“น้องเป็น (LGBTQ+) หรือเปล่า?” ถ้านี่คือหนึ่งในคำถามที่เจอในห้องสัมภาษณ์งาน คุณจะตอบยังไง หรือถ้า HR บอกว่า “งานนี้ต้องการความน่าเชื่อถือสูง อาจจะไม่เหมาะกับน้องนะ” เพียงเพราะคุณเป็นทรานส์เจนเดอร์ คุณจะทำยังไง แล้วถ้าพรุ่งนี้มีสอบสัมภาษณ์งานที่อยากทำมากๆ แต่งหญิงไปได้ไหมนะ?
ที่พูดมาทั้งหมดไม่ใช่เหตุการณ์สมมุติ แต่คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงกับผู้ติดตามเพจ Trans for Career Thailand เพจให้คำปรึกษาด้านการหางานแก่ทรานส์เจนเดอร์ รวมทั้ง 3 แอดมิน อย่าง ใหม่-ริสา ศิริวัฒน์, กบ-เขมณัฏฐ์ นราเดช และ ซาริน่า-ณิชนัจทน์ สุดลาภา
และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของ Trans for Career Thailand
ปัญหาในการทำงานของทรานส์เจนเดอร์ที่ได้รับรู้ผ่านเพจมีอะไรบ้าง?
กบ: “ที่หนักที่สุดคือปัญหาระหว่างกระบวนการสรรหา การยื่นใบสมัคร การเรียกสัมภาษณ์ เพราะเอกสารยังใช้มิสเตอร์ แต่เพศสภาพเราเป็นผู้หญิงแล้ว ตรงนี้ HR หรือผู้บริหารองค์กรจะมีคำถามนิดนึง ด้วยความที่ว่ากลุ่มทรานส์เจนเดอร์ในประเทศไทยโดนตีตรามาอย่างยาวนานด้วยการฉายซ้ำภาพลบ ไม่ว่าจะเป็นสื่อหรือคนเก่าคนแก่ จะมองเป็นภาพลบเสมอ พูดง่ายๆ คือ มักจะได้ยินว่าไม่มีความน่าเชื่อถืออะไรประมาณนี้”
ใหม่: “มีงานวิจัยบอกว่าคนเราโดยทั่วไปจะรู้จักกับตัวตนจริงๆ ของทรานส์เจนเดอร์แค่ 20% และอีก 80% ไม่ได้รู้จัก เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาจะเห็นคือสิ่งที่สื่อแสดงออกมาว่าคนข้ามเพศจะต้องตลก จะต้องอยู่ในวงการใดวงการหนึ่ง ซึ่งมันกลายเป็นการสร้างภาพจำ การเลือกปฏิบัติ ท้ายที่สุดแล้วมันก็ทำให้เราไม่สามารถไปทำงานตรงนั้นตรงนี้ได้”
โดยส่วนตัวเคยถูกเลือกปฏิบัติบ้างไหม?
ใหม่: “งานแรกที่เราจะเข้าไปทำงาน เราอยากทำงานด้านการลงทุน เราก็สมัครนักวิเคราะห์หุ้น นักวิเคราะห์การลงทุน ตอนเราไปสัมภาษณ์ เขาแทบจะไม่ได้ดูคุณสมบัติของเราเลย เราจบเกียรตินิยมมานะ แต่เขาไม่ได้มองตรงนั้น สุดท้ายก็จบด้วยแนะนำว่า เราน่าจะทำงานด้านอื่นนะ ในวงการนี้อาจจะไม่เหมาะกับเรา เรื่องแบบนี้มันต้องใช้ความน่าเชื่อถือสูงนะ อะไรประมาณนี้”
กบ: “ของกบจะเป็นเรื่องของการใช้ชีวิต กบเป็นคนป่วยบ่อยเข้าโรงพยาบาลบ่อย มีครั้งหนึ่งปอดรั่ว มันฉุกเฉิน มันจะต้องรีบเข้าโรงพยาบาล ก็กลายเป็นว่าเราต้องไปอยู่วอร์ดชาย ซึ่งเป็นห้องรวมเพราะห้องพิเศษเต็ม ซึ่งจริงๆ เพศสภาพเราเป็นผู้หญิงหมดแล้ว ในใจเราค่อนข้างเจ็บปวด แต่เขาต้องการยื้อชีวิตเรา เราก็โอเค ไม่เป็นไร แต่ทีนี้มันต้องมีการเช็ดตัว ซึ่งมันอยู่แบบนี้เกือบ 1 เดือน ตรงนี้เราค่อนข้างคิดได้หลายแบบว่า ทำไม เพราะอะไร แล้วมันยังเป็นอยู่หลายๆ โรงพยาบาล”
ซารีน่า: “ซารีน่าทำงานอิสระมาตลอด ยังไม่เคยผ่านกระบวนการ recruit แต่ที่โดนเลือกปฏิบัติก็จะคล้ายๆ ที่กบบอก การใช้ชีวิต การเดินทางไปต่างประเทศ เอกสารไม่ตรงกับพาสปอร์ต แต่สำหรับซารีน่าเองเวลาเจอเหตุการณ์แบบนี้จะระบายกับเพื่อนๆ พี่ๆ จนได้คำแนะนำที่ว่าจริงๆ เราไม่ควรจะอยู่เฉยๆ เราต้องออกมาส่งเสียงให้สังคมได้รับรู้ว่ามันมีการเลือกปฏิบัติแบบนี้เกิดขึ้น”
คิดยังไงกับบางบริษัทที่ยังไม่เปิดรับหรือมีกำแพงกับทรานส์เจนเดอร์?
ซารีน่า: “ซารีน่ามองว่าเป็นผลเสียของบริษัทนะคะ ถ้าคนภายนอกมองมาหลายคนจะมองว่าองค์กรนี้ไม่มีความหลากหลาย เอาจริงๆ กฎหมายไทยเองยังมีบัญญัติเลยว่าองค์กรไหนที่มีพนักงานเยอะๆ จะต้องมีคนพิการกี่คนอยู่ในนั้น คือการที่มีความหลากหลายอยู่ในองค์กรก็ทำให้สังคมได้รับรู้ถึงตรงนี้ด้วย”
ใหม่: “จริงๆ เขามีงานวิจัยเลยนะคะว่าองค์กรที่มีความหลากหลายเยอะกว่า ผลประกอบการก็จะดีกว่าด้วย เราไม่ได้ทำเพื่อทรานส์เจนเดอร์อย่างเดียวนะ เราทำเพื่อบริษัทนั้นๆ ด้วยนะ ถ้าคุณจ้างงานหลากหลายมากขึ้น คุณก็จะได้กำไรเยอะขึ้นด้วยนะ คุณจะได้ความคิดหลากหลาย ภาพลักษณ์ก็จะดีขึ้น เป็น Marketing Campaign ได้เลยนะ ฟรีๆ ด้วย”
กรณีสัมภาษณ์งาน หากทางบริษัทมีคำถามว่า “เราเป็น LGBTQ+ หรือไม่” ควรตอบอย่างไร?
ซารีน่า: “เคยมีน้องมาถามทางเพจว่าจะแต่งตัวเข้าสัมภาษณ์งานยังไง น้องคนนี้เป็นหญิงข้ามเพศ ซารีน่าบอกว่าให้เป็นตัวของตัวเองเลยอย่างแรก และก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่ว่ามีโอกาสที่จะไม่ถูกเลือก แต่ก็ให้แพลนบีไว้ว่า ถ้าตอนนี้สบายใจ ก็อาจจะแต่งตัวตามที่เขาต้องการ เพื่อให้น้องได้งาน แล้วน้องค่อยๆ ไปปรับ แต่จริงๆ ซารีน่าเชียร์แพลนเอมากกว่า คืออยากให้เป็นตัวของตัวเอง”
ใหม่: “แต่เราก็ไม่รู้ว่าองค์กรนี้เขาเข้มงวดขนาดไหน เราก็ไม่ต้องการให้น้องพลาดเรื่องงาน คงให้น้องเตรียมแพลนบีไว้ด้วย ถ้าใหม่เจอเองส่วนตัวเราคงตอบนะ เป็นค่ะ”
กบ: “ถ้าเป็นกบก็คงตอบว่าเป็น แต่เราก็ต้องยอมรับกับการตัดสินใจของเขาด้วย เพราะบางองค์กรก็อาจโดนตีกรอบแบบนี้ แต่กบเชื่อว่ายังมีองค์กรอื่นๆ ที่เขายอมรับความสามารถของเรา เราปิดประตูในสิ่งที่เขาไม่ยอมรับเรา เพื่อไปเปิดประตูในโอกาสที่ดีกว่า”
ใหม่: “นโยบาย เป็นสิ่งที่สำคัญเหมือนกัน มันเคยมีเคสว่า ตัวเจ้านายหรือ CEO เนี่ย โอเคมากกับกลุ่มทรานส์เจนเดอร์ แต่ HR ไม่ชัวร์ว่านายจะโอเคไหม เพราะไม่มีประกาศนโยบายออกมาอย่างชัดเจน กลัวว่าถ้ารับคนนี้มาจะมีประเด็นรึเปล่า งั้นไม่รับทรานส์เจนเดอร์เลยแล้วกัน เพราะฉะนั้นนโยบายเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ถึงแม้ว่าคุณจะบอกว่าคุณเปิดกว้าง แต่ยังไงซะมันก็ต้องมี (นโยบายที่ชัดเจนขององค์กร)”
เรามีกฎหมายการคุ้มครองของการถูกเลือกปฏิบัติสำหรับทรานส์เจนเดอร์ไหม?
กบ: “พรบ. ความเท่าเทียม ปี 2558 ห้ามเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบด้วยเหตุแห่งเพศ อันนี้คือรวมทั้งผู้หญิงและผู้ชายด้วย ถ้าผู้หญิงไปสมัครงานแล้วโดนเลือกปฏิบัติก็สามารถไปร้องเรียนกับคณะกรรมการ วลพ. (คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ) แต่กฎหมายนี้ประชาชนทั่วไปยังไม่รับรู้ว่ามันมีแล้ว ซึ่งจริงๆ ตัวกฎหมายของแรงงาน ก็มีระบุด้วยนะคะ หรือว่าแผนปฏิบัติการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติอันใหม่ล่าสุด การลดการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศก็มีบรรจุอยู่ในนั้น มีบรรจุอยู่ทุกอันอยู่แล้ว”
ซารีน่า: “จริงๆ อยากจะขยายความเพิ่มเกี่ยวกับ พรบ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศฉบับนี้นะคะว่า ใครที่โดนเลือกปฏิบัติ อยากให้เข้ามาสู่กระบวนการนี้เพราะเป็นกระบวนการที่ภาครัฐมอบให้แล้ว มีกองทุนเยียวยาด้วย เราสามารถร้องเรียนที่ วลพ. ได้เลย ซึ่งง่ายมากๆ โทรติดต่อไปได้เลยมีสายร้องเรียน ทั้งอีเมล (gidentity3@gmail.com) และเบอร์โทรศัพท์ (02-6427755)”
ทำไมกฎหมายนี้ถึงไม่ค่อยมีคนรู้จักหรือใช้เพื่อรักษาสิทธิ์ของตัวเอง?
กบ: “สำหรับกบคิดว่าหลายๆ หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังขาดการทำงานในเรื่องของการทำงานเชิงรุกและต่อเนื่อง ถ้าเราอยากให้ทุกคนรู้จัก มันจะต้องมีการทำงานต่อเนื่อง มีแคมเปญต่างๆ การเดินพาเหรดต้องมา ถ้าบริษัทต่างๆ ให้ความร่วมมือหรือว่าภาครัฐทำงานเชิงรุกร่วมกัน ไม่ใช่แค่กลุ่ม LGBTQ+ หรือว่านักสิทธิมนุษยชนในกลุ่ม LGBTQ+ ทำอยู่ฝ่ายเดียว มันจะได้ผลค่ะ”
หลายคนมองว่า ตอนนี้ LGBTQ+ ไทย ได้รับการยอมรับมากกว่าหลายๆ ประเทศ คิดเห็นว่าอย่างไร?
กบ: “ไม่จริงนะ ตอนนี้เราเหมือนคนไร้ตัวตน”
ซารีน่า: “เพราะเราไม่มีกฎหมายรองรับ มันเป็นเรื่องของมายาคติที่คนมองว่าเป็นแบบ Paradise of LGBTQ+ ต่างๆ ใช่ ในภาคท่องเที่ยว แน่นอนเอกชนเขาต้องทำเพราะมันคือเรื่องของผลประกอบการ”
“แค่เราไม่ได้ตายจากการเป็นทรานส์เจนเดอร์ มันไม่ได้ถือว่าเป็นสวรรค์”
ซารีน่า: “ที่บอกว่ามันไม่จริง เพราะมันไม่มีกฎหมายอะไรรองรับเลย บางทีไปมองว่าประเทศนั้นเขามี ประเทศนี้เขามี ทำไมประเทศเราไม่มี ประเทศเราไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการรองรับอัตลักษณ์ทางเพศ ไม่มีกฎหมายที่มายอมรับในความเป็นตัวตน ในความเป็นคนของเราจริงๆ”
ใหม่: “หรือเรื่องสมรมเท่าเทียมอะไรแบบนี้ก็ด้วย”
ซารีน่า: “จริงๆ หลายอย่างในประเทศไทยก็นำหน้าประเทศอื่นไปเยอะ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญและละเอียดอ่อน ทำไมยังช้าอยู่ การใช้ชีวิตอาจดูเหมือนยอมรับ แต่สิ่งอื่นที่เราพูดมาตั้งแต่ทีแรก มีหลายเรื่องที่ยังไม่ได้ยอมรับนะคะ แล้วก็สำคัญคือกฎหมายไม่มีคุ้มครอง เพราะฉะนั้นมันก็ตอบด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว เราไม่ได้อยากได้มากกว่า แต่อยากได้ความเท่าเทียม”
Trans for Career จะทำอะไรต่อไป?
กบ: “ก็พยายามจะเฟ้นหาเรื่องราวที่น่าสนใจในกลุ่มคนข้ามเพศที่มีความสามารถมาเผยแพร่ให้คนทั่วไปได้รับรู้หรือว่าสร้างแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนการใช้ชีวิต ตั้งใจเรียน ตั้งใจทำงาน ให้กับกลุ่มคนข้ามเพศในประเทศไทย”
ซารีน่า: “เราเป็นที่ปรึกษาได้ สำหรับคนที่ต้องการคำแนะนำในการสมัครงานหรือแม้กระทั่งในการใช้ชีวิต อย่างเรซูเม่ เรามีผู้เชี่ยวชาญช่วยดูแลอยู่ แล้วเราก็พยายามรวมกลุ่มกับองค์กรอื่นๆ เพราะมองว่าการที่เรามีคนทำงานด้วยเยอะๆ ทำให้พวกเราเข้มแข็งแล้วก็มีพลังมากพอที่จะผ่านอุปสรรคได้”
ใหม่: “ที่เราบอกว่าเราจะพยายามหาเรื่องราวที่น่าสนใจในกลุ่มคนข้ามเพศมาให้คนที่ติดตามเพจอ่าน มันสำคัญมาก เราเคยลงเรื่องของน้องที่เป็นเทรนเนอร์ส่วนตัว มันเป็นเรื่องแรกที่เราเขียนลงเพจ แล้วมีน้องคนหนึ่งแชร์ไปแล้วเขาก็เขียนว่า ตอนแรกเขาอยากเรียนวิทยาศาสตร์การกีฬาแต่เขาไม่รู้ว่าเขาจะมีงานหรือเปล่า พอเขาอ่านตรงนี้ เขาก็มีกำลังใจว่าเขาเรียนในสิ่งที่เขาอยากเรียนดีกว่า เราเห็นแล้วก็รู้สึกว่านี่เป็นเป้าหมายสำคัญเลยของ trans for career เราอยากให้น้องๆ เห็น possibility ของตัวเองว่าน้องสามารถเป็นอะไรก็ได้ ถ้าน้องๆ มีความสามารถ น้องทำได้ น้องทำเลย”
“อีกประเด็นหนึ่งที่เราอยากจะทำก็คือ เราแชร์เรื่องราวนี้ เพราะเราอยากขอโอกาส แต่ไม่ได้ขอฟรีๆ เรารู้ว่าเราสามารถทำอะไรให้กับสังคมได้บ้าง เรามีความสามารถหลากหลายและก็ต้องการตอบแทนสังคมด้วยความสามารถของเรา เราก็อยากให้สังคมเห็นว่าเราทำได้หลากหลายจริงๆ”