[title]
ไม่ได้มาเล่นๆ เลยสำหรับ นาล้ง นิทรรศการข้าวไทยริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ ล้ง 1919 ได้ทุ่มสุดตัวพลิกผืนซีเมนต์ของป่ากรุงเทพฯ ให้กลายเป็นผืนนาเขียวชอุ่มด้วยการปูพรมลงดำนากันเต็มพื้นที่ของล้ง 1919 พร้อมสร้างสะพานไม้ไผ่สานพาดยาวไปตามคันนาที่มีลำดับวงจรชีวิตของข้าวไทยให้ได้ชมแบบไม่น่าเบื่อ ไล่เลียงตั้งแต่ตกกล้า ดำนา แตกกอ ข้าวตั้งท้อง ไปจนถึงแปลงนาที่กำลังออกรวงพร้อมเก็บเกี่ยว
ใครไคร่เรียนการดำนา ที่นาล้งมีรองเท้าบูท หมวกงอบ และแปลงนาชุ่มโคลนให้พร้อมสนุก โดยมี พี่ทองกวาว ควายแอมบาสเดอร์ประจำนาล้งคอยส่งแรงใจอยู่ในปลักโคลนริมแม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากนี้ยังมีงานศิลปะจากกองฟาง ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวให้ได้ช็อปปิ้ง พร้อมประวัติการค้าข้าวของตระกูลหวั่งหลีอันเป็นที่มาของล้ง 1919 รวมทั้งกิจกรรมหมุนเวียนในแต่ละวัน เช่น โต๊ะดินเนอร์ริมท้องนาของ The Wisdom ที่เสิร์ฟเมนูจากข้าวสุดโมเดิร์นอย่าง กุ้งเทมปุระแป้งข้าวขาวดอกมะลิ ทาร์ตมูสข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวทอดซอสต้มยำปลาแซลมอนย่าง เป็นต้น
มากไปกว่าเรื่องบรรยากาศที่ถ่ายรูปสวยในทุกมุม สิ่งที่น่าสนใจที่สุดของงานนี้ต้องยกให้กับบูทเล็กๆ แต่อัดแน่นไปด้วยความตั้งใจของกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ "ชาวนาไทอีสาน" ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังข้าวอีสานรสชาติสุดเซอร์ไพรส์ในร้าน ซาหมวย แอนด์ ซันส์ ของ เชฟหนุ่ม-วีระวัฒน์ ตริยเสนวรรธน์ รวมทั้ง "ข้าวเวสสันตะระ" กลิ่นใบเตยหอมละมุนที่ใช้เสิร์ฟอยู่ในร้านราบ และ ร้านแดก (Dag) ของ เชฟแวน-เฉลิมพล โรหิตรัตนะ
ชาวนาไทอีสานเป็นการรวมตัวของคนหนุ่มสาวผู้มีความคิดถึงบ้าน และคิดฮอดคำว่าอู่ข้าวอู่น้ำที่แดนอีสานเคยได้รับมาแต่ครั้งอดีต ซึ่งนั่นทำให้สมาชิกทั้ง 16 คนเลือกที่จะกลับบ้านมาทำนาตามวิถีเกษตรดั้งเดิมที่ปฏิเสธเคมี ซึ่งการที่จะปล่อยให้ต้นข้าวสามารถต่อสู้แมลงและโรคได้ด้วยวิถีอินทรีย์ 100% นั้นมีเพียงวิธีเดียวก็คือการออกตามหาข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่ธรรมชาติได้คัดสรรแล้วว่าเป็นต้นพันธุ์ที่แข็งแกร่งมีความคงทนต่อโรคและสภาพพื้นที่ของแต่ละท้องถิ่นโดยเฉพาะ ไม่เพียงเท่านั้นกลุ่มกหนุ่มสาวชาวนายุคใหม่ยังได้เปลี่ยนมุมมองของอาชีพปลูกข้าวให้กลายเป็นงานคราฟต์ ซึ่งต้องใส่ความละเอียดในทุกขั้นตอน
"ตอนนี้ทางกลุ่มของเรารวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นเมืองได้กว่า 300 สายพันธุ์ เป็นข้าวนาปีซึ่งปลูกได้ดีในแถบอีสาน เพราะสมาชิกกลุ่มเราอยู่ในพื้นที่อีสานทั้งหมด แต่ละคนก็จะทดลองนำเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ไปปลูกและพัฒนาสายพันธุ์ในแปลงนาของตนเอง โดยมี ตุ๊หล่าง-แก่นคำกล้า พิลาน้อย เป็นคนที่ทำหน้าที่ปรับปรุงพันธุ์นำพันธุ์พื้นเมืองเหล่านี้มาผสมเป็นข้าวสายพันธุ์ใหม่ แล้วกระจายเมล็ดพันธุ์ให้คนในกลุ่มนำไปปลูกในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน เพื่อดูการแตกกอ ขนาดของเมล็ด ความหอม และรสชาติความหวานซึ่งต้องชิมกันตั้งแต่อยู่ในแปลงนา และชิมกันแทบจะทุกต้น เพื่อที่จะได้หาต้นข้าวที่สมบูรณ์ที่สุดเก็บไว้เป็นเมล็ดพันธุ์ต่อไป
ซึ่งความหลากหลายของเมล็ดพันธุ์ก็คือความมั่นคงด้านอาหารนั่นเอง"
อุ้ม-คนิงณิตย์ ชะนะโม หนึ่งในสมาชิกชาวนาไทอีสานบอกเล่าให้เห็นความละเอียดของอาชีพปลูกข้าวบนวิถีกสิกรรมธรรมชาติ ที่ไม่ต่างจากงานคราฟต์อย่างหนึ่ง อุ้มเป็นหนึ่งในสมาชิกที่หันหลังให้เงินเดือนอันสูงลิ่วในกรุงเทพฯ แล้วกลับบ้านที่บุรีรัมย์ไปทำนา สร้างศูนย์เรียนรู้เรื่องกสิกรรมธรรมชาติ โดยที่ตัวเองก็ต้องเริ่มต้นวิชาทำนา 101 ใหม่หมดด้วยเช่นกัน
นอกจากการรู้จักอาชีพชาวนาในมุมใหม่แล้ว นิทรรศการข้าวไทยครั้งนี้อุ้มและสมาชิกชาวนาไทอีสานยังได้เปิดตัวข้าวสายพันธุ์พื้นเมือง 7 ชนิดที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์จนได้กลิ่น รส ความหอมอยู่ในระดับอร่อยมากๆ มาหุงให้ได้ชิมกัน บอกเลยว่านี่คือกิจกรรมที่ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง เพราะข้าวทั้ง 7 ชนิดให้ความอร่อยแตกต่างกันอย่างชัดเจน เช่น ข้าวเหนียวดำอสิตะ และข้าวเหนียวดำสีลาภรณ์ให้ความนุ่มมันเหมือนข้าวเหนียวมูนกะทิแล้ว เหมาะสำหรับนำมาทำเมนูขนมหวาน ราดน้ำกะทิกินคู่กับมะม่วงก็ยังได้ ส่วนเวสสันตะระนั้นหอมใบเตย หุงขึ้นหม้อ เหมาะสำหรับราดแกงร้อนๆ เป็นอย่างมาก บางสายพันธุ์มีแป้งมากเหมาะนำไปต่อยอดทำเส้นก๋วยเตี๋ยว เรียกได้ว่าทำให้การกินข้าวเปล่าธรรมดาๆ มีความตื่นเต้นได้ในทุกคำจริงๆ
เข้าชม "นาล้ง" ได้ฟรีที่ ล้ง 1919 ถึงวันที่ 19 สิงหาคมเท่านั้น วันจันทร์ เวลา 11.00-20.00 น. และวันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 9.00-20.00 น. (โซนร้านอาหารเปิดถึง 22.00 น.)