ที่ผ่านมาเราอาจจะต้องบอกลาร้านอาหารร้านโปรดหรือร้านใกล้บ้านไปมากกว่านี้ ถ้าไม่มี Locall (โลคอล) แพลตฟอร์มเล็กๆ ที่สร้างมาเพื่อช่วยร้านอาหารเล็กๆ ในชุมชนทั่วกรุงเทพฯ
เราเคยต่อสายคุยกับ พลอย-เพียงพลอย จิตรปิยธรรม หนึ่งในเรี่ยวแรงสำคัญของโลคอล มาแล้วรอบนึงตอนเปิดตัวใหม่ๆ วันนี้ทุกคนผ่านโควิด-19มาแล้วสามระลอกและโลคอลก็กำลังทำโปรเจ็กต์ใหม่ที่น่าสนใจไม่น้อย เราเลยนัดคุยกับพลอยอีกครั้งเพื่ออัปเดตเรื่องราวดีๆ
วันนี้พลอยมาพร้อมกับน้องในทีมอีกสามคน แธน มาย และป๊อป ที่กำลังช่วยกันทำโปรเจ็กต์ใหม่ที่ชื่อ ‘ไทยมุง รุมกันสั่ง’ แต่ก่อนจะพูดถึงตรงนั้นพลอยเริ่มจากการแร็ปอัป 1 ปีที่ผ่านมาของโลคอลให้เราฟังว่า
“โควิดรอบแรกคนยังตั้งตัวไม่ทัน การที่มีโลคอล ร้านเล็กๆ ก็สามารปรับตัวให้ขายออนไลน์ได้ ช่วงนั้นก็ถือว่าเป็นช่วงที่เรายุ่งมากๆ แล้วก็ทำให้ร้านต่างๆ ขายดีขึ้น หลายร้านขายดีกว่าก่อนจะมีโควิดด้วยซ้ำทำให้ผ่านช่วงวิกฤตครั้งแรกมาได้ พอรอบสองทุกคนก็เริ่มปรับตัวได้ เราก็มีหน้าที่ให้คำปรึกษากับชุมชน เป็นคนละบริบทกับรอบแรก”
โปรเจ็กต์ใหม่จากความหาทำ
จากแฟลตฟอร์มเดลิเวอรี่ที่เริ่มจากชุมชนย่านประตูผี 1 ปีที่ผ่านมาโลคอลได้ขยายออกไปตามย่านต่างๆ ในกรุงเทพฯ รวมถึงต่างจังหวัด ตามที่ได้ตั้งเป้าไว้ตอนเริ่มต้นทั้งเชียงใหม่ สมุทรปราการ สระบุรี และหลังจากผ่านโควิด-19มาพร้อมกับทุกคนจนถึงระลอกสาม โลคอลก็คลอดโปรเจ็กต์ใหม่ออกมาช่วยร้านลุงๆ ป้าๆ ในชื่อ ‘ไทยมุงรุมกันสั่ง’ ซึ่งพลอยบอกว่าเป็นความหาทำของน้องๆ รุ่นใหม่ในทีม
“ตอนนี้เลยเราไม่ได้ทำเดลิเวอรี่อย่างนั้นแล้ว เรากระชับวิธีการลงมาอีก ด้วยการที่ให้หนึ่งวันสั่งได้แค่หนึ่งร้านแล้วก็หนึ่งเมนูเท่านั้น เป็นการรุมสั่งซื้อ แล้วเราก็ไม่ได้บวกเพิ่มราคา ไม่ได้มีบิสซิเนสโมเดลเลยด้วยซ้ำ แต่เราตั้งใจทำเพื่อช่วยจริงๆ” พลอยเล่า
โปรเจ็กต์นี้ เริ่มจากการที่ทีมโลคอลคุยกับร้านค้าที่อยู่บนแพลตฟอร์มและนำปัญหาที่พบมาคุยกันต่อว่าจะออกแบบเครื่องอะไรมาช่วยเหลือพวกเขาได้บ้าง ซึ่งพวกเขาบอกว่าปัญหาที่บางร้านกำลังเผชิญอยู่ก็หนักหนาแบบที่คาดไม่ถึงเลยจริงๆ
“ทุกร้านตอบเป็นเสียงเดียวกันว่ารอบที่สามหนักที่สุด รอบนี้คนไม่เหลือกำลังซื้อแล้ว รอบที่หนึ่งคนยังพอมีกำลังซื้อ รอบที่สองเหมือนเป็นปิดเทอมของคนทำงาน เขายังมีรายได้อยู่ บางร้านยอดขายกลับดีกว่าปกติด้วยซ้ำ แต่พอรอบที่สามคนตกงานจริงๆ รอบนี้กำลังซื้อหายไปมาก
“ผมไปสัมภาษณ์ร้านไก่ย่างที่เปิดมา 20 กว่าปี เขาบอกว่าเขาขาดทุนมาตั้งแต่มีนาคมปีที่แล้วครับ ประมาณ 15 เดือนแล้ว แต่เขายอมเอาเงินเก่าที่เก็บมาตลอด 20 ปีมาใช้เพื่อให้เขาสามารถเปิดร้านได้ทุกวันเพื่อรักษากลุ่มลูกค้าที่เป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้าย เพราะเขาหวังว่าวันนึงที่สถานการณ์มันดีขึ้น ลูกค้าเหล่านี้แหละที่จะกลับมาเป็นกำลังสำคัญให้ร้านเขาไปต่อได้” แธน น้องฝึกงานโลคอลเล่าถึงปัญหาที่ได้ยินมา
“อีกร้านนึงที่เป็นคุณป้าสามคนก็ประสบปัญหามากๆ คือมีหนึ่งในนั้นติดโควิด-19แล้วกลายเป็นว่าโดนแบน ถึงจะรักษาหายแล้วก็ไม่มีลูกค้า จนทุกวันนี้เขายังชีพด้วยการกินข้าวต้มกับไข่เค็ม ทั้งที่เขาขายอาหาร” พลอยเสริม
โปรเจ็กต์ไทยมุงรุมกันสั่งตั้งใจรับออร์เดอร์แค่วันละ 1 ร้านและ 1 เมนูเท่านั้นเพื่อลดความยุ่งยาก โดยทีมโลคอลจะเริ่มจากการถามร้านก่อนว่ามีต้นทุนเท่าไหร่และในหนึ่งวันร้านสามารถทำอาหารได้มากแค่ไหนเพื่อกำหนดเป้าหมายร่วมกัน จากนั้นก็โปรโมตออกไปให้ลูกค้ารุมสั่ง
สิ่งที่โลคอลทำมาตลอดก็คือการพาร้านชุมชนเข้าสู่ระบบดิจิทัล โดยเป็นตัวกลางให้ชุมชนสามารถทำงานร่วมกันได้ง่ายขึ้น
“เราไม่ฝืนอนาคต เราไม่ได้บอกว่าร้านพวกนี้จะต้องอยู่ยงคงกระพันไปตลอด เพราะความเป็นจริงโลกมันเปลี่ยนทุกวัน ถ้าเขาไม่ได้ตอบโจทย์ตลาด เราก็ต้องยอมรับว่าเขาจะอยู่ไม่ได้ แต่ถ้าความเป็นจริงคือเขาอาจจะยังตอบโจทย์ตลาดอยู่แต่ตลาดแค่ไม่รู้จักเขา เราก็อยากให้เขากับตลาดได้เจอกันเท่านั้นเอง”
เสียงสะท้อนจากการทำงานกับร้านอาหาร
“ไม่มีการเยียวยาค่ะ”
มาย หนึ่งในทีมก่อตั้งโลคอล สะท้อนถึงสิ่งที่ร้านอาหารกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ และบอกว่าสิ่งเดียวที่จะทำให้ร้านไปต่อได้คือการเข้าถึงวัคซีนหรือการจัดการของรัฐบาล
“จริงๆ มันเป็นคำตอบเดียวเลย ถ้าสิ่งเหล่านี้มันยังไม่ถูกจัดการคนก็ยังจะต้องอยู่กับอะไรอย่างนี้ไปเรื่อยๆ มันได้รับผลกระทบทุกครั้งที่มีโควิดมา แต่ครั้งนี้มันสูญเสียพลังใจไปมากที่สุดเลย แล้วมันจะไม่มีทางกลับมาได้ถ้าการจัดการของรัฐบาลยังเป็นอย่างนี้อยู่” มายเสริม
“ก็คิดเหมือนน้องค่ะ เรารักกัน ม.33 เราชนะ ทุกอย่างมันคือปลายเหตุหมดเลย สุดท้ายแล้วมันก็อยู่ที่การจัดสรรวัคซีนอย่างเป็นระบบและให้มันแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนจริงๆ” ป๊อปเสริมอีกที
“ก็เห็นด้วยกับพี่ๆ ครับ โครงการแต่ละโครงการถึงจะช่วยได้แต่มันก็เป็นแค่ต่อลมหายใจไปวันๆ มากกว่า การจัดสรรวัคซีนให้คนที่ทำงานในร้านอาหารได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงและรวดเร็วน่าจะทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่น” แธนปิดท้าย
ทั้งสามคนสะท้อนปัญหาจากมุมมองของคนรุ่นใหม่ที่ลงไปทำงานใกล้ชิดกับคนที่มีปัญหาจริงๆ ซึ่งในส่วนของพลอยมองว่ายังไงเงินเยียวยาเป็นเรื่องสำคัญที่ร้านอาหารควรได้รับเพราะมองว่ามันคือการต่อสู้ระหว่างเวลากับโรคและทุกร้านกำลังต่อสู้ด้วยการควักเงินทีละหน่อย
“การที่ร้านอาหารร้านหนึ่งเลือกที่จะยังชีพด้วยการกินข้าวต้มกับไข่เค็ม ทั้งๆ ที่ตัวเองเป็นร้านอาหาร มันเป็นเรื่องที่น่าหดหู่ที่สุดที่มันควรจะเกิดขึ้นแล้ว ที่เราโทรศัพท์ไปถามที่ร้าน เราว่าประมาณ 30-40% ปิดไปแล้ว เราช่วยไม่ทัน ถ้าเป็นคนก็คือ30-40 คนนี้ตายไปแล้ว ส่วนคนที่เราช่วยคือคนโคม่า”
“ดังนั้นเงินเยียวยาในเวลานี้เป็นสิ่งที่รัฐจำเป็นต้องจัดสรร เราใช้คำว่าจัดสรรเพราะเรารู้ว่ารัฐมีเงิน แต่ว่าเค้าใช้เงินนั้นในมุมไหนเท่านั้นเอง”
“เมื่อเรายังอยากเป็นประเทศท่องเที่ยวตอนที่โควิดมันหายไป ร้านค้าพวกนี้คือปัจจัยสำคัญมากๆ ถ้าเรากลับมาพลิกฟื้นการท่องเที่ยวแต่ว่าโรงแรม ร้านอาหาร สถานบริการต่างๆ มันไปหมดแล้ว คำถามคือเมื่อไหร่เศรษฐกิจไทยจะฟื้น”
“รัฐบาลควรจะโฟกัสอุตสาหกรรมนี้มากๆ แล้วก็ควรจะเยียวยาเพื่อให้มองเห็นภาพในอนาคตตอนที่มันกลับมาแบบทุกอย่างพร้อมแล้วที่จะเปิดประเทศ ไม่ใช่เปิดมาก็รกร้างว่างเปล่า”
พลอยและโลคอล ฝากไว้ให้คิด