เพื่อนบ้านอารีย์" เล่าให้เราฟังถึงแรงบันดาลใจในการอยากออกไปคุยกับผู้คนรอบบ้านและมาเล่าผ่านสื่อให้คนอื่นฟัง การทำสื่อเป็นความฝันที่ติดอยู่กับเขามานานแล้ว “ตั้งแต่สมัยยังมีนิตยสารเป็นเล่มๆ อยู่” เขาเล่าย้อน “มันคือความฝันที่อยากเป็น บก. ของอะไรสักอย่างหนึ่ง”
เราอยากให้สปอตไลต์กับคนหาเช้ากินค่ำในย่านนี้ด้วย เพราะคิดว่าสื่อยังไม่ให้ความสำคัญกับเขาเท่าที่ควร
ฮามิชเสริมว่าเพราะในย่านอารีย์ก็ไม่ได้มีแต่ชาวอารีย์อาศัยอยู่เท่านั้น แต่มีคนจากหลายที่เข้ามาทำงาน เขาเลยอยากให้เพจนี้เชื่อมโยงคนในสายครีเอทีฟที่เป็นคนส่วนใหญ่บนโลกออนไลน์ ให้มาอยู่ใน “ระนาบเดียวกัน” กับคนทำงานหาเช้ากินค่ำ เช่น คนขายก๋วยเตี๋ยว หรือยามหน้าคอนโด เพื่อคนที่ติดตามเพจได้ลองสังเกตคนที่เดินผ่านกันทุกวัน หรือคนที่เจอกันบ่อยๆ และอยากให้ทุกคนลองทำความรู้จักกัน มีปฏิสัมพันธ์ และสร้างคอมมูนิตี้บนความหลากหลาย
คอมมูนิตี้ในความเป็นจริง
เพื่อนบ้านอารีย์ ขับเคลื่อนด้วยทีมงานไซส์จิ๋ว ขนาดหนึ่งคนครึ่งถ้วน และด้วยสถานการณ์โควิดทำให้การทำสื่อในช่วงนี้ เขาเรียกว่าเป็น “ช่วงทำความรู้จักกัน” ไปก่อน เป็นช่วงแนะนำตัวให้คนที่ผ่านมาหน้าเพจได้รู้จัก ‘เพื่อนบ้าน’ คนนี้ แล้วหลังจากที่สามารถลงพื้นที่ทำคอนเทนต์ได้จริงจังแล้ว เพจเพื่อนบ้านอารีย์ก็จะมีคอนเทนต์น่าสนใจอีกหลายๆ แบบให้ติดตามกัน
“ตอนนี้ทีมงานก็มีผม กับเพื่อนอีกหนึ่งคนชื่อ โจ้ ที่ช่วยทำกราฟิกดีไซน์ต่างๆ แต่จะมีผมคนเดียวที่ทำเพจนี้แบบเต็มตัว การทำงานของเราช่วงนี้ก็ลำบากนะ แต่เราก็คุยกับทุกคนที่เจอว่าจะคุยกันห่างๆ จะไม่สัมผัสกัน หรือตอนถ่ายรูปก็จะคุยว่าสะดวกเปิดหน้ากากไหม แค่นับ 1 2 3 แล้วค่อยดึงออกก็ได้ เพราะเราค่อนข้างอยากให้ทุกคนเห็นหน้าเจ้าของร้าน ตอนนี้เราใส่หน้ากากเดินผ่านกันโดยไม่รู้ว่าใครหน้าตาเป็นอย่างไร และเราจะไม่ถ่ายในบ้านหรือในร้านเท่าไหร่ เพื่อให้คนอ่านเห็นว่า คนนี้คือเจ้าของร้านนี้นะ”
‘เพื่อนบ้านอารีย์’ ไม่ใช่เพจที่ผมทำเล่นๆ แต่ผมตั้งใจทำให้เพจเติบโต และช่วยสร้างคอมมูนิตี้ได้จริงๆ
“ความจริงแล้วช่วงล็อกดาวน์หลังๆ มานี้ ผมก็มีความเครียดในการทำงานเหมือนกัน เป็นปัญหาเรื่องสุขภาพจิตใจเกี่ยวกับโรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) ในช่วงก่อนทำเพจนี้ ผมก็มีทั้งช่วงรู้สึกหดหู่หรือกังวลอยู่พักหนึ่ง เพราะผมตกงานด้วย กลายเป็นทำงานไม่ได้ กลัวคนไปเลย ไม่กล้ารับโทรศัพท์ ไม่กล้าออกจากห้อง สุดท้ายก็ตัดสินใจไปหาหมอ
แต่เพราะการที่ผมไม่มีงานทำนี่แหละ เลยตัดสินใจว่ามาทำสิ่งที่อยากทำไปเลยดีกว่า มาทำนิตยสารของตัวเองไปเลย เพราะฉะนั้น ‘เพื่อนบ้านอารีย์’ ไม่ใช่เพจที่ผมทำเล่นๆ แต่ผมตั้งใจทำให้เพจเติบโต ช่วยสร้างคอมมูนิตี้ได้จริงๆ สร้างคอนเนกชั่นได้จริงๆ ในอนาคตก็จะเป็นเว็บไซต์ มีบทความยาวให้อ่าน มีทำของที่ระลึกขาย และเป็นพื้นที่โปรโมทกิจกรรมให้ย่านได้ด้วย”
เสน่ห์ของย่านอารีย์
ในฐานะที่ผู้เขียนเองก็เป็น เพื่อนบ้านคนหนึ่ง ของย่านอารีย์มาหลายปีเหมือนกัน ก็เลยได้เห็นความเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมาย จนบางครั้งก็เกิดสงสัยว่าภาพที่หลายคนมองเข้ามา กับภาพที่คนภายในย่านอารีย์มอง จะแตกต่างกันหรือเปล่า?
“อารีย์เริ่มกลายเป็นย่านคาเฟ่หลังจากมีรถไฟฟ้าวิ่งผ่าน ยิ่งมีสถานีผ่านอารีย์ไปไกลเท่าไหร่ก็ยิ่งมีคนผ่านอารีย์มากขึ้นเท่านั้น มันเลยทำให้บริเวณรอบๆ อารีย์มีความโดดเด่นขึ้นเรื่อยๆ เจ้าของบ้านที่ไม่เคยคิดจะขายก็เริ่มอยากขาย หรือบางคนแบ่งพื้นที่หน้าบ้านตัวเองให้เช่าเปิดเป็นร้านคาเฟ่ดังๆ ขึ้นมาก็มี”
“ถ้าถามผมที่ตอนนี้อยู่ในย่านอารีย์มา 5 ปี ก็ยังมองไม่ต่างจากที่คนนอกมองเท่าไหร่ ยังคิดว่าอารีย์เป็นย่านไลฟ์สไตล์ คือมาเที่ยวคาเฟ่ ถ่ายรูปลงอินสตาแกรม ทำเวิร์กช็อป แต่อีกเสน่ห์จริงๆ ของย่านนี้ก็คือ ‘ประวัติศาสตร์’ ที่ผสมกันทั้งความสมัยใหม่จากคาเฟ่ และความเก่าแก่จากบ้านคนใหญ่คนโต บ้านนายพล บ้านตำรวจ หรือบ้านนักการเมืองที่มีอยู่ตั้งแต่สมัยก่อน
“อย่างเช่น Gump’s Ari ที่วัยรุ่นนิยมไปถ่ายรูปกัน จะมีบ้านเก่าอยู่หลังหนึ่งใกล้ๆ ที่มีต้นไม้เต็มไปหมด บ้านหลังนั้นคือบ้านของ ‘อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ ที่เคยทำงานให้กับขบวนการเสรีไทย เขาต้องหลบหนีอยู่นอกประเทศในช่วง 6 ตุลาคม ซึ่งลูกหลานของเขายังรักษาบ้านหลังนั้นไว้อยู่”
เสน่ห์ของอารีย์คือเป็นย่านที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีทั้งความเก่าและความทันยุคสมัยผสมกันอยู่
ฮามิชแทรกเรื่องน่าสนใจๆ ให้เราฟังอีกเพียบ อย่างเช่น คาเฟ่ Yellow Lane เป็นบ้านเก่าของตระกูลชุณหะวัณ หรือ ซอยราชครูเคยเป็นแหล่งรวมตัวกลุ่มการเมืองที่สำคัญต่อประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยในอดีต
“คนส่วนใหญ่มาเที่ยวคาเฟ่ ถ่ายรูป แท็กสถานที่แล้วก็จบ แต่ผมก็เข้าใจว่าคนแต่ละรุ่นไม่เหมือนกัน ถ้าเราอายุเท่าเขาก็อาจมาถ่ายรูปสนุกๆ แบบนี้ก็ได้ แต่ถึงอย่างไรอินสตาแกรมก็เป็นอีกสิ่งที่เราอยากพยายามเหมือนกัน ผมอยากให้เขารู้ว่าที่ตรงนี้มีประวัติแบบนี้นะ มันน่าสนใจนะ”
เพื่อนบ้าน(ของ)อารีย์
ถึงจะตั้งชื่อเพจว่าเพื่อนบ้านอารีย์ แต่คุณฮามิชเล่าว่าเขามีความตั้งใจที่กว้างกว่านั้น เพราะอยากทำให้เพจนี้ให้กลายเป็นแพลทฟอร์มที่จะสื่อถึงชีวิตคนกรุงเทพฯ ไม่ว่าคนๆ นั้นจะเคยอยู่ที่ไหนมาก่อนก็ตาม และใช้เพจนี้ชวนคนข้างนอกให้อยากมาย่านอารีย์ ด้วยการคอยเล่าว่าตอนนี้กำลังเกิดอะไรขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการ แกลเลอรี เวิร์กช็อป หรืออีเวนต์ต่างๆ
“แม้ผมจะตั้งชื่อว่า เพื่อนบ้านอารีย์ แต่คนที่อยู่ในอารีย์จริงๆ เขาไม่ได้เดินกันอยู่แค่อารีย์ เพราะที่จริงอารีย์เป็นซอยสั้นๆ แค่นิดเดียว คำว่าอารีย์ของเราจะขยายไปถึงซอยสายลม สะพานควาย ประดิพัทธ์ สนามเป้า อินทามระ ส่วนไหนที่เราสามารถเดินจากอารีย์ได้ก็ถือว่าเป็น เพื่อนบ้านอารีย์ ทั้งหมด”
การที่เขาได้ทำเพจของตัวเอง ได้ออกไปคุยกับคนแปลกหน้าที่เห็นกันทุกวันแบบนี้ มันทำให้ฮามิชได้มองสิ่งรอบตัวเปลี่ยนไปแบบก้าวกระโดด เพราะเขาเริ่มรู้สึกมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มองเห็นคนเป็นคนจริงๆ ไม่ใช่แค่หุ่นยนต์หรือตัวละครหนึ่งๆ ที่เดินผ่านกันไปมา แถมการทำให้คนในย่านรู้จักกันมากขึ้นแบบนี้ได้ก็น่าดีใจ เพราะเริ่มมีคนส่งข้อความมาขอบคุณที่ทำเพจแบบนี้ขึ้นมา เนื่องจากพวกเขาก็อยากคุยกับเพื่อนบ้านให้ได้แบบนี้เหมือนกัน
“ตั้งแต่อยู่ในอารีย์ผมรู้สึกว่าการไปกินข้าวร้านไหนบ่อยๆ ก็เป็นการ Ice breaking ที่ดีเหมือนกัน อย่างตอนจ่ายเงินแล้วลองถามว่า ขายดีไหมพี่ ผมก็เริ่มได้รู้ว่าคำว่า ขายดีไหม สามารถนำไปสู่บทสนทนาอื่นได้อีกมากมาย เพราะถ้ามีคนถามก็ต้องมีคนอยากตอบอยู่แล้ว แต่ปกติไม่มีใครถามกันไง
แต่จริงๆ แล้วมันมีบางคนรอที่จะตอบคำถามพวกนี้อยู่ มันเป็นสิ่งที่เขาอยากพูด แต่วันๆ ไม่มีใครถามพวกเขาแค่นั้นเอง”