ข้าวปั้นสัญชาติเอเชีย
Time Out Bangkok
Time Out Bangkok

ชวนตามหา ‘ข้าวปั้น 5 สัญชาติ’ ของว่างสไตล์เอเชียที่อยากให้ทุกคนลอง

ใครอยู่ทีมไหน กินข้าวปั้นสัญชาติใดแล้วชอบที่สุด มาบอกกันหน่อย

Kenika Ruaytanapanich
การโฆษณา

ส่วนตัวเราชอบอาหาร(ถือ)กินง่าย เพราะรู้สึกว่าเป็นเมนูที่กินสนุก กัดไปตรงไหนก็เจอรสชาติต่างกันไปตามวัตถุดิบที่เจอ แถมเป็นอาหารที่ไม่มีสูตรตายตัว ใส่ความสร้างสรรค์ลงไปได้เต็มที่ แล้วนอกจากเมนูถือกินด้วยมือสไตล์ตะวันตกอย่างเบอร์เกอร์ แรป หรือเบอร์ริโต้ที่เราเองกินบ่อยๆ ก็เกิดนึกขึ้นมาได้ว่า ฝั่งเอเชียเราก็มีเมนูสไตล์เดียวกันอย่าง “ข้าวปั้น” เหมือนกันนี่นา

แม้หลายคนอาจเริ่มสงสัยว่ามันเกี่ยวข้องกันอย่างไร แต่เรามองว่าเป็นเรื่องวัฒนธรรมอาหารที่เริ่มจากทุกคนต้องการเมนูที่พกง่าย กินสะดวก ส่วนหน้าตาหรือวัตถุดิบที่ใช้ก็ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของแต่ละชนชาติ อย่างชาวตะวันตกก็คือแผ่นแป้งและขนมปัง ส่วนชาวเอเชียก็คือ “ข้าว” ต่างๆ เพราะเป็นวัตถุดิบที่หาง่ายและให้พลังงานสูง

และนอกจากเมนูข้าวปั้นญี่ปุ่นที่เราคุ้นกัน เราก็เกิดความสงสัยขึ้นมาว่าประเทศในแถบเอเชียอื่นๆ จะมีเมนูสไตล์เดียวกันหน้าตาเป็นอย่างไร วันนี้เราเลยออกไปตามหาเมนู ข้าวปั้นหลากสัญชาติ ที่หาเจอได้ในกรุงเทพฯ แล้วรวมมาให้ทุกคนทำความรู้จักไปพร้อมๆ กันแล้ว

อ่านจบแล้วใครอยากลิ้มลองเมนูไหน รีบออกไปตามหาแล้วมาบอกกันด้วยว่าคุณชอบเมนูข้าวปั้นของประเทศอะไรมากที่สุด?

ฟ่านถวน, ไต้หวัน

ใครที่ไปไต้หวันบ่อยๆ น่าจะเคยรู้จัก ฟ่านถวน (หรือ ซือฟ่านถวน) กันมาบ้าง คำนี้เป็นภาษาจีนกลางแปลตรงตัวได้ว่า “ข้าวปั้น” เป็นเมนูริมทางคั้งเดิมที่คนไต้หวันแต่ก่อนนิยมกินกันเป็นอาหารเช้าเพราะให้พลังงานสูง แต่เมนูนี้สมัยนี้อาจหากินได้ยากสักหน่อยแล้ว ฟ่านถวนในสมัยก่อนจะประกอบด้วยแค่ข้าวเหนียวและผักดอง แต่ในปัจจุบันมีการปรับให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้นด้วยการใส่เนื้อสัตว์ปรุงรส ใส่ซอสและไส้อื่นๆ เพิ่มรสชาติ แล้วห่อทั้งหมดด้วยสาหร่ายให้กินง่ายขึ้น

อ่านถึงตรงนี้ ถ้าใครอยากลองก็ไม่ต้องรอบินไปถึงไต้หวัน เพราะบ้านเราก็มีร้าน “ฟ่านถวน” เจ้าแรกมาเปิดให้ตามไปชิมกันได้ จะมีให้ลองทั้งหมด 5 รสชาติ แนะนำเป็นเมนู ฟ่านถวนไก่ผัดซอสหม่าล่า (89 บาท) หรือ ฟ่านถวนสูตรต้นตำรับ (89 บาท) โดยตอนนี้ร้านจะมีทั้งหมด 5 สาขา คือ BTS ศาลาแดง, BTS อารีย์, เอ็มควอเทียร์ฯ, ฟู้ดวิลล่า ราชพฤกษ์ และเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน

บ๊ะจ่าง, จีน

คนไทยเชื้อสายจีนต้องคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว เพราะ “บ๊ะจ่าง” เป็นเมนูประจำเทศกาลมงคล อีกทั้งมี เทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง ที่ปกติจะตรงกับช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี และถึงแม้บางคนจะเรียกนำหน้าด้วยคำว่า ขนม แต่ที่จริงแล้วบ๊ะจ่างนับเป็นอาหารคาวของชาวจีน ส่วนขั้นตอนการทำก็ต้องใช้ทั้งแรงคน ทั้งเวลามากเลยทีเดียว

บ๊ะจ่าง นี้เป็นการออกเสียงตามสำเนียงแต้จิ๋ว (แปลว่า ขนมจ่างไส้เนื้อสัตว์) แต่เจ้าข้าวเหนียวไส้แแบบมียังมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามแต่ภูิภาคและชาติพันธุ์ของชาวจีน 

บ๊ะจ่างเป็นเมนูที่หากินไม่ยาก เชื่อว่าหลายคนมีร้านที่สั่งมากินประจำ ในลูกหนึ่งจะประกอบด้วย ข้าวเหนียวที่นำไปผัดน้ำมันและเครื่องปรุงรสต่างๆ เช่น กุ้งแห้ง พริกไทย ซีอิ๊ว ก่อนนำมาห่อด้วยใบไผ่ หรือ ใบจ่าง ตามด้วยใส่เครื่องชนิดต่างๆ ที่ปรุงรสก่อนแล้วตามลงไป จากนั้นจึงห่อให้เป็นทรงสามเหลี่ยม ผูกด้วยเชือกแล้วนำไปนึ่งอีกที หลังจากขั้นตอนนี้จะเป็นความอร่อยที่เกิดจากการนึ่งวัตถุดิบทั้งหมดจนได้รสชาติเข้ากัน

โดยบ๊ะจ่างจะมีทั้งสูตรเจและสูตรที่ใส่เนื้อสัตว์และไข่แดง แต่วัตถุดิบหลักๆ ที่มักขาดไม่ได้เลยก็คือ กุนเชียง หมูหมัก เกาลัด เห็ดหอม แปะก๊วย ถ้าใครเกิดอยากกินขึ้นมาก็ไม่ต้องรอเฉพาะหน้าเทศกาล เพราะมีหลายร้านที่ขายเมนูบ๊ะจ่างตลอดปี ส่วนใหญ่เป็นร้านซาลาเปาและติ่มซำ เช่น วราภรณ์ ซาลาเปา, ศุภชัยซาลาเปา, ซาลาเปาทับหลี, ซาลาเปาโกอ้วน

การโฆษณา

โอนิกิริ, ญี่ปุ่น

โอนิกิริ ที่หมายถึง “ข้าวปั้นญี่ปุ่น” มาจากคำว่า นิกิริ ที่แปลว่าการปั้น เป็นเมนูดั้งเดิมที่ชาวญี่ปุ่นนิยมทำกินเองที่บ้าน เพราะทั้งทำง่ายและกินอร่อย อีกทั้งจะมีสาหร่ายห่อหรือไม่ก็ได้เช่นกัน โดยรูปทรงและรสชาติก็ไม่มีสูตรตายตัว สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามใจชอบ ดังนั้น ถ้าใครเจอโอนิกิริทรงกลม หรือกึ่งกลมกึ่งเหลี่ยมก็ไม่ต้องตกใจ

เรารู้ว่าหลายคนก็ชอบกินโอนิกิริ เป็นประจำ แต่น่าเสียดายที่ส่วนใหญ่พวกเราจะซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อ ซึ่งมักมีชนิดสามเหลี่ยมเพียงแบบเดียวและรสชาติก็ไม่โดดเด่นอะไรมาก แต่หากไปตามหาที่ประเทศกำเนิด เราจะเจอโอนิกิริหลากหลายสไตล์ ทั้งรสชาติ รูปร่าง ท็อปปิ้ง หรือไส้ด้านใน

คิมบับ, เกาหลี

เชื่อว่าทุกคนต้องรู้จักข้าวปั้นห่อสาหร่ายสไตล์เกาหลี โดยชื่อเรียกก็มาจากคำว่า ‘คิม’ ที่แปลว่า สาหร่าย และคำว่า ‘บับ’ ที่แปลว่า ข้าว เมนูนี้เป็นอาหารริมทางที่ไม่ว่าจะเดินไปทางไหนก็ต้องเจออาจุมม่าปิดซุ้มขายอยู่ เพราะคิมบับเป็นเมนูดั้งเดิมที่ยังเป็นที่นิยม เพราะทำและกินง่าย เพียงแค่หุงข้าวให้สุก ผสมเกลือเล็กน้อย แล้วใส่ผักและเครื่องต่างๆ ลงไปตามชอบ บางคนม้วนเป็นแท่งแล้วพกไว้กินเวลาหิว หรือบางคนก็ตัดเป็นชิ้นกลมๆ ใส่เป็นข้าวกล่องก็มี

ส่วนใหญ่ไส้คิมบับจะขึ้นอยู่กับสูตรของแต่คน แต่ที่พบเจอบ่อยๆ ก็คือ ไส้ผักและกิมจิ ไส้แฮม ไส้ทูน่า ไส้ไข่ หรือถ้าบ้านไหนมีหมูสามชั้นก็จะใส่ลงไปด้วย แล้วหลังจากเมนูนี้เป็นที่รู้จักไปหลายๆ ประเทศ เราก็จะได้เห็นคิมบับรสชาติใหม่ๆ ดูน่ากินต่างกันไปอีกแบบ อย่างเช่น หมาล่า หมูทอด แซลมอน ถ้าใครอยากลองก็หาไม่ยากเลย สามารถสั่งได้ที่ร้านอาหารเกาหลีแทบทุกแห่ง

การโฆษณา

โซยกุ๊ก, เวียดนาม

พอเราได้รู้จักเมนูนี้เป็นครั้งแรก ก็พบว่าในกรุงเทพฯ ทั้งหากินได้ยากและหาคนทำเมนูนี้ยากมากจริงๆ เพราะเป็นเมนูสตรีตฟู้ดโบราญของชาวเวียดนาม นิยมกินเป็นอาหารเช้าเพราะค่อนข้างอิ่มท้อง หรือทำเป็นอาหารทำบุญ “โซยกุ๊ก (Xoi Cuc)” จะทำมาจากแป้งข้าวเหนียว ส่วนใหญมีสีเขียวจากน้ำใบเตย ด้านในเป็นไส้ถั่วผัดกับเนื้อหมูปรุงรสพริกไทย

หลังจากปั้นไส้ให้เป็นก้อนกลมๆ แล้วห่อด้วยแป้งใบเตย ก็จะนำไปนึ่ง โดยจะโรยเมล็ดข้าวเหนียวแช่น้ำให้ทั่วทุกลูก เมื่อนึ่งจนสุกก็จะออกมาเป็น โซยกุ๊ก ก้อนกลมๆ เนื้อเหนียวนุ่มแบบในภาพ ซึ่งบางคนจะดัดแปลงจากสีเขียวใบเตยเป็น โซยกุ๊กอัญชัญแบบที่คุณเอื้องดาวทำก็ได้เช่นกัน

เรื่องเด่น
    เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ
      การโฆษณา