เรารู้อะไรเกี่ยวกับกรุงเทพฯ บ้าง? เป็นไปได้ว่าต่อให้ร่ายยาวมาหลายหน้ากระดาษก็อาจจะยังตอบไม่หมดเพราะมหานครแห่งนี้อาจจะเป็นทั้งเมืองหลวงและเมืองลวงก็ได้
Bangkok Breaking ออริจินัลไทยซีรีส์เรื่องล่าสุดจาก Netflix ที่เพิ่งลงจอไปเมื่อวันที 23 กันยายน นำความลับดำมืดของกรุงเทพฯ ที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้และคาดไม่ถึง มาตีแผ่ผ่านเรื่องราวของ ‘วันชัย’ (เวียร์-ศุกลวัฒน์ คณารศ) หนุ่มอีสานที่หอบความหวังเข้ากรุงเทพฯ มาหาพี่ชายซึ่งเป็นอาสากู้ภัย งานที่ใครๆ ต่างก็ยกให้เป็นฮีโร่ แต่แล้ววันชัยก็ต้องเจอกับเหตุการณ์ที่ดึงเขาเข้าสู่โลกแห่งความเลวร้ายภายใต้หน้ากากฮีโร่ตั้งแต่วันแรกที่มาถึงกรุงเทพฯ
ซีรีส์อาชญากรรมเรื่องนี้การันตีความดาร์กโดยผู้กำกับ โขม-ก้องเกียรติ โขมศิริ และ คุ่น-ปราบดา หยุ่น ในฐานะผู้จัดและผู้อำนวยการผลิต และทั้งคู่ก็ยังช่วนกันเขียนบทอีกด้วย ใครยังไม่ดูเราอยากชวนมาอุ่นเครื่องด้วยการอ่านบทสัมภาษณ์ของผู้สร้างทั้งสองคนก่อน ส่วนใครดูจบแล้วหกตอนรวดตั้งแต่เมื่อคืนก็มาเก็บเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเติมอรรถรสไปด้วยกันได้
ทำไมถึงสนใจประเด็นกู้ภัย?
คุ่น: “ประเด็นนี้ตั้งต้นมาจากครีเอเตอร์ซึ่งเป็นคนต่างชาติสามคนที่สนใจเรื่องกู้ภัยในประเทศไทย Netflix ก็รู้สึกว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจแล้วก็ยังไม่มีคนพูดถึงมากนักในระดับสากลเพราะมันก็ค่อนข้างเป็นกิจกรรมที่ไม่มีธีอื่นเหมือนซะทีเดียว ทีนี้ก็เลยส่งต่อมาที่ทีมไทย พวกเราก็เอาประเด็นเรื่องกู้ภัยมารีเสิร์ชแล้วก็ตีความ สร้างตัวละครที่เราคิดว่าน่าจะสนุกสำหรับคนดูชาวไทยเป็นหลักไว้ก่อน”
โขม: “ด้วยเรื่องราวของมูลนิธิมันไปเชื่อมโยงกับเรื่องของสังคม ถ้าเมืองนอกเขาก็จะมีหน่วยงานเข้ามาจัดการเวลาเกิดเหตุ แต่ของเราจะเป็นรูปแบบมูลนิธิ เป็นอาสา ตอนเรามาแตกรายละเอียดกัน ผมรู้สึกว่ามันไทยๆ แต่ในขณะเดียวกันมันก็สนุกได้ในระดับสากล เป็นหนังได้หลายแนว สามารถนำเสนอได้หลายมุมก็เลยเลือกประเด็นนี้ขึ้นมา”
“กู้ภัยเขาไปทุกเคส เพราะฉะนั้นคนที่เขาจะได้เจอ ได้ปฏิสัมพันธ์ด้วยมันจะเป็นทุกระดับ มันถึงได้มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจได้นับไม่ถ้วน”
เมื่อเป็นเรื่องใกล้ตัวคนไทย จะเล่ายังไงให้คนไทยดูสนุกและรู้สึกว่าน่าสนใจ?
โขม: “ตอนเรารีเสิร์ชเข้าไปมันมีมิติที่มากกว่าแค่งานนี้ทำอะไร งานนี้ไม่ได้เงินนะครับ ไม่มีคนจ้าง เป็นงานที่ไปขึ้นตรงกับความศรัทธา ขึ้นกับศาลเจ้า คราวนี้มันเลยมีเหลี่ยมอย่างเช่นว่า เวลาเขาไปทำงานแล้วนักข่าวถ่ายภาพออกมาถ้าเห็นว่าเป็นมูลนิธิไหน ยอดการบริจาคของศาลเจ้าของมูลนิธินั้นจะสูงขึ้น อันนี้ไม่ได้พูดเรื่องผิดถูกนะ
“ซีรีส์ไม่ได้ถูกทำขึ้นมาโดยคิดว่าเราจะเปิดด้านมืดของวงการกู้ภัย ไม่ใช่นะครับ ผมว่ามันพูดทุกเหลี่ยมเลย มันมีทั้งคนดีจริงๆ งานที่มีความเป็นฮีโร่จริงๆ กับคนที่หาผลประโยชน์กับมันเราก็พูดถึงด้วย”
คุ่น: “ผมคิดว่าคนไทยเองรู้จักกู้ภัยอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่น่าจะรู้รายละเอียดมากว่าจริงๆ แล้วเขาทำงานกันยังไง เพราะฉะนั้นมันก็มีหลายมิติที่น่าสนใจ แล้วกู้ภัยเขาไปทุกเคส เพราะฉะนั้นคนที่เขาจะได้เจอ ได้ปฏิสัมพันธ์ด้วยมันจะเป็นทุกระดับ มันถึงได้มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจได้นับไม่ถ้วน ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ที่สนุกสนานตลกขบขันไปจนถึงเรื่องซีเรียสขอขาดบาดตาย”
ออกแบบตัวละครหลักและเลือกนักแสดงนำของเรื่องยังไง?
โขม: “ตัวเวียร์เนี่ยชัดเจนมาเลย เรื่องของคนหนุ่มต่างจังหวัดเข้ามาทำงานและมีคาแรกเตอร์ที่เราดูแล้วรู้สึกว่าเขาเป็นฮีโร่ได้ เราต้องการเคมีของนักแสดงแบบนั้นด้วย ขณะเดียวกันเราก็ต้องเชื่อว่าเขาต้องแข็งแกร่งพอที่จะบุกตะลุยไปช่วยคนแล้วก็ค้นหาความจริง
“ส่วนตัวนางเอกโจทย์คือนักข่าวสายบันเทิงที่ลุกขึ้นมาตามสืบในสายอาชญากรรม คนก็จะไม่เชื่อถือแล้วเธอก็ต้องพิสูจน์ตัวเอง นักแสดงหลายคนก็ได้รับโจทย์นี้แล้วก็ตีความแคตในรูปแบบที่แตกต่างกัน แต่พอเป็น ออม [สุชาร์ มานะยิ่ง] สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นก็คือออมไปสร้างความรู้สึกโรแมนติกของคนคู่นี้ได้ ทำให้มันไม่ได้เป็นแค่หนังอาชญากรรมอย่างเดียว”
อะไรทำให้นักข่าวบันเทิงอยากไปทำข่าวอาชญากรรม หรือต้องไปดูเอง?
คุ่น: “คือจริงๆ แล้วแคตเป็นคนจริงจังแล้วเขาก็เป็นคนที่แคร์เรื่องความยุติธรรมแต่คนรอบข้างไม่เห็นคุณสมบัตินั้นในตัวเขา อาจจะเป็นเพราะหน้าตาเขาจิ้มลิ้มน่ารัก พอทำงานสื่อก็เลยถูกจับไปอยู่โต๊ะบันเทิงอะไร เหมือนถูกไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เขาสนใจ เขาเลยต้องทำเอง เขาดื้อกับอำนาจที่ครอบงำเขาอยู่”
เรื่องกู้ภัยในไทยมีอยู่แทบทุกจังหวัด ทำไมถึงเลือกที่จะเล่าเรื่องในกรุงเทพฯ
คุ้น: “โดดเด่นที่สุดก็น่าจะเป็นกรุงเทพฯ แล้วถ้ามองว่าเป็นการเริ่มเล่าเรื่องเหมือนปูพื้นหรือว่าความเชื่อมโยงต่างๆ ของงานนี้ [กู้ภัย] ผมคิดว่าเราก็ต้องเริ่มจากกรุงเทพฯ เพราะมันสามารถปูพื้นทุกอย่างได้ชัดเจนแล้วก็ซับซ้อนที่สุด จริงๆ แล้วกู้ภัยก็เริ่มมาจากกรุงเทพฯ นะในแง่ประวัติศาสตร์แล้วมันก็ไปกระจายทีหลัง
โขม: “ผมว่ากรุงเทพฯ มันมีเรื่องเล่าเยอะ เป็นเมืองที่มีทั้งด้านสวยงามมากๆ แล้วก็ด้านที่เป็นความลับ คือมันเป็นเมืองที่ค่อนข้าง… ผมใช้คำว่ามันบ้าคลั่ง ซึ่งมันเป็นวัตถุดิบที่ดีในการทำงาน”
การร่วมงานกับ Netflix เป็นยังไงบ้าง?
คุ่น: “ดีนะครับ นี่เป็นครั้งแรก ผมก็ยังไม่เคยมีประสบการณ์ร่วมงานกับสตูดิโอใหญ่ๆ แล้วก็เป็นสตูดิโอต่างชาติแบบนี้มาก่อน เพราะฉะนั้นในมุมของผมมันมีทั้งความท้าทายแล้วก็ในช่วงแรกๆ ก็มีความกังวลเล็กน้อยว่าเราจะเข้ากับระบบแบบนี้ได้ไหม แต่การทำงานก็ราบรื่นมาก แล้วก็ฟีดแบ็กจาก Netflix ก็ดีมากๆ รู้สึกว่าเป็นประสบการณ์ที่ดี จริงๆ ก็ช่วยพัฒนางานตัวเองในอนาคตด้วย”
โขม: “ทีแรกก็แอบเกร็งเหมือนกัน แต่พอทำไปเขาไม่ได้ทำให้เรารู้สึกอึดอัดใจอะไร เขาค่อนข้างเปิดกว้างแล้วก็ให้เกียรติ อย่างผมเป็นผู้กำกับ เวลาเรานำเสนออะไรไปเขาก็ไม่ได้ปฏิเสธตลอดเวลา ขณะเดียวกันเขาก็จะมีมุมของเขา มันกลายเป็นว่าพอเขาพูดหรือแก้ไขมามันดีจริงๆ เหมือนกันแลกเปลี่ยนวิชาความรู้กัน เราได้จากเขามากกว่า”
คุ่น: “ผมประทับใจที่คอมเมนต์ของเขา มันเป็นเรื่องความสร้างสรรค์หมดเลย ไม่ได้คอมเมนต์ว่าถ้าทำแบบนี้แล้วคนดูจะไม่ชอบหรือว่าถ้าทำแบบนี้แล้วจะไม่แมส ซึ่งถ้าเราทำงานกับเมนสตรีมทั่วไปมันอาจจะเป็นคอมเมนต์แบบนั้น แต่ว่าเขาจะคอมเมนต์เรื่องความน่าเชื่อ ความเมกเซนส์อะไรแบบนี้มากกว่า เพราะฉะนั้นมันก็เลยช่วยในแง่ของการเขียนให้มันดีขึ้น”
นิยาม ‘กรุงเทพฯ’ ในฐานะผู้สร้างซีรีส์เรื่องนี้
คุ่น: “ก็เป็นเมืองที่ซับซ้อน แม้แต่คนที่โตที่นี่หรือว่าอาศัยอยู่ที่นี่ ผมคิดว่ากรุงเทพมีอีกหลายมุมที่เราไม่รู้จัก เพราะเราต้องทำตามกิจวัตรของเรา ตื่นไปทำงานที่นี่เท่านั้น วงจรของชีวิตมันทำให้เราไม่ได้รู้จักเมืองที่เราอยู่ดีพอ บางครั้งก็ต้องมองผ่านสายตาของคนอื่น ผมก็รู้สึกอย่างนั้นผมก็รู้สึกว่าผมไม่ได้รู้จักกรุงเทพฯ ดีพอเท่าที่ควร”
โขม: “ก็ตามเพลง [ประกอบซีรีส์] เลยครับ กรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร ผมว่ากรุงเทพฯ คือเมืองที่มันบ้าคลั่งมากๆ แล้วมันก็มีความย้อนแย้งสูงมาก ทั้งด้านดำและด้านขาวล้วนรับใช้กันและกันอย่างมีเครือข่ายโยงใยกันแบบแยกไม่ได้ ครั้งแรกที่ผมตีความ Bangkok Breaking ผมบอกว่ากรุงเทพฯ เหมือนสิ่งมีชีวิตแล้วเราก็มีถนนเป็นเส้นเลือดที่เชื่อมต่อแต่ละส่วนในร่างเดียวกัน เราแยกไม่ได้ว่าหน่วยงานนี้ทำหน้าที่เป็นคนดี หน่วยงานนี้ทำหน้าที่เป็นคนร้าย กรุงเทพฯ เป็นแบบนี้ ถามว่ามันงดงามไหม ผมเกิดที่นี่ผมว่ามันก็งดงาม แต่มันน่าขยะแขยงไหม มันก็มีส่วนที่มันน่าขยะแขยง แล้วมันไม่แยกส่วนใดส่วนหนึ่งออกจากกัน”
“การเป็นคนตัวเล็กๆ ก็สามารถต่อสู้กับความอยุติธรรมใหญ่ๆ ได้นะ”
นอกจากปัญหาในวงการกู้ภัย ซีรีส์สะท้อนปัญหาอะไรบ้างในกรุงเทพฯ?
คุ่น: “อาจจะได้เห็นมุมมองและทัศนคติของกู้ภัย บางทีถ้าเรามองจากข้างนอกเราก็จะไม่รู้ในมุมของปัญหาที่เขาประสบอยู่ ข่าวก็จะเล่นแต่เรื่องที่เป็นที่สนใจของคนซึ่งก็มักจะเป็นด้านลบ แต่ตอนรีเสิร์ชเราได้เห็นอีกมุมหนึ่ง ซึ่งซีรีส์เรื่องนี้ก็จะสะท้อนว่าชีวิตคนเรามันถูกกรอบของสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตเป็นตัวกำหนดด้วยเหมือนกัน บางครั้งมันมีความจำเป็นหรือสถานการณ์มันบีบบังคับให้คนต้องทำอะไรต่างๆ เพราะฉะนั้นมันจะไม่ได้ถูกมองแบบมุมเดียว คนที่ใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมมันไม่ได้มีแค่ด้านที่ข่าวนำเสนอ”
โขม: “เมื่อคุณต้องเผชิญหน้ากับภัยอันตราย บางทีความเป็นฮีโร่มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนๆ เดียว มันสะท้อนให้เห็นว่าพลังที่แท้จริงมาจากมวลชนนี่แหละ ความเป็นฮีโร่ในเรื่องนี้มันพูดในหลายมิตินะ มันไม่ใช่สะท้อนแค่ด้านมืดของงานใดงานหนึ่งแต่มันสะท้อนว่าการเป็นคนตัวเล็กๆ ก็สามารถต่อสู้กับความอยุติธรรมใหญ่ๆ ได้นะ มันก็พูดในเหลี่ยมด้วย”
“นอกจากความสนุกแล้วมันมีความกล้าหาญที่จะพูดที่จะแฉทุกๆ ด้านของเมืองหลวงเมืองนี้”
เหตุผลที่ควรดู Bangkok Breaking?
คุ่น: “ก็เพราะมันสนุก อันนี้เรามองในมุมคนดูด้วยนะครับ เพราะผมก็เป็นคนดู Netflix เหมือนกัน แล้วก็ทุกครั้งที่เปิดมาก็จะไล่ดูว่าอะไรสนุก ฉะนั้น ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นซีรีส์ไทยที่สนุกแล้วก็มีรสชาติค่อนข้างครบถ้วน มีทั้งความจริงจัง เรื่องทางสังคม มีทั้งความตลกแล้วก็ตื่นเต้น”
โขม: “ใช่ครับ เป็นซีรีส์ที่สนุก ในแง่ของความสนุก ความบันเทิงมันก็มีอยู่แล้ว ใดๆ ขอยืนยันว่าไม่มีใครมาเซ็นเซอร์เรา แล้วเราก็ไม่เคยเซ็นเซอร์ตัวเอง เพราะฉะนั้นจึงกล้าพูดว่ามันทำออกมาโดยกล้าหาญ นอกจากความสนุกแล้วมันมีความกล้าหาญที่จะพูดที่จะแฉด้านมืด แฉทุกๆ ด้านของเมืองหลวงเมืองนี้ดีกว่า”