[title]
ถึงตอนนี้ หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับชื่อ ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) แผนเปิดเกาะเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวของรัฐบาล ที่จะเริ่มต้นในวันที่ 1 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้กันแล้ว แต่เราเชื่อว่าหลายยังไม่รู้แน่ชัดว่ารายละเอียดของแผนนี้คืออะไรกันแน่? แล้ว Phuket Sandbox ที่ว่าจะส่งผลกระทบต่อการเดินทางเข้า-ออกจังหวัดภูเก็ตสำหรับเราคนไทยมากแค่ไหน หรือสำหรับนักท่องเที่ยว จะมีใครบ้างที่จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศสำหรับโครงการครั้งนี้
เราจะมาทำความเข้าใจ Phuket Sandbox ไปพร้อมๆ กัน และเล่าขั้นตอนการเที่ยวภูเก็ตให้ทุกคนฟังตั้งแต่เหยียบสนามบินเลย
Phuket Sandbox คืออะไร?
ตั้งแต่เกิดไวรัสโคโรน่าตามมาด้วยการปิดพรมแดน ทำให้แทบไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาประเทศไทยเลย ทำให้ ‘จังหวัดภูเก็ต’ ที่เคยเป็นจังหวัดต้อนรับนักเดินทางเป็นเบอร์ต้นๆ ของประเทศไทย และทำรายได้จากการท่องเที่ยวได้กว่า 4 แสนล้านบาทต่อปี ต้องขาดรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติไปกว่า 80% แต่ในเมื่อตอนนี้จังหวัดภูเก็ตมีการกระจายวัคซีนให้คนส่วนใหญ่ได้มากแล้ว รวมถึงกลุ่มอาชีพแนวหน้าด้านการท่องเที่ยว ก็อาจมองได้ว่าพวกเขามีความพร้อมที่จะเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวให้กลับมาเหมือนประเทศอื่นๆ แล้วเช่นกัน
“ผมมองว่า Phuket Sandbox เป็นความหวังของชาวภูเก็ต เป็นเรื่องใหม่ของทุกคน ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ก็อาจดีกว่าเราไม่ทำอะไรเลย”
ด้วยเหตุนี้ เลยมีการจัดทำแผน Sandbox ขึ้น และทดลองกับจังหวัดภูเก็ตเป็นที่แรก เพื่อดูว่าขั้นตอน กฎระเบียบ รวมถึงมาตรการต่างๆ ที่นำมาใช้จะสามารถทำให้ชาวต่างชาติมั่นใจอยากกลับมาเที่ยวภูเก็ตได้หรือไม่ โดยคุณภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ที่เป็นอีกคนสำคัญผู้ผลักดันให้เกิดแซนด์บ็อกซ์ได้พูดถึงแผนการครั้งนี้ว่า "ผมมองว่า Phuket Sandbox เป็นความหวังของชาวภูเก็ต เป็นเรื่องใหม่ของทุกคน ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ก็อาจดีกว่าเราไม่ทำอะไรเลย"
“ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” เลยเป็นเหมือนแผนนำร่องที่จะมาช่วยฟื้นฟูการท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยจะเปิดรับเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่มีคุณสมบัติตามกำหนด ให้สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว และประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ ละเอียดยิบ เช่น นักท่องเที่ยวต้องอาศัยในโรงแรม รีสอร์ท หรือที่พักที่ได้มาตรฐาน SHA Plus เท่านั้น รวมถึงต้องมีการเฝ้าระวังและตรวจเชื้อซ้ำตามกำหนด หากพบว่าปลอดโรคจึงจะสามารถเดินทางไปพื้นที่อื่นๆ ในประเทศได้ ซึ่งถ้าแซนด์บ็อกซ์ประสบผลดีก็จะนำไปใช้กับจังหวัดอื่นด้วย โดยล่าสุดกำลังมีการพิจารณาสำหรับเกาะสมุย และพื้นที่โดยรอบภูเก็ตเพิ่มเติมอีก
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดภูเก็ต คาดว่านักท่องเที่ยวกลุ่มแรกที่จะเดินทางมาในช่วงแซนด์บ็อกซ์ส่วนใหญ่น่าจะเป็นชาวยุโรป และเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ คือมีกำลังใช้จ่ายและเน้นท่องเที่ยวเป็นกลุ่มเล็ก หรือจองผ่านเอเจนท์เพื่อมาเที่ยวแบบส่วนตัว ซึ่งแบบนี้จะทำให้รายได้ตกไปสู่ชุมชนได้มาก
อย่างไรก็ดี ทั้งหน่วยงานท่องเที่ยวต่างๆ และผู้ประกอบการในภูเก็ตก็ยังเชื่ออีกว่า นักท่องเที่ยวจะไม่ไหลมาทันที แต่จะค่อยๆ ทยอยมาหลังจากประกาศเปิดใช้แซนด์บ็อกซ์ เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งความน่าเชื่อถือ ขั้นตอนการขอเอกสารเข้าประเทศ (COE) และความแน่นอนของกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เป็นการนำมาใช้ครั้งแรก
และอีกเรื่องที่หลายคนไม่ทราบ คือ ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ จะใช้กับนักท่องเที่ยวภายในประเทศด้วยเช่นกัน โดยมีข้อปฏิบัติและสิ่งที่ต้องตระเตรียมอาจต่างกันเล็กน้อย
Phuket Sandbox เปิดต้อนรับใครบ้าง?
โปรแกรมนี้ประกอบด้วยรายละเอียดที่ใช้กับทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติในประเทศไทย และนักเดินทางจากประเทศในลิส์สีเขียว และสีเหลือง สามารถเดินทางเข้าภูเก็ตได้ ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีข้อบังคับต่างกัน ดังนี้
ชาวไทยและชาวต่างชาติในประเทศไทย
- ต้องเป็นผู้ฉีดวัคซีนแล้ว (ต้องได้รับซิโนแวค 2 เข็ม หรือ แอสตร้าซิเนก้า ขั้นต่ำ 1 เข็ม)
- หากยังไม่ฉีดวัคซีน ต้องมีผลตรวจโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCT หรือ Antigen Test และผลตรวจต้องมีอายุไม่เกิน 7 วันก่อนเดินทาง
- หากเป็นผู้เคยติดเชื้อโควิด ต้องมีหลักฐานว่ารักษาหายแล้ว นานไม่เกิน 90 วัน
- ถ้าไม่มีหลักฐานใดๆ ข้างต้น ต้องกักตัว 14 วัน
ชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าประเทศไทย
- ต้องมาจากประเทศในลิสต์ สีเขียว (low risk) หรือ สีเหลือง (medium risk) โดยอยู่อาศัย ณ ที่นั้นไม่น้อยกว่า 21 วันก่อนเดินทาง
- ต้องฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว อย่างน้อยไม่เกิน 14 วัน พร้อมมีหลักฐานการฉีดวัคซีน และต้องเป็นยี่ห้อที่ อย. หรือ WHO รับรอง
- ต้องแสดงผลตรวจโควิด-19 และผลตรวจต้องมีอายุไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนวันเดินทาง
- หากเคยเป็นผู้ติดเชื้อโควิด ต้องมีหลักฐานว่ารักษาหายแล้ว และได้รับวัคซีนครบโดสอย่างต่ำ 14 วัน
- สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ต้องเดินทางพร้อมกับผู้ฉีดวัคซีนแล้ว
- ต้องมีประกันโควิด ขั้นต่ำ 100,000 ดอลล่าร์สหรัฐ
ขั้นตอนการเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ต ผ่านสนามบิน
สำหรับชาวไทยและชาวต่างชาติในประเทศไทย
- ยื่นหลักฐานการฉีดวัคซีน หรือผลตรวจโควิด-19 กับเจ้าหน้าที่สนามบินตอนเช็กอิน
- สแกน QR Code รายงานตัวเพื่อเดินทางเข้าภูเก็ต (เว็บไซต์ gophuget.com )
- เมื่อถึงสนามบินจะต้องให้เจ้าหน้าที่เช็คหลักฐานอีกครั้ง
- เดินทางไปยังที่พักซึ่งมีมาตรฐาน SHA Plus
สำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทย
- ยื่นขอเอกสารเดินทางเข้าประเทศไทย หรือ COE – Certificate of entry ผ่านทาง coethailand.mfa.go.th
- แสดงเอกสารที่กำหนดกับด่านตรวจคนเข้าเมือง; อาทิ หลักฐานการฉีดวัคซีน, ผลตรวจโควิดอายุไม่เกิน 72 ชั่วโมง, หลักฐานการจองที่พัก
- เมื่อมาถึงสนามบินภูเก็ต เข้ารับการตรวจโควิด-19 แบบ SWAB อีกครั้ง และโหลดแอปฯ ThailandPlus เพื่อใช้ติดตามการเคลื่อนที่
- เดินทางไปที่พักมีมาตรฐาน SHA Plus ด้วยยานพาหนะที่กำหนดโดยห้ามแวะ
- นักท่องเที่ยวต้องอยู่ในภูเก็ตครบ 14 วัน ก่อนเดินทางไปจังหวัดอื่น
- ตลอด 14 วัน ต้องตรวจโควิด 3 ครั้ง คือ วันที่มาถึงสนามบิน, วันที่ 6 (ผลออกวันที่ 7) และวันที่ 13 (ผลออกวันที่ 14) ของการอยู่ในจังหวัดภูเก็ต
- ระหว่างอยู่ในแซนด์บ็อกซ์ต้องกลับมารายงานตัวกับ SHA Plus Manager ทุกวัน
- สามารถเปลี่ยนที่พักได้ ภายหลังการตรวจเชื้อครั้งที่ 2 (วันที่ 6-7)
- ถ้าอยู่ไม่ครบ 14 สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้เท่านั้น
- หากตรวจไม่พบเชื้อหลังครบ 14 วัน สามารถเดินทางไปจังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทยได้ และเก็บเอกสารการเข้าพักในแซนด์บ็อกซ์ไว้กับตัว
จากการลงภูเก็ตไปพูดคุยกับคนในพื้นที่ เราพบว่ามีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการทำแซนด์บ็อกซ์ ซึ่งเหตุผลส่วนใหญ่ที่คนในจังหวัดเป็นกังวลมากที่สุดก็คือการเข้ามาของนักท่องเที่ยวอาจจะทำให้เกิดไวรัสแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น หน่วยงานต่างๆ ที่ดูแลเรื่องแซนด์บ็อกซ์เลยตั้งเงื่อนไขที่จะส่งผลให้แซนด์บ็อกซ์ต้องยุติลงไว้ ดังนี้
- พบผู้ติดเชื้อมากกว่า 90 คน/สัปดาห์
- มีการแพร่ระบาดใน 3 อำเภอ และมากกว่า 6 ตำบล
- เกิดคลัสเตอร์มากกว่า 3 แห่ง และหาสาเหตุไม่ได้
- มีผู้ป่วยเกินร้อยละ 80 ของเตียงที่มี
- ควบคุมการแพร่ระบาดไม่ได้
ขั้นตอนการยุติ 4 ระดับ
- ปรับลดกิจกรรม
- กำหนด Sealed Route ให้เที่ยววงแคบลง
- ทำที่พักสำหรับ quarantine
- ยุติโครงการ
เราว่าแผนแซนด์บ็อกซ์ครั้งนี้จะเรียกว่าเป็นก้าวทดลองก่อนเปิดประเทศก็คงได้ ส่วนผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรก็ต้องมารอดูกันในระยะยาว เพราะช่วงเปิดแซนด์บ็อกตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ยังถือว่าเป็น low season ที่มีนักท่องเที่ยวมาไม่เยอะในช่วงปกติ แต่ก็อาจเป็นข้อดีที่พวกเราสามารถค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ในการปรับแผนต่างๆ ที่อาจนำไปใช้ตอนเปิดประเทศได้ คุณศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานกลุ่มบริษัทดุสิตธานี บอกกับเราตอนที่พาสื่อมวลชนไปลงพื้ที่จังหวัดภูเก็ตว่า "ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยก็จะเปิดประเทศไม่ได้ ดังนั้นเรามองว่าการทำ Sandbox ที่เป็นเหมือนกลุ่มทดลองเป็นวิธีที่ดี เพราะช่วยให้เราจัดการความเสี่ยงได้ง่ายขึ้น" ซึ่งในฐานะโรงแรม กลุ่มดุสิตธานีก็เร่งเครื่องเต็มที่สำหรับแซนด์บ็อกซ์นี้เช่นกัน
“ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยก็จะเปิดประเทศไม่ได้ ดังนั้นเรามองว่าการทำ Sandbox ที่เป็นเหมือนกลุ่มทดลองเป็นวิธีที่ดี เพราะช่วยให้เราจัดการความเสี่ยงได้ง่ายขึ้น”
FYI:
- Phuket Sandbox ปล่อยเอกสารทางการมาเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 (อ่านได้ที่นี่)
- นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องออกค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อเอง
- ยี่ห้อวัคซีนที่อนุญาตให้ให้เข้าประเทศได้ มีดังนี้ AstraZeneca, Sinovac, Johnson & Johnson, Sinopharm และ Pfizer
- นักเดินทางชาวไทยและชาวต่างชาติในประเทศไทย ใช้กฏเกณฑ์เดียวกัน