ข่าว

โค้งสุดท้าย! 2 นิทรรศการศิลปะน่าสนใจ ที่จะจัดแสดงถึงสิ้นเดือนธันวาคมนี้เท่านั้น

Sopida Rodsom
เขียนโดย
Sopida Rodsom
Contributor
การโฆษณา

ถึงแม้ปีนี้จะมีนิทรรศการที่น่าสนใจมากมาย แต่เดือนธันวาคมนี้ถือเป็นช่วงท้ายปีที่หลายๆ นิทรรศการกำลังจะถึงช่วงปิดฉากลง เราจึงขอนำเสนอ 2 นิทรรศการที่น่าสนใจที่จะแสดงถึงสิ้นปีนี้มาให้คุณได้มีโอกาสแวะไปชมเป็นครั้งสุดท้าย

ความงามและความน่าเกลียด : สุนทรียศิลป์แห่งมารศี

มูลนิธิหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร

Beauty and Ugliness : Aesthetic of Marsi หรือ ความงามและความน่าเกลียด : สุนทรียศิลป์แห่งมารศี คือนิทรรศการครั้งที่ 3 ของท่านหญิงที่จัดแสดงในเมืองไทย และเป็นนิทรรศการครั้งแรกหลังจากพระองค์สิ้นชีพิตักษัยเมื่อ พ.ศ. 2556 แน่นอนว่าการจัดแสดงงานศิลปะในวันที่ศิลปินเจ้าของผลงานไม่ได้อยู่ร่วมในวงประชุมย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย อารีรุ่งเรือง ผู้รับหน้าที่ภัณฑารักษ์จึงได้ใช้แนวทางการทำวิจัยด้านศิลปะมาศึกษาผลงานเพื่อไขสู่ปรัชญาที่ซ่อนไว้ในงานศิลปะของหม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือความหมายของ "สุนทรียศาสตร์" ที่ไม่ได้ถูกตีกรอบเพียงความงามทว่ายังรวมความน่าเกลียด หรือความไม่งามอันเป็นหนึ่งในองค์ประกอบทางศิลปะด้วย

มูลนิธิหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร

ราวศตวรรษที่ 19-20 ขณะที่โลกแห่งศิลปะกำลังก้าวเข้าสู่ความเป็นโมเดิร์น ไม่ว่าจะเป็นป๊อบอาร์ต แอ๊บสแตรก วิดีโออาร์ต มีเดียอาร์ต ทว่าสิ่งหนึ่งที่แวดวงศิลปะยังก้าวไม่พ้นคือการจำกัดขอบเขตของคำว่าศิลปะไว้เฉพาะศิลปินเพศชาย น้อยมากที่จะได้พบเจอศิลปินผู้หญิง โดยเฉพาะในเมืองไทยนั้นวิชาศิลปะซึ่งไม่ได้ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในวิชาชีพสำหรับหาเลี้ยงชีพ ย่อมเป็นสิ่งไกลตัวสำหรับผู้หญิงอย่างมาก และนั่นจึงทำให้ศิลปินหญิงผู้มีความเซอร์เรียลลิสต์และแฟนตาสติกเป็นดั่งลายเซ็นต์ หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ทรงต้องเริ่มต้นศึกษาวิชาศิลปะด้วยพระองค์เองขณะพระชนมายุได้ 30 ปี ท่ามกลางสตูดิโอริมลำธารที่เต็มไปด้วยฝูงนกนับร้อย และสุนัข ณ พระตำหนัก Vellara เมือง Annot ประเทศฝรั่งเศส

มูลนิธิหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร

"สุนทรียศาสตร์คือการรับรู้ แต่ที่ผ่านมาสังคมไทยพูดถึงสุนทรียศาสตร์เพียงด้านเดียวคือมุมของความงาม แต่การรับรู้ในแง่มุมของศิลปะมันจะมีทั้งความงามและความไม่งามอยู่คู่กัน ความน่าเกลียดก็เป็นศิลปะเช่นกัน ซึ่งในงานของท่านหญิงพูดถึงตรงนี้ได้ชีดเจนมากและเป็นคีย์ที่เราดึงออกมาจัดแสดง ท่านผู้หญิงได้เรียนรู้งานศิลปะที่ตะวันตกซึ่งมีทั้งศิลปะเพื่อชีวิต เพื่อสังคม เพื่อศิลปะ งานเซอร์เรียลของตะวันตกจึงเจาะลึกไปถึงแก่นของปรัชญา ไม่ใช่เซอร์เรียลที่หมายถึงความฝันอย่างศิลปินไทยในยุคนั้น ซึ่งนั่นทำให้งานของท่านหญิงแตกต่างออกไป" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ชี้ให้เห็นความน่าสนใจในงานของศิลปินหญิงหม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ซึ่งโดดเด่นอย่างมากในแง่ของสัจจะชีวิตและความตาย

ความงามและความน่าเกลียด : สุนทรียศิลป์แห่งมารศี จัดแสดงถึงวันที่ 23 ธันวาคม ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหอศิลปถนนเจ้าฟ้า เปิดให้บริการวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 09.00-18.30 น.

อ่านเพิ่มเติม | เรียนรู้สุนทรียศาสตร์ของความงดงามและความอัปลักษณ์ จากปลายพู่กันของหม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร

จักรพันธุ์ โปษยกฤต นิทรรศการ

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

แม้ไม่ใช่คนที่อยู่ในแวดวงศิลปะโดยตรง แต่ก็อดตื่นเต้นไม่ได้เมื่อรู้ข่าวว่า ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2543 ผู้เป็น 1 ใน 52 นายช่างเอกในรอบ 200 ปีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จักรพันธุ์ โปษยกฤต จะกลับมาจัดแสดงงานศิลปะอีกครั้งผ่าน จักรพันธุ์ โปษยกฤต นิทรรศการ ซึ่งเป็นนิทรรศการครั้งแรกในรอบ 15 ปี ที่เรียงร้อยเรื่องราวตลอดทุกช่วงชีวิตของนายช่างใหญ่วัย 75 ปี ผ่านผลงานชิ้นเองที่ครบทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม และที่จะขาดไม่ได้คือหุ่นกระบอกซึ่งถ่ายถอดความงามอย่างศิลปะไทยทุกแขนงไว้ในผลงานชิ้นเดียว

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

จิตรกรรมไทยในอุดมคติ ภาพสตรีไทยในฝัน นางในวรรณคดี รวมทั้งงานเขียนพอร์ตเทรตบุคคลที่ถ่ายทอดความรู้สึกและจิตใจของแบบออกมาได้ราวมีชีวิต คือความระลึกถึงอาจารย์จักรพันธุ์ซึ่งในนิทรรศการครั้งนี้ได้รวบรวมงานที่เป็นมาสเตอร์พีช อย่าง ภาพจิตรกรรมสีน้ำมันพระแม่คงคาที่วาดออกมาเป็นหญิงสาวเปลือยที่มีใบหน้าอ่อนหวาน  ม่านประตูฉากไหว้ครูหุ่นกระบอกตะเลงพ่าย ผลงานปั้นขี้ผึ้งต้นแบบซุ้มประตูเมืองอยุธยา และที่ถือว่าเป็นมาสเตอร์พีชจริงๆ สำหรับเราคือภาพวาดมือซ้ายของอาจารย์จักรพันธุ์ ซึ่งวาดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ขณะพักฟื้นจากอาการป่วยที่ทำให้มือขวาไม่สามารถจับพู่กันได้อย่างเดิม

Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

จักรพันธุ์ โปษยกฤตนิทรรศการ จะสมบูรณ์ไม่ได้เลยหากขาดส่วนที่เป็นการจัดแสดงหุ่นกระบอกซึ่งอาจารย์ทุ่มเททั้งแรงกาย  แรงใจ และกำลังทรัพย์ในการฟื้นฟูอนุรักษ์ โดยมีทั้งหุ่นกระบอกเรื่องพระอภัยมณีซึ่งเป็นหุ่นกระบอกรุ่นแรก หุ่นกระบอกเรื่องสามก๊ก และหุ่นกระบอกเรื่องตะเลงพ่าย ซึ่งกำลังจะกลับมาเปิดการแสดงอีกครั้งหลังการสร้างโรงละครและพิพิธภัณฑ์จักรพันธุ์ โปษยกฤต แบบถาวรซึ่งจะคาดว่าจะเปิดทำการในปีหน้า

จักรพันธุ์ โปษยกฤต นิทรรศการ จัดแสดงถึงวันที่ 25 ธันวาคมที่มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต ถนนเอกมัย เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 13.00-18.00 น.

อ่านเพิ่มเติม | จักรพันธุ์ โปษยกฤต นิทรรศการ

บทความล่าสุด

    การโฆษณา