A: สวัสดีวันเสาร์ค่ะ ขอคำแนะนำ นึกขึ้นมาได้ว่า อยากทำเต้าหูกินเอง พี่ๆ คนไหนพอแนะนำวิธีทำให้ด้วยนะคะ
B: ก่อนอื่นต้องเลือก (เต้าหู้) ที่ใหม่สด ต้องไม่ซื้อที่ค้างคืนเพราะมันจะเปรี้ยว ทอดเต้าหู้ให้เลือง ทำน้ำจิ้ม 3 รสแบบที่จิ้มปลาหมึกย่าง ใส่ถั่วลิสงคั่วลงไป ถ้าเต้าหู้ใหม่สด จะหอม น่ารับประทาน
ข้างบนคือตัวอย่างบทสทนาการขอสูตรเต้าหู้ทอดในกระทู้หนึ่งของแอปพลิเคชัน Young Happy ที่ถามและตอบโดยผู้ใช้งานวัยเกษียณที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของแอปฯ นี้ (ที่แน่นอนว่าคอนเทนต์รูปดอกไม้สวัสดีประจำวันจะมีมาให้เห็นเยอะเป็นพิเศษ)
ซึ่งบรรยากาศอบอุ่น ไม่มีพิษภัยแบบนี้ ก็ทำให้เราได้อมยิ้มไปกับความน่ารักของสังคมผู้สูงวัยที่ปรับตัวไปตามยุคสมัย
Time Out มีโอกาสได้พูดคุยกันทางโทรศัพท์กับ แก๊พ - ธนากร พรหมยศ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Young Happy ที่บอกกับเราว่า ในชีวิตนี้เราต้องเจอปัญหาสังคมผู้สูงอายุ 2 ครั้ง ครั้งแรกคือวันที่พ่อแม่เราแก่ และครั้งที่ 2 คือวันที่เราแก่เอง แต่ก่อนปัญหาครั้งที่ 2 จะมาถึงตัว เราขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ Young Happy ให้มากขึ้น ตั้งแต่จุดเริ่มต้น ไปจนถึงการเป็นตัวแทนประเทศไทยบนเวทีโลก และบทบาทในการอยู่เคียงข้างสังคมผู้สูงอายุในช่วงวิกฤตโควิด-19
ถึงจะสูงวัยแต่ก็ยังแฮปปี้ได้อีกนาน
จากการทำงานของทีมพัฒนา Young Happy พบข้อมูลที่บอกว่า ผู้สูงอายุในเขตเมืองร้อยละ 60 กำลังเจอปัญหาสุขภาพทางใจ ซึ่งนานวันเข้าจะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพกาย นี่เลยเป็นจุดเริ่มต้นของ Young Happy ที่ต้องการเข้ามาแก้ปัญหาในสังคมผู้สูงอายุที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้น
“เราแบ่งผู้สูงอายุออกเป็น 3 กลุ่ม คือ Active Senior คือยังแข็งแรงดี Home Bound คืออยู่ติดบ้าน และ Bed Bound คือผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง และเราตั้งเป้าหมายไว้ที่การเพิ่มช่วงเวลาของการเป็น Active Senior ออกไปให้นานที่สุด โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือกลุ่มผู้สูงอายุในเขตเมือง เพราะเป็นกลุ่มที่มีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนน้อย อย่างคนที่อยู่ในหมู่บ้าน คอนโด โอกาสออกไปเจอผู้คนหรือทำกิจกรรมนอกบ้านก็มีน้อย” แก๊พ เล่าถึงเป้าหมายในการทำงาน
จากปัญหาที่ว่ามา Young Happy ใช้วิธีแก้ 3 อย่างคือ ทำให้เขาสนุก ทำให้เขามีคุณค่า และสุดท้ายคือทำให้เขาพึ่งพาตัวเองได้
“ทำให้เขาสนุก ด้วยการจัดกิจกรรมที่พาผู้สูงวัยมาเจอกัน โดยเราจะมี Co-Happy Space ที่ฟอร์จูน ทาวน์ แต่ตอนนี้ปิดอยู่ หรือบางทีก็จัดกันที่ห้องประชุมตามแนวรถไฟฟ้า ตั้งแต่เราทำมา 3 ปี ก็มีผู้เข้าร่วมประมาณ 6,000 คนได้ครับ ส่วนการเพิ่มคุณค่าให้ผู้สูงอายุ เราทำในรูปแบบกิจกรรมจิตอาสา ชื่อโครงการ Time Bank ก็คือเราจะพาผู้สูงอายุไปทำประโยชน์ เช่น ไปเป็นผู้ช่วยสตาฟที่บ้านบางแค แล้วก็จะสะสมชั่วโมงไว้เพื่อนำมาแลกเป็นของที่ระลึกเล็กๆ น้อยๆ กับเรา และสุดท้ายคือการทำให้เขาพึ่งพาตัวเอง เราก็ได้สร้างแอปฯ Young Happy ขึ้นมา เพื่อเป็นพื้นที่ให้ผู้สูงอายุได้มาคุยกันในกระทู้ เหมือนเป็นเฟซบุ๊กผสมทวิตเตอร์ มีคอนเทนต์ดีๆ อัปเดต ก็หาอ่านในนั้นได้เลยครับ”
ฟังคนทำเขาพูดอย่างเดียวไม่พอ เราเลยดาวน์โหลดแอปฯ Young Happy มาใช้ดู เริ่มต้นที่การลงทะเบียนเหมือนแอปฯ อื่นๆ เสร็จแล้วก็ลงชื่อเข้าใช้ได้เลย ซึ่งแอปฯ จะให้เราเลือก ‘ชุมชน’ ที่จะเข้าใช้งาน แบ่งเป็นชุมชนไทย ชุมชนญี่ปุ่น และชุมชนนานาชาติ เพราะ Young Happy ต้องการอยู่เคียงข้างผู้สูงอายุทุกเชื้อชาติที่อยู่ในประเทศไทย
“จริงๆ กลุ่มผู้ใช้งานหลักของเราก็คือผู้สูงอายุคนไทยครับ แต่เรากำลังเริ่มทำคอมมูนิตีใหม่สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุชาวต่างชาติที่มาใช้ชีวิตหลังเกษียณที่เมืองไทย ซึ่งชาวญี่ปุ่นที่เกษียณอายุแล้วส่วนใหญ่เขาเลือกที่จะมาอยู่เมืองไทยเป็นอันดับ 2 รองจากมาเลเซีย เราก็เลยเปิดเป็น 2 ฟีเจอร์เพิ่มเติมคือญี่ปุ่นกับนานาชาติ ส่วนคอนเทนต์ในแต่ละภาษาช่วงแรกอาจจะเป็นการแปลจากภาษาไทยไปก่อน แต่ในอนาคตเราตั้งใจว่าจะทำให้แตกต่างกันไปเลย เพราะแต่ละชุมชนก็จะมีความต้องกางที่ต่างกัน”
ตัวแทน social enterprise ไทยบนเวทีโลก
เมื่อไม่นานมานี้ Young Happy ได้เป็นตัวแทนวิสาหกิจเพื่อสังคมไทยไปร่วมแข่งขัน Chivas Venture เพื่อเฟ้นหาสุดยอดธุรกิจเพื่อสังคมและชิงเงินรางวัล 1 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีคู่แข่งที่มาจาก 25 ประเทศทั่วโลก ซึ่งปกติการแข่งขันทุกปีต้องไปนำเสนอแผนธุรกิจต่อทีมคณะกรรมการที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด แล้วไปแข่งรอบสุดท้ายที่โตรอนโต น่าเสียดายที่ปีนี้มีการระบาดของโรคโควิด-19 การแข่งขันเลยถูกยกเลิกไปและทางผู้จัดก็ได้นำรางวัล 1 ล้านเหรียญสหรัฐมาแบ่งให้ทั้ง 26 ทีมที่เข้ารอบสุดท้าย เพื่อนำไปสร้างประโยชน์ให้สังคม
แต่ยังไงก็ถือว่า Young Happy ได้พิสูจน์ศักยภาพจากการแข่งขันในประเทศแล้ว ซึ่งแก๊พมองว่าจุดแข็งของ Young Happy คือเรื่องของปัญหาที่พวกเขาอยากแก้ไข เพราะมันเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับทุกคน และมีความน่าสนใจตรงที่ใช้เทคโนโลยีมาผสมกับการแก้ปัญหานี้ ซึ่งเงินทุนจำนวน 40,000 เหรียญสหรัฐ หรือราว 1,200,000 บาท ที่ได้มา Young Happy ก็จะนำมาพัฒนาด้านเทคโนโลยีให้สามารถใช้งานได้ดีขึ้น
ภารกิจพาวัยเก๋าสู้วิกฤตโควิด-19
ความพยายามของ Young Happy คือการสร้างสังคมผู้สูงอายุด้วยการจัดกิจกรรมให้พวกเขาได้ออกมาเจอกัน ทำอะไรสนุกๆ ร่วมกัน เพื่อลดการอยู่ติดบ้านและติดเตียง แต่ในช่วงที่เราต้องอยู่บ้านเพื่อหยุดเชื้อโควิด-19 จึงน่าสนใจว่า Young Happy มีการปรับตัวยังไงกับโจทย์นี้
“การกักตัวนานๆ สำหรับผู้สูงอายุก็อาจจะมีผลกระทบในด้านสภาพทางใจ อาจจะเกิดภาวะเหงา ซึมเศร้าได้ เพราะฉะนั้นบทบาทของ Young Happy ตอนนี้ก็คือจากที่เมื่อก่อนเราจัดกิจกรรมออฟไลน์ ก็เปลี่ยนมาเป็นกิจกรรมออนไลน์แทน แล้วผลตอบรับก็ออกมาดี เพราะช่วงนี้ผู้สูงอายุเองก็ถูกเทคโนโลยีทำให้เขาต้องปรับตัว เขาก็เริ่มมาใช้กันเยอะขึ้น แล้วก็หลายๆ คนก็รู้สึกดีตรงที่ว่า เขาก็ยังมีกิจกรรมอะไรให้ทำ ระหว่างที่เขาอยู่บ้าน”
กิจกรรมออนไลน์ที่แก๊พพูดถึง จะจัดขึ้นที่เพจ ยังแฮปปี้ YoungHappy และแอปฯ Young Happy ที่ผ่านมามีกิจกรรมที่น่าสนใจหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น กิจกรรม ‘สูงวัยทำได้ สู้โควิด-19’ ที่ชวนผู้สูงอายุทำภารกิจออนไลน์ให้สำเร็จภายใน 30 วัน หลักๆ ก็จะเป็นกิจกรรมง่ายๆ เพื่อเพิ่มความแอ็กทีฟช่วงที่อยู่บ้าน เช่น เดินออกกำลังกายที่บ้าน การแกว่งแขนลดโรค การดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว การทำงานบ้าน ดูแลสวน ฯลฯ พอทำเสร็จก็ถ่ายรูปเก็บไว้เป็นหลักฐาน แบบนี้...
นอกจากนี้ก็ยังมีกิจกรรม Young Happy Live หรือการไลฟ์บนเพจ ยังแฮปปี้ YoungHappy ที่มีทั้งการให้ความรู้อย่างการสอนทำหน้ากากผ้าด้วยตัวเอง แนะนำอาหารสุขภาพเพื่อสร้างภูมิต้านทานสู้โควิด-19 และให้ความบันเทิงผ่านเสียงเพลงในกิจกรรมมนต์เพลง โควิด-19 โดยทีมงาน Young Happy จะมาเล่นกีตาร์ ร้องเพลง และชวนพูดคุยกันไปเพลินๆ
การสื่อสารกับผู้สูงอายุผ่านเทคโนโลยี แก๊พบอกว่าก็มีอุปสรรคอยู่บ้าง แต่ด้วยความที่กลุ่มเป้าหมายของ Young Happy หลักๆ คือกลุ่มชนชั้นกลาง เพราะฉะนั้น เรื่องเทคโนโลยีจึงไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัว เพียงแต่ว่าอาจจะยังใช้ไม่คล่อง เพราะฉะนั้นสิ่งที่ Young Happy ทำก็คือปรับให้แอปฯ เฟรนด์ลี่กับผู้ใช้มากที่สุด ไม่ซับซ้อน ใช้งานง่าย ถ้าเป็นคอนเทนต์ ก็ทำให้น่ารัก อ่านสนุก และไม่ยาวจนเกินไป
ทุกวันนี้ Young Happy สื่อสารกับกลุ่มผู้สูงอายุในเขตเมืองอย่างกรุงเทพฯ และเชียงใหม่เป็นหลัก มีผู้ดาวน์โหลดและใช้งานแอปฯ ประมาณ 20,000 คน ส่วนในอนาคตแก๊พก็ตั้งใจอยากจะขยายการดูแลผู้สูงอายุไปตามหัวเมืองต่างๆ เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและเพิ่มจำนวน Active Senoir ให้มากขึ้นตามเป้าหมายที่วางไว้ตั้งแต่ต้น