Ter Nawapol
Sereechai Puttes/Time Out Bangkok
Sereechai Puttes/Time Out Bangkok

เต๋อ-นวพล กับประสบการณ์ของเมื่อวาน การใช้ชีวิตในวันนี้ และความตายในวันพรุ่งนี้

ผู้กำกับหนุ่ม เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ กับภาพยนตร์เรื่องยาวลำดับที่ 5 ที่จะทำให้คุณรู้จักความตายในอีกหลายหลายแง่มุม

การโฆษณา

หนึ่งปีหลังจากความสำเร็จของ รีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับเจ้าของรางวัลสุพรรณหงส์ และเจ้าของหนังอินดี้ฮิต Mary is Happy, Mary is Happy ก็ยังคงเดินหน้าทำงานหนังที่เขารักต่อไป เริ่มด้วยโปรเจคล่าสุดอย่าง Die Tomorrow (พรุ่งนี้ตาย) ที่ได้รับแรงบรรดาลใจจากข่าวการเสียชีวิตบนหน้าหนังสือพิมพ์ จนกลายเป็นหนังสั้นหกเรื่อง ที่ถูกนำเสนอในรูปแบบของภาพยนตร์

Time Out Bangkok ได้มีโอกาสพูดคุยกับเต๋อในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นชีวิต ความตาย และเป้าหมายในชีวิตที่เปลี่ยนไป

ให้เต๋อเล่าถึง Die Tomorrow แบบง่ายที่สุดให้ฟังหน่อย

จริงๆ มันเล่ายากนิดนึงเพราะ [Die Tomorrow] ค่อนข้างที่จะเป็นหนังที่รวมหลายๆอย่าง—fiction, documentary, recording audio แล้วก็มี footage—มันเหมือนผสมๆ กัน แต่ถ้าคิดง่ายสุดเลยหนังเรื่องนี้เหมือนเป็นอัลบัมที่มี 12-13 เพลง [ซึ่งทั้งหมด] พูดเกี่ยวกับการตายและการมีชีวิต เหมือนการคิดเรื่องความตายในแง่มุมต่างๆ เอาง่ายๆ เลยเหมือนเราไปดูนิทรรศการ ที่มันแบ่งเป็นห้องๆ อันนี้ก็คล้ายๆ กัน เป็นธีมเดียวกัน

ทำไมถึงเลือกเล่าหลายแง่มุมเป็นเรื่องสั้นหลายๆ เรื่องในหนังยาวหนึ่งเรื่อง?

พอเราจะทำหัวข้อเกี่ยวกับความตาย มัน [กลายเป็นว่า] มีหลายไอเดียมากเลย มากจนไม่สามารถจะทำเป็นเรื่องเดียวทั้งหมดแล้วเล่าได้ทุกอย่าง ไม่ได้มี story อะไรที่เราประสบมาแล้วแบบอยากขยายเป็นหนัง 100-120 นาที แต่เหมือนกับเรามีไอเดียเล็กๆ ขึ้นมาเกี่ยวกับความตาย และเราก็อยากเล่าให้หมดแค่นั้นเอง มันเหมือน take note น่ะครับ แต่ละ note ที่เรา take มาเป็น take ด้วยหนังแต่ละตอน

เท่าที่ฟังดู พี่เต๋อตั้งใจจะทำหนังเรื่องนี้เป็นหนังทดลอง แล้วทำไมเลือกดาราที่เป็นที่รู้จักอยู่แล้วมาร่วมแสดง (ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์, วิโอเลต วอเทียร์, ออกแบบ ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง, เต้ย จรินทร์พร จุนเกียรติ, ฯลฯ)?

จริงๆเอาดาราพวกนี้มาเล่นเนี่ยมัน experimental แล้วนะ เพราะพวกนี้เขาแทบจะไม่เคยเล่นแบบนี้เลย หนังเล็กๆ แบบนี้ แต่จริงๆ เหตุผลที่เลือกดาราหรือนักแสดงที่เราเคยทำงานด้วยเพราะเราคิดกับหนังเรื่องนี้มากว่าจะทำยังไงให้มัน commercial success เราคิดว่าหนังทุกเรื่องของเรามันเป็น personal archive ทุกเรื่องที่ทำมามันจะเป็นช่วงหนึ่งของชีวิตสักช่วงหนึ่ง สมมติว่า ฟรีแลนซ์ก็จะเป็นช่วง 30 ของเรา แมรี่อาจจะเป็นช่วงมัธยมของเรา The Master คือช่วงที่เราเพิ่งหัดดูหนัง อะไรอย่างนี้ ทุกอันมันจะแบบเป็นส่วนนึงของเรา

แล้วอยู่ดีๆ ทำไมถึงสนใจเรื่องเกี่ยวกับความตายล่ะ?

มันถึงช่วงวัยมังครับ ไม่รู้คนอื่นเป็นไหมนะ แต่เราในช่วงอายุ 28-30 จะเหมือนได้ไปงานศพบ่อยขึ้น แบบ.. บ่อยพอๆ กับงานแต่งงาน สลับกันหรืออาจจะเดือนเว้นเดือน อาจจะเป็นพ่อแม่เพื่อน พอเราอายุ 30 พ่อแม่เขาก็จะอายุ 60 กว่า ก็.. เหมือนสูงวัย แล้ว หรือบางครั้งคนใกล้ตัวเรา คือเขาอยู่ในช่วงวัยที่ใช้ชีวิตที่ผาดโผนพอสมควร หมายถึงอาจจะทำงานหนักโดยที่ไม่ได้คิดถึงตัวเอง หรือว่า.. อยากลองอะไรต้องได้ลอง ความเสี่ยงมันก็จะเยอะกว่าชาวบ้าน เลยเหมือนกับได้เจอเรื่องพวกนี้บ่อยขึ้น  และึงแม้ว่าบางครั้งมันอาจจะไม่ใช่คนใกล้ตัวเรา แต่การที่เราเห็นบ่อยๆ ก็ทำให้เราเริ่มคิดว่า “เออ.. [ความตาย] ใกล้กว่าที่เราคิดเหมือนกัน”

ฟังดูเหมือนเป็นช่วง Midlife crisis หรือเปล่าคะ?

ไม่รู้มันเป็นเรื่องเดียวกันกับ midlife crisis หรือเปล่านะ แต่สำหรับเรามันเริ่มช่วงอายุ 20-30 มันคือช่วงที่เรามีความฝันอะไรสักอย่าง มี goal แล้วเราก็จะแบบทำๆ แล้วมัน โดยไม่ได้คิดเรื่องอื่นเลย จนวันนึง สักช่วงอายุ 30 ต้นๆ เราก็จะสำเร็จแล้วหล่ะ ได้มากได้น้อยก็แล้วแต่ แล้วพอมันมากถึง goal ที่ตั้งไว้มันจะแบบ.. “เออ แล้วไงต่อวะ” เราได้ทำหมดแล้ว แต่ลืมคิดต่อว่า แล้วยังไงต่อ

สมัยก่อนฟังเรื่อง midlife crisis ก็ไม่เข้าใจหรอก แต่ตอนนี้ก็เริ่มเข้าใจบ้างแล้ว อ้อ... มันคงเป็นอย่างนี้มั้ง คือ “ยังไงต่อ” ถ้าเกิดคุณมีลูก คุณก็ต้องเลี้ยงลูกไป สร้างครอบครัวอะไรก็ว่าไป แต่สมมุติว่าคุณ ไม่ได้ plan จะมีลูกอะไรก็ตาม มันจะแบบ แล้วไงวะ กูจะสูงไปกว่านี้ได้ยังไง กูจะทำอะไรมากกว่านี้ หรือเราจะทำอะไรอย่างอื่นดีไม่เคยคิดมาก่อน เพราะว่าไอ้ที่อยากทำมันสุดทางแล้ว 

ถ้าอย่างนั้น goal ตอนนี้ของพี่เต๋อคืออะไรคะ?

จริงๆก็ไม่รู้เหมือนกันนะ ถ้าเกิดถามคำถามนี้ตอนเราอายุ 28 เราอาจจะมีคำตอบ แต่ตอนนี้ถ้าถาม goal วันนี้คือไม่ปวดหัวแล้วก็นอนหลับแค่นั้นเอง เหมือนมันสั้นลงเรื่อยๆ  เราไม่ได้คิดว่า อีก 5 ปีเราจะทำอะไร เราคิดว่า week หน้ายังไงหรือเดือนหน้ายังไงแค่นั้นเอง เพราะว่าเราไม่มีวันรู้ว่าเราจะตายเมื่อไหร่ แต่นี่ไม่ใช่ความเศร้า นะ คือ.. ก็ไม่รู้จริงๆ ถ้าเกิดทำ project สักเรื่องหนึ่ง ก็พยายามจะทำเรื่องที่เราสนใจกับมันมากๆ หรือมันเกี่ยวกับเราจริงๆ จะไม่ทำโปรเจคที่เราฝืนที่จะทำ เพราะสมมุติเราทำโปรเจคนึง เราจะต้องอาศัยอยู่กับมันนานมาก แล้วถ้าเราทำโปรเจคที่ไม่ชอบ เกิดทำไปปีครึ่งแล้ว..ตาย เราจะพบว่าเราตายไปพร้อมกับความ suffer ระหว่างทางตลอดเลย สุดท้ายเหมือนกับก็ไม่ได้อะไรเลย แล้วเราก็ตายไปกับความรู้สึกที่ไม่ดี แต่สมมุติว่าเราทำโปรเจคที่เราชอบ ถ้าเราเกิดเราตายระหว่างทาง เราก็จะรู้สึกว่า เมื่อวาน แม้ว่างานมันจะไม่เสร็จนะ แต่ว่าเมื่อวานก็โอเคนะ แต่ว่าระหว่างที่ทำเรา happy   มันเหมือนคิดเรื่องระหว่างทางมากขึ้นว่าทำแล้วโอเคไหม รู้สึกดีไหม มันอาจจะไม่ได้ทำอะไรสำเร็จก็ได้นะ แต่ระหว่างทาง เราได้เรียนรู้ได้ความรู้เพิ่ม หรือรู้อะไรที่ยังไม่เคยรู้

แสดงว่าพี่เต๋อไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องไปถึงจุดสูงสุดของอาชีพผู้กำกับ?

ใช่ เพราะว่ามันกลับมาเรื่องเดิมว่า สมมุติเราจะเลือกจุดสูงสุดของอาชีพนั้นกับได้ทำโปรเจคที่ชอบ เราอาจจะเลือกโปรเจคที่ชอบ เพราะอย่างที่ว่าคือ สมมุติเราตั้ง goal ใหม่ เราจะไป Oscar ให้ได้ แล้วเราทำทุกอย่างแบบ try so hard แต่มันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการก็ได้  เราจะรู้ได้ไงว่าเราจะไปถึงหรือไปไม่ถึง แต่ว่า ถ้าเกิดเราเลือกโปรเจคที่เราอยากทำ มันได้แน่ๆ คือระหว่างทาง เราโอเค เราไม่ได้ทุกข์ร้อนหรือว่า suffer หรือว่าต้องพยายามอดทนกับมัน แล้วถ้ามันจะได้ไปก็โอเค แต่มันไม่ได้ไปก็ไม่เป็นไร เพราะว่าสุดท้ายไม่มีใครรู้ว่าเราจะทำแล้ว เราจะได้หรือจะไม่ได้ เราเลยคิดว่าระหว่างทางมันสำคัญกว่านิดนึง 

อะไรเกี่ยวกับการทำหนังที่ทำให้รู้สึกว่ามีความสุขที่จะทำหนังไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิต

จริงๆ ระหว่างทำมันสนุก เช่น คุณจะได้เข้าไปในที่ที่ปกติคุณไม่ได้เข้า แต่พอคุณจะไปขอที่เขาถ่ายหนัง คุณก็จะได้เข้าไปในห้องอะไรก็ไม่รู้ บางทีเราก็เข้าไปหลังโรงพยาบาล อย่างตอนทำหนังเรื่อง ฟรีแลนซ์ อย่างนี้ ปกติเราไปหาหมอเราก็จะได้อยู่แค่โต๊ะหมอข้างหน้า พอเราไปถ่ายหนังเราก็จะได้เข้าไปข้างหลังหมดเลย เราก็จะได้รู้ว่า อ๋อ.. ระบบพยาบาลเขาทำยังไงกัน เขาแบ่งเป็นห้องอย่างนี้ เขาคุยกันแบบนั้นแบบนี้ มันเหมือนเรามีสิทธิ์ได้เข้าไปเจอโลกใหม่ๆ

กับอีกอย่างนึงคือสมมุติว่าเราไปถ่าย แล้วทุกครั้งที่มันได้อะไรที่มันดีเกินกว่าที่คิดมันจะรู้สึก magical มาก โดยเฉพาะพวก “happy accident” นี่ตัวเสพติดเลย อย่างตอนแรกแค่คิดว่า ให้เขา[ตัวละคร] เดินมาตรงนี้แล้วคุยกัน พอไปถ่ายจริง เค้าเดินไปตรงนี้แล้วคุยกัน แล้วเผอิญพระอาทิตย์มันโผล่ขึ้นมา แล้วกลายเป็น dialog ที่ดีกว่าเดิมอีก ซึ่งเหมือนกับเรา deal กับธรรมชาติตลอดเวลา  แล้วบางครั้งธรรมชาติก็มอบของวิเศษให้กับเรา เราว่าการทำหนังเป็นเหมือนยา[เสพติด]นิดนึง มันแบบ อยากทำแล้วอยากทำอีก

มีหนังประเภทไหนมั้ยที่พี่เต๋อจะไม่ทำ?

มันมีแต่อยากทำแต่ทำไม่ได้ เช่น หนังตลกมากๆ เหมือนกับเรา[เป็นคน] ไม่ขำขนาดนั้น แต่เวลาที่เราดูหนังเองเรื่องที่มันฮามากๆ เราจะรู้สึกอิจฉาเขาเหมือนกัน เอาจริงเสียงหัวเราะคนดู อันนี้มันหนักยิ่งกว่า magical moment นะ สมมติว่าเราไปดูหนังในโรง แล้วหนังแม่งตลกมากๆ แล้วคนแม่งฮากันทั้งโรง เราก็มานั่งคิดว่าถ้ากูเป็นผู้กำกับพวกนี้แม่งคงโคตรแฮปปี้เลย แล้วมันเหมือนคุณเอนเตอร์เทน หรือคุณทำให้คนหัวเราะอ่ะฮะ เราว่ามันเป็นความแฮปปี้ ไอ้หนังที่เราทำส่วนใหญ่ คนที่เดินออกมา[จากโรงหนัง] มีแต่ทำหน้าเจื่อนๆ แล้วเราแม่งก็ไม่รู้ว่าเขาหลับเพิ่งตื่น กูกำลังเศร้า หรือกูกำลัง deep หรือกูไม่ได้รู้สึกอะไร เราเดาไม่ถูกอ่ะ ส่วนใหญ่เวลาฉายหนังเราไม่ค่อยดู เพราะมันจับ reaction อะไรไม่ค่อยได้อยู่แล้ว ยกเว้นฟรีแลนซ์ที่มันฮาเรื่อยๆ ก็ว่ากันไป แต่ว่าหนังตลกเนี่ยจริงๆมันไม่ใช่ว่าไม่ทำ คืออยากทำแต่ทำไม่ได้

พรุ่งนี้ตาย  Die Tomorrow  เข้าฉายแบบจำกัดโรงภาพยนตร์ 23 พฤศจิกายน

เรื่องเด่น
    เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ
      การโฆษณา