ข่าว

#ไม่เอาพรบคู่ชีวิต ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ สะท้อนความไม่เท่าเทียมที่สลักหลังกฎหมายสมรสเท่าเทียม

Top Koaysomboon
เขียนโดย
Top Koaysomboon
Editor-in-Chief, Time Out Bangkok
Gay pride flag
Photograph: Shutterstock
การโฆษณา

ประเด็นเรื่องสิทธิ์ในการสมรสอย่างเท่าเทียมกัน กลับมาเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงและถกเถียงกันอีกครั้งในวันนี้ (8 ก.ค.) ตามหลังข่าวคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ซึ่งจะรับรองการสมรสของบุคคลเพศเดียวกัน ดันเอาแฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียม ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ในแทบจะทันที 

คล้อยหลังไม่นาน แฮชแท็ก #ไม่เอาพรบคู่ชีวิต ก็ตามมาติดๆ และแซงหน้าขึ้นไปติดเทรนด์ยอดนิยมกว่า ทำเอาคนที่ไม่ได้ตามข่าวเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องตกที่นั่งงงกันเป็นแถว

อันที่จริงร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิตนี้เคยผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีมาแล้วเมื่อปี 2561 ในสมัยรัฐบาล คสช. ครั้งนี้คือการเห็นชอบอีกครั้งหนึ่งหลังจาก พรบ. ได้ผ่านการรับฟังและเห็นชอบจากกฤษฎีกาแล้ว รายละเอียดโดยย่อ คือเป็นกฎหมายที่ร่างขึ้นมาใหม่เพื่อรับรองสิทธิตามกฎหมายให้กับบุคคลเพศเดียวกัน เนื่องจากรัฐธรรมนูญไทย (และกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกัน) รับรองการสมรสระหว่าง ชาย-หญิง เท่านั้น

แต่ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงมาตลอดช่วงอายุของร่างฯ นี้ (ซึ่งรองโฆษกรัฐบาลเองก็ยอมรับ) และเป็นเหตุผลที่ดันให้ #ไม่เอาพรบคู่ชีวิต ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ก็คือ ความไม่เท่าเทียมกันที่สลักหลังร่างฯ นี้มาตั้งแต่ต้น เพราะรายละเอียดของร่างฯ นี้ไม่ได้ให้สิทธิการเข้าถึงความคุ้มครองตามกฎหมายสำหรับคู่รักเพศเดียวกันเทียบเท่าคู่รักต่างเพศ (ลดหย่อนภาษีไม่ได้ เป็นต้น) คำว่า “คู่ชีวิต” เองก็ไม่เคยปรากฏในกฎหมายไทยมาก่อน จึงจะสร้างปัญหาในการตีความ ทำให้ต้องมีการออกร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งฯ ที่จะเพิ่มคำว่า "คู่ชีวิต" ลงไปในรัฐธรรมนูญออกมาด้วย ซึ่งผ่านความเห็นชอบจาก ค.ร.ม. ในวันเดียวกัน

ยิ่งไปกว่านั้น พ.ร.บ. คู่ชีวิตนี้ใช้บังคับเฉพาะกับคู่ครองเพศเดียวกัน ซึ่งการร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ขึ้นมาเพื่อบังคับใช้กับคนกลุ่มหนึ่ง แทนที่จะแก้กฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้ว เป็นการขัดกับเจตจำนงของกฎหมายที่จะต้องใช้บังคับกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน (มาตราที่ 4 ในหมวดที่ 1 ของรัฐธรรมนูญไทยระบุว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง ปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน”) 

นั่นเป็นที่มาของ ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เสนอโดย ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส. พรรคก้าวไกล เมื่อ 18 มิถุนายน ที่ผ่านมา ร่างฯ นี้มุ่งแก้ไขรายละเอียดการหมั้นและการสมรส จากเดิมที่ต้องเป็นระหว่าง “ชาย-หญิง” เป็นระหว่าง “บุคคล” (และเพิ่มอายุขั้นต่ำการสมรสเป็น 18 ปี ตามกฎหมายเยาวชนสากล) ซึ่งจะทำให้คู่สมรสทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน สะท้อนเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องใช้บังคับใช้อย่างเท่าเทียมได้ดีกว่า

ร่าง พ.ร.บ. นี้ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการรับฟังเสียงจากประชาชนบนเว็บไซต์ของรัฐสภามาตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2563 (กฎหมายไทยระบุให้การออกกฎหมายทุกฉบับต้องรับฟังเสียงของประชาชน) และปัจจุบันมีประชาชนเข้าไปแสดงความคิดเห็นแล้วกว่าห้าหมื่นคน ซึ่งเราว่าน่าจะเป็นร่างฯ ที่ได้รับความคิดเห็นจากประชาชนมากที่สุดตั้งแต่มีการเปิดรับฟังความเห็น โดยรัฐสภาจะเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนเป็นระยะเวลา 15 วัน ตามลิงค์นี้

บทความล่าสุด

    การโฆษณา