ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปทุกคนยังคงต้องดำเนินชีวิตภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไปจนกว่าจะถึงวันที่ 30 มิถุนายน หลังจากที่รัฐบาลประกาศต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน แต่อะไรๆ ก็คงคล่องตัวขึ้นกว่าช่วงก่อนหน้า เพราะวันนี้ก็เป็นวันแรกของการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ระยะที่ 3 เช่นกัน ซึ่งจะมีกิจการและกิจกรรมต่างๆ กลับมาเปิดให้เราสามารถใช้บริการได้เพิ่มขึ้น
ย้อนกลับไปช่วงที่เริ่มใช้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ ทั้งร้านอาหาร ห้าง โรงหนัง ร้านเสริมสวย ยิม ฯลฯ และสถานที่อื่นๆ ที่ถือว่ามีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ถูกสั่งปิดหรือกึ่งๆ ปิด จนยอดขายตกแบบพังพินาศ แม้แต่ร้านที่เคยขายดิบขายดีอย่าง ห้องทานข้าวสุพรรณิการ์ ก็ได้รับผลกระทบหนักจากยอดขายที่ตกไปถึง 90% ในบางสาขา แม้จะมีการเตรียมตัวรับมือกับวิกฤตครั้งนี้มาอย่างดี
![Tatchai Nakapan Supanniga Group](https://media.timeout.com/images/105642247/image.jpg)
ธัชชัย นาคพันธุ์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งร้านอาหารในเครือสุพรรณิการ์ กรุ๊ป และหุ้นส่วนคนอื่นๆ ได้ประชุมกันอย่างเร่งด่วนหลังการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อหาทางออกให้ร้านสามารถอยู่รอดได้ในช่วงล็อกดาวน์ โดยนโยบายของสุพรรณิการ์ กรุ๊ป คือต้องการรักษาพนักงานไว้ให้ได้มากที่สุด เพราะเชื่อว่าความสำเร็จของร้านมาจากพนักงานเป็นหลัก แต่ก็ไม่สามารถให้พนักงานมาทำงานทั้งหมดได้ตามปกติ ทางร้านจึงเลือกใช้การปรับลดวันและเวลาทำงานของพนักงานแทน รวมถึงการลดต้นทุนบางส่วนอย่างเคร่งครัดและการริเริ่มสิ่งใหม่ๆ ที่ร้านไม่เคยทำมาก่อนอย่างการทำข้าวกล่องราคาย่อมเยา ภายใต้แบรนด์ ‘สุดคั่ว’
![Supanniga Eating Room meal box](https://media.timeout.com/images/105642249/image.jpg)
“วิกฤตการณ์ในครั้งนี้ทำให้เรามีความเปิดกว้างมากขึ้นในการทำอะไรใหม่ๆ จริงๆ อาหารกล่องพวกนี้มีความต้องการในตลาดอยู่ตลอดเวลา แต่เราไม่เคยทำออกมาเพราะด้วยราคาเราคิดว่าคงทำไม่ได้ แต่ตอนนี้ข้อจำกัดทุกอย่างหายไป เราเห็นว่ามันมีความต้องการตรงนี้อยู่ เลยเป็นการเปิดตลาดใหม่ๆ ให้เรา และตอนนี้ยอดเดลิเวอรีก็เพิ่มมากขึ้นจากเดิม” ธัชชัยเล่าถึงการปรับตัวของร้าน ซึ่งทำให้เราเห็นว่าร้านได้พยายามที่จะใช้วิกฤตนี้ให้เป็นประโยชน์ในระยะยาวมากที่สุด
ตอนนี้สุพรรณิการ์ กรุ๊ป กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เป็น ‘อาหารแช่แข็ง’ ด้วยความที่เชื่อว่าจากนี้ไปร้านอาหารไม่สามารถหวังพึ่งลูกค้าที่มากินข้าวในร้านอย่างเดียวได้อีกต่อไปเพราะพฤติกรรมของลูกค้าจะเปลี่ยนไปกินข้าวที่บ้านกันมากขึ้น ดังนั้น การกระจายความเสี่ยงและการเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จึงจำเป็นสำหรับร้านอาหารเพื่อความอยู่รอด แต่ธัชชัยก็ยังมองโลกในแง่ดีว่าภาพรวมของร้านอาหารจะฟื้นตัวเร็วหลังผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้
“มนุษย์เป็นสัตว์สังคม แต่จะเข้าสังคมแบบไหน เราต้องดูต่อไป กลยุทธ์ที่ทำอยู่ตอนนี้เราก็ไม่ได้ทำเพราะมั่นใจว่าอนาคตมันจะเป็นแบบนี้ แต่เราทำไปก่อน ถ้าเป็นจริงเราก็จะได้เตรียมพร้อมไว้ก่อน บางร้านปิดไปเลย แต่ถ้าเราปิดคนจะลืมเรา ที่ทำอยู่นี่ จริงๆ กำไรก็ไม่ได้เท่าไหร่ อาจเสี่ยงขาดทุนด้วยซ้ำ แต่เราไม่ปิดเพราะเราต้องทำให้คนนึกถึงเราตลอด”