พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkokพิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok

'พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา' ชวนเปลี่ยนนิสัยใช้แล้วทิ้งมาใช้วนไปกับโครงการ ‘ส่งพลาสติกกับบ้าน’

ทำความรู้จักโครงการที่จะช่วยให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นได้จริง โดยเริ่มต้นง่ายๆ ที่ตัวเรา

Suriyan Panomai
การโฆษณา

2,077,520.32 ตัน คือปริมาณขยะมูลฝอยในกรุงเทพฯ ที่ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร จัดเก็บได้ ในปีงบประมาณ 2563 (1 ต.ค. 62 - 30 เม.ย. 63) เท่ากับว่า 213 วันที่ผ่านมานั้น เราได้ร่วมกันสร้างขยะมากถึงวันละ 9,753.62 ตัน

ในจำนวนนี้มีทั้งเศษอาหาร ซากหรือเศษของพืช ผัก ผลไม้ หรือสัตว์ ที่สามารถย่อยสลายได้ รวมถึงขยะทั่วไป ขยะอันตราย ที่ต้องกำจัดอย่างถูกวิธี และ ‘ขยะรีไซเคิล’ ที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้งโดยไม่ต้องเบียดเบียนทรัพยากรธรรมชาติ

คุณหวาน - พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวนการเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) มองเห็นความสำคัญของการนำขยะพลาสติกหรือขยะรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ เพื่อสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ (Circular Economy) ขึ้นมา แต่การจะทำอย่างนั้นได้ต้องอาศัยแรงจากหลายๆ ฝ่าย ซึ่งคุณหวานก็เห็นอีกว่ามีคนที่พร้อมจะทำเรื่องนี้ไปด้วยกันอยู่ แต่ยังขาดตัวเชื่อม เธอจึงเข้ามาทำหน้าที่นั้นภายใต้ชื่อโครงการ ‘ส่งพลาสติกกลับบ้าน

พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา
พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยาTanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok

“เป้าหมายของเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย คือการสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ให้เกิดขึ้นได้จริง แล้วการที่จะทำให้เกิดสิ่งนั้นได้จริง มันทำคนเดียวไม่ได้ จะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชนใด เอกชนหนึ่ง ลุกขึ้นมาทำไม่ได้ มันต้องการหลายๆ ภาคส่วนมาร่วมกันสร้างระบบนิเวศน์ ที่จะมีองค์ประกอบ มีผู้เล่นเพียงพอ และใหญ่พอที่จะเกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน”

“จุดเด่นของโครงการส่งพลาสติกกลับบ้านก็คงจะเป็นการที่เรานำองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ที่จะทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนขึ้นได้มารวมตัวกัน มาร้อยเป็นห่วงโซ่ เพื่อปิดลูป ให้เกิดวงจรนี้ขึ้นจริง” คุณหวานพูดถึงเป้าหมายและจุดเด่นของโครงการฯ

เศรษฐกิจหมุนเวียน = ใช้วนไป

ก่อนจะพูดถึงเศรษฐกิจหมุนเวียน คุณหวานได้พูดถึงรูปแบบการบริโภคแบบใช้แล้วทิ้งของเราทุกวันนี้ว่า มันคือ ‘เศรษฐกิจแบบเส้นตรง’ (Linear Economy) คือการดึงทรัพยากรธรรมชาติออกมาใช้ ใช้เสร็จก็ทิ้ง โดยไม่มีการนำกลับมาใช้ใหม่ สุดท้ายก็สร้างปัญหาที่เบียดเบียนทั้งตัวเราเองและชีวิตอื่นในธรรมชาติ

“ถ้าเข้าใจภาพนี้ก็จะเห็นว่า Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน ก็คือการที่เราทำให้ทรัพยากรต่างๆ ที่เราดึงออกมาใช้ สามารถวนกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ได้ ไม่ว่าจะในรูปแบบของการรีไซเคิลมัน ให้กลับมาเป็นของใช้เดิม อัปไซเคิลให้มีมูลค่าหรือคุณค่ามากขึ้น หรือเอาไปแปรรูปใช้ประโยชน์อื่น หรืออย่างน้อยที่สุดถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง ไม่ต้องหลุดออกไปตามแหล่งธรรมชาติ เป็นการปิดลูปนี้ให้ทรัพยากรกลับเข้าสู่การใช้ประโยชน์ใหม่ให้มากที่สุด”

“จริงๆ แล้วภาคธุรกิจของบ้านเราค่อนข้างพร้อมในการจัดการกับพลาสติก แต่อาจจะยังทำได้ไม่เต็มที่หรือไม่มีการลงทุนตรงนี้มากพอ เพราะมันไม่มีการแยกมาที่ต้นทาง ส่วนที่ต้นทางเราก็อาจจะได้ยินตลอดเลยว่า เขาก็ลังเลนะว่าแยกแล้วมันจะไปที่ไหน แยกจากที่บ้านแล้วมันจะมีประโยชน์จริงๆ เหรอ เพราะฉะนั้นสิ่งที่โครงการส่งพลาสติกกลับบ้านพยายามจะทำก็คือ พยายามจะดึงทางผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วม”

ขั้นตอนการส่งพลาสติกกลับบ้าน

“วิธีการง่ายๆ นะ ขอแค่คุณแยก แล้วก็ทำให้สะอาดให้แห้ง หลังจากนั้นเราก็เปิดดร็อปพอยนต์ (จุดรับพลาสติกที่สะอาด) โดยทดลองเปิดบนถนนสุขุมวิท ที่เราคิดว่ามีกลุ่มเป้าหมายของคนที่ทำ (แยกขยะ) อยู่แล้ว หรืออยากทำแต่ไม่รู้ว่าต้องทำยังไง ต้องไปส่งที่ไหน เราก็เปิดดร็อปพอยนต์เพื่อที่จะเป็นเหมือนปากทางเชื่อมผู้บริโภคเข้าสู่ห่วงโซ่ธุรกิจที่ทำเรื่องของการรีไซเคิล อัปไซเคิล พอได้พลาสติกจากดร็อปพอยนต์ เราก็จะมีระบบขนส่งของบริษัทที่ทำเรื่องรีไซเคิลมารับไป เดิมเราตั้งเป้าไว้ว่าจะขน 2 อาทิตย์ครั้ง แต่ที่ผ่านมาปริมาณของพลาสติกค่อนข้างมาก เราก็เลยเปลี่ยนมาเป็นอาทิตย์ละครั้ง พอเข้ามาที่ศูนย์แยกขยะ ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ตอนนี้ก็จะมีการพักขยะอยู่ 2 อาทิตย์ก่อนที่จะเปิดแยก พลาสติกยืด พลาสติกแข็ง พอแยกได้เขาก็จะส่งไปตามโรงงาน”

ส่งพลาสติกกลับบ้าน
ส่งพลาสติกกลับบ้าน

“เราจะมีการเก็บข้อมูลตลอดกระบวนการ เพราะเราหวังว่าเราทำไปได้สัก 2 เดือน มันน่าจะเห็นตัวเลข ข้อมูล หรือมีบทเรียนอะไรบางอย่างที่เป็นประโยชน์ที่จะแชร์ให้กับสาธารณะชนหรือว่ากลายมาเป็นข้อเสนอแนะทางนโยบายให้กับรัฐบาลหรือให้กับอุตสาหกรรมพลาสติกได้เพื่อที่จะขยายผลต่อไป

ผู้บริโภคต้องเปลี่ยนพฤติกรรม

“ตั้งแต่ทำโครงการมาหนึ่งเดือน ค่อนข้างแฮปปี้มากเลยกับการมีส่วนร่วมที่ผ่านมาของผู้บริโภค ตอนนี้ทุกคนบอกว่าอยากส่งมาอีก เปิดดร็อปพอยนต์อีกได้ไหม ส่งไปรษณีย์ได้ไหม ทำไมไม่รับพลาสติกชนิดนี้เพิ่ม ทำไมไม่ทำมากกว่านี้ คือทุกคนกระตือรือร้นมากที่จะมีส่วนร่วม”

“เราโพสต์ว่าคุณจะต้องจัดการกับพลาสติกยังไง ขอให้แยกเศษอาหารก่อน ล้าง เช็ดตากแล้วแยกใส่ถุงมานะ ปรากฎว่ามันออกมาอย่างนั้นเลย บางคนส่งข้อความมาว่า เขาทำแล้วนะ แต่มีคนทิ้งขยะทั่วไปปนอยู่ในถังขยะ ขอวางไว้ข้างๆ นะ เพราะกลัวของเขาเลอะเทอะ ซึ่งมันทำให้เห็นว่าเขาตั้งใจ แล้วที่น่าสนใจมากเลยคือ หลายคนอยากรู้ว่าขยะของเขาไปไหนต่อ ซึ่งอันนี้คิดว่ามันเป็นอะไรที่ดี”

พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา
พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยาTanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok

“บริษัทที่รับขยะไป เขาบอกว่า 80 - 90 เปอร์เซ็นต์ของพลาสติกที่เขาได้เป็นพลาสติกสะอาด มันก็ค่อนข้างพิสูจน์ว่า คนก็ค่อนข้างมีส่วนร่วมอย่างตั้งอกตั้งใจจริงจัง แล้วมันพิสูจน์ว่าผู้บริโภคพร้อมนะ แต่ก็อาจจะเป็นเพราะว่าเป้าหมายของเราเลือกที่จะมาทำบนถนนสุขุมวิทก่อน ที่เราคิดว่าคนพร้อม แต่ก็ยังไม่รู้ว่าถ้าเราขยายไปในพื้นที่ใหญ่กว่านี้ จะเป็นยังไง แต่เราก็มีแผนว่า 2 เดือนนี้ เราอยากจะได้ข้อมูลหรืออะไรที่มันแน่นๆ เพื่อที่จะขยายผลต่ออย่างมั่นคง อยากให้ 2 เดือนนี้มันเป็นการเข้าใจ เข้าถึง แล้วค่อยพัฒนาขยายผลต่อไป”

แรงสนับสนุนจากภาครัฐ

“ทางภาครัฐก็มีกระทรงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ให้การสนับสนุนมาตั้งแต่ต้น แล้วก็มีทาง อว. หรือว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ก็เข้ามาร่วม เราก็คิดว่านี่จะเป็นจุดสำคัญในการต่อยอดขยายผลและลงลึกในเรื่องนี้ เพราะคงจะมีการทำงานวิจัยในส่วนที่เรายังไม่เข้าใจอย่างเต็มที่ แล้วเราก็น่าจะยังดึงพลังของภาคการศึกษาโดยเฉพาะอุดมศึกษาเข้ามาร่วมกันสร้างหรือต่อยอดตรงนี้ให้ไปได้ไกลกว่านี้”

“เราบ่นกันมานาน พูดกันมานานเรื่องของปัญหาขยะล้นเมือง เรื่องของขยะในเม่นำ้ลำคลองหรือในทะเล  แต่จริงๆ แล้วมันมีทางแก้แล้วเป็นทางแก้ที่มีประสิทธิภาพ เป็นระบบ และยั่งยืน ซึ่งมันคือเศรษฐกิจหมุนเวียน โครงการส่งพลาสติกกลับบ้านก็อยากให้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการทำให้เห็นว่ามันทำได้ง่ายมาก เริ่มต้นที่ตัวเรา”
พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา

เป้าหมายต่อไปของการส่งพลาสติกกลับบ้าน

“ในอนาคตเร็วๆ นี้ เลยคงมีการเปิดดร็อปพอยนต์เพิ่มตามคำเรียกร้อง ตอนนี้ได้มา 25 จุด ก็กำลังคัดกรองกันอยู่ แต่คิดว่าเร็วๆ คงจะเปิดได้ประมาณ 10 - 12 จุด แล้วก็อย่างที่เรียนว่า โครงการนี้มันเป็นโครงการนำร่อง เราอยากให้มันเป็นโครงการที่เราจะเข้าใจ เข้าถึง ทั้งโอกาส ศักยภาพ ความต้องการต่างๆ เพื่อที่จะพัฒนาต่อยอดมันต่อไป ภายในเดือนกรกฏาคมนี้เราหวังว่าจะได้แชร์บทเรียน ไม่ว่ามันจะออกมาในรูปแบบข้อเสนอแนะทางนโยบายหรือแถลงการณ์อะไรสักอย่าง เราคงมีอะไรที่เป็นประโยชน์มาแชร์เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในวงกว้างต่อไป”

เรื่องเด่น
    เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ
      การโฆษณา