ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ก็ตาม จุฬา-สามย่านได้เปลี่ยนไปแล้ว
เปลี่ยนจากชุมชนตึกแถวเก่าแก่ที่ตั้งขนานไปกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ค้าขายอะไหล่รถยนต์และอาหารราคาเป็นมิตรสำหรับนิสิตนักศึกษา สู่ย่านที่มีศูนย์การค้าขนาดยักษ์ โอบล้อมด้วยแกลเลอรีที่นำเสนองานของศิลปินหน้าใหม่ คาเฟ่กาแฟดีๆ ที่ตั้งเคียงข้างไปกับร้านลุงป้าที่เปิดมาหลายสิบปี สวนขนาดยักษ์ที่พร้อมทำหน้าที่เป็นพื้นที่รับน้ำยามเกิดอุทกภัย และร้านสตรีตฟู้ดเลียบถนนบรรทัดทองที่ทำให้ถนนเส้นสั้นนี้กลายเป็นหนึ่งในถนนที่น่าอร่อยที่สุดของกรุงเทพฯ
เป็นธรรมเนียมของชาว Time Out ทั่วโลกที่ทุกๆ ปีจะต้องทำการสำรวจความคิดเห็นผู้คนนับพันในแต่ละประเทศ เพื่อค้นหาย่านที่คูลที่สุด โดยพิจารณาจากหลายๆ องค์ประกอบ อาทิ เรื่องอาหารการกิน กิจกรรมสนุกๆ ศิลปะและวัฒนธรรม ตลอดจนบรรยากาศโดยรวมที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว
สำหรับปีนี้เกณฑ์การพิจารณาย่านสุดคูลของ Time Out มีความแตกต่างจากปีผ่านๆ มาเล็กน้อย ซึ่งเป็นผลมาจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้ไลฟ์สไตล์ของคนทั่วโลกเปลี่ยนไป อย่างที่เห็นๆ กันอยู่ตอนนี้ก็คือหลังผ่านช่วงล็อกดาวน์มา บางธุรกิจประสบปัญหาอย่างหนักจนสามารถกลับมาเปิดให้บริการได้อีก ประเด็นการสนับสนุนและความมีน้ำใจที่ผู้คนในย่านหยิบยื่นให้กับชุมชนของตนเอง จึงถูกเพิ่มเข้ามาในปีนี้ด้วย
โดยเหตุผลที่เราเลือกย่านดังกล่าว ก็เนื่องจากเมื่อก่อนพื้นที่รอบๆ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเคยเป็นพื้นที่เก่าแก่ที่ค่อนข้างเสื่อมโทรม และในภาพจำของคนรุ่นก่อนก็เป็นเพียงแหล่งรวมร้านขายของชำเก่าแก่ แผงขายอาหาร และร้านขายอะไหล่รถยนต์เท่านั้น แต่การเปลี่ยนโฉมย่านจุฬา-สามย่านโดยสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ถึงแม้อาจจะถูกใจหรือไม่ถูกใจใครหลายคน แต่เราก็ต้องยอมรับว่าทำให้พื้นที่นี้เป็นระเบียบและมีชีวิตชีวามาขึ้นในอีกแบบหนึ่ง
ถ้ามีเวลาเดินลัดเลาะย่านจุฬา-สามย่าน จะพบว่ามีทั้งแกลเลอรี ร้านอาหาร สวนสาธารณะขนาดใหญ่ สตรีตฟู้ดบนถนนบรรทัดทองที่ทำให้ย่านนี้เป็นจุดหมายใหม่ของนักชิมทั่วเมือง รวมถึง สามย่านมิตรทาวน์ ห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่ที่ด้านในมีทั้งโรงหนังอินดี้ สวนดาดฟ้า และโซนที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งตอบโจทย์ชีวิตคนเมืองยุคใหม่ได้อย่างดี
อีกทั้ง ทั้งหมดที่พูดมานั้น ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ในงบที่ถูกกว่าย่านฮิปๆ แห่งอื่นอย่าง อารีย์ หรือ ทองหล่อ และถึงแม้จะเจอวิกฤติในช่วงโควิด แกลเลอรีในย่านนี้ซึ่งมีอยู่ไม่น้อยก็รวมตัวกันสร้างโปรเจ็กต์พิเศษอย่าง Pathumwan Art Routes (PARs) โดยจัดกิจกรรมเชิงศิลปะวัฒนธรรมขึ้นใน 11 สถานที่ทั่วย่าน เพื่อเป็นการฟื้นฟูและกระจายรายได้ในชุมชน ซึ่งเป็นโปรเจ็กต์ที่จัดยาวไปจนถึงสิ้นปี จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่วันนี้ โซนจุฬา-สามย่าน จะคึกคักอย่างที่ไม่ได้เห็นมานานหลายปีหรืออาจจะหลายทศวรรษ