[title]
ตอนนี้ประชากรในกรุงเทพฯ ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19ครบสองเข็มไปแล้ว คิดเป็น 80% และเข็มแรกอีก 20% (ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 64) แต่ก็ยังมีประชากรบางกลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งนอกเหนือจากปัญหาการลงทะเบียนและการจัดสรรวัคซีนแล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่เป็นอุปสรรคของการเข้าถึงบริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19ในกรุงเทพฯ ก็คือการเดินทาง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้พิการ และคนไร้บ้าน
เพื่อให้ประชากรทุกกลุ่มได้รับการฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุด กทม. จึงจัดทำ ‘รถฉีดวัคซีนถึงบ้าน’ (BKK Mobile Vaccination Unit : BMV) โดยนำรถเมล์มาดัดแปลงเป็นรถฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ที่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ครบครันทั้งเครื่องวัดความดัน เครื่องวัดอุณหภูมิ ตู้เย็นสำหรับเก็บรักษาวัคซีน อุปกรณ์ปฐมพยาบาล เตียงสนาม เครื่องกระตุ้นหัวใจ พร้อมทีมแพทย์และพยาบาล
รถฉีดวัคซีนถึงบ้านคันนี้ จะออกให้บริการฉีดวัคซีนเชิงรุกในพื้นที่ที่เรียกว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ คือมีประชากรที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนอยู่เป็นจำนวนมาก โดยกลุ่มเป้าหมายในระยะแรกจะเป็นผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคในชุมชนต่างๆ รวมถึงคนไร้บ้าน
ก่อนหน้านี้ กทม. ได้บูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย จัดทีมป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19เชิงรุกในชุมชน หรือ Bangkok CCRT ที่ให้บริการทั้งตรวจ ปฐมพยาบาล ส่งตัวผู้ป่วย ให้คำแนะนำสำหรับการกักตัวที่บ้านและฉีดวัคซีน ซึ่งต้องใช้บุคลกรมากถึง 20-30 คน ทำให้มีข้อจำกัดเรื่องการเคลื่อนย้ายหน่วย แต่รถฉีดวัคซีนถึงบ้านจะช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้เพราะใช้ทีมแพทย์และพยาบาลเพียง 5 คนต่อรถ 1คัน
โฆษก กทม. ให้รายละเอียดเกี่ยวกับรถฉีดวัคซีนว่า เป็นความช่วยเหลือจากเครือข่ายเอกชนและภาคีเครือข่ายประชาชนโดยไม่ได้ใช้งบราชการ สำหรับรูปแบบการบริการของรถฉีดวัคซีนจะจอดให้บริการจุดละ 1 ชั่วโมง และจะตระเวนไปตามจุดต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งจากการเตรียมการมาตลอดสองเดือน ตอนนี้รถฉีดวัคซีนคันแรก (ยังมีแค่คันเดียว) มีความพร้อมอยู่ที่ 90% คาดว่าสัปดาห์หน้าจะพร้อมออกให้บริการ