ข่าว

ใหม่แกะกรุกับ 8 ห้องนิทรรศการล่าสุดจาก “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร”

Saranyu Nokkaew
เขียนโดย
Saranyu Nokkaew
Contributor
National Museum
Saranyu NokkeawThe National Museum
การโฆษณา

ต้องยอมรับว่าจากมกราคม 2561 หลังจากที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้ปรับปรุง 4 ห้องจัดแสดงเสียใหม่เอี่ยมสู่มาตรฐานพิพิธภัณฑ์สากลมากยิ่งขึ้นก็ทำให้ “พิพิธภัณฑ์” ซึ่งเป็นเหมือนยาขมของหลายคนกลายเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่คนไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์อย่างเข้มข้นมาก่อนก็สามารถเข้าถึงได้

จาก 4 ห้องนิทรรศการในหมู่พระวิมาน อันได้แก่ ห้องโลหศิลป์ ห้องศัสตราวุธ ห้องอิสริยาพัสตราพูษาภัณฑ์ และห้องนาฏดุริยางค์ มาในปีนี้ทางพิพิธภัณฑ์ได้ปรับโฉมห้องนิทรรศการใหม่อีก 8 ห้อง ทั้งในอาคารหมู่พระวิมานและอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ โดยทั้งหมดมุ้งเน้นไปที่เรื่องราวของศิลปะช่างหลวงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์สำคัญ รวมถึงงานศิลปะสกุลช่างวังหน้าที่ถูกดึงมาจัดแสดงให้โดดเด่นยิ่งขึ้น

พระที่นั่งวสันตพิมาน

พระที่นั่งวสันตพิมาน

อาคารหมู่พระวิมานนั้นเป็นพระราชมณเฑียรที่ประทับในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งหลังจากการปรับปรุงครั้งใหญ่ก็ทำให้ผู้ชมสามารถเดินชมงานเชื่อมต่อกันได้ทุกห้องในหมู่อาคาร แถมยังติดเครื่องปรับอากาศเย็นฉ่ำ เปิดบริเวณชั้น 2 ที่ถูกปิดไว้มานานให้ประชาชนได้ขึ้นไปชม พร้อมด้วยอินเตอร์แอคทีฟสนุกๆ ใส่ข้อมูลไว้ในทุกห้อง เรียกว่าลืมภาพพิพิธภัณฑ์ร้อนๆ สีมัวๆ แบบเดิมไปได้เลย

พระที่นั่งวสันตพิมาน

พระที่นั่งวสันตพิมาน

อันที่จริงข้าวของในห้องนิทรรศการใหม่นี้ล้วนเป็นข้าวของเดิมที่วางอยู่ในหมู่พระวิมานและคลังของพิพิธภัณฑ์ด้วยกันทั้งสิ้น ทว่าการปรับปรุงใหม่โดยมีการจัดหมวดหมู่ชัดเจน ใช้ความน้อยแต่มาก ดึงมาสเตอร์พีชของแต่ละหมวดออกมา นั่นจึงทำให้ผู้ชมได้เห็นรายละเอียดของวัตถุแต่ละชิ้นแทบจะ 360 องศา ยกตัวอย่างบานประตูไม้แกะสลักลงรักปิดทองของวัดสุทัศน์ฯ ด้วยความสูง 564 เซนติเมตร แทบจะจรดเพดานห้องเครื่องไม้แกะสลัก นั่นจึงทำให้ต้องมีการวางบานประตูพิงไว้กับผนัง ต่อเมื่อมีการจัดห้องใหม่ ยกบานประตูให้ตั้งวางแนวตรง ผู้เข้าชมจึงสามารถเห็นภาพเขียนจิตรกรรมด้านหลังประตูที่ซ่อนอยู่ได้

มุขเด็จ

มุขเด็จ

หรืออย่างห้องเครื่องใช้ในพระพุทธศาสนานั้นแม้จะเต็มไปด้วยพัดยศ พัดรอง และตาลปัตร ทว่าเมื่อมีการนำมาจัดแสดงใหม่เลือกเฉพาะงานชิ้นเอก จัดวางในตู้รักษาอุณหภูมิ พร้อมใส่แสงไฟสาดลงไป ก็ทำให้เห็นรายละเอียดของงานศิลปะชิ้นครู เช่น สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ชัดเจนมาก และถ้าใครสังเกตอย่างจดจ้องจะพบว่าพระองค์ท่านได้ซ่อนอักษร น.ไว้ในลวดลายให้เป็นดั่งลายเซนเฉกเช่นศิลปินในฝั่งตะวันตกนิยมกระทำ แต่สำหรับสยามกลับกลายเป็นสิ่งใหม่มากในยุคนั้น

พระที่นั่งพรหมเมศธาดา

พระที่นั่งพรหมเมศธาดา

สำหรับ 8 ห้องนิทรรศการใหม่ ที่เพิ่งเปิดในปี 2562 ได้แก่

  1. พระที่นั่งวสันตพิมาน (ชั้นบน) จัดแสดงเครื่องที่ประทับวังหน้า นอกจากงาช้างแปลกอันเป็นที่นิยมแต่โบราณแล้ว ห้องนี้ยังมีไฮไลต์อยู่ที่การย้ายพระแท่นที่สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยประทับในสมัยทรงพระเยาว์จากตึกแดงด้านล่างมาไว้ในห้องนี้ซึ่งงานแกะสลักไม้ละเอียดมาก
  2. พระที่นั่งวสันตพิมาน (ชั้นล่าง) จัดแสดงเครื่องถ้วยในราชสำนัก ห้องนี้พิเศษตรงชุดเครื่องถ้วยที่วาดเรื่องพระอภัยมณีลงไป ซึ่งนี่ถือว่าเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ยืนยันว่าวังหน้าก็มีเตาเผาเครื่องถ้วยชามลายเฉพาะของวังหน้า
  3. พระที่นั่งปฤษฎางคภิมุข จัดแสดงเครื่องสัปคับ ห้องนี้แม้จะมีแต่เครื่องสัปคับหรือที่นั่งบนหลังช้าง ทว่าก็การลงลายละเอียดลวดลายและรูปทรงที่สามารถบอกได้ชัดเจนเลยว่าหลังนี้ผู้หญิงใช้ หลังนี้ใช้ในการออกรบ
  4. มุขเด็จ จัดแสดงเครื่องไม้แกะสลัก สำหรับใครที่มีเวลาน้อยให้พุ่งตัวมาที่ห้องนี้ก่อน เพราะงานมาสเตอร์พีชแห่งยุคสมัยอยู่ที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นบานประตูวัดสุมัศน์ฯ ที่ถูกไฟไหม้ไปครึ่งบาน หรือจะเป็นธรรมาสน์ทรงกลมความสูงเทียบเท่าบานประตูวัดสุทัศน์ฯ ซึ่งแทบจะไม่เหลืออยู่แล้วในไทย 
  5. พระที่นั่งพรหมเมศธาด(ชั้นล่าง) จัดแสดงศิลปะเครื่องมุก ในห้องเครื่องมุกนี้ส่วนใหญ่เป็นเครื่องมุกในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งถือว่าเป็นงานชิ้นครูในการทำเครื่องมุกของไทยที่ช่างในปัจจุบันก็ยากที่จะทำออกมาได้เหมือน
  6. พระที่นั่งพรหมเมศธาดา (ชั้นบน) จัดแสดงเครื่องใช้ในพุทธศาสนา ศิลปะไทยหลากหลายแขนงล้วนรวมอยู่บนพัดยศ พัดรอง และตาลปัตร ซึ่งจัดแสดงอยู่ในห้องนี้ ใครที่ชื่นชอบผลงานชั้นครูของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์์ ที่นี่ได้รวบรวมชิ้นงานพัดยศของท่านไว้มากที่สุดนอกเหนือไปจากตำหนักที่ประทับวังปลายเนินในปัจจุบัน
  7. ห้องประวัติศาสตร์โบราณคดี ศิลปะแห่งกรุงศรีอยุธยา ห้องนี้อยู่ในอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงงานชิ้นเอกของกรุงศรีอยุธยาโดยเฉพาะตู้พระธรรม
  8. ห้องประวัติศาสตร์โบราณคดี ศิลปะแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ห้องนี้เปรียบเหมือนรอยต่อระหว่างกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ ภายในห้องมีพระแท่นของพระเจ้ากรุงธน รวมทั้งพระเก้าอี้พับลงรักปิดทองในรัชกาลที่ 1 ที่ทรงใช้ตลอดในงานพระราชสงคราม

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เปิดทุกวันอังคาร – วันอาทิตย์เวลา 9.00-16.00 น. ค่าเข้าชม คนไทย 30 บาท ต่างชาติ 200 บาท สอบถามเพิ่มเติม โทร. 02 224 1370 และ 02 224 1402

บทความล่าสุด

    การโฆษณา