“ถ้าเขาไม่เปิด เราตั้งใจว่าจะเอาเบียร์สดไปเทหน้า กทม. เรามีเบียร์สดเป็นพันลิตรที่ขายไม่ได้แล้ว ก็เอาไปทิ้งเถอะ ให้เขารู้บ้างว่าเราเดือดร้อน”
บะหมี่ - ประภาวี เหมทัศน์ และ ตี้ - อาทิตย์ ศิวะหรรษาพันธ์ ตัวแทนจากสมาคมคราฟต์เบียร์ ให้สัมภาษณ์กับเราก่อนที่จะมีการรวมตัวกันยื่นหนังสือร้องเรียน ศบค. ถึงผลกระทบที่เกิดจากมาตรการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในร้าน พร้อมนำคราฟต์เบียร์ที่หมดอายุไปเททิ้งที่หน้ากระทรวงสาธารณสุขในวันนี้ (1 ก.พ. 64)
และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกของการพยายามส่งเสียงไปยังภาครัฐ แต่ข้อเรียกร้องของพวกเขาก็ไม่เคยได้รับการตอบรับตามที่คาดหวังเลยสักครั้ง
คราฟต์เบียร์ คืออะไร
บะหมี่: “คราฟต์เบียร์มันเป็นกระแสมาจากทางอเมริกาหลาย 10 ปีมาแล้ว แต่เพิ่งมาเกิดในไทยประมาณ 5-6 ปี แต่ถ้าเป็นวัฒนธรรมของเยอรมันหรืออังกฤษเบียร์ทุกสไตล์เขาก็มองเป็นเบียร์หมด คราฟต์เบียร์ก็แค่มีขนาดเล็กลง แต่บ้านเราคราฟต์เบียร์มันมาพร้อมกับความแตกต่าง หมายความว่า เรากินเบียร์กันมาเป็นร้อยปี เรากินอยู่แบบเดียว วันดีคืนดีมีเบียร์ที่ โอ้โห แพงจัง ขมจัง หอมจัง แตกต่างจากที่เรากินมาตลอด เราก็เลยหาคำนิยามให้มัน เราก็เลยเรียกกันว่าคราฟต์เบียร์ ซึ่งมันเป็นคำที่อเมริกาเขาใช้มา แต่หลักๆ เลยนิยามคราฟต์เบียร์ก็คือเบียร์ที่ทำเป็นไซซ์เล็ก สามารถปรับเปลี่ยนสูตรได้ในแต่ละครั้งที่ทำแล้ววัตถุดิบที่ใช้ก็ค่อนข้างพิถีพิถัน เป็นของที่มีคุณภาพ เพราะฉะนั้นราคาก็จะค่อนข้างสูง”
ตี้: “จริงๆ ราคามันก็ไม่ได้สูงหรอก ที่ต่างประเทศราคามันก็สูงกว่าเบียร์คอมเมอร์เชียลไม่เท่าไหร่ แต่ด้วยความที่บ้านเราโครงสร้างภาษีของเบียร์นำเข้าค่อนข้างสูงมาก”
อะไรทำให้โครงสร้างภาษีถึงแพง?
บะหมี่: “จริงๆ แล้วโครงสร้างภาษีใช้เหมือนกันทั้งเบียร์ตลาดและเบียร์นำเข้า เพียงแต่ว่าเบียร์ตลาดในบ้านเราเขาทำเยอะมาก วัตถุดิบทุกอย่างถูกมาก ต้นทุนถูกก็เลยทำราคาได้ถูก แล้วโครงสร้างภาษีมันถูกคิดตามราคาขาย พอเขาขายถูกมากเขาเลยจ่ายภาษีถูกมาก ทีนี้เบียร์นำเข้ามันมีค่าใช้จ่ายเยอะมาก ราคามันเลยแพง พอโครงสร้างภาษีมาจับกับตัวราคา มันก็เลยคูณเข้าไปอีก ความแตกต่างของเบียร์ตลาดกับคราฟต์เบียร์ในบ้านเรามันเลยสูงมาก”
กฏหมายบ้านเราควบคุมคราฟต์เบียร์ยังไงบ้าง?
ตี้: “กฎหมายอนุญาตให้ผลิตได้ แต่ด้วยเงื่อนไขที่เขาตั้งมันไม่อนุญาตให้เราสามารถทำโรงเบียร์ขนาดเล็กได้ ถ้าอยู่ในประเทศไทยคุณจะต้องมีเงินระดับร้อยล้าน ต้องไปผลิตเป็นโรงขนาดใหญ่เท่านั้น”
บะหมี่: “ทุนจดทะเบียนต้อง 10 ล้านขั้นต่ำ แล้วต้องผลิตให้ได้ 1 ล้านลิตรต่อปี ซึ่งเครื่องจักรที่จะผลิตให้ได้ 1 ล้านลิตรต่อปีเนี่ย ราคา 30-40 ล้าน เพราะฉะนั้นถ้าเงินน้อยทำไม่ได้”
ตี้: “เขามีกำแพงก็คือกำลังการผลิตขั้นต่ำ ถ้าคุณไม่ผลิตแบบบรรจุขวด เขาก็จะกำหนดให้เราไปทำรูปแบบโรงเบียร์ นั่งกินในร้าน ซึ่งก็ยังมีกำแพงอีกคือคุณต้องได้ 1 แสนลิตรต่อปี และต้องมีค่าจดทะเบียนเพิ่มอีก ขณะที่ต่างประเทศคุณผลิตแค่ในระดับ 1 หมื่นลิตรต่อปีคุณก็จดทะเบียนเป็นโรงเบียร์ได้แล้ว ไม่ต้องผลิตเยอะ”
บะหมี่: “ต้องบอกว่าเบียร์มันไม่ใช่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตั้งเดิมของบ้านเรา เราดื่มเหล้าขาว สุราชุมชน เหล้าอุ สาโท แต่เบียร์มันเป็นวัฒนธรรมต่างประเทศ ต้องบอกว่าเหมือนผู้ใหญ่ไม่รู้จัก ผู้ใหญ่รู้แค่ว่ามันทำได้โดยการตั้งเครื่องจักรใหญ่ๆ เท่านั้น ถ้าทำเล็กๆ มันจะไม่ปลอดภัย มันไม่สะอาด อะไรอย่างนี้ เขาไม่เชื่อว่ามันกินได้ซึ่งความจริงมันไม่ใช่”
ตี้: “ในช่วงที่คราฟต์เบียร์มันบูมขึ้นมาในต่างประเทศเนี่ย โรงขนาดเล็กมันเกิดขึ้นเยอะมาก เพราะว่าเทคโนโลยีมันเปลี่ยน เราทำเครื่องมือในระดับที่ถูกลงได้ แต่บ้านเราก็ตามไม่ทันเขา”
สมาคมคราฟต์เบียร์ เกิดขึ้นได้ยังไง?
ตี้: “มันเกิดจากการที่พวกเราถูกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมกลั่นแกล้ง คือช่วงโควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว ร้านพวกเราก็โดนปิดเยอะมาก แล้วมันจะมีหน่วยงานหนึ่ง พูดได้ใช่ไหม สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สังกัดกรมควบคุมโรค เขาไล่จับด้วยการออกหมายเรียก บอกว่าพวกเราทำผิด พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรา 32 เรื่องห้ามโฆษณา ผมโดนตอนปี 62 โดนออกหมายเรียกและหมายจับ บล็อกเกอร์ก็โดน เพื่อนก็โดน แล้วมันถึงจุดที่เรารู้สึกว่ามันผิดปกติแล้ว เราก็เลยรวมตัวกันได้เพราะว่าโดนเหมือนกัน และเรารู้สึกว่าเรายอมไม่ได้แล้ว”
บะหมี่: “เอาง่ายๆ เราเป็นสื่อมวลชนเรามีหน้าที่ให้ข้อมูลเนอะ ปรากฏว่าเขาไม่ได้มองเราเป็นสื่อมวลชน เขาหาว่าเรารับเงินมาโฆษณาทั้งหมด หรือแม้เราจะเป็นสื่อมวลชนแต่สิ่งที่เราทำก็คือเป็นการชวนให้คนดื่ม ก็ผิดกฎหมายในมุมของเขา”
คราฟต์เบียร์ มีข้อจำกัดอะไรบ้างที่เป็นปัญหามากกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดอื่น?
ตี้: น่าจะเป็นเรื่องอายุสินค้า ถ้าเทียบกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดอื่น คราฟต์เบียร์เป็นสินค้าที่มีอายุสั้น บางตัวมีอายุ 4-5 เดือน อยู่บนเรือกว่าจะมาถึงก็เสียเวลาเดือนสองเดือน เท่ากับว่ามีเวลาขายแค่ 4 เดือนหรือ 3 เดือน ไม่ให้เราขายเดือนนึงเวลาก็หายไปอีก มันเป็นสินค้าที่เสื่อมสภาพลงทุกๆ วัน”
ที่ผ่านมาเคยร้องเรียนเรื่องอะไรบ้าง?
ตี้: “คำสั่งของ กทม. เมื่อต้นมกราคม เขาสั่งปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ ทุกอย่าง คำสั่งที่มีปัญหากับเรามากที่สุดคือเขาสั่งห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในร้าน ซึ่งต้องบอกว่าคราฟต์เบียร์มันเป็นสินค้าที่ไม่ได้มีช่องทางจัดจำหน่ายเยอะ ส่วนใหญ่เราก็ขายภายในร้านอยู่แล้ว เราไม่ได้ขายในร้านสะดวกซื้อหรือขายในห้างเพราะมันมีค่าใช้จ่ายเยอะมาก”
บะหมี่: “อาจจะมีแต่ว่าเป็นแค่ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ของคราฟต์เบียร์ทั้งหมดในตลาด”
ตี้: “แล้วมาเจอกฎหมายห้ามซื้อขายออนไลน์ ที่เพิ่งบังคับใช้เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ตอนนี้ก็เท่ากับว่าเราไม่มีช่องทางในการขายแล้ว คำสั่งนี้มันกระทบทุกอย่าง ตั้งแต่พนักงานตัวเล็กๆ ไปจนถึงบริษัทนำเข้า เพราะเขาไม่สามารถเก็บเงินจากลูกค้าได้ ลูกค้าก็คือร้าน ร้านไม่มีช่องปล่อยเขาก็ไม่ซื้อของ”
ข้อเรียกร้องของสมาคมคราฟต์เบียร์มีอะไรบ้าง?
ตี้: “หลักๆ เราขอให้ร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านได้ก็พอ จะเปิดได้ถึงกี่โมงผมว่าแต่ละร้านไม่คิดแล้ว แต่ขอให้ร้านได้ขายก่อน เพราะรายได้มันหายไปเกินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์”
บะหมี่: “เราเคยไปยื่นที่ศูนย์ดำรงธรรม สำนักนายกฯ แต่อันนั้นมีข้อเรียกร้องเยอะ เช่น ประกันสังคมให้ชะลอก่อน เรื่องของการขอคืนภาษีให้ง่ายขึ้น เรื่องกฎหมายเปลี่ยนแปลงบรรจุภัณฑ์ คือรายละเอียดเยอะมาก แต่สุดท้ายแล้วเรามองว่าเรื่องพวกนี้มันเป็นเรื่องจุกจิก แต่สุดท้ายแล้วคีย์เวิร์ดคือขอให้ขายในร้านได้ จบ”
“จริงๆ แล้วสิ่งที่เราขอเราไม่ได้ขอให้ขายแค่เบียร์ ถ้าเกิดมันปลดล็อกปุ๊บ เราก็ขายได้หมด ค็อกเทลก็ขายได้ นักดนตรีก็เล่นได้ แม้ว่าเราจะรวมกันแค่กลุ่มสมาคมคราฟต์เบียร์ แต่สิ่งที่เราขอมันก็เป็นประโยชน์ทั้งหมด”
ในมุมของคนออกมาตรการมองว่าพอคนเมาก็จะไม่มีสติ ควบคุมยาก สมาคมฯ มองเรื่องนี้ยังไง?
บะหมี่: “เอาสถิติมาดู เอาสถิติมาคุยกันดีกว่า ว่าคนที่ดื่มแอลกอฮอล์ทั้งประเทศมีกี่คนที่สร้างความเสียหาย เช่น เขาบอกว่าดื่มแอลกอฮอล์แล้วต่อยตี ทั้งร้าน ทุกร้านที่ขายแอลกอฮอล์ทั่วประเทศกี่ร้านที่มีต่อยตี กี่ครั้ง นับเป็นสถิติเป็นเปอร์เซ็นต์ของคนที่เข้ามาดื่มเหล้าเบียร์เลย ถ้าคุยกันแบบนี้เรายอมรับ”
“หรือร้านก็ต้องรู้ว่าตัวเองต้องไม่เป็นจุดเสี่ยง ร้านก็ต้องเสิร์ฟลูกค้าเท่าที่เสิร์ฟได้ อย่างเมืองนอกเขามีกฏหมาย ถ้าเกิดลูกค้าเมา ร้านมีสิทธิ์ที่จะไม่เสิร์ฟ ประเทศไทยหลายร้านต้องการกฎหมายแบบนี้นะ คือถ้าเกิดว่าเราปฏิเสธลูกค้าแล้วลูกค้ามาต่อยตีเรา มีกฎหมายคุ้มครองเราไหม ยังไม่มีนะ เพราะฉะนั้นมันต้องพูดหลายส่วน ต้องพูดหลายมุม และเราต้องเชื่อก่อนว่าประชาชนของเรามีความรับผิดชอบเป็นพื้นฐาน”