#กูจะเปิดมึงจะทำไม กลายเป็นแฮชแท็กร้อนแรงแซงขึ้นมาเมื่อกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร ผับ บาร์ กลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาสร้างแคมเปญอารยะขัดขืนต่อคำสั่งกึ่งล็อกดาวน์ของรัฐบาล ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา และส่งผลให้ร้านอาหารในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเปิดได้ถึงสามทุ่มและห้ามนั่งกินในร้านเป็นเวลา 30 วัน หลังจากที่เพิ่งคลายล็อกให้กลับมาทำมาหากินได้เกือบปกติแค่ไม่กี่สัปดาห์
แคมเปญดังกล่าวริเริ่มโดย ‘บะหมี่ - ประภาวี เหมทัศน์’ นักเคลื่อนไหวเรื่องธุรกิจแอลกอฮอล์ที่ต่อสู้เรื่องนี้มาตลอดโดยเฉพาะช่วงนี้ที่เพิ่งมี ร่าง พรบ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่ออกมา ซึ่งเธอเรียกว่าเป็น ‘ฉบับขูดรีดประชาชน’ และเมื่อมาเจอกับประกาศกึ่งล็อกดาวน์รอบนี้ก็เท่ากับว่าสิ่งที่ทำมาทั้งหมดไม่มีใครได้ยินเลย จึงเป็นที่มาของแคมเปญนี้
“เรารู้สึกว่าภาครัฐใช้กฎหมายในการขูดรีดและทำร้ายเราตลอดเวลาแต่ไม่เคยปกป้องช่วยเหลือเลย ไม่เคยชดใช้อะไรให้เราเลย เรายื่นหนังสือเรียกร้องให้กับธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาตลอดตั้งแต่ปีที่แล้ว มีการพูดถึงเรื่องนี้มากขึ้นไม่ว่าจะเป็นผับบาร์ นักดนตรี หรือสมาคมภัตตาคารก็ออกมายื่นหนังสือ คือทำกันเยอะมากไม่ใช่แค่เราแล้ว ปรากฏว่าภาครัฐก็ยังคงไม่ฟังแล้วก็ออกประกาศนี่ออกมาอีก เราก็เลยรู้สึกว่าเราทำมาขนาดนี้แล้วยังไม่ช่วยอะไร เราคงไม่ต้องฟังแล้วแหละ” บะหมี่พูดถึงจุดเริ่มต้นของอายระขัดขืนครั้งนี้
หลังจากเปิดให้ร้านที่ ‘เอาด้วย’ มาลงชื่อผ่านกูเกิลฟอร์มตั้งแต่วันอาทิตย์ (27 มิ.ย. 64) จนถึงตอนนี้มีร้านลงชื่อเข้าร่วมแคมเปญแล้วประมาณ 200 กว่าร้าน ซึ่งบะหมี่บอกว่ามีตั้งแต่ร้านลาบ ร้านก๋วยเตี๋ยวข้างทางไปจนถึงร้านหรูๆ แต่ขณะเดียวกันก็มีกระแสตีกลับอยู่บ้าง
“กระแสตีกลับมีอยู่แล้วค่ะ แต่เราก็อธิบายในบางโพสต์ของเราว่านี่แหละคือการอารยะขัดขืน นี่คือการไม่ทำตามกฏหมายของเขาเพราะเราไม่เชื่อว่ากฎหมายนี้มันมีไว้เพื่อปกป้องประชาชน เราไม่เชื่อในความชอบธรรมของกฎหมายแล้วเราก็รู้สึกว่าถ้ารัฐละเมิดสิทธิ์เรา หนึ่งเลยนะ รัฐต้องเจรจากับเราก่อนแล้วก็สองคือรัฐต้องช่วยเหลือชดใช้ ถ้าเกิดรัฐมาละเมิดเราแบบนี้เราก็ควรจะละเมิดกลับบ้างเรามีสิทธิ์”
กิจกรรมที่บะหมี่และเพื่อนวางไว้ในแคมเปญนี้จะแบ่งเป็น 3 ระยะ โดยระยะแรกที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้าเป็นกิจกรรม Flashmob ซึ่งบะหมี่เล่ารูปแบบของกิจกรรมให้ฟังว่า
“เราจะทำกิจกรรมเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ มีหลายร้านแหละที่พร้อมจะออกหน้าแล้วเขาพร้อมจะเอาด้วย เราก็จะไปจัดกิจกรรมที่ร้านเขา ให้มีนักดนตรีไปเล่น ให้มีการปราศรัยเลย แล้วก็โปรโมตให้คนมาช่วยสนับสนุนร้านโดยการซื้อของกินกลับบ้าน ไม่ต้องใช้เครื่องเสียง ไม่ต้องมารวมกลุ่ม มาซื้อของกินกลับบ้านเพื่อโปรโมตร้าน แล้วก็จัดพร้อมกันเลยทีละเขต เขตละหลายๆ ร้าน แล้วก็จะย้ายเขตไปเรื่อยๆ ช่วงนี้ก็สรุปรายชื่อ สรุปแนวร่วม คิดโมเดลการทำงานให้มันง่ายหน่อยเพราะเราจะทำต่อเนื่อง แต่คิดว่าน่าจะเริ่มสัปดาห์หน้าค่ะ”
“เราหวังผลให้คนกล้าหาญมากขึ้นที่จะลุกมาอารยะขัดขืน จริงๆ เราพูดถึงสันติวิธี แต่แค่ยื่นหนังสือหรือเข้าไปเรียกร้อง เข้าไปเจรจาบางทีมันก็ไม่พอ เพราะเราทำมาตลอดเราพิสูจน์แล้วว่ามันไม่เกิดอะไรขึ้น”
บะหมี่บอกว่า อยากให้ทุกคนกล้าหาญมากขึ้นที่จะลุกมาอารยะขัดขืนเพราะเชื่อว่าถ้าทุกคนไม่เชื่อฟังพร้อมกันรัฐก็ทำอะไรเราไม่ได้ และอยากให้คนที่กล้าเปิดได้รับการสนับสนุนจากคนที่กล้าไปนั่งกินด้วย
“ที่ผ่านมาเรามั่นใจว่ามันมีร้านที่แอบเปิดตลอด จ่ายตำรวจบ้าง ไม่จ่ายตำรวจบ้าง แต่ทำไมคนที่ทำถูกกฎหมายต้องกลายเป็นคนที่สูญเสียมากกว่าคนที่ทำผิดกฎหมายล่ะ เพราะว่ากฎหมายมันไม่ชอบทำใช่ไหม เพราะกฎหมายมันไม่ใช่สิ่งที่เราควรยอมรับ มันถึงเกิดกรณีแบบนี้ ก็ต้องออกมาต่อต้านมัน”
อีกมุมหนึ่งทางฝั่ง ศบค. ให้เหตุผลที่ต้องใช้มาตรการเข้มงวดกับร้านอาหารอีกครั้งว่าเป็นเพราะที่ผ่านมาพบผู้ติดเชื้อจากการนั่งร้านอาหารและนำเชื้อไปแพร่ให้กับคนในครอบครัว ซึ่งบะหมี่มองว่าควรปิดร้านที่พบผู้ติดเชื้อมากกว่าปิดทุกร้านแบบนี้
“แคมป์คนงาน ห้าง ตลาด เจอที่ไหนปิดตรงนั้น แต่พอเป็นร้านอาหาร ร้านเหล้าทำไมปิดทุกที่ ประเทศนี้มันมีความเสี่ยงไปทั้งหมดแล้วแต่มาตรการที่ใช้เราไม่เคยได้รับความยุติธรรมเลย”
“ร้ายแรงสุดคืออาจโดนสั่งปิดได้” คือสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้กับร้านที่เข้าร่วมแคมเปญนี้ และถ้าเกิดขึ้นจริงบะหมี่บอกว่ามีทีมทนายและเครือข่ายที่คอยช่วยเหลือเท่าที่สามารถช่วยได้
“ร้านที่มาร่วมกับเราต้องรับความเสี่ยงด้วยตัวเอง สิ่งที่เราให้ เราจะพยายามรวบรวมข้อมูล รวบรวมเครือข่ายไปช่วยผลักดันหรือช่วยตรวจสอบเรื่องนี้ เราอยากให้คนกล้าหาญนั่นแหละ แต่ถามว่าเรารับผิดชอบอะไรได้ไหม ถ้าเรารับผิดชอบได้เราก็คงเป็นรัฐบาลไปแล้ว แต่ที่เราต้องการมากๆ ก็คือแนวร่วมและคนที่จะออกมาปกป้องกันและกัน” บะหมี่ทิ้งท้าย