พญ. นิตยา ภานุภาค
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkokพญ. นิตยา ภานุภาค
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok

พญ. นิตยา ภานุภาค: “การที่คนจะมีโรคในเลือดมันไม่เกี่ยวข้องกับรสนิยมทางเพศ มันเกี่ยวข้องกับพฤติกรรม”

บทสัมภาษณ์ พญ. นิตยา ภานุภาค ผู้อำนวยการบริหารสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI - Institute of HIV Research and Innovation) ที่ทำงานด้านการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่อง HIV

Suriyan Panomai
การโฆษณา

ตลอด 4 ทศวรรษที่ HIV ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลก แม้จะยังไม่มีวิธีการรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดนี้ แต่ความก้าวหน้าทางการแพทย์ก็ช่วยให้เรามีวิธีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพดีเยี่ยม รวมถึงกระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจที่พร้อมเข้าถึงทุกคน

แต่ภาพจำบางอย่างของ HIV กลับยังไม่หายไปจากสังคม เช่น การเหมารวมว่ากลุ่ม LGBTQ+ มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV มากกว่าคนทั่วไป นำมาสู่การเลือกปฏิบัติที่เห็นได้ชัดเจนในกรณีการรับริจาคเลือด ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่ใช่อย่างนั้นเสมอไป

เราขอส่งท้าย Pride Month 2021 ด้วยบทสัมภาษณ์ พญ. นิตยา ภานุภาค ผู้อำนวยการบริหารสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI - Institute of HIV Research and Innovation) ที่ทำงานด้านการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่อง HIV เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว

พญ. นิตยา ภานุภาค
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok

กลุ่ม LGBTQ+ ยังเป็นกลุ่มที่มีความชุกของการติดเชื้อ HIV สูงอยู่ไหม

“อันนี้เป็นสถานการณ์ที่มันชัดขึ้นทั่วโลกที่ในช่วงประมาณ 10-15 ปีหลัง การเจอคนติดเชื้อใหม่และการดูความชุกของเอชไอวีก็จะมาตกอยู่ในกลุ่มที่ประชากรที่เราเรียกว่าเป็นประชากรหลัก ซึ่งแต่ละประเทศอาจจะไม่ค่อยเหมือนกัน แถบแอฟริกาก็จะเป็นผู้หญิง เด็กวัยรุ่นผู้หญิง ในอเมริกาหรือว่าในประเทศแถบเอเชียโดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเชียงใต้เกินครึ่งก็จะมาตกอยู่ที่ชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย สาวประเภทสอง ไม่แตกต่างกัน เมืองไทยเราจะมีอยู่ประมาณ 60% ของคนที่ติดเชื้อใหม่ในปีที่ผ่านมาที่เป็นกลุ่ม LGBTQ+”

“สูงกว่ากลุ่มอื่นเราก็ยังคงต้องยอมรับ เพราะมันมีเหตุผลอีกหลายอย่างที่อธิบายสิ่งนั้นอยู่ แต่ว่าลดลงไหม ลดลง แปลว่าสิ่งที่หลายๆ คนทำมันส่งผลทำให้ความชุกค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ”

ทำไมความชุกของ HIV ถึงยังอยู่ที่กลุ่ม LGBTQ+ ?

“ถ้าเราลองดูโควิด-19 ถ้ามีคนที่กำลังมีเชื้ออยู่แล้วสามารถส่งเชื้อให้คนอื่นได้โดยไม่รู้ตัว การติดเชื้อรายใหม่ก็จะไปกระจุกตัวอยู่รอบคนๆ นั้น เอชไอวีก็คือโรคติดเชื้ออย่างนึงก็หลักการเดียวกันแต่เอชไอวีติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพราะฉะนั้น คนๆ นั้นเขามีวงของการมีเพศสัมพันธ์อยู่แถบไหนมันก็จะทำให้กลุ่มประชากรที่แชร์เน็ตเวิร์กของการเพศสัมพันธ์เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น”

ไม่ใช่เฉพาะ LGBTQ+ ที่จะมีคู่เยอะ ไม่ยอมใช้ถุงยางอนามัย กลุ่มประชากรที่เป็น non-LGBTQ+ ก็มีคนที่มีพฤติกรรมเดียวกัน

“หลังๆ เราจะไปเหมารวมว่าอันนี้คือวิถีชีวิต บอกว่า LGBTQ+ มีจำนวนคู่เยอะ เปลี่ยนคู่บ่อย ไม่ยอมใช้ถุงยางอนามัยประมาณนี้ แต่ต้องพูดเสมอเลยว่าไม่ใช่เฉพาะ LGBTQ+ ที่จะมีคู่เยอะ ไม่ยอมใช้ถุงยางอนามัย กลุ่มประชากรที่เป็น non-LGBTQ+ ก็มีคนที่มีพฤติกรรมเดียวกันเพียงแต่ว่าจำนวนเชื้อเขาหนาแน่น โอกาสที่เขาไม่ใช้ถุงยางหรือขามีคู่มากกว่าคนนึงแล้วจะถ่ายทอดเชื้อมันก็เยอะกว่ากลุ่มที่เป็น non-LGBTQ+ เท่านั้นเอง ไม่ใช่ว่าเขาจงใจทำพฤติกรรมให้มันสามารถถ่ายทอดเชื้อได้เยอะกว่า”

“อีกเรื่องก็คือเรื่องของชีววิทยาที่หลายคนไม่เคยคิดถึงแล้วก็โทษแต่เรื่องของวิถีชีวิต แต่ต้องบอกว่าชีววิทยาก็มีความสำคัญ เพราะการที่คู่ชายหญิงมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันด้วยถุงยางอนามัยหนึ่งครั้ง แล้วฝ่ายผู้ชายซึ่งเป็นฝ่ายรุกมีเอชไอวีอยู่ ฝ่ายผู้หญิงที่รับทางช่องคลอดซึ่งเยื่อตรงนั้นจะมีความหนา เทียบกับคู่ชายชายที่ฝ่ายรับมีเยื่อบุทวารหนักที่บางกว่ากันหลายเท่า ฝ่ายรับเชื้อที่เป็นผู้ชายก็จะมีโอกาสรับเชื้อได้มากกว่า 10-100 เท่า”

พญ. นิตยา ภานุภาค
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok

คิดยังไงกับเกณฑ์การรับบริจาคเลือดที่กีดกันกลุ่ม LGBTQ+ ?

“ไม่มีเหตุผลอะไรที่คุณจะเลือกคนที่เขาต้องการมาบริจาคเลือดโดยใช้วิธีวิถีชีวิตของคนมาเป็นเกณฑ์ โดยคำถามที่ถามว่า คุณระบุตัวตนว่าเป็นอะไร แล้วคุณมีเพศสัมพันธ์กับใคร สองคำถามนี้ไม่ได้มีประโยชน์อะไรที่คุณจะมาบอกว่าเขามีความเสี่ยงหรือไม่มีความเสี่ยง”

การที่คนจะมีโรคในเลือดมันไม่เกี่ยวข้องกับเพศสภาพ มันไม่เกี่ยวข้องกับรสนิยมทางเพศ มันเกี่ยวข้องกับพฤติกรรม

“มองย้อนกลับไปถึงสิ่งที่คุณกังวล คุณตั้งคำถามเหล่านี้เพื่ออะไร เพราะกลัวว่าจะได้เลือดที่มีโรคติดเชื้ออยู่แล้วทำให้ต้องเสียทรัพยากรไปใช่ไหม แต่การที่คนจะมีโรคในเลือดมันไม่เกี่ยวข้องกับเพศสภาพ มันไม่เกี่ยวข้องกับรสนิยมทางเพศ มันเกี่ยวข้องกับพฤติกรรม ฉะนั้นคำถามมันก็ควรจะเปลี่ยนเป็นคำถามเชิงพฤติกรรม คุณมีเพศสัมพันธ์โดยที่คุณไม่ได้ป้องกันในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมานี้หรือไม่? แบบนี้มันก็จะช่วยคัดกรองคนโดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับเพศสภาพ เพศวิถี และรสนิยมทางเพศ”

ปัญหาที่เกิดจากการใช้เกณฑ์รับบริจาคเลือดแบบทุกวันนี้มีอะไรบ้าง?

“แน่นอนว่าการบริจาคเลือดในบางพื้นที่และบางช่วงเวลามันไม่ได้เหลือเฟือเมื่อเทียบกับความต้องการรับเลือดอยู่แล้วโดยส่วนใหญ่ ไม่งั้นเราจะไม่เห็นหรอกว่ามีแคมเปญชวนให้มาบริจาคเลือด พอไปตั้งเกณฑ์แบบนี้มันก็แน่นอนว่า หนึ่ง ต่อให้คนอยากมาบริจาค คุณก็ไม่รับเขา และไม่ใช่เฉพาะคนที่เป็น LGBTQ+ ที่จะไม่มา อีกหลายคนเห็นแบบนี้แล้วเขาอาจจะขอไม่สนับสนุนองค์กรที่มีการเลือกปฏิบัติแบบนี้เลยดีกว่า เพราะฉะนั้นกลุ่มคนที่เป็น non-LGBTQ+ ซึ่งควรจะเป็นผู้บริจาคที่มีศักยภาพก็อาจจะเลือกที่จะไม่มาเข้าสู่การบริจาคแบบนี้”

พญ. นิตยา ภานุภาค
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok

ในต่างประเทศมีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่ม LGBTQ+ สามารถบริจาคเลือดได้ง่ายขึ้นบ้างไหม?

“สิ่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงชัดๆ เลยน่าจะเป็นของ American Red Cross กับของ NHS (National Health Service หรือระบบบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ) ของ American Red Cross ก็คือตัดเพศสภาพออกไปเลย คุณเป็นหญิงข้ามเพศเดินเข้ามาเขาไม่ได้ปฏิเสธคุณตั้งแต่ต้นละอันดับที่หนึ่ง และสองก็คือถ้าคุณเป็น LGBTQ+ เขาก็กำหนดช่วงเวลาที่หดลงมาจากเดิมซึ่งบริจาคไม่ได้เลย ขยับลงมาเป็นบริจาคได้นะแต่ต้องไม่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันในช่วงสามเดือนก่อนหน้า”

“สิ่งที่ยังไม่ดีและดูแล้วทั้ง American Red Cross และ NHS ยังคงใช้อยู่คือเรื่องการกินเพร็บ ซึ่งแปลกมาก ถ้าเราบอกว่าอะไรในโลกนี้ป้องกัน HIV ที่ดีที่สุดก็คือเพร็บค่ะ ช่วยป้องกันได้เกือบ 100% เพราะคนกินเพร็บตอนนี้น่าจะเกือบ 1,000,000 คนในโลกนี้ มีคนที่ติดเชื้อขึ้นมาจริงๆ อยู่ 7 คน 7 ในล้านคนก็คือ 99.99% ในการป้องกันเอชไอวี แต่เพร็บไม่ได้ป้องกันท้อง ไม่ได้ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ”

ทางสภากาชาดไทยเคยมีความพยายามจะเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ไหม?

“เคยมีโอกาสเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยของศูนย์บริการโลหิตสภากาชาดไทย ก็จะมีโครงการที่ทำให้เราต้องพิจารณาประเด็นนี้ว่า ทำไมถึงตั้งเกณฑ์อย่างนี้ และเนื่องจากเราทำงานด้าน HIV เขาก็จะถามเรากลับว่า หรือว่าตอนนี้ LGBTQ+ ไม่ติด HIV แล้วคะ?  ก็ต้องตอบว่า ใช่ค่ะ LGBTQ+ ยังติดเชื้อเอชไอวีเยอะกว่ากลุ่มประชากรทั่วไปแน่นอน แต่การที่จะเอาเหตุผลนี้ไปโยงกับการตั้งเกณฑ์แบบนี้ไปตลอดมันคงจะไม่ใช่วิธีที่ง่ายและก็ไม่ได้กันเลือดจากคนที่เขาไม่ใช่ LGBTQ+ ที่เขามีพฤติกรรมเสี่ยงเลย พูดถึงตรงนี้ปุ๊บเขาก็จะกลับไปสู่คำตอบที่ว่า ที่อื่นเขาก็ทำแบบนี้”

“ตอนนี้เนื่องจากไม่ได้อยู่ในคณะกรรมการมาพักใหญ่แล้วก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าการปรับเปลี่ยนของ American Red Cross เองจะมีผลอะไรต่อกาชาดอื่นๆ ในแต่ละประเทศหรือเปล่า และปีที่แล้วมีเสวนาเรื่องนี้ที่ทางศูนย์บริการโลหิตกับทางมูลนิธิคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ได้พูดคุยกันก็ไม่แน่ใจว่าผลจากตรงนั้นมีอะไรที่เป็นแนวโน้มว่าเขากำลังพิจารณาอยู่หรือเปล่า”

เรื่องเด่น
    เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ
      การโฆษณา