- “เราพยายามใส่สิ่งที่ NFL ต้องการกว่า 20 อย่างลงไปในโลโก้ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ตรงกับสิ่งที่เขาอยากนำเสนอ”
- ตอนรับหน้าที่ออกแบบโลโก้งาน เชอร์รี่เป็นเด็กฝึกงานของเอเจนซี่แห่งหนึ่งในเมืองแทมป้า รัฐฟลอริดา ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดงาน Super Bowl ในปีนี้
หลายคนไม่เข้าใจว่าทำไมการแข่งขัน Super Bowl ถึงเป็นเรื่องใหญ่สำหรับชาวอเมริกานัก แต่ถ้าจะให้บอกเหตุผลแบบไม่ซับซ้อนก็คือ เพราะ ‘ฟุตบอล (หรือบ้านเราเรียกว่า รักบี้)’ ถือว่าเป็นกีฬาประจำชาติของชาวสหรัฐฯ ที่กลายเป็นวัฒนธรรมอันฝังแน่นมาหลายยุคสมัย อีกทั้งเป็นเกมการแข่งขันที่มีอิทธิพลมาก เนื่องจากการถ่ายทอดสดครั้งหนึ่งๆ มีผู้ชมนับหลายล้านคนจากทั่วโลก Super Bowl จึงเป็นอีกเวทีใหญ่ที่ให้อะไรมากกว่าการโชว์แข่งขันกีฬา
“ปีนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การจัด Super Bowl เลยนะ ที่มีทีมฟุตบอลได้เล่นในสนามบ้านตัวเอง ตอนนี้คนในเมือง Tampa เลยตื่นเต้นกันมาก”
เชอร์รี่ - พัชณิษฐ์ ศรีวิโรจน์ อดีตนักศึกษาจากคณะ Graphic Design ของมหาวิทยาลัยแทมป้า (University of Tampa) เล่าให้เราฟังถึงบรรยากาศในเมืองแทมป้า รัฐฟลอริดา ซึ่งเธอกำลังอาศัยอยู่ในตอนนี้ว่าเต็มไปด้วยความคึกคัก คนในเมืองออกมาสนุกกับการเป็นเจ้าภาพจัดงานฟุตบอลครั้งใหญ่ประจำปีกันอย่างเต็มที่
“เริ่มแรกเกม Super Bowl ในปีนี้ ที่จริงต้องจัดขึ้นที่ L.A. แต่ว่าสนามของเขาไม่พร้อม เมืองแทมป้าเลยโชคดีได้เป็นเจ้าภาพแทน” เชอร์รี่เริ่มเล่าถึงโปรเจ็กต์ใหญ่ที่เธอได้รับเมื่อตอนเป็นเพียงนักศึกษาฝึกงานชั้นปี 4 ที่ออกมาเก็บหน่วยกิตสุดท้ายก่อนเรียนจบ ซึ่งเธอเชื่อว่าเป็นทั้งโชคดีและจังหวะเวลาด้วยที่ทำให้มีโอกาสจับงานใหญ่ครั้งนี้
“โปรเจ็กต์นี้ทำตอนฝึกงานช่วงซัมเมอร์ปี 2019 ซึ่งเอเจนซี่ที่รับเราเข้าฝึกงานเขาดูแลลูกค้าเจ้านี้อยู่พอดี วันแรกที่เข้าไปบอสก็บอกเลยว่าออฟฟิศเราจะมีโปรเจ็กต์ใหญ่นะ แล้วก็ยื่นบรีฟให้ดู ซึ่งคำแรกเลยที่เราเห็นก็คือ Super Bowl”
แม้บอสของเชอร์รี่จะบอกว่าไม่ต้องเครียดมาก ให้คิดว่าการได้ออกแบบโลโก้เกม Superbowl 2021 เป็นแบบทดสอบหนึ่งของการฝึกงาน แต่เชอร์รี่มองว่านี่คือโอกาสมากกว่า และคงจะดีมากถ้าหากทำให้ NFL (National Football League) เลือกดีไซน์ของเธอได้ จึงตัดสินใจใส่ทุกอย่างให้เต็มที่กับงานชิ้นนี้
“เราเริ่มจากการรีเสิร์ชถึง 2 วันเต็มๆ เพราะลูกค้าต้องการนำเสนอเมืองแทมป้ามากๆ นอกจากนั่งหาข้อมูลเองเราก็ออกไปถามคนในพื้นที่ด้วย เพื่อตามหาเอกลักษณ์ที่เป็นเมืองแทมป้าจริง ซึ่งคำตอบส่วนใหญ่ที่ได้ก็คือ Gasparilla Pirate Festival เป็นเทศกาลโจรสลัดประจำเมือง”
เทศกาลที่ว่าจัดขึ้นเฉพาะที่เมืองแทมป้ามาตั้งแต่ประมาณปี 1904 เริ่มมาจากตำนานโจรสลัดอันโด่งดังของเมือง ทุกคนจะแต่งตัวเป็นโจรสลัดแล้วออกมาเดินฉลอง ชมขบวนพาเรดอย่างสนุกสนาน เชอร์รี่จึงเลือกเทศกาลนี้เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ ซึ่งสตอรี่ของเทศกาลก็เชื่อมโยงกับทีมฟุตบอลประจำเมือง Tampa Bay Buccaneers อีกด้วย (Buccaneers แปลว่าโจรสลัดเช่นกัน)
“เราพยายามออกกแบบให้เป็นกลางที่สุดนะ แต่ว่าลูกค้าอยากนำเสนอเมืองแทมป้ามากๆ บางไอเดียก็อาจไปคล้ายกับสตอรี่ของทีม Buccaneers อย่างช่วยไม่ได้”
เกม Super Bowl ปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 55 ซึ่งเป็นครั้งที่ 5 ของเมืองแทมป้าที่ได้เป็นเจ้าภาพ แถมปีนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เช่นกันที่ทีมฟุตบอลหนึ่งได้เล่นบนสนามบ้านเกิดตัวเอง ซึ่งนั่นก็คือทีม Tampa Bay Buccaneers ทีมฟุตบอลประจำเมืองแทมป้า เข้าชิงที่หนึ่งกับ Kansas City Chiefs ทีมแชมป์เก่าจากปีที่แล้ว ศึกครั้งนี้จึงน่าลุ้นอย่างไม่ต้องสงสัย (แม้ตอนทุกคนอ่านบทความนี้จะรู้ผลการแข่งขันแล้วก็ตาม)
เชอร์รี่ส่งดราฟต์การออกแบบโลโก้มาให้เราดู พร้อมกับ key design บางส่วนที่ลูกค้าเน้นที่สุด หลังจากเลือกธีมได้แล้วก็ลงมือออกแบบ โดยเชอร์รี่วาดเป็นรูปเรือใบและคลื่น เนื่องจากคีย์เวิร์ดหนึ่งที่ NFL ต้องการคือ ‘น้ำ’ ซึ่งเป็นจุดท่องเที่ยวของเมืองแทมป้า
“ลูกค้าไม่ได้เลือกไฟนอลดีไซน์มาตั้งแต่ต้น เราเลยออกแบบไปก่อนโดยมีบอสคอยช่วยนำทางให้ รออยู่ 2 เดือนจนทาง NFL เคาะสโลแกนกับเพิ่มดีเทลอีกเล็กๆ น้อยๆ ที่ต้องปรับแก้กันตลอดระหว่างทาง ซึ่งเขาลิสต์มาเลยว่าอยากให้มีอะไรบ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่เขาเขียนเลยว่า MUST DO คือเขาต้องการความเรียบง่าย หรือ Simple Design”
นอกจากไอเดียของเชอร์รี่ก็มีผู้เข้าแข่งขันอีก 2 คนเช่นกันที่ได้เข้านำเสนองาน (pitching) ให้ลูกค้าฟัง ซึ่งสุดท้ายไอเดียของเชอร์รี่ก็ถูกเลือกให้เข้ารอบและนำมาใช้จริง เราเชื่อว่าเป็นเพราะการตีโจทย์และเก็บรายละเอียดสิ่งที่ลูกค้าต้องการมาใส่บนชิ้นงานได้อย่างลงตัวมากที่สุด ทำให้โลโก้ของเชอร์รี่โดนใจคณะกรรมการจาก Super Bowl
“ทั้งหมดนี้มันท้าทายมากๆ ตอนทำก็เครียดนะ เพราะเราอยากทำให้ออกมาตรงกับสิ่งที่ลูกค้าบรีฟมากที่สุด ถ้าเทียบดราฟต์แรกกับไฟนอลโลโก้จะเห็นเลยว่าเปลี่ยนไปเยอะมาก ไฟล์มีหลายเวอร์ชั่น ไฟนอลแล้วไฟนอลอีก”
ส่วนสิ่งที่เชอร์รี่บอกว่าทำให้ NFL เลือกโลโก้นี้ก็เพราะ มันสะท้อนถึงเมืองแทมป้าจริงๆ มีทั้งเรือใบและลูกฟุตบอลที่ไปด้วยกันได้ เขาเลยอยากให้พัฒนาไอเดียนี้ไปจนถึงที่สุด ซึ่งระหว่างนั้นก็มีดีเทลเข้ามาเพิ่มตลอด ทำให้ต้องปรับดีไซน์อีกเรื่อยๆ เหมือนกัน
“ลูกค้าบอกอยากให้โลโก้มีดีเทลเกี่ยวกับเลข 5 ด้วย เพราะปีนี้จัดงาน Super Bowl เป็นครั้งที่ 55 และเมืองแทมป้าก็ได้เป็นเจ้าภาพครั้งที่ 5 ด้วย เราเลยปรับผ้าใบให้เป็น 5 ชั้น ปรับเชือกถักลูกฟุตบอลให้เป็น 5 ขีด”
หลังจากดีไซน์ลงตัวก็เป็นขั้นตอนการลงสี ซึ่งเชอร์รี่บอกว่าที่เลือกใช้สีฟ้าเป็นเพราะลูกค้าอยากให้มีสัดส่วนของน้ำบนโลโก้กว่า 60% จึงออกมาเป็นโทนนี้ ส่วนสีแดงก็มาจากบรีฟที่เน้นความ excite, welcomimg, warming ส่วนตัวอักษรบนโลโก้เป็น font ที่เชอร์รี่เขียนขึ้นมาเองเพื่อนำเสนอความ Big and Bold ดุดันตามสไตล์โจรสลัดตามบรีฟอีกเช่นกัน
“กว่าจะออกมาเป็นโลโก้ที่ทุกคนเห็น ใช้เวลากว่า 3 เดือนเต็ม ซึ่งตอนฝึกงานเราก็ทำโปรเจ็กต์อื่นไปด้วย แต่บอสจะให้เราดูงานชิ้นนี้เป็นหลัก เรามองว่านี่คือข้อดีของการฝึกงานในประเทศนี้ เพราะเขาจริงจังและให้เราจับงานลูกค้าจริงๆ ตอนแรกหวังแค่ว่าอยากทำงานลูกค้าทั่วไป ได้เข้าประชุมงานบ้าง ไม่คิดเลยว่าจะมีโอกาสทำโปรเจ็กต์ใหญ่ขนาด Superbowl ”
โปรเจ็กต์นี้เป็นความลับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2019 ออกแบบเสร็จประมาณเดือนกันยายนในปีเดียวกัน เชอร์รี่บอกว่าระหว่างนั้นไม่สามารถถ่ายรูปหรือบอกใครได้เลยจนกว่า NFL จะนำโลโก้ออกสื่ออย่างเป็นทางการเพื่อโปรโมทเกม Super Bowl ที่จะจัดขึ้นในปี 2021 ซึ่งเริ่มเตรียมตัวล่วงหน้ากันนานปีกว่าๆ เลยทีเดียว โดยโลโก้ที่เชอร์รี่ออกแบบถูกนำไปใช้บนของที่ระลึก ร้านค้าพาร์ทเนอร์ ร้านอาหาร หรือกระทั่งโรงพยาบาล แต่ละที่จะมีโปรโมชั่นพิเศษสำหรับช่วง Super Bowl ถือเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เมืองในช่วงโควิดด้วย
Final Logo Design ที่ใช้จริงสำหรับเกม Super Bowl 2021
“ช่วงที่ออกแบบก็ต้องให้คนอื่นช่วยดูบ้าง แต่เราก็ไม่ให้ดูทั้งหมดหรือบอกว่ากำลังทำอะไร คือเราอยากให้ Non-footbal fan หรือคนที่ไม่ดูฟุตบอลเลยเข้าใจสิ่งที่เราต้องการสื่อด้วย เพราะเราเป็นคนวาดเองเราดูออกอยู่แล้ว ซึ่งมันจะยากตรงนี้”
จุดโชว์ผลงานออกแบบของเชอร์รี่ชิ้นใหญ่ อยู่บนบอร์ดหนึ่งในเมืองที่เป็นเหมือนจุดเช็คอินงาน ภาพพื้นหลังออกแบบโดยทีมอื่นซึ่งอิงมาจากโลโก้หลักประจำปี และถึงแม้ปัจจุบันเชอร์รี่จะเรียนจบจนออกมาทำงานอย่างเต็มตัวแล้ว แต่ผลงานชิ้นนี้ที่สร้างสรรค์ขณะเป็นเพียงเด็กฝึกงานก็ยังน่าทึ่งมากจริงๆ
“ถ้าเป็นที่เมืองไทยการเรียนออกแบบจะอยู่ในคณะสถาปัตย์ฯ หรือสื่อสารมวลชน (Mass Communication) แต่ที่นี่มีคณะเฉพาะทาง ตอนแรกเราไม่คิดจะทำกราฟฟิกเป็นอาชีพเหมือนกัน แต่เพราะเคยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนช่วงมอปลาย เลยได้ลงวิชาเลือกใหม่ๆ ที่ไม่เคยเรียนมาก่อน พวกการปั้นเซรามิก การออกแบบ ซึ่งเราสนุกกับมัน และเมืองไทยไม่มีวิชาแบบนี้ ก็เลยตัดสินใจเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่นี่เลย”
บ้านเราไม่ค่อยมีพื้นที่ให้กับการออกแบบสักเท่าไหร่ แต่ที่นี่เปิดกว้างมาก มันเลยเป็นอีกเหตุผลที่เรามาเรียนต่างประเทศ
เชอ์รี่บอกว่าการได้เรียนต่อด้านการออกแบบที่ต่างประเทศทำให้มีโอกาสและได้ไอเดียในการทำอะไรหลายๆ อย่าง เพราะคนที่นั่นให้ความสำคัญกับความสร้างสรรค์ และมีการจัด Design Conference เป็นประจำ ทำให้เห็นไอเดียใหม่ๆ จากคนหลายกลุ่ม
“ตอนนี้เราคิดอยากกลับไปทำโปรเจ็กต์หรือแคมเปญที่เมืองไทย เป้าหมายของเราตอนนี้คือการทำให้วงการดีไซน์ในประเทศไทยมีพื้นที่แลกเปลี่ยนไอเดียกันมากกว่านี้ คือบ้านเราไม่ค่อยเปิดกว้างกับงานออกแบบสักเท่าไหร่ ทั้งที่ประเทศเรามีดีไซน์เนอร์เจ๋งๆ ที่ได้รับการชื่นชมระดับโลกเยอะแยะ แต่กลายเป็นว่ามีคนกลุ่มน้อยมากที่ให้คุณค่ากับงานพวกนี้”