เหล่าบุคคลที่มีส่วนทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงความคิดต่อกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ซึ่งไม่เพียงแต่สำหรับสังคมไทย แต่ยังรวมไปถึงสังคมทั่วโลก
ในช่วงวัยเด็ก จูน-วรรษมน ไตรยศักดา ช่างภาพประจำของ The Standard รู้สึกว่าเธอไม่ได้เห็นเรื่องราวที่สะท้อนกลุ่มคนที่เป็นแบบเธอ หรือแม้แต่คนหลากหลายทางเพศบนสื่อในประเทศสักเท่าไร ทำให้เธอต้องตั้งคำถามว่าสิ่งที่เธอเป็นนั้นผิดปกติหรือไม่ กระทั่งเมื่อเธอโตมากขึ้นถึงได้เห็นการนำเสนอที่แตกต่างกันในสื่อต่างประเทศ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่จุดประกายให้เธออยากบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ออกไปผ่านสื่อในประเทศให้มากขึ้น
“ตอนนั้นภาพจำของกลุ่ม LGBTQ มันมีแต่ขาวกับดำ ถ้าไม่ใช่เรื่องราวที่ดีมากก็กลายเรื่องราวที่มันแย่ๆ ไปเลย ในขณะที่เรื่องเกี่ยวกับคนรักต่างเพศกลับมีความหลากหลาย ทั้งรวย จน หรือธรรมดา คือมีความเป็นมนุษย์ ซึ่งเรารู้สึกว่าสื่อไทยยังขาดตรงนี้” จูนบอก
จูนยังให้ความเห็นเกี่ยวกับความก้าวหน้าของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในประเทศไทยตอนนี้ว่า “ดูเผินๆ อาจเหมือนว่าประเทศไทยเริ่มเปิดรับกลุ่ม LGBTQ แล้ว แต่ถ้ามองลึกลงไปในแง่สิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมเราคิดว่ามันยังแย่อยู่ แม้ว่าช่วงปีที่ผ่านมาจะมีการผลักดันพ.ร.บ.คู่ชีวิตก็ตาม เพราะในรายละเอียดของกฎหมายตัวนี้ไม่ได้เท่าเทียมกับกฎหมายสมรสเดิมเลย คืออาจจะได้ความคุ้มครองจากกฎหมายนี้ในระดับหนึ่งแหละ แต่สิ่งที่ LGBTQ อยากได้คือความเท่าเทียม ไม่ได้อยากได้สิทธิพิเศษอะไรเพิ่มเติม”
"สิ่งที่ LGBTQ อยากได้คือความเท่าเทียม ไม่ใช่สิทธิพิเศษอะไร"
จูนเริ่มถ่ายภาพสารคดีเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศเมื่อห้าปีที่แล้ว โดยผลงานของจูนมักเป็นการวิพากษ์สังคม ไม่ว่าจะเป็น 7465 เซ็ตภาพถ่ายของนักเรียนชายในชุดเครื่องแบบนักเรียน โดยแต่ละคนมีอัตลักษณ์ทางเพศแตกต่างกัน หรือเซ็ตภาพถ่ายเชิงสารคดีงานแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันซึ่งจัดโดยโบสถ์สำหรับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในประเทศฟิลิปปินส์
ภาพถ่ายของจูนได้รับการคัดเลือกให้ไปจัดแสดงในหลายประเทศทั่วโลก อาทิ ประเทศไทย เกาหลีใต้ และอังกฤษ และตอนนี้เธอก็กำลังง่วนอยู่กับโปรเจ็กต์ล่าสุด ซึ่งจะไปติดตามชีวิตประจำวันและเรื่องราวของสาวข้ามเพศ เพราะเธอหวังลึกๆ ว่าสิ่งที่เธอทำจะช่วยเพิ่มพื้นที่ให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ ให้คนทั่วไปเกิดคำถามที่อาจจะนำไปสู่การพูดคุยที่มากขึ้น และอาจช่วยเปลี่ยนความเข้าใจของคนอื่นในสังคมได้ไม่มากก็น้อย