อาร์ค สาโรจน์ คุณาธเนศ
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok

อาร์ค สาโรจน์: “ปัญหาที่ผูกติดกับ LGBTQ+ มันเกิดได้กับทุกคนไม่ใช่ปัญหาเฉพาะกลุ่ม”

คุยกับ "อาร์ค-สาโรจน์ คุณาธเนศ" จาก Queer Bangkok รายการพอดแคสต์ที่ชวนเราไป “มองเควียร์ให้เคลียร์” ผ่านหลากหลายบทสนทนา

Suriyan Panomai
การโฆษณา

ไม่นานมานี้มีคนแนะนำให้เรารู้จักกับ Queer Bangkok (เควียร์ บางกอก) รายการพอดแคสต์ที่ชวนเราไป “มองเควียร์ให้เคลียร์” ผ่านหลากหลายบทสนทนา โดยมี “อาร์ค-สาโรจน์ คุณาธเนศ” เป็นคนชวนคุย และเราก็ไม่ลังเลที่จะเปิดฟังเพราะมีไม่กี่รายการหรอกที่เราจะได้เสพคอนเทนต์แบบนี้ผ่านหู

เราเห็นอาร์คครั้งแรกบนเวทีประกวดมิสเตอร์เกย์เวิลด์ไทยแลนด์ 2020 แต่ก่อนหน้านั้นเขาอยู่ในแวดวงสื่อมาแล้วไม่ต่ำกว่าสิบปี เป็นทั้งผู้กำกับวิดีโอ คนเขียนบท ช่างภาพ อยู่เบื้องหลังรายการโทรทัศน์ และตอนนี้ก็จัดรายการพอดแคสต์มาได้เกือบปีแล้ว

ฟังอาร์คคุยกับคนอื่นใน Queer Bangkok มาพักนึงและด้วยคอนเซ็ปต์ของรายการเราก็คิดว่าถ้าอยากคุยกับเขาบ้างก็คงไม่มีโอกาสไหนจะเหมาะมากไปกว่าช่วง Pride Month แบบนี้แล้วล่ะ วันนี้เราเลยชวนเขามานั่งคุยและขอสลับหน้าที่ให้เขาเป็นคนตอบบ้าง

“จริงๆ เราคือเกย์ที่ไอเดนติฟายว่า He แต่เราก็อาจจะเป็นเควียร์ที่ไอเดนติฟายว่า He ก็ได้ เพราะเราค่อนข้างมีลักษณะที่ไม่ได้ลงล็อกกับความเป็นเกย์มากแต่มันกระโดดข้ามไปข้ามมา”

“เรารู้สึกว่าบางทีการที่เราบอกว่าเราเป็นเควียร์มันง่ายกว่า เพราะว่าเราไม่ได้ไปตีกรอบอะไร คนพยายามที่จะหาความหมายของคำว่าเควียร์ แต่เรารู้สึกว่าเควียร์มันเป็นคำปลอดภัยที่ใครจะไอเดนติฟายว่าเควียร์ก็ได้”

อาร์คเคลียร์ตัวตนของตัวเอง ก่อนจะพาเราไปมองเควียร์แบบเคลียร์ๆ ผ่านมุมมองของเขา

อาร์ค สาโรจน์ คุณาธเนศ
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok

 ประตูบานแรกของ Queer Bangkok

“จริงๆ เริ่มต้นจากการไปประกวดมิสเตอร์เกย์เวิลด์ซึ่งคอนเซ็ปต์คือ LGBTQAI มันคือทั้งหมดเลย เขาตั้งโจทย์ว่าการที่จะให้ LGBTQAI เป็นที่ยอมรับได้ในวงกว้าง เราต้องทำให้คนที่ไม่ได้อยู่ใน LGBTQAI เห็นความสำคัญของความเท่าเทียม เราต้องสื่อสารออกไปให้คนอื่นเข้าใจว่าเรามีสิทธิเท่าเทียมกัน”

“เราอยู่ในสังคมของ G (เกย์) แต่เราไม่ได้ออกไปเจอเลสเบี้ยน (L) ไม่ได้ออกไปเจอเควียร์ (Q) จริงๆ หรือไบ (B) ทรานส์ (T) เองบางอย่างเราก็ไม่รู้ จุดนั้นเป็นจุดที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันมีอะไรที่เราต้องเปิดตัวเองและเข้าใจคนอื่นอีกมากมาย ขนาดเราเป็นหนึ่งในคอมมูนิตี้เรายังต้องเรียนรู้เลย”

นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของรายการพอดแคสต์ที่นำเรื่องความหลากหลายทางเพศมาเล่าในหลากหลายมิติเพื่อสะท้อนภาพของสังคมเควียร์ในกรุงเทพฯ ซึ่งอาจจะใหญ่พอสำหรับสะท้อนภาพที่กว้างกว่านั้นก็ได้

“เราว่าการยอมรับความหลากหลายในกรุงเทพฯ มีอยู่ค่อนข้างดีเลยล่ะ แต่ว่ายังยึดติดอยู่กับขั้วไบนารี่อยู่ เช่น ถ้าขั้วของคนคนนั้นออกมาทางชายก็ต้องให้มันเด่นชัดไปเลยว่าเป็นชาย ถ้าเป็นหญิงก็ต้องเด่นชัดไปเลยว่าเป็นหญิง”

“เลสเบี้ยน ที่คนเข้าใจง่ายก็คือทอมและทรานส์เมน มันจะถูกกรอบของความเป็นชายครอบว่า ถ้าฉันเป็นผู้ชายฉันก็จะอยู่ยอดพีระมิดของกลุ่มนั้นๆ หรือทรานส์วีเมนเอง ถ้ายิ่งเหมือนผู้หญิงเท่าไหร่ก็จะยิ่งอยู่บนยอดของพีระมิดที่ได้รับการยอมรับมากเท่านั้น คือ LGBTQ+ เองยังยึดติดไบนารี่ความเป็นชายหญิงอยู่”

อาร์ค สาโรจน์ คุณาธเนศ
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok

กำลังจะบอกว่า ในขณะที่อยากให้คนอื่นยอมรับ เรายังไม่ยอมรับกันเองหรือยอมรับตัวเองเลยหรือเปล่า?

“เราว่ามันไม่ใช่การไม่ยอมรับตัวเองหรอก มันเป็นเกราะป้องกันตัวเองมากกว่า บางทีการที่เขาเหมือนไบนารี่ใดไบนารี่หนึ่งมากๆ มันเป็นเกราะป้องกันให้เขาไม่ต้องโดนถาม ไม่ต้องโดนคุกคามว่า เฮ้ย เคยเป็นผู้หญิงมาก่อนเหรอ เคยเป็นผู้ชายมาก่อนเหรอ มันคือเกราะแรกเลยที่ทำให้เขาสามารถเป็นหนึ่งเดียวกับคนทั่วไปได้โดยไม่ต้องถูกเลือกปฏิบัติ”

ความพิเศษที่ไม่ได้วิเศษ

ถ้าอ่านมาตั้งแต่ต้นแล้วอ่านคำว่า เควียร์ สลับกับ เคลียร์ บ้างก็ไม่ใช่เรื่องแปลกและอย่าเพิ่งหงุดหงิดหรือเบื่อกันก่อนจะอ่านจบล่ะ เพราะยังมีเรื่องที่ต้องมองให้เคลียร์อีกเยอะ โดยเฉพาะ ‘การตีตรา’ ซึ่งอาร์คมองว่าเป็นหนึ่งในเรื่องที่ยังไม่เคลียร์ที่สุดที่เกิดขึ้นกับสังคมเควียร์

“จริงๆ มันมีหลายประเด็น แต่สำคัญที่สุดคือเรื่องของการตีตรา เช่น เป็นเกย์ก็จะเกี่ยวข้องกับเอชไอวี ยาเสพติด หรือเป็นทรานส์ใช้ฮอร์โมนก็จะมีปัญหาเรื่องทางจิต”

คนยังมองว่า LGBTQ+ มีอะไรบางอย่างที่พิเศษ แต่เป็นความพิเศษในแง่ที่ไม่ค่อยดี

แค่ถูกตีตราก็ว่าไม่โอเคแล้ว แต่ที่ไม่โอเคยิ่งกว่าคือคำตอบของคำถามที่ว่า ทำไมถึงยังมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอยู่? 

“เราว่ามันคือการศึกษาล้วนๆ เลย มันคือการศึกษาที่ไม่ได้บอกว่ายังมีเพศอื่นๆ อยู่ในโลก เวลาเรียนเพศศึกษาก็มีแค่ผู้ชายผู้หญิง แล้วพอบอกว่าเป็นเกย์เป็นตุ๊ดเป็นแต๋วก็ตลกกัน เวลาครูถามว่า ไหนใครในห้องเป็นตุ๊ดไหม ก็ไม่มีคนยกมือแล้วก็ขำ นึกภาพดิ ตอนเราเรียนยังรู้สึกเป็นแบบนั้นอยู่เลย ดังนั้นมันคือการศึกษาล้วนๆ เลย แทนที่จะสรุปว่าปัญหาต่างๆ ที่ผูกติดกับ LGBTQ+ จริงๆ แล้วมันเกิดได้กับทุกคน ควรจะมองเป็นปัญหาสังคม ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะกลุ่ม

หลากหลายและละเอียดอ่อน

อาร์คพาคนฟังเข้าไปโลกของความหลากหลายผ่านการนั่งคุยกับคนที่มีเรื่องราวชีวิตหรือมุมมองที่น่าสนใจ มีตั้งแต่แดร็กควีน เซ็กซ์เวิร์กเกอร์ นักแสดง ศิลปิน ช่างภาพ ไปจนถึงสาววายและดาว Tiktok อยากรู้ไหมว่าในมุมมองของคนจัดรายการเขาชอบตอนไหนมากที่สุด    

“ชอบตอนเซ็กซ์เวิร์กเกอร์ที่คุยกับตูน เราเห็นคนๆ หนึ่งที่มีการยอมรับตัวเองสูงขนาดนั้น เราภูมิใจแทนเขานะ ตูนสร้างการรับรู้เรื่องสุขภาพทางเพศของสังคมเซ็กซ์เวิร์กเกอร์เอง แต่กลับถูกมองว่าคุณกินเพร็บ (PrEP) ไปตรวจเลือดบ่อย แสดงว่าคุณไปเสี่ยงมาสิ นี่คือมุมมองของเซ็กซ์เวิร์กเกอร์บางกลุ่ม เรารู้สึกว่าเขาเป็นคนแกร่งมากที่สื่อสารออกมาในที่สาธารณะ ในการที่เขาเป็นตัวของตัวเองที่สุด”

“อีกตอนที่ชอบคือทรานส์เมน เราไม่ค่อยรู้จักทรานส์เมน ไม่เคยเจอตัวเป็นๆ แต่เขาบอกว่าจริงๆ แล้วมันไม่ง่ายที่จะเจอทรานส์เมนหรอก เพราะทรานส์เมนก็จะเหมือนผู้ชายทั่วไป แล้วสิ่งที่เขาต้องเจอเวลาที่คนรู้ว่าเขาเป็นทรานส์เมนคือมันหนักหนามาก มันจะมีคำถามเป็นกระบวนตามมาเลยว่าเขาเป็นใคร กินฮอร์โมนไหม ทำไมหน้าตาเหมือนผู้ชาย นึกออกป่ะ”

“เขา Come Out กับครอบครัวแล้ว ยังต้องมา Come Out กับคนที่ไม่รู้จักอีกทุกวัน เรื่องแบบนี้มันทำให้เรารู้ว่าคนในคอมมูนิตี้อีกหลายๆ คน เขามีปัญหาที่ไม่เหมือนเราเยอะมากและเขาต้องต่อสู้ทุกวันเลย”

บางเรื่องฟังแล้วอมยิ้ม บางเรื่องฟังแล้วได้ความรู้ ได้กำลังใจ และบางเรื่องก็มีความละเอียดอ่อนจนไม่สามารถมองข้ามได้ เช่น เรื่อง Chemsex หรือการใช้ยาเสพติดเพื่อกิจกรรมทางเพศซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของการติดเชื้อเอชไอวี

“ยุคนี้มันไม่ควรจะมีคนติดเชื้อเอชไอวีแล้วเพราะความรู้ด้านเอชไอวีตอนนี้มันแน่นมาก ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าต้องใช้ถุงยาง อีกขั้นหนึ่งก็คือใช้เพร็บ แต่มันเกิดอะไรขึ้นถึงยังมีคนติดเชื้อเอชไอวีอยู่ ซึ่ง Chemsex มันคือตัวแปร เพราะมันไม่มีสติไง มันทำให้คุณพลาดได้ง่ายขึ้น”

“จริงๆ LGBTQ+ คนอื่นก็มี Chemsex เข้ามาเกี่ยวข้อง เลสเบี้ยนก็มี มันก็เป็นปัญหาทั่วไป แต่ว่าความเข้มข้นอยู่ในกลุ่มเกย์เยอะเพราะมีสังคมในการใช้แอปพลิเคชั่นที่เปิดเผยเลยว่า ไฮ (High) มันชัดเจนมากจนบางทีเราคิดว่ามันมันเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วเหรอวะ” 

“คนเสพตาย คนขายติดคุก” สโลแกนต่อต้านยาเสพติดที่เราได้ยินกันมานาน ถามว่าใช้ได้ผลไหม  ข่าวจับยาเสพติดรายวันคงตอบคุณได้ดี แต่ที่แย่ไปกว่านั้นคือมันเป็นสโลแกนที่ไม่ได้แสดงให้เห็นว่ายังมีการบำบัดเป็นอีกหนึ่งทางเลือกและไม่จำเป็นต้องตายหรือติดคุกเสมอไป

ถ้าสนใจเรื่องนี้หรืออยากรู้ว่ายังมีใครอีกบ้างที่พร้อมจะยื่นมือเข้ามาช่วยถ้าใครสักคนต้องการเลิกยา ฟังต่อได้ที่คลิปด้านล่าง

 

อาร์ค สาโรจน์ คุณาธเนศ
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok

Queer in Bangkok

“เราอยากเห็นสังคมเควียร์ที่มันธรรมดา ที่มันไม่แยกแล้ว มันไม่ควรจะมีว่าที่นี่เป็นที่หญิงชายหรือแม้แต่สีลมเองเราก็อยากให้มันมีความรู้สึกที่มันต้อนรับเควียร์ทุกคนจริงๆ เมื่อก่อนบ้านเรามีผับเลสเบี้ยนแล้วก็ห้ามผู้ชายเข้า เราอยากให้การแบ่งประเภทแบบนี้มันหายไป อยากให้มันเป็นคอมมิวนิตี้ของเราที่ทุกคนสามารถแจมกันได้” 

เรื่องเด่น
    เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ
      การโฆษณา