Noramon Kalayanamitra
Time Out Bangkok
Time Out Bangkok

รู้จักกับ Yuri โลกคู่ขนานของวาย (Y) ชนที่เล่าเรื่องของหญิงรักหญิง

นิยายและฟิกชันอาจเป็นส่วนหนึ่งสำคัญของโลกใบนี้ ที่ทำให้คนทั้งสองรสนิยมมีตัวตนมากกว่าในโลกความจริง

Kenika Ruaytanapanich
การโฆษณา

หากจะมองอย่างผิวเผิน คนส่วนใหญ่คงรู้จักคำว่า ‘วาย หรือ 'สาววาย' ในฐานะผู้หญิงหรือคนกลุ่มหนึ่งที่ชื่นชอบเวลาเห็นผู้ชายสองคนอยู่ด้วยกัน ทั้งในโลกความเป็นจริงและโลกจำลอง ทว่าแท้จริงแล้วในวงการนี้มีอะไรซับซ้อนและลึกซึ้งกว่าที่ทุกคนเคยรู้ และอาจเป็นอีกสังคมย่อยๆ หนึ่งที่ทุกคนอาจไม่ทันสังเกตว่าเริ่มมีตัวตนและมีอิทธิพลในสังคมมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

วาย (Y) ย่อมาจากคำว่า Yaoi (ยา-โอย) ที่เป็นศัพท์ภาษาญี่ปุ่นซึ่งหมายถึง ชายรักชาย คนไทยนิยมใช้คำนี้จำกัดความหลายๆ สิ่ง (เช่น นิยาย, ฟิคชั่น, ภาพยนตร์, ซีรีส์, การ์ตูน) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับผู้ชายที่ชอบเพศเดียวกันหรือ เกย์ แต่ในความจริงแล้วคำว่า วาย ไม่ได้หมายถึงเพียงชายรักชายอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ เพราะในคำนี้ยังหมายรวมถึง Yuri (ยู-ริ) ที่เป็นกลุ่ม หญิงรักหญิง อีกด้วย ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกใจเหมือนกันที่กลุ่มซึ่งแทบไม่ต่างกันมากกับ Yaoi กลุ่มนี้ ยังไม่ได้รับความสนใจมากเท่าวงการชายรักชาย

Noramon Kalayanamitra
Time Out Bangkok

"เราอยู่ในวงการนี้มา 10 ปีแล้ว ก็ตั้งคำถามกับตัวเองตลอดว่าทำไม Yuri ไม่ได้รับความนิยมเท่า Yaoi สักที หนังที่เล่าถึงหญิงรักหญิงแทบหายไปจากวงการ หลังจากเรื่อง Yes or No อยากรักก็รักเลย (ฉายเมื่อปี 2010) ก็แทบไม่เห็นเรื่องไหนอีกที่สร้างกระแสได้เท่าเรื่องนั้น อาจเพราะผู้ผลิตมองว่าเป็นกลุ่มที่ไม่น่าลงทุน ทั้งที่จริงแล้วคนกลุ่มนี้พร้อมสนับสนุน พวกเราแค่กำลังรอเนื้อหาดีๆ อยู่ อีกอย่างการพูดว่าอยากผลักดัน LGBTQ+ ก็สามารถเล่าผ่านมุมอื่นได้อีกมากมาย ไม่จำเป็นต้องพูดถึงตัว G (เกย์) แค่ตัวเดียว" กระบุง - นรมน กัลญาณมิตร นักเขียนนิยายแนว Yuri ผู้มีผลงานเรื่องสั้น-ยาวรวมกันกว่าร้อยเรื่องเล่าถึงวงการ Yuri ให้เราฟัง

กระบุงเล่าต่อว่าการอยู่วงการนี้มาเกินทศวรรษ ทำให้เธอเห็นการเปลี่ยนแปลงของวงการ Y จากที่อยู่ใต้ดินก็เริ่มเป็นที่สนใจบนสื่อหลักมากขึ้น ซึ่งเราก็เห็นด้วยเช่นกันว่า หลายครั้งวงการนี้ก็ถูกหยิบมาใช้สร้างกระแสเพื่อดึงความสนใจได้ดี โดยเฉพาะการพูดถึงชายรักชาย

แต่แม้จะรวมอยู่ในหมวด Y เหมือนกันแต่ Yaoi และ Yuri กลับมีสารที่ต้องการสื่อที่แตกต่างกัน กระบุงตั้งข้อสังเกตว่านิยาย Yaoi ผู้ผลิตส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ในขณะที่นิยายแนว Yuri มีผู้เขียนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มหญิงรักหญิง วิธีเล่าเรื่องจึงสะท้อนมุมมองของคนชอบเพศเดียวกันที่อาจลึกซึ้งหรือเข้าใจรสนิยมนี้มากกว่า

Natnicha Premdecha
Time Out Bangkok

"แต่ก่อนก็อ่านนิยายชายหญิงทั่วไป ก่อนเริ่มมาอ่าน Yaoi แต่พอได้ลองอ่าน Yuri ก็รู้สึกอินมากกว่า เพราะส่วนตัวชอบความเฟมินีนด้วย ซึ่งนิยายชายรักชายบางเรื่องจะมีบรรยากาศแข็งๆ แบบผู้ชาย แต่พอเป็นแนว Yuri ทั้งตัวละครและเนื้อเรื่องจะมีความอ่อนโยน อ่อนหวาน และนักเขียนบางคนใช้ภาษาดีมาก หรือในเชิงสังคมก็จะมีความเท่าเทียม ไม่มีฝ่ายใดกดขี่อีกฝ่ายเหมือนนิยายชายหญิง"

มิ้ลค์ - ณัฐณิชา เปรมเดชา นักอ่านที่อยู่ในวงการ Y มานานกว่า 10 ปี บอกเช่นกันว่า ปัจจุบันสื่อเกี่ยวกับ Y ค่อนข้างเฟื่องฟูมาก จากการมีผู้ผลิตคอนเทนต์ในตลาดนี้เพิ่มขึ้น ทว่าแม้จะมีคนรู้จักวงการนี้มากกว่าแต่ก่อน Yuri ก็ยังไม่ได้รับความนิยมเท่า Yaoi อยู่ดี

Sudthida Suanpun
Time Out Bangkok

ส่วนใหญ่แล้วคำว่า ฟิคชั่น จะหมายถึง นิยาย ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการรักเพศเดียวกัน ซึ่งความจริงแล้วสองคำนี้มีความแตกต่างกันอยู่ โดยคำว่า ฟิคชั่น จะหมายถึง นิยายที่อิงคาร์แร็กเตอร์ตัวละครมาจากเรื่องจริง หรือใช้คำว่า ยืมอิมเมจ (มาจาก ดารา ศิลปิน นักร้อง หรือตัวละครในการ์ตูน เป็นต้น) ซึ่งเรียกว่าเป็นนิยายอีกรูปแบบหนึ่งก็ไม่ผิด แต่หากเป็น นิยายวาย ส่วนใหญ่จะหมายถึง เรื่องที่คนเขียนสร้างคาร์แร็กเตอร์ตัวละครขึ้นมาเองทั้งหมดเสียมากกว่า

“นิยายเป็นตัวแทนเล็กๆ ที่ช่วยนำเสนอความสัมพันธ์ของ กลุ่มหญิงรักหญิง แต่ละเรื่องมีเล่าถึงสังคมภายนอกในหลายมุมมอง ไม่ใช่แค่เรื่องครอบครัว แต่ยังมีเรื่องเพื่อนและอื่นๆ อีก มันทำให้เราตั้งคำถามด้วยว่า การรักเพศเดียวกันมันผิดขนาดนั้นเลยเหรอ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ผิดเลยที่เราจะชอบใครสักคน แค่อีกฝ่ายเป็นผู้หญิงเหมือนกันเท่านั้นเอง”

มาย - สุทธิดา สวนพันธ์ ก็เป็นอีกคนที่มาเล่าอีกมุมมองของการเป็นผู้หญิงที่ชื่นชอบ Yuri โดยคุณมายบอกอีกว่า การได้อ่านนิยายแนวนี้ไม่ได้ให้เพียงความบันเทิงอย่างที่หลายคนคิดกัน เพราะในฐานะคนที่มีรสนิยมเป็นเลสเบี้ยนแล้ว สิ่งเหล่านี้ทำให้เธอกล้ายอมรับตัวเอง และได้เติบโตทางความคิดมากขึ้นด้วย

“ตั้งแต่เริ่มอ่าน Yuri รู้สึกเหมือนเราได้เพื่อนที่เข้าอกเข้าใจกัน เราได้รับหลายอย่างจากการอ่านไม่ต่างจากหนังสือทั่วไป อีกอย่างมันทำให้เรากล้ายอมรับตัวเองมากขึ้นด้วยว่าชอบผู้หญิง และสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องผิด”

เช่นเดียวกับคุณมิลค์ ที่รู้สึกว่าการได้อ่านนิยายคือโลกอีกใบที่เป็นคอมฟอร์ทโซน เพราะเธอยังไม่เคยบอกครอบครัวว่าตัวเองมีรสนิยมชอบทั้งผู้ชายและผู้หญิง

Y(uri)

เป็นวงการที่แคบ แต่อบอุ่น เยอะ แต่ก็น้อยในคราวเดียวกัน

คุณกระบุงอธิบายคำพูดด้านบนให้เราฟังว่า เนื่องจากคนที่เสพผลงานแนวนี้ค่อนข้างน้อยหากเทียบกับกลุ่มอื่น ทำให้หลายๆ คนรู้จักกันทั้งนักเขียนและนักอ่าน จึงรู้สึกว่าวงการนี้อบอุ่น เพราะทุกคนพูดคุยกันและแบ่งปันเรื่องราวดีๆ กันเสมอ และหากเทียบจำนวนผลงานกับแฟนคลับก็ถือว่ามีสัดส่วนที่เยอะ ทว่าหากนับจากโลกภายนอกหรือบนสื่อหลัก กลับไม่เห็นบทบาทของ Yuri ในภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือสื่ออื่นๆ เหมือนวงการ Yaoi เลย

“เมื่อก่อนนิยาย Yuri จะค่อนข้างแฟนตาซี และส่วนใหญ่ก็เพื่อตอบสนองความต้องการของคนบางกลุ่มที่อยากเห็นผู้หญิงสวยๆ น่ารักๆ อยู่ด้วยกันเท่านั้น ซึ่งตอนนี้สังคม Yuri ได้ข้ามจุดนั้นมาไกลมากแล้ว มันไม่ได้ตอบสนองรสนิยมของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่มันเป็นการสื่อสารว่ามีคนกลุ่มนี้อยู่ในสังคม และนี่คือชีวิตของคนกลุ่มหนึ่งที่มีตัวตนจริงๆ”

ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกใจที่สื่อแนว Yuri ไม่ได้รับความนิยมมากเท่า Yaoi ทั้งที่สองสิ่งนี้มีความคล้ายกันจนแทบเหมือน ต่างกันเพียงเพศสภาพของตัวละครเท่านั้น ส่วนกลุ่มคนอ่านก็เป็นเพศหญิงส่วนใหญ่เหมือนๆ กัน และมีนักเขียน-นักอ่านผู้ชายอยู่บ้าง อีกทั้งนิยายแนวนี้ก็เข้าถึงง่ายกว่าเมื่อก่อน เพราะสามารถหาอ่านได้ทั้งบนเว็บไซต์ อีบุ๊ก หรือแอปพลิเคชั่นนิยาย อย่างเช่น Dek-D, Readawrite, Joylada หรือนักเขียนบางคนก็อาจมีบล็อกส่วนตัว หรือเว็บไซต์เฉพาะกลุ่มที่ให้แฟนคลับติดตามผลงานได้โดยเฉพาะ

Natnicha Premdecha
Time Out Bangkok

คุณมาย : “คนในสังคมติดภาพว่าหากเป็นผู้หญิงก็ต้องคู่กับผู้ชาย เลยทำให้การเป็นหญิงรักหญิงยังไม่เป็นที่ยอมรับ อีกทั้งสังคมไทยตีกรอบให้ผู้หญิงมากกว่าด้วย ว่าต้องแต่งงาน มีครอบครัว เป็นแม่บ้านแม่เรือน และการที่ผู้หญิงสองคนอยู่ด้วยกันก็อาจปกป้องกันไม่ได้เท่าผู้ชายที่แข็งแรงกว่า”

คุณมิลค์ : “บางครั้งนิยายก็สอดแทรกประเด็นความหลากหลายทางเพศได้ไม่เต็มร้อยหรอก ส่วนใหญ่จะนำเสนอความรักของเพศเดียวกันมากกว่า แต่ว่าประเด็น LGBTQ+ มันมีอะไรมากกว่าการรักเพศเดียวกัน มันเป็นคอมมูนิตี้ที่ต้องได้รับความเท่าเทียม การยอมรับในสังคม เพื่อนบางคนอ่าน Yuri ก็ติดภาพว่าต้องเป็นผู้หญิงสวยๆ สองคนรักกัน แต่พอเห็นทอมกลับรู้สึกแปลกๆ ทั้งที่ทอมก็เป็นส่วนหนึ่งของคอมมูนิตี้นี้”

เราเชื่อว่าหลายคนที่อ่านมาถึงตรงนี้อาจยังไม่เคยอ่านนิยายวายกันแน่นอน แต่เราจะไม่บังคับให้ทุกคนต้องอ่านทันทีหลังจบบทความ เพราะอยากให้ทุกคนลองเปิดใจด้วยตัวเองและทำความเข้าใจว่า นิยายวาย เป็นเพียงอีกความชอบของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ซึ่งมีเสน่ห์ในแบบของตัวเองไม่ต่างจากนิยายทั่วไป อีกทั้งนักเขียนก็ต้องใช้ทั้งความสามารถ ศิลปะ ความรอบรู้ ความพยายาม และต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอในการสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาชิ้นหนึ่ง

“ฟิคและนิยายให้อะไรมากกว่าที่เราคิด และเป็นสิ่งที่ทำให้เรากลายเป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีขึ้น เพราะการเขียนไม่ใช่จู่ๆ ก็เขียนได้เลย เราต้องหาข้อมูลหนักมากกว่าจะได้นิยายขึ้นมาเรื่องหนึ่ง เพราะเราต้องรู้ให้เยอะ ต้องพัฒนาตัวเองตลอด เพราะนักอ่านบางคนต้องรู้เยอะกว่าเราแน่นอน เราเลยตั้งใจทำงานให้นักขึ้น เพื่อสร้างผลงานดีๆ มาโดยตลอด”

Noramon Kalayanamitra
Time Out Bangkok

คุณกระบุงพูดในมุมมองของนักเขียน ซึ่งเธอเริ่มเขียนนิยาย Yuri มาตั้งแต่อายุ 13 ปี เพราะค้นพบว่าตัวเองไม่ได้ชอบผู้ชายเช่นเด็กผู้หญิงทั่วไป จึงอยากสร้างสิ่งที่จะช่วยสื่อสารความเป็นตัวเองออกมา ด้วยการเริ่มเขียนนิยาย ซึ่งเมื่อ 10 ปีที่แล้ว นิยายวายถือว่าอยู่ใต้ดินมากๆ บางสำนักพิพม์หรือร้านหนังสือบางแห่งประกาศไม่รับหนังสือแนวนี้ด้วยซ้ำ

“เนื้อเรื่องที่เราเขียนเป็นความรักของผู้หญิงกับผู้หญิง ซึ่งเราไม่เคยจำกัดแนวที่เขียนเลย สามารถเขียนได้หมด ทั้งโรแมนติก โรแมนติกดราม่า ย้อนยุค หรือสะท้อนสังคม เราเขียนทุกอย่างที่จินตนาการได้ เพียงแค่ตัวละครหลักของเราเป็นผู้หญิงทั้งคู่”

หากใครเคยอ่านนิยายวาย อาจสังเกตเห็นว่าส่วนใหญ่จะพูดถึงอุปสรรคในการยอมรับตัวเอง หรือการเปิดเผยตัวตนกับคนรอบข้างอยู่บ่อยๆ ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นเรื่องที่คนในกลุ่ม LGBTQ+ ต้องเผชิญ

คุณมิลค์: “เรามองว่า Yuri ก็เป็นความชอบ ซึ่งคนอื่นอาจไม่อินก็ได้ แต่เราไม่ควรเหยียดความชอบของใคร และการที่กลุ่ม LGBTQ+ มีการเรียกร้องต่างๆ ก็อยากให้มองว่า ทุกคนต้องเท่าเทียมกัน ซึ่งตอนนี้คนกลุ่มนี้ยังไม่ได้รับ ดังนั้น การออกมาเรียกร้องก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว” 

คุณกระบุง: “การเป็น LGBTQ+ ไม่เคยง่าย เริ่มตั้งแต่ขั้นแรกที่คุณต้องยอมรับตัวเองแล้ว อย่างเราที่รู้ตัวตั้งแต่ช่วงวัยเด็กอายุสิบกว่าปี แต่เราเป็นคนที่อิสระมากๆ ในการจะพูดว่าตัวเองเป็นเลสเบี้ยน ซึ่งแต่ละคนก็มีความพยายามฝ่าฟันไม่เท่ากัน เรารู้ว่าสำหรับคนอื่นมันยากแค่ไหน แต่สุดท้ายมันก้เป็นเรื่องที่คนๆ หนึ่งต้องเจอ และก้าวข้ามมันด้วยตัวเอง การเป็น LGBTQ+ ไม่มีใครยากกว่าใคร แต่มันจะง่ายขึ้นถ้าคนรอบข้างสนับสนุนและช่วยให้ผ่านจุดนั้นไปได้”

เรื่องเด่น
    เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ
      การโฆษณา