[title]
‘พัฒน์พงศ์’ ซอยเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ระหว่างถนนสีลมและถนนสุรวงศ์ คือย่านสถานบันเทิงยามค่ำคืนอันโด่งดังที่อยู่คู่กับคนกรุงเทพฯ และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาหลายชั่วอายุคน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เบื้องหลังไฟแสงสีที่ส่องสว่างอยู่ทั่วย่านจะซ่อนไว้ซึ่งประวัติศาสตร์น่าค้นหามากมาย ทั้งในแง่ของสังคม วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของผู้คนบนถนนสายนี้ แต่ที่แปลกกลับเป็นการที่เรื่องราวเหล่านี้ไม่เคยถูกบันทึกอย่างจริงจังจนแทบเลือนหายไปตามกาลเวลา
Michael Messner ชาวออสเตรียที่แต่งงานกับหญิงไทยและเป็นเจ้าของร้านอาหารในย่านพัฒน์พงษ์ ได้รับรู้เรื่องราวของพัฒน์พงษ์ผ่านการบอกเล่าของคนในพื้นที่และลูกค้าที่แวะเวียนมาทานอาหารที่ร้าน จนรู้สึกว่าอยากรวบรวมและบันทึกไว้ ด้วยความที่เขาเป็นลูกศิลปินและเคยเป็นภัณฑรักษ์ให้กับศิลปินทั้งที่บ้านเกิดและที่ไทย การทำหน้าที่บันทึกเรื่องราวของพัฒน์พงษ์ครั้งนี้จึงเกิดขึ้นในรูปแบบพิพิธภัณฑ์
พัฒน์พงศ์มิวเซียม (Patpong Museum) ตั้งอยู่ในซอยพัฒน์พงษ์ 2 บนชั้น 2 ของตึกเดียวกับ Black Pagoda ไนต์คลับยอดนิยมแห่งหนึ่งในย่านนี้ การจัดแสดงภายในเริ่มตั้งแต่ประวัติศาสตร์หลายร้อยปีของพัฒน์พงษ์ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเพียงส่วน ‘สวนกล้วย’ ก่อนที่นายตุ้น แซ่ผู่ ชาวจีนไหหลำผู้อพยพมาอยู่ไทยและกลายเป็น ‘หลวงพัฒน์พงศ์พานิช’ ในเวลาต่อมา จะเข้ามาซื้อที่ดินใน พ.ศ. 2489
จุดเปลี่ยนสำคัญของพัฒน์พงศ์ เริ่มมาจากการพัฒนาพื้นที่โดย อุดม พัฒน์พงศ์พานิช ลูกชายหลวงพัฒน์พงศ์พานิช ที่เคยเข้าร่วมกับ CIA หรือหน่วยข่าวกรองของสหรัฐอเมริกา เมื่อครั้งไปเรียนต่อที่นั่น เป็นผู้ชักชวนเพื่อนชาวต่างชาติที่มีทั้งทหารและนักธุรกิจมาเปิดบริษัทบนถนนสายนี้ ทั้งบริษัท IBM ปั๊มน้ำมัน Shell และ Caltex สายการบิน Air France, Pan Am และ Qantus สำนักข่าว UPI ฯลฯ ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดถูกจัดแสดงในโซนที่ 2
เมื่อพัฒน์พงศ์เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น นักท่องเที่ยวก็หลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่ ไม่เว้นแม่แต่คนดังระดับโลก โซนที่ 3 จึงเป็นการนำเสนอโมเดลจำลองย่านพัฒน์พงษ์ที่ทำให้เราเห็นหน้าตาของย่านนี้ชัดเจนขึ้น และที่กำแพงด้านหนึ่งของห้องนี้จะเป็น Wall of Fame ที่เปรียบเสมือนบันทึกการมาเยือนของเหล่าเซเลบ ผู้เข้าชมต้องใช้แท็บเลตที่อยู่ด้านข้างสแกนเงาบนกำแพงเพื่อดูข้อมูลว่าเจ้าของเงาเป็นใครและมาเยือนพัฒน์พงศ์เมื่อไหร่
ต่อมาจะเป็นโซน 18+ เท่านั้น ผู้เข้าชมที่อายุยังไม่ถึงต้องนั่งรอด้านนอก โซนนี้ต้อนรับด้วยบาร์ที่เราสามารถใช้บัตรเข้าชมแลกซอฟต์ดริงก์ได้ 1 แก้ว และมีบริการเครื่องดื่มเหมือนบาร์จริงๆ ด้วย ถัดจากบาร์เป็นโซนที่เผยให้เราได้ทำความรู้จักกับพัฒน์พงษ์มากขึ้น (เข้าใจเลยว่าทำไมต้องจำกัดอายุคนเข้าชม) มีทั้งการจำลองอะโกโกบาร์ บาร์เฉพาะทาง ปิงปองโชว์อันเลื่องชื่อ รวมถึงการแสงงานศิลปะแนวอีโรติกและปิดท้ายด้วยร้านขายของที่ระลึก
ความน่าสนใจของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือการนำเสนอประวัติศาสตร์เมืองในมุมที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึง แต่ที่นี่กลับนำมาเล่าอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา ผ่านรูปแบบที่ไม่จำเจ ไม่เหมือนพิพิธภัณฑ์ไหนๆ ในกรุงเทพฯ เชื่อว่าคนที่เข้ามาดูจะได้ทั้งความรู้และความบันเทิงกลับบ้านแน่นอน