แบรนด์แฟชั่นเชื้อชาติเยอรมันสัญชาติเกาหลี MCM (Modern Creation München) ที่หลายคนเห็นลายแล้วก็ต้องร้องอ๋อ เปิดตัวแคปซูลคอลเลกชั่นพิเศษร่วมกับ เอ็ดดี้ คัง (Eddie Kang) ศิลปินดาวรุ่งชาวเกาหลีใต้ เจ้าของผลงานสไตล์ Animamix ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างอนิเมชั่นและคอมิกส์สีสันสดใส จนได้ออกมาเป็นคอลเลกชั่นพิเศษที่บอกเล่าเรื่องราวความรักระหว่างมนุษย์กับสัตว์เลี้ยงในชื่อ MCM x EDDIE KANG
อันที่จริง MCM จะทำงานกับศิลปินชาวเกาหลีก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะแบรนด์ที่กำเนิดจากเยอรมันเมื่อกว่า 42 ปีที่แล้วตอนนี้เป็นส่วนหนึ่งของบริษัท Sungjoo Group สัญชาติเกาหลีใต้ ซึ่งทำให้แบรนด์โด่งดังอย่างมากในเกาหลีใต้ เป็นที่นิยมของไอดอลชื่อดังหลายๆ คน แต่ที่น่าสนใจคือ MCM เลือกที่จะจัดงานเปิดตัวแคปซูลคอลเล็คชั่นนี้ที่ประเทศไทย กับนิทรศการป๊อปอัพสุดพิเศษที่ให้เราได้ชมคอลเลกชั่นควบคู่กับผลงานศิลปะของเอ็ดดี้ คัง อย่างใกล้ชิด ณ Hall of Fame ศูนย์การค้าสยามพารากอน ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้เท่านั้น และด้วยความที่เปิดตัวที่กรุงเทพฯ Time Out จึงได้ร่วมพูดคุยกับศิลปินหนุ่มถึงแคปซูลคอลเลกชั่นนี้
คุณมาร่วมงานกับ MCM ได้อย่างไร
หลังจากงานแสดงที่นิวยอร์กในปี 2016 [นิทรรศการ Big City Life Loveless ที่แกลเลอรี่ Sandra Gering Inc] ทางเอเจนซี่ของผมโทรมาบอกว่า MCM สนใจอยากทำงานกับผม ตัวแบรนด์ MCM เองก็ดังมากในประเทศเกาหลี และผมเองก็ชอบในตัวงานและแคมเปญของพวกเขา แถมงานนี้ยังเป็นโอกาสดีให้ผมมีโอกาสแสดงผลงานนอกพิพิธภัณฑ์อีกด้วยครับ ... งานนี้ถือเป็นการทำคอลเลกชั่นร่วมกับแบรนด์ใหญ่เป็นครั้งแรก ปกติผมมักทำ space collaboration ให้กับห้างสรรพสินค้าหรือร้านแฟชั่นต่างๆ มากกว่าครับ การทำงานกับ space collaboration กับ
การออกแบบสินค้าให้กับแบรนด์แฟชั่นแตกต่างกันมากไหม
ค่อนข้างมากเลยครับ เวลาคุณทำงานกับห้างหรือร้านค้าต่างๆ พวกเขารู้ว่าอยู่แล้วว่าผมทำอะไรและอยากให้ผมทำอะไร ดังนั้นเราแค่สรุปงาน หาสถานที่ และทำขนาดงานที่เหมาะสม แต่การทำสินค้าแบบ consumer product ก็จะมีความท้าทายมากยิ่งขึ้น การทำงานกับ MCM ซึ่งเป็นแบรนด์ที่มี identity ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องของแพทเทิร์น ในทางกลับกันงานของผมมีลวดลาย สีสัน ตัวการ์ตูน ดังนั้นการผสมสองสไตล์เข้าด้วยกัน โดยไม่ให้ทั้งสองแบรนด์เสียความเป็นตัวของตัวเองคือความท้าทายอย่างมาก เราคุยกันนานเกือบปีเลยครับ
Big City Life Loveless at Sandra Gering
คุณช่วยเล่าขั้นตอนการทำงานคอลเลกชั่นให้เราฟังหน่อยได้ไหม
เริ่มแรกเลย เราคุยแลกเปลี่ยนไอเดียกัน จนได้ออกมาเป็นสองแบบ อย่างแรกคือการนำตัวละครของผมไปใส่ไว้ในแฟชั่นไอเท็มชิ้นเล็กๆ ส่วนพวกของชิ้นใหญ่ๆ เช่น กระเป๋า ผมลองขอหนังจาก MCM มาเพื่อทดลองวาดแพทเทิร์นลงไปเหมือนเวลาที่ผมวาดงานบนผืนผ้าแคนวาสซึ่งพวกเขาก็ชอบ เราเลยเลือกออกมาสองสีสำหรับคอลเลกชั่นนี้ครับ
ตัวละครที่คุณใช้ในคอลเลกชั่นนี้คือ Loveless ช่วยเล่าถึงผลงานของคุณหน่อยได้ไหม
ผมชอบวาดตัวละครต่างๆ ครับ Loveless ถือเป็นตัวละครไอคอนของผมเลยก็ว่าได้ งานของผมทุกคัวได้มาจากความทรงจำ รวมไปถึงอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ที่ผมวาดออกมาเป็นรูปทรงต่างๆ ก่อนจะเปลี่ยนมันให้เป็นตัวละครครับ Loveless เป็นสุนัขที่บ้านผมเอง แต่ตอนนี้มันไปสบายแล้วครับ ก่อนจะมาอยู่กับผม Loveless โดนทำร้ายแล้วก็ถูกทิ้ง จนครอบครัวของผมรับมันมาเลี้ยง พอมาอยู่ที่บ้านมันก็เกิดอาการชัก และหลังจากผ่าตัดหมอบอกว่ามันคงอยู่ได้อีกแค่ 3-4 เดือน แต่สุดท้ายมันอยู่มาได้อีกตั้ง 4 ปี ตอนมันยังมีชีวิตอยู่ Loveless มักโกรธ และไม่ชอบให้คนแตะตัว ผมเลยชอบวาดให้คิ้วมันดูเหมือนโมโหตลอดเวลา แต่ตอนนี้มันตายแล้ว ผมเลยวาดให้มันมีความสุข เพราะตอนนี้มันได้ไปอยู่ในที่ดีๆ แล้วครับ ตลอดสี่ปีที่อยู่ด้วยกัน ผมดีใจมากที่มันมีชีวิตรอด ผมเลยใช้ Loveless เป็นตัวละครตัวนึง และมันก็พิเศษกว่าตัวอื่นๆ แถมโชคดีที่คนก็ชอบตัวละครนี้ด้วย
คอลเลกชั่นนี้ยังมาพร้อมกับแคมเปญ Save the Loveless และนิทรรศการด้วยใช่ไหม
ผมอยากให้คนเห็นสไตล์งานที่ผมทำครับ ถึงแม้ว่าคุณจะสามารถเห็นได้จากสินค้า MCM แล้ว แต่ผมก็อดตื่นเต้นไม่ได้ที่ทุกคนจะได้เห็นงานที่ได้รับการตีความออกมาให้มีทั้งแสง ไฟ การทำอินสตอลเลชั่น ซึ่งการทำอีเว้นต์ก็เป็นเรื่องใหม่สำหรับผมเหมือนกัน
ในส่วนของตัวแคมเปญ Save the Loveless มันมีความหมายสองอย่างครับ อยากแรกก็คือตัว Loveless เป็นสุนัขที่ถูกทอดทิ้ง จึงอยากให้คนหันมาสนใจปัญหานี้ นอกจากนี้ก็รวมไปถึงคนด้วย เช่น การอาศัยอยู่ในสังคมเมืองที่หลายคนอาจรู้สึกโดดเดี่ยว ความจริงแล้วการให้ความสนใจกับสัตว์หรือคนอื่นๆ เป็นเรื่องที่ง่ายมากครับ
เดาว่าคุณเป็นคนรักสุนัขใช่ไหม หรือว่าสัตว์อื่นๆ ก็ชอบเหมือนกัน
เริ่มจากสุนัขครับ แต่ตอนนี้แมวก็ชอบ ลิง แล้วก็ช้างด้วย (หัวเราะ)
ว่าแต่คุณเข้ามาทำงานในแวดวงศิลปะได้อย่างไร
แม่ผมเองก็เป็นจิตรกรครับ ตอนเด็กๆ ผมชอบไปอยู่ที่สตูดิโอของแม่ตอนบ่ายๆ แม่ผมทำงานสไตล์แอ็บแสตร็ก แต่เขาก็ไม่เคยมาสอนหรือบังคับผมนะ ท่านให้ดินสอ ปากกาสี แล้วก็ปล่อยให้ผมวาดลายเส้นตามใจชอบ ผมเริ่มเอาพวกลายเส้นมาทำเป็นตัวละครจริงจังสักตอนมัธยมปลายครับ ถ้ากลับไปดูงานเก่าๆ ซึ่งคุณแม่ของผมยังเก็บไว้ก็จะเห็นได้ถึงความคล้ายคลึงกับงานในปัจจุบัน ถึงแม้ตัวงานพัฒนาขึ้น แต่สไตล์ยังอยู่ พูดง่ายๆ ว่าทุกอย่างเริ่มจากลายเส้นพวกนั้นแหละครับ
สไตล์งานของคุณเรียกว่า Animamix ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างอนิเมชั่นกับคอมมิกส์ คุณมีการ์ตูนเรื่องโปรดบ้างไหม
เยอะมาก (หัวเราะ) ความจริงแล้วผมจบด้านวิดีโออนิเมชั่นนะครับ ผมว่าคนที่เรียนสายนี้ทุกคนชอบ ฮายาโอะ มิยาซากิ (Hayao Miyazaki ผู้ก่อตั้ง Studio Ghibli) กันนะ จากงานสุดวิเศษของเขาทั้งหมด เรื่องที่ผมชอบมากเป็นพิเศษคือ Mononoke-hime (Princess Mononoke หรือ เจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพร) ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับเจ้าหญิงและสัตว์ป่า ผมว่าเรื่องนี้มีเมสเซจที่สตรองมากเกี่ยวกับว่าทำไมเราต้องรักษาธรรมชาติ แน่นอนว่างานของมิยาซากิสวยทุกเรื่องครับ แต่เรื่องนี้มีทั้งความสวย สตอรี่ และเมสเซจที่ดีมาก
อีกคนที่ผมชอบ ซึ่งดังมากในกลุ่มคนอนิเมชั่น แต่คนทั่วไปอาจไม่ค่อยรู้จัก เป็นศิลปินชาวรัสเซียชื่อ ยูริ นอชไตน์ (Yuriy Norshteyn) ซึ่งเขาใช้เทคนิคแบบดั้งเดิมคือ cutout (การนำกระดาษมาทำท่าทางถ่ายทีละฉาก) งานที่สวยมากของเขาคือ Tale of Tales ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในอนิเมชั่นที่สวยที่สุดในศตวรรษ ผมมีโอกาสได้รู้จักเขาตอนมาเขามาเลคเชอร์ที่มหาวิทยาลัย ผมชอบคิดถึงงานของเขาเวลาวาดภาพครับนะครับ
Time Square Hong Kong
แล้วคุณเคยทำอนิเมชั่นบ้างไหม
หลังเรียนจบหรอครับ ... ผมทำโมชั่นกราฟิกมากกว่านะ ผมมองว่าในการจัดแสดงทำยังไงถึงจะใช้สเปซทั้งหมดได้ งานส่วนใหญ่ของผมอยู่บนผ้าในแคนวาสไม่ก็กระดาษ บางครั้งก็มีงานสามมิติแบบรูปปั้นบ้าง แต่บางครั้งผมก็อยากให้มีอะไรเคลื่อนไหวเลยทำโมชั่นกราฟิกง่ายๆ แต่อนิเมชั่นจริงจังไม่เคยทำเลยครับ อยากนะ แต่มันใช้เวลานานมาก ผมอยากทำแบบดั้งเดิม ใช้เวลาเป็นปีได้แค่ 3-4 นาทีเองครับ ผมอยากทำ cel animation (อนิเมชั่นแบบวาดมือ) อย่างของญี่ปุ่นจะใช้ 24 เฟรม/วินาที ถ้าการ์ตูนดิสนีย์จะใช้ประมาณ 36 เฟรม/วินาที ข้อมูลสมัยเรียนนะครับ ปัจจุบันน่าจะใช้เยอะกว่านี้ เพราะอนิเมชั่นปัจจุบัน smooth มากครับ
ปัจจุบันนี้ศิลปินหันมาทำงานกับแบรนด์แฟชั่นมากขึ้น คุณมองเรื่องนี้อย่างไรบ้าง
ศิลปินส่วนใหญ่โชว์งานที่แกลเลอรี่หรือพิพิธภัณฑ์ ก็มีคนมาดูงานครับ แต่การทำ collaboration กับแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักจะช่วยให้ศิลปินเป็นที่รู้จักในมุมกว้างมากขึ้น ผมทำงานสายนี้เลยรู้จักศิลปินเยอะ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะรู้จักศิลปินครับ
การเป็นศิลปินในปัจจุบันยากมากขึ้นไหม ถ้าเทียบกับสมัยก่อน
คุณแม่ของผมซึ่งเป็นศิลปินในช่วงปลายปี ‘80s มักบอกว่าศิลปินที่อายุน้อยกว่า 40 ยากที่จะมีโอกาสแสดงผลงานตัวเอง โดยเฉพาะในประเทศเกาหลี แต่ตอนนี้ศิลปินหน้าใหม่สามารถโชว์ผลงานโดยไม่ต้องออกไปไหนด้วยซ้ำ พวกเขาสามารถโพสต์บนอินสตาแกรม แล้วก็มีคนตามซึ่งบางคนก็เป็นนักสะสมผลงานศิลปะอยู่แล้ว แต่การโชว์แค่ภาพไม่พอ เพราะบางครั้งคนก็อยากรู้เรื่องราวเบื้องหลังภาพด้วย
ศิลปินหลายคนใช้ออนไลน์แพลตฟอร์มในการโชว์ออฟตัวเอง มากกว่าตัวงาน คุณมองว่าอย่างไรบ้าง
สำหรับผม ผมอยากให้คนรู้จักผลงานผมก่อนหน้าผมนะ พองานน่าสนใจ คนก็จะสงสัยเกี่ยวกับตัวศิลปินเอง เวลาสัมภาษณ์ ถ้าเป็นไปได้ อยากให้ใส่รูปงานมากกว่า ผมถ่ายภาพออกมาแย่ด้วยแหละ (หัวเราะ)
อนาคตคุณอยากทำงานอะไรอีกบ้าง
ผมอยากทำ public art ครับ คือทำงานกับแบรนด์ก็สนุก แต่อยากทำ public art ซึ่งสามารถเปลี่ยนไปเป็นที่นอนพัก ที่เล่นสำหรับเด็ก สามารถให้คนสามารถจับได้ ผลงานที่ได้ประโยชน์ผมว่าเป็น public art หมด งานบางชิ้นตั้งอยู่ แต่จับไมได้ บางอันก็แหลม ผมเลยอยากทำงานที่เข้าถึงง่าย คนสามารถสนุกได้ คนได้มาพัก เด็กได้มาเล่นครับ