เหล่าบุคคลที่มีส่วนทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงความคิดต่อกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ซึ่งไม่เพียงแต่สำหรับสังคมไทย แต่ยังรวมไปถึงสังคมทั่วโลก
ในบรรดารายการแข่งขันเพื่อเฟ้นหานางแบบทั่วโลกตอนนี้ ดูเหมือนว่า The Face Thailand จะเป็นหนึ่งในรายการที่เปิดโอกาสให้กลุ่มคนหลากหลายทางเพศได้เข้ามามีบทบาทมากที่สุด และในซีซั่นล่าสุด แคนดี้-กุลชญา ตันศิริ ก็ได้เป็นสาวข้ามเพศคนแรกของโลกที่คว้าตำแหน่งเดอะเฟซไปครอง
ก่อนจะมาโลดแล่นอยู่บนรันเวย์นางแบบ แคนดี้เป็นเคยผ่านการประกวดนางงาม โดยได้รับตำแหน่งมิสทรานสตาร์ไทยแลนด์ 2018 และมิสทรานสตาร์อินเตอร์เนชันแนล 2018 ที่ประเทศสเปนมาแล้ว จากนั้นจึงผันตัวมาเอาดีด้านการเดินแบบอย่างจริงจังเมื่อประมาณ 1 ปีที่แล้ว และลงแข่งขันรายการ The Face Thailand เพื่อพิสูจน์ฝีมือ รวมทั้งหวังว่ามันจะช่วยเปิดโอกาสด้านการเดินแบบให้แก่เธอ
"เราทุกคนก็เป็นมนุษย์เหมือนๆ กัน"
แคนดี้ยอมรับว่าการเป็นสาวข้ามเพศมีส่วนให้เธอถูกปฏิเสธงานในบางครั้ง “แบบบางทีเราเดินดีนะ แต่พอดูชื่อมีคำนำหน้า ‘นาย’ ก็ไม่เอา ซึ่งเราก็ไม่โกรธนะ เพราะไม่ใช่ว่าลูกค้าทุกคนหรือทุกแบรนด์จะกล้าเปลี่ยนในทันที เขาก็ต้องคิดถึงภาพลักษณ์หรือกลุ่มลูกค้าของเขาด้วย แคนดี้ก็ถือว่าได้ทำงานเยอะอยู่ ดีกว่าสมัยก่อนที่สังคมไทยยังไม่เปิดกว้างเท่านี้ ยุคนั้นนางแบบทรานส์ต้องไปทำงานต่างประเทศกันหมด เพราะเขาเลือกจากความสามารถจริงๆ ” แคนดี้กล่าว
แคนดี้เชื่อว่าการที่เธอชนะเดอะเฟซจะช่วยขับเคลื่อนวงการนางแบบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ แม้ว่าจะไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงแบบทันทีร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะการเปลี่ยนแปลงทัศนคติคนอื่นนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ จำเป็นต้องใช้เวลา และเชื่อว่าต่อไปก็ต้องมีคนอื่นๆ เข้ามาช่วยทำให้สังคมได้เห็นอีกแน่นอน
นอกจากนี้เธอยังเห็นด้วยว่า สื่อมีอิทธิพลกับมุมมองของสังคมที่มีต่อกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ “ตอนนี้มันมี stereotype หลายอย่างมาก เช่นคนที่เป็นเกย์หรือกะเทยจะต้องตลก แต่มันไม่ใช่ทุกคนที่ตลก จากการเลือกนำเสนอเนื้อหาแบบซ้ำๆ แคนดี้อยากให้สื่อนำเสนอเรื่องราวของกลุ่ม LGBTQ ที่หลากหลายมากขึ้น แล้วมันน่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมุมมองไปทีละเล็กละน้อย เพราะเราก็มีหลายด้านเหมือนกับทุกคน”
แคนดี้ทิ้งท้ายว่าเธอไม่ได้อยากเป็นเพียงแรงบันดาลใจ หรือ แค่เป็นตัวแทนความก้าวหน้าของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ แต่เธอมองภาพใหญ่กว่านั้น คือ อยากเป็นตัวแทนของคนที่ตั้งใจทำงาน แล้วอยากสังคมเปลี่ยนไปมองกันที่ความสามารถ บนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมโดยไม่ต้องแบ่งกลุ่มเพศ