[title]
ในขณะที่เรากำลังปวดหัวอยู่กับการกระจายวัคซีนและการเปิดๆ ปิดๆ ร้านอาหารตามคำสั่ง ศบค. ฝั่งสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระทรวงสาธารณสุข ก็เตรียมจะเข็นร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับใหม่ออกใช้ แทน พรบ. เก่าที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2551 โดยตอนนี้เปิดรับฟังความคิดเห็นกันอยู่ และเราอยากเชิญชวนทุกคนเข้าไปแสดงความคิดเห็นกัน
เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องใกล้ตัวเรา เป็นส่วนหนึ่งของวิธีชีวิต และเป็นอาชีพของใครหลายคน พรบ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นี้เลยเกี่ยวข้องกับชีวิตเราอย่างไม่ต้องสงสัย โดยประเด็นที่หลายคนกำลังพูดกันคือ มาตรา 32 ที่จะขยายจากการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไปครอบคลุมถึงการใช้และดัดแปลงตราสินค้าไปใช้กับสินค้าอื่น ห้ามการสนับสนุนบุคคลหรือองค์กร ห้ามการเผยแพร่ข่าวสารที่จะประชาสัมพันธ์กิจกรรมที่สร้างภาพลักษณ์ โฆษณา หรือส่งเสริมการดื่ม โดยระวางโทษปรับสูงสุดที่ 500,000 บาท สำหรับบุคคลธรรมดาหรือผู้ที่ไม่ใช่ผู้ผลิต และสูงสุด 1,000,000 บาทสำหรับผู้ผลิต รวมถึงมีโทษจำคุกด้วย
นอกจากนั้น ยังมีการเพิ่มอำนาจของเจ้าหน้าที่ ให้สามารถเรียกดูบัตรประจำตัวและเอกสารอื่นๆ รวมถึงมีอำนาจตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานอื่นๆ เพิ่มเติมได้มากกว่าเดิม
มีเรื่องน่าสังเกตคือ ร่าง พรบ. นี้เน้นไปที่การควบคุมการโฆษณาและเผยแพร่ภาพ ตราสินค้า และมีข้อกำหนดแนวนางบำบัดผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่เรายังไม่เห็นแนวทางการสนับสนุนการรณรงค์ให้คนดื่มอย่างรับผิดชอบ (responsible drinking) อย่างเช่นในประเทศพัฒนาแล้วที่ไม่ได้ห้ามการโฆษณาแต่มีการให้ความรู้เรื่องการดื่มอย่างพอเหมาะพอควรควบคู่กันไปด้วย—ง่ายๆ ก็คือ เป็นร่างฯ ที่มุ่งห้ามและแก้ไข แต่ไม่ได้มีการป้องกันอย่างเป็นระบบ
ไม่รวมว่าคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ และคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็ไม่ปรากฏสมาชิกที่มาจากผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายรายย่อย รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องที่มักจะได้รับผลกระทบต่อๆ มาในระบบนี้ เช่น ตัวแทนองค์กรสื่อ เป็นต้น
เราชวนให้คุณเข้าไปเปรียบเทียบ พรบ. ฉบับเก่า และร่างฯ พรบ. ใหม่กันที่ alcoholact.ddc.moph.go.th/act/ แล้วใช้สิทธิ์ในฐานะประชาชนคนไทยตามรัฐธรรมนูญ—อย่าเพิ่งคิดว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องไกลตัว เพราะถ้าแปลกันตามตัวหนังสือ กฎหมายนี้สามารถครอบคลุมถึงรูปที่คุณถ่ายลง social media ได้ด้วยนะ
ทั้งนี้ คุณสามารถให้ความเห็นต่อ ร่างฯ นี้ได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึง 9 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้