นิทรรศการเดี่ยวของ Akira Ishiguro จิตรกรชาวญี่ปุ่นได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการค้นหาคุณค่าของภาพวาด ซึ่งได้รับอิทธพลมาจากวัฒนธรรมทางสายตา (Visual Culture) ที่ซึ่งทุกสิ่งถูกให้คุณค่าผ่านการมองเห็น ด้วยการนำเอาสื่อทัศนศิลป์เก่าแก่อย่างชิ้นงานจิตรกรรมมาร่วมวิพากษ์ประเด็นนี้
Akira เป็นศิลปินที่เรียนรู้ฝึกฝนด้วยตนเอง โดยเริ่มเส้นทางการเป็นศิลปินอาชีพในปี 2008 เริ่มจากรับงานวาดพื้นผิวเลียนแบบหินอ่อนในฐานะช่างฝีมือ กระทั่งเริ่มสนใจในนิยามของการเป็น "ของแท้" จากการที่เขาวาด “ของปลอม" จึงได้นำเสนองานศิลปะโดยเจาะลึกไปในเรื่องของ “ช่วงเวลาที่เกิดการบิดเบี้ยวของความจริงและความลวง (The interval of the torsion of the truth and falsehood)” ด้วยมุมมองส่วนตัวที่พิเศษไม่เหมือนใคร
ผลงานในนิทรรศการนี้นำเสนอจิตรกรรมทิวทัศน์ในอีกรูปแบบ ว่าหากไม่มีทัศนียศาสตร์ ไร้ซึ่งความลึก และปราศจากชั้นบรรยากาศ งานจิตรกรรมที่มี "คุณค่า" จะออกมาในรูปแบบใด ผ่านร่องรอยที่ดูคล้ายกับชั้นหินและรอยปาดป้ายของสีที่ก้ำกึ่งระหว่างรูปแบบ (pattern) การเรียงตัวของวัตถุธาตุ และรูปลักษณ์ทางจิต เชื้อเชิญผู้ชมให้เข้าสู่สนามของการตีความหมายซึ่งเป็นจุดกำเนิดทางความหมายของคุณค่าทางศิลปะ รอยต่อระหว่างศิลปะกับมนุษย์และสังคม
การทับซ้อนของชั้นสีในชิ้นงานยังสื่อถึงสภาวะมวลขยะทางเทคโนโลยีที่เรียกว่า เทคโนสเฟียร์ (Technosphere) ซึ่งเชื่อมโยงกับการกลายเป็นยุคปัจจุบันทางธรณีวิทยาที่เรียกว่า แอนโทรโพซีน (Anthropocene) ทำให้ผลงานของเขาเป็นเสมือนบันทึกร่องรอยหรือกระจกสะท้อนยุคสมัยปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
นิทรรศการนี้คิวเรทโดย จงสุวัฒน์ อังคสุวรรณศิริ และ ชล เจนประภาพันธ์