สีลมคือหนึ่งในย่านที่มีชีวิตชีวาที่สุดของกรุงเทพฯ การมีลูกค้าแวะเวียนเข้าออกร้านอยู่ตลอดทั้งวันทั้งคืนคือบรรยากาศที่ร้านอาหารและบาร์ทุกแห่งในย่านนี้คุ้นเคย เช่นเดียวกับร้าน Nineteens Up ร้านอาหารกึ่งบาร์ในสีลมซอย 19 ที่ในยามปกติก็จะมีลูกค้ามากินข้าว มานั่งดื่ม ฟังดนตรีสดชิลๆ ตั้งแต่เปิดร้านตอน 11 โมง ไปจนถึงปิดร้านประมาณตี 1 แต่หลังการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาร่วมเดือน วันนี้ทุกอย่างก็ดูผิดหูผิดตาไปมาก
ร้านยังไปต่อได้แต่ก็ซบเซาไปตามสถานการณ์ ฟอย - อาริน กล้วยไม้ ผู้จัดการร้าน Nineteens Up ต้องใช้ทางออกเดียวกันกับทุกร้าน นั่นคือปรับรูปแบบการขาย จากที่แต่ก่อนไม่ได้เน้นเรื่องบริการเดลิเวอรีมากนัก เพราะที่ร้านขายบรรยากาศด้วย ลูกค้าต้องมานั่งกินนั่งดื่มที่ร้านถึงจะได้อรรถรส แต่พอเป็นแบบนี้ก็ต้องมาทำกันจริงจังมากขึ้น และความจริงจังครั้งนี้ก็มาพร้อมกับ 2 แคมเปญออนไลน์ที่ช่วยทั้งร้านและช่วยนักดนตรีที่ถือว่าเป็นเพื่อนของร้านด้วย
แคมเปญแรกคือการพยุงร้านในชื่อ ‘โครงการฝากท้องไว้กับ Nineteens Up’ ที่เป็นลักษณะของการผูกปิ่นโต ให้ลูกค้าสั่งอาหารหลายๆ มื้อทีเดียว แล้วจะมีคนไปส่งให้ทุกวัน เหมาะกับช่วงกักตัว ฟอยพูดถึงรายละเอียดแคมเปญให้เราฟังว่า
“ด้วยความที่ช่วงนี้มีเรื่องของการกักตัว ส่วนใหญ่ก็จะ 14 วัน เราก็เลยคิดเป็นคอร์สอาหารที่ราคาไม่ได้แพงมาก เพื่อช่วยให้คนที่ต้องกักตัวไม่ต้องออกมาข้างนอกเลย แต่เราจะไปส่งอาหารให้ทุกวัน วันละ 3 มื้อ ก็ให้เขาซื้อเป็นคอร์สไปเลย มีทั้ง 3 วัน ราคา 799 บาท ได้อาหาร 9 มื้อ 7 วัน 2,222 บาท 25 มื้อ และ 14 วันก็จะอยู่ที่ 4,444 บาท ได้ 50 มื้อ”
สำหรับขั้นตอนการสั่งซื้อก็ไม่มีอะไรซับซ้อน ลูกค้าแค่ต้องกรอกข้อมูลในกูเกิลฟอร์ม ในนั้นก็จะมีเมนูให้เลือก วันไหนอยากกินอะไรก็เลือกได้วันละ 2-3 เมนู ซึ่งก็จะเป็นเมนูอาหารไทยปกติที่ทางร้านทำขายอยูู่แล้ว จากนั้นก็แจ้งชื่อและเบอร์โทรทางไลน์ @nineteens.up หรืออินบ็อกซ์ไปที่เพจ Nineteens Up (ติดต่อช่วยสมทบค่าอาหารก็ได้นะ) แล้วแอดมินจะรวมยอดให้ โดยมีค่าอาหารตามคอร์สที่เลือกบวกกับค่าส่งวันละ 60 บาท สำหรับระยะทางห่างจากร้าน 6 กิโลเมตรขึ้นไป และส่งฟรีในระยะ 1-5 กิโลเมตร พอชำระเงินเสร็จก็รอรับอาหารที่บ้านในวันถัดไปได้เลย
โครงการฝากท้องไว้กับ Nineteens up นอกจากจะช่วยให้ร้านยังมีรายได้จากการขายอาหารแล้ว ยังช่วยให้พนักงานหลายคนที่ขี่มอเตอร์ไซค์เป็นมีรายได้จากการผันตัวมาเป็นพนักงานส่งอาหารด้วย
“ส่วนหนึ่งเราก็คิดแคมเปญนี้ขึ้นมาเพราะเราก็มีเด็กเสิร์ฟเยอะแยะ แล้วพอร้านมันต้องปิดเขาก็ไม่มีงานทำ เราก็เลยเปลี่ยนให้คนที่สามารถขี่มอเตอร์ไซค์ได้มาช่วยเดลิเวอรีอาหาร แทนที่จะไปใช้บริการแอปฯ เดลิเวอรีที่หัก GP เราซึ่งบางทีมันก็โหดร้ายเกินไป เราก็เลยพยายามส่งเอง ขายเอง แต่ส่งผ่านแอปฯ เราก็มีเหมือนกันนะ แค่เพิ่มส่วนนี้ขึ้นมาเพื่อให้เด็กเรามีรายได้ด้วย เขาอาจจะไม่ได้เท่าปกติแต่ก็ดีกว่าไม่ได้เลย” ฟอยเล่าเสริม
อีกหนึ่งแคมเปญคือ ‘ศูนย์ช่วยเหลือฉุกเฉินนักดนตรี’ ที่ Nineteens Up ได้ช่วยเหลือกลุ่มนักดนตรีซึ่งเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่กำลังเดือดร้อน โดยแคมเปญนี้ทางร้านจะให้นักดนตรีกินข้าวฟรีวันละ 100 สิทธิ์ เพียงลงทะเบียนผ่านกูเกิลฟอร์มที่ทางร้านทำไว้ ระบุชื่อ ชื่อวง ที่อยู่ เบอร์โทร ช่วงเวลาที่เข้ามารับอาหาร อาหารที่แพ้ เลือกเมนูอาหาร 2 เมนู เสร็จแล้วจะมีคนที่ร้านติดต่อไปคอนเฟิร์ม
“ด้วยความที่ร้านเรามีนักดนตรีที่รู้จักกันเยอะจนเหมือนเป็นเพื่อนเรา พอเขาไม่มีรายได้จากเราเขาก็ลำบากเหมือนกัน ก็เลยคิดว่าเราน่าจะมีโครงการแบบนี้ ให้เขามากินข้าวฟรีที่ร้านเราได้ จะเป็นนักดนตรีที่ไหนก็ได้ สามารถมากินฟรีได้หมด หนึ่งวันเราก็ให้ร้อยสิทธิ์ คือเราสร้างเป็นกูเกิลฟอร์มไว้ให้เขาลงทะเบียน แล้วก็ขับรถมารับเอง หรือส่งให้ก็ได้แต่ต้องเสียค่าส่งเอง เพราะเราก็ไม่ได้มีทุนจากที่ไหนเป็นทุนจากร้านเลย” ผู้จัดการร้านพูดถึงแคมเปญ และฝากกำลังใจไปถึงเพื่อนร่วมธุรกิจว่า
“เราก็แค่ต้องยอมรับว่ามันเกิดอะไรขึ้น แล้วก็อาจจะต้องเริ่มมองหาว่า มันยังมีอะไรที่เรายังทำได้อีก เราจะทำยังไงได้บ้างให้ลูกน้องเรายังมีรายได้และเราไม่ได้ทิ้งเขาไป ก็ต้องสู้ไป ทุกคนก็คงเดือดร้อนกันหมดเนาะ เพราะมันก็เป็นสิ่งที่มันเกิดขึ้นโดยที่เราก็ไม่ได้ทันตั้งตัวว่ามันจะเป็นแบบนี้ แล้วก็ไม่รู้ว่ามันจะเป็นแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน ก็แค่ต้องยอมรับมันว่าตอนนี้เป็นแบบนี้ แต่มันก็คงมีสักช่องทางที่เรายังพอทำอะไรได้”