หนึ่งสัปดาห์แล้วที่ผู้ประกอบการร้านอาหารที่มีสาขาในห้าง ต้องต่างคนต่างแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหลังจาก ศบค. ประกาศปิดกิจกรรมเกือบทั้งหมดในห้างและคอมมูนิตี้มอล ซึ่งรวมถึงร้านอาหารที่เคยได้รับอนุญาตให้ขายอาหารเดลิเวอรีได้ บางคนหาครัวเช่าชั่วคราว บางคนตัดสินใจหยุดทุกกิจกรรม และจนถึงตอนนี้ยังไม่มีเสียงสะท้อนจากภาครัฐถึงการเยียวยาจากประกาศที่ออกมาโดยไม่ให้เตรียมตัวครั้งนี้
“เราก็ต้องยอมรับประกาศ เราก็ได้แค่บ่น แต่ก็ต้องทำ” ปิยะ ดั่นคุ้ม CEO หนุ่มของเครือร้านอาหาร Salad Factory ออกปาก ด้วยความที่ร้านส่วนใหญ่ของเขาตั้งอยู่ในศูนย์การค้าและคอมมูนิตี้มอล ทำให้เขาต้องปิดร้าน 10 จาก 15 สาขาในทันทีโดยไม่สามารถแม้จะเข้าไปใช้พื้นที่ครัว
ปิยะ ก่อตั้งร้านสลัด Salad Factory เมื่อ 9 ปีที่แล้ว ก่อนจะค่อยๆ ขยายอย่างช้า และร่วมทุนกับกลุ่มเซ็นทรัลในปี 2019 เป็นการร่วมทุนที่เขายอมรับว่าทำให้ในช่วงนี้เขายัง “พอไหว” ที่จะประคับประคองพนักงานเกือบ 300 ชีวิต
แต่พอไหวไม่ได้แปลว่าจะไหวนาน
เราก็ได้แค่บ่น แต่ก็ต้องทำ
“เราหวังว่าเขาจะเปลี่ยนแปลง [ประกาศฯ] แต่ถ้าเขาไม่เปลี่ยนแปลง [ก็ต้องมาดูว่าเรา] จะทำงานกันยังไง เราเห็นพี่ๆ เพื่อนๆ ที่ย้ายออกมาเช่าที่ด้านนอก ผมก็ยังกังวลว่าเป็นผลระยะสั้นหรือเปล่า เหมือนครั้งก่อนๆ ก็คือไม่มีแผนอะไรเลย เหมือนคิดอะไรได้ก็ออกมา และถ้าเขาไม่เปลี่ยนแปลงประกาศ เราจะอยู่ได้ถึงเมื่อไหร่ เหมือนเราแข่งกับเวลา”
ปิยะเล่าให้เราฟังว่าเขามีเวลาแค่วันเดียวที่จะจัดการ เขาปรับร้านสาขาเมืองทองธานีเป็น cloud kitchen แต่การที่ต้องหยุดการผลิตกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ทำให้พนักงานสองร้อยกว่าคนจากเกือบสามร้อยคนก็ต้องหยุดงานทันที และเข้ารับการเยียวยาจากระบบประกันสังคม นี่ทำให้ปิยะเห็นว่าผู้ออกนโยบายไม่เข้าใจโครงสร้างธุรกิจ ซึ่งไม่ได้ตั้งอยู่บนพนักงานที่อยู่ได้ด้วยแค่ค่าแรงขั้นต่ำเท่านั้น
“น้องๆ ทุกคนก็ต้องเข้า [รับการเยียวยาจาก] ประกันสังคมก่อน แล้วเราก็ต้องดูว่ายังไงถึงจะดึงน้องกลับมา ทุกองค์กรมีโครงสร้างพนักงาน เวลาบริษัทบอกว่าไม่ได้เอาพนักงานออก เราจะหมายถึงพนักงาน full-time แต่ majority ของพนักงานร้านอาหารคือ part-time นะครับ มากถึง 60-70 เปอร์เซ็นต์ มีใครไปช่วย part-time บ้างไหม รัฐต้องดูแลเขาไหม ผมก็พยายามช่วยทุกชีวิต แต่คุณให้เวลาเราแค่วันเดียว เราไม่สามารถหาที่เอาเขากลับมาได้”
ไม่ใช่แค่เรื่องพนักงาน ปิยะยังชี้ให้เห็นว่าในความเป็นจริงๆ หน่วยธุรกิจต่างๆ เกี่ยวข้องกัน และมาตรการที่ออกมาโดยไม่เข้าใจโครงสร้างจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง อย่าง Salad Factory ทำงานร่วมกับเกษตรกร การสั่งปิดแบบฉับพลันทำให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องไปยังเกษตรกรด้วย
“ผมว่าเราอยู่ในระยะนี้มาสองปีละ ปีที่แล้วมันเป็นเรื่องที่ใหม่มากสำหรับทุกคน ผมว่าทุกคนเข้าใจได้ จบกลางปี 2562 เราทำ contingency plan หลากหลาย scenario เราทำแผนไว้หมดแหละ แต่ที่ภาครัฐทำในปีนี้เหมือนไม่ได้ทำแผนอะไรไว้เลย และการสื่อสารเรียกว่าทำได้ไม่ดีมากๆ เช่น ก็แค่บอกว่าสเตจนี้ตัวเลขเท่านี้เราจะปิดอะไรบ้าง ปิดแบบไหน ถ้าทุกคนรู้ว่ารัฐวางแผนและคิดแบบไหน เราก็จะเตรียมตัวแจ้งคู่ค้าต่างๆ แจ้งเกษตรกร อย่างเกษตกรเค้าต้องวางแผนการปลูกล่วงหน้า อย่างผักบางชนิดใช้เวลา 30-45 วัน เขาก็ต้องวางแผน อย่างคราวนี้เรารับเขาไม่ได้ แล้วเขาจะเอาไปทิ้งที่ไหน”
ผู้บริหารหนุ่มยอมรับว่าถ้าเป็นไปได้เขาเลือกย้อนกลับไปเป็นสถานการณ์ก่อนหน้าที่ร้านในห้างสามารถขายเดลิเวอรีได้ “ไมได้หมายความว่าเราไม่ทำตามสิ่งที่ควรทำในสังคม แต่ถามก่อนว่าคุ้มไหมที่เขา sacrifice ทั้งหมด ผมว่ามันทำได้ดีกว่านี้ แบบที่ไม่ต้องสูญเสียเกินความจำเป็น”
แต่ที่ภาครัฐทำในปีนี้เหมือนไม่ได้ทำแผนอะไรไว้เลย
“ผมบอกเลยว่า [ปิด] หนึ่งเดือนผมเข้าใจ ผมยอมอยู่นิ่งๆ แต่หนึ่งเดือนเวิร์คจริงไหม อย่างเราบอกว่า อ่ะปิด 14 วัน แล้วระดมการฉีดวัคฉีด เราก็ยังพอเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ผู้ป่วยหนักก็จะกลายเป็นเบา แต่ดูตอนนี้ เราต้องมีแผนชัดเจน นี่เหมือนนึกขึ้นได้ทีก็ทำที นี่สองเดือนผมยังไม่เห็นว่าจะหยุดยังไง”
และเขายอมรับว่าจนถึงตอนนี้ เขาก็ยังหาเหตุผลการปิดร้านในคอมมูนิตี้มอลที่เป็นระบบแอร์แยกไม่ได้ “มันไม่มีเหตุผลต้องหยุดเดลิเวอรี ผมไม่เห็นเหตุผล เราไม่อยากให้คนมาแออัดในห้าง โอเค แต่ผมคิดว่าเราสามารถ utilize พื้นที่ได้ แต่ตอนนี้ที่คุณปิดทุกอย่าง อย่างเราเข้าไปในพื้นที่ตัวเองไม่ได้ แล้วอย่างร้าน SME ที่อยู่ในห้างทั้งหมด ใครจะอยู่ไหว” ปิยะย้ำว่าเขาไม่เคยต่อต้านการปิดห้าง เพราะเข้าใจถึงความร้ายแรงของสถานการณ์ แต่เขาคิดว่านโยบายที่ออกโดยไม่ได้เข้าใจธุรกิจจะทำให้เราสูญเสียเกินความจำเป็น
"พูดตรงๆ ถ้าในภาพของธุรกิจเราก็อยากจะเปิด ถ้าในภาพของสาธารณสุขก็อยากปิด แต่เราก็ต้องอยู่ร่วมกัน ทำยังไงเราถึงจะอยู่ร่วมกันได้ วันนี้เป็นคิว [ธุรกิจ] เรา พรุ่งนี้ก็อาจจะเป็นคิวคุณ เราก็อยากให้จบ แต่เราจะแก้กันอย่างนี้จริงๆ หรอ กระปริดประปรอยแบบนี้ ไม่มีมาตรการอะไรให้เราอุ่นใจเลย เหมือนเรากำลัง pay back กับสิ่งที่คุณพลาด"
เหมือนเรากำลัง pay back กับสิ่งที่คุณพลาด
ปิยะเน้นว่าสิ่งที่จะทำให้เรารอดจากวิกฤติในครั้งนี้ได้คือรัฐต้องสร้างความเชื่อมั่นและเชื่อใจให้กับประชาชนทุกภาคส่วน "การสื่อสารและการวางแผนนั้นจึงสำคัญมาก คุณออกมาตรการอะไรออกมา คุณต้องทำให้ทุกคนเข้าใจและตระหนักในความสำคัญ ต้องทำให้รู้สึกว่ารัฐจะไม่ทอดทิ้งพวกเค้า ไม่ใช่บังคับอย่างเดียวอย่างนั้นใครจะให้ความร่วมมือกับคุ ภาครัฐต้องบอกให้ประชาชนได้รู้ คุณอยากใช้ยาแรงปิดทุกกิจกรรมคุณก็ต้องวางเผนให้ดี เดือนนึงทุกคนก็สะดุ้งแล้ว แต่ผมเข้าใจว่าถ้ากลั้นใจไปพร้อมๆ กัน มันก็จะรอดไปพร้อมกัน ถ้าเราดูตอนนี้เราแก้ปัญหาที่ปลายเหตุมากๆ มันเลยสูญเสียเกินความจำเป็นกับสิ่งที่ต้องเสีย ปล่อยให้ธุรกิจค่อยๆ ตายไปทีละหนึ่ง"
อีกส่วนหนึ่งที่ปิยะบอกว่ามีประเด็น คือ เสียงของพวกเขาอาจจะ “ไม่เคยไปถึง”
“ผมถามจริงๆคุณเคยเรียกร้านเล็กๆSME หรือธุรกิจขนาดกลางเข้าไปปรึกษามั้ย ว่าเค้าคิดและรู้สึกอย่างไร ผมว่าถ้าคุณเรียกเข้าไปนอกจากคุณจะได้มุมมองและแผนที่ดีคุณก็จะได้ความร่วมมือที่ดีด้วย”