วัดมังกรกมลาวาส
Tanisorn Vongsoontorn/Time Out BangkokWat Mangkorn Kamalawat
Tanisorn Vongsoontorn/Time Out Bangkok

หนึ่งวันรอบสถานีวัดมังกรกับความเป็น ‘ที่สุด’ ในวัด ศาลเจ้า และชุมชนย่านไชน่าทาวน์

เปลี่ยนจุดมุ่งหมายของการมาเยือนย่านมังกรทองแห่งนี้จากการกิน กิน กิน แล้วก็กิน มาเป็นการสำรวจร่องรอยประวัติศาสตร์ของชุมชนจีนบนแผ่นดินไทย

Suriyan Panomai
การโฆษณา

ในบรรดาสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อไม่นานมานี้ ‘สถานีวัดมังกร’ คือหนึ่งในสถานีที่มีความโดดเด่นมาก ‘ที่สุด’ จากการออกแบบตัวสถานีทั้งภายในและภายนอกด้วยสถาปัตยกรรมจีนผสมยุโรป หรือที่เรียกว่าสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีส เพื่อให้สอดคล้องกับชุมชนชาวจีนที่อยู่รอบสถานีมาตั้งแต่อดีต

วัดมังกร

Tanisorn Vongsoontorn/Time Out Bangkok

และที่ทำให้ผู้โดยสารหลายคนต้องสวมวิญญาณนายแบบนางแบบไปโพสต์ท่าถ่ายรูปกันแทบทุกมุมของสถานีก็คือการตกแต่งผนังด้วยภาพวาดสไตล์จีนร่วมสมัย ในคอนเซ็ปต์ ‘ดินแดนหอมหมื่นลี้’ มีทั้งภาพมังกร ภาพชาวจีนโบราณ และภาพสัตว์แบบจีนๆ รายล้อมภายในสถานี

วัดมังกร

Tanisorn Vongsoontorn/Time Out Bangkok

ทั้งหมดเป็นผลงานของ ยูน–ปัณพัท เตชเมธากุล ศิลปินนักวาดไทยที่เคยร่วมงานกับ Gucci มาแล้ว จะยืนมุมไหน โพสต์ท่าอะไรก็รอดทุกรูปเพราะมีแบ็กกราวนด์ปังๆ มาช่วยเพิ่มสีสัน แถมยังมีเทคโนโลยี AR มาเป็นลูกเล่นสนุกๆ อีก

วัดมังกร

Tanisorn Vongsoontorn/Time Out Bangkok

บนเพดานตรงทางขึ้น-ลงสถานีถ้าแหงนขึ้นไปมองก็จะเห็นว่ามันถูกออกแบบมาให้เป็นคลื่นคล้ายกับท้องมังกร เกิดมาเคยลอดแต่ท้องช้าง วันนี้ได้ลอดท้องมังกรแล้ว ฮ่าๆ ๆ ๆ ส่วนผนังสองฝั่งของทางขึ้น-ลง แทนที่จะปล่อยโล่งให้เสียชื่อสถานีที่สวยที่สุด ก็ถูกตกแต่งด้วยลายประแจจีน ประดับภาพมังกรและดอกบัวให้คล้ายกับวัดมังกรกมลาวาส วัดสำคัญของย่านนี้และเป็นที่มาของชื่อสถานีด้วย

นี่ขนาดยังไม่ทันออกจากสถานีก็ได้ไปหลายรูปแล้วนะ แต่ขอบอกไว้ก่อนว่าสถานที่รอบๆ ก็สวยและมีเสน่ห์ไม่น้อยไปกว่ากัน ยิ่งไปกว่านั้นคือทุกที่ต่างมีเรื่องราวน่าสนใจ หลายที่ก็ซ่อนความเป็น ‘ที่สุด’ ไว้แต่หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อน เพราะมาย่านนี้ทีไรก็ตรงไปหาของกินที่เยาวราชทุกที

ถ้าอย่างนั้นวันนี้เราลองเปลี่ยนจุดมุ่งหมายของการมาเยือนย่านมังกรทองแห่งนี้ จากการกิน กิน กิน แล้วก็กิน มาเป็นการเดินสำรวจร่องรอยประวัติศาสตร์ ชมความงามของศิลปะจีนและความเป็นที่สุดในด้านต่างๆ ที่มีอยู่ในวัด ศาลเจ้าและชุมชนในย่านไชน่าทาวน์กันดีกว่า

ที่อยู่: ถนนเจริญกรุง แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์

เวลาเปิด-ปิด: 06.00 - 00.00 น.

ชุมชนเจริญไชย

แหล่งค้าขายเครื่องไหว้เจ้าที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพฯ

Charoen Chai เจริญไชย
Saranyu Nokkaew/Time Out Bangkok

ทันทีที่ลอดท้องมังกรขึ้นมาก็จะเจอ ‘ชุมชนเจริญไชย’ เป็นชุมชนเก่าแก่ในย่านนี้ แต่เห็นเก่าๆ อย่างนี้ก็อย่าเพิ่งเดินผ่านไปเฉยๆ ล่ะ เพราะนี่คือพื้นที่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ทั้งทางสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมจีนที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย

ย้อนกลับไปเมื่อร้อยกว่าก่อน ชาวจีนได้อพยพเข้ามาที่พื้นที่นี้พร้อมภูมิปัญญา ความเชื่อและประเพณีวัฒนธรรม ถ้าเปิดแมปดูก็จะเห็นว่ารอบๆ ชุมชนมีทั้งศาลเจ้าและวัดจีนอยู่หลายแห่งเลย และชาวจีนในยุคนั้นก็ได้นำความรู้ที่มีมาหาเลี้ยงชีพจนเกิดเป็นย่านการค้ากระดาษไหว้เจ้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่มาวันนี้ก็ยังเห็นชาวบ้านนั่งพับกระดาษสีทองทำเครื่องไหว้เจ้ากันอยู่เลย

ถึงจะเก่าแก่นับร้อยปีแต่บ้านทุกหลังในชุมชนเจริญไชยก็ยังแข็งแรงคงทน ยังเป็นทั้งที่อยู่อาศัยและที่ค้าขายของชาวบ้านเหมือนแต่ก่อน และที่แข็งแรงไม่แพ้กันก็คือพลังของชาวบ้านที่อยากรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชุมชนชาวจีนแห่งนี้ไว้ เพราะถึงภาครัฐจะไม่ได้เข้ามาดูแลเท่าที่ควรแต่ชาวบ้านก็ต่อสู้จนรอดพ้นแรงกดดันจากการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีวัดมังกรมาได้และก่อตั้ง ‘กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูย่านเจริญไชย’ ขึ้นมาในปี 2553 พร้อมจัด ‘งานไหว้พระจันทร์เจริญไชย’ ขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อเผยแพร่ประเพณีที่นับวันยิ่งหาดูได้ยาก ซึ่งปีนี้ก็เพิ่งจัดไปเมื่อวันที่ 13 กันยาที่ผ่านมานี่เอง

ทุกวันนี้ชุมชนเจริญไชยอยู่ในความดูแลของมูลนิธิจุมพฏ-พันธุ์ทิพย์ ประธานมูลนิธิคนปัจจุบันก็คือหม่อมราชวงศ์สุขัมพันธุ์ บริพัตร ส่วนการอนุรักษ์และฟื้นฟูย่านเจริญไชยก็กำลังก้าวไปข้างหน้า โดยตึกแถวร้อยปีกำลังได้รับการตรวจสอบทางวิศวกรรมศาสตร์เพื่อวางแผนซ่อมแซมต่อไป

ที่อยู่: ตรอกเจริญไชย ถนนพลับพลาไชย แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย

เวลาเปิดปิด: 07.00 - 18.30 น.

บ้านเก่าเล่าเรื่อง

พิพิธภัณฑ์จากพลังชุมชนแห่งเดียวในย่านไชน่าทาวน์

บ้านเก่าเล่าเรื่อง

Tanisorn Vongsoontorn/Time Out Bangkok

พิพิธภัณฑ์นี้ตั้งอยู่ในชุมชนเจริญไชย พูดง่ายๆ ก็คือเป็นบ้านหลังหนึ่งของชุมชนนั่นแหละ แต่ก่อนเป็นบ้านของคณะงิ้วที่ถูกปล่อยทิ้งร้างก่อนจะปรับเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่จัดนิทรรศการบอกเล่าประวัติศาสตร์ของชุมชนเมื่อปี 2554 เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกและแห่งเดียวในย่านไชน่าทาวน์ที่ออกแบบและดำเนินการโดยคนในท้องถิ่น

บ้านเก่าเล่าเรื่อง

Tanisorn Vongsoontorn/Time Out Bangkok

บ้านหลังนี้เป็นบ้านสองชั้น ชั้นล่างมีแค่ห้องน้ำกับบันได ไม่เหมือนหลังอื่นๆ ที่จะมีพื้นที่อยู่อาศัยได้ทั้งสองชั้น พอขึ้นไปบนชั้นสองก็จะคือพื้นที่นิทรรศการแสดงประวัติชุมชนเจริญไชย แสดงข้าวของเครื่องใช้ของคณะงิ้วและให้ความรู้เกี่ยวกับเทศกาลสำคัญของคนไทยเชื้อสายจีน ลักษณะเป็นห้องขนาดใหญ่ ส่วนหนึ่งของห้องแบ่งซอยเป็นชั้นลอยอีกหนึ่งชั้น (เรียกว่าชั้นสองครึ่งละกัน) สะท้อนถึงความแออัดของการอยู่อาศัยของครอบครัวชาวจีนในอดีต

บ้านเก่าเล่าเรื่อง

Tanisorn Vongsoontorn/Time Out Bangkok

ด้วยความที่ชุมชนดูแลกันเองหน้าตาของบ้านเก่าเล่าเรื่องจึงไม่ได้ดูเหมือนกับพิพิธภัณฑ์ทั่วไป แต่ถ้าได้มาแถวนี้ก็ไม่อยากให้เดินผ่านบ้านหลังนี้ไปเฉยๆ ลองแวะเข้ามาทำความรู้จักชุมชนเก่าแก่กันสักหน่อยก็ยังดี

ที่อยู่: 32 ตรอกเจริญไชย ถนนพลับพลาไชย แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย

เวลาเปิด-ปิด: 07.00 - 18.30 น.

ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ 

หนึ่งในศาลเจ้าที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

บ้านเก่าเล่าเรื่อง

Tanisorn Vongsoontorn/Time Out Bangkok

ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะคือหนึ่งในศาลเจ้าที่อยู่รอบๆ ชุมชนเจริญไชย ซ่อนตัวในซอยเจริญกรุง 16 ในวัดจะมีคำจารึกเป็นภาษาจีนบอกว่าสร้างมาตั้งแต่ ปี 2201 ถ้านับดีๆ ทุกวันนี้ก็ 361 ปีเข้าไปแล้ว แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่าศาลเจ้าน่าจะเริ่มสร้างพร้อมๆ กับชุมชนซึ่งไม่ได้มีอายุมากขนาดนั้น ส่วนป้ายจารึกน่าจะย้ายมาไว้ที่ศาลเจ้าทีหลังมากกว่า แต่ก็ถือว่าเป็นศาลเจ้าที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย

ตัวศาลเจ้าเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนแต้จิ๋ว เสาเป็นรูปทรงเม็ดข้าวมีมังกรพันรอบ ภายในศาลมีแท่นบูชาเล่งบ๊วยเอี๊ยะหรือเทพเจ้าหางมังกรเป็นประธานพร้อมกับภริยา ฝั่งซ้ายตั้งแท่นบูชาเทพเจ้ากวนอูและฝั่งขวาเป็นแท่นบูชาพระแม่สวรรค์

เล่งบ๊วยเอี๊ยะ
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok
เล่งบ๊วยเอี๊ยะ
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok
เล่งบ๊วยเอี๊ยะ

Tanisorn Vongsoontorn/Time Out Bangkok

ความน่าสนใจคือมีวัตถุโบราณหลายชิ้นถูกเก็บไว้ที่นี่ ทั้งป้ายจารึกโบราณสมัยราชวงศ์ชิงและราชวงศ์หมิง มีระฆังโบราณที่สร้างขึ้นในสมัยจักรพรรดิเต้ากวง แห่งราชวงศ์ชิง และมีกระถางธูปทองเหลืองพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่ามีพระปรมาภิไธย ย่อ จปร. สลักไว้ที่กระถางธูปนี้ด้วย

ที่อยู่: ซอยเยาวราช 6 ถนนเยาวราช แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์

เวลาเปิด-ปิด: 07.00 - 17.00 น.

ศาลเจ้าหลีตี๊เมี๊ยว

ที่สุดของเซียมซีรู้ชะตาแล้วยังได้ยาไปกิน

หลีตี๊เมี๊ยว

Tanisorn Vongsoontorn/Time Out Bangkok

ห่างจากศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะไม่ไกล มีศาลเจ้าลัทธิเต๋าอยู่ที่หนึ่งคือ ศาลเจ้าหลีตี๊เมี๊ยว แห่งย่านพลับพลาไชย สร้างขึ้นราวปี 2445 แต่ที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ไม่ใช่แบบที่ดั้งเดิมเพราะศาลเจ้าหลีตี๊เมี๊ยวเคยถูกไฟไหม้หนักเมื่อปี 2531 สมาคมฮากกา (จีนแคะ) เลยสร้างขึ้นมาใหม่และได้ผสมผสานสถาปัตยกรรมระหว่างศาลเจ้าและพระราชวังจีนเข้าด้วยกัน สังเกตตรงทางขึ้นจะเป็นบันไดสูงหลายขั้นแบบที่เห็นในหนังจีนย้อนยุคหลายๆ เรื่องเลย

หลีตี๊เมี๊ยว

Tanisorn Vongsoontorn/Time Out Bangkok

ศาลเจ้าหลีตี๊เมี๊ยวมีเทพประธานคือ ลื่อทงปิน เทพโป๊ยเซียนองค์ที่ 3 และยังมีทั้งเจ้าแม่กวนอิม พระสังกัจจายน์ และพระพุทธรูปจำลองประดิษฐานอยู่หลายองค์ เช่น หลวงพ่อโสธร พระพุทธชินราช ภายในศาลเจ้ามีจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพวาดแบบจีน บนเพดานก็มีโคมไฟและป้ายข้อความภาษาจีนแขวนประดับไว้อย่างสวยงาม

หลีตี๊เมี๊ยว

Tanisorn Vongsoontorn/Time Out Bangkok

นอกจากจะได้กราบไหว้เทพเจ้ากันตามศรัทธาแล้ว ที่นี่ยังมีอีกหนึ่งไฮไลต์เป็นการเสี่ยงเซียมซียา มีทั้งยาบุรุษ ยาสตรี ยากุมาร ยาจักษุ ยาภายนอก ขั้นตอนก็เหมือนกับการเสี่ยงเซียมซีทั่วไปคือตั้งจิตอธิษฐาน ซึ่งที่นี่จะเน้นเรื่องสุขภาพ เสร็จแล้วก็เขย่ากระบอกเซียมซี ได้เลขอะไรก็นำไปให้ซินแสที่ห้องจ่ายยา ถ้ามีปัญหาสุขภาพก็จะได้ยาสมุนไพรจีนกลับบ้านไปแบบฟรีๆ

ที่อยู่: 449 ถนนพลับพลาไชย แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย

เวลาเปิด-ปิด: 07.00 - 17.00 น.

วัดมังกรกมลาวาส

วัดที่ขึ้นชื่อเรื่องการแก้ปีชงที่สุด

วัดมังกร

Tanisorn Vongsoontorn/Time Out Bangkok

แก้ปีชงที่ไหนดี? ถ้าค้นหาคำนี้ในกูเกิล ชื่อวัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่ ก็จะขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆ เพราะวัดนี้เป็นที่ประดิษฐานของเทพไท้ส่วยเอี๊ย ที่ชาวจีนเชื่อว่าเป็นเทพเจ้าผู้คุ้มครองดวงชะตา มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนในแต่ละปีเลยทำให้วัดนี้กลายเป็นจุดหมายยอดนิยมของคนปีชงที่ต้องการเสริมดวงชะตา

วัดมังกรฯ ตั้งอยู่ระหว่างซอยเจริญกรุง 19 และ 21 สร้างเมื่อปี 2414 ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบจีนแต้จิ๋ว งดงามทั้งโครงสร้างและสีสัน วางแปลนตามแบบวัดหลวง คือมีวิหารท้าวจตุโลกบาลเป็นวิหารแรก ตรงกลางเป็นพระอุโบสถ และข้างหลังพระอุโบสถเป็นวิหารเทพเจ้า

วัดมังกร

Tanisorn Vongsoontorn/Time Out Bangkok

นอกจากเทพไท้ส่วยเอี๊ยที่คนนิยมมาไหว้เพื่อแก้ปีชงแล้ว ภายในวัดมังกรยังมีเทพเจ้ามากถึง 58 องค์ โดยมีพระศากยมุนีพุทธเจ้า พระอมิตาภพุทธเจ้า และพระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า เป็นพระประธานของวัด ซึ่งทั้ง 3 องค์ เรียกรวมกันว่า ซำป้อฮุกโจ้ว

ที่อยู่: 423 ถนนพลับพลาไชย แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย

เวลาเปิด-ปิด: 07.00 - 18.00 น.

ศาลเจ้าแม่กวนอิม มูลนิธิเทียนฟ้า 

ศาลเจ้าในมูลนิธิที่เก่าแก่ที่สุดของไทย

ศาลเจ้าแม่กวนอิม
Tanisorn Vongsoontorn/Time Out Bangkok

ใครแวะมาที่นี่จะได้รับการเยียวยาทั้งร่างกายและจิตใจ เพราะนอกจากจะเป็นที่ตั้งของมูลนิธิเทียนฟ้า มูลนิธิแห่งแรกของประเทศไทยที่ทำการรักษาผู้ป่วยยากไร้โดยไม่เลือกชนชั้น ไม่แบ่งเชื้อชาติ ศาสนา มาตั้งแต่ปี 2445 แล้ว ข้างหน้าของมูลนิธิยังมีศาลเจ้าแม่กวนอิม อันเป็นที่พึ่งทางใจที่ผู้คนนิยมมาขอพรให้ปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บตลอดทั้งวัน

 ศาลเจ้าแม่กวนอิม
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok

ศาลเจ้าแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ถนนเยาวราช ใกล้กับวงเวียนโอเดียน มีเจ้าแม่กวนอิม พระโพธิสัตว์ อวโลกิเตศวร ปางประทานพร สีทองเหลืองอร่าม เป็นเทพเจ้าองค์ประธาน สร้างด้วยไม้จันทน์แกะสลัก รูปแบบศิลปะสมัยราชวงศ์ถัง แต่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยของราชวงศ์ซ่งหรือเมื่อประมาณ 800-900 ปีที่ผ่านมา และถูกอัญเชิญจากประเทศจีนมาประดิษฐานที่ศาลเจ้าแห่งนี้ตั้งแต่ปี 2501 จนถึงปัจจุบัน

ที่อยู่: 606 ถนนเยาวราช แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์

เวลาเปิด-ปิด: 05.00 - 00.00 น.

วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร

พระพุทธรูปทองคำแท้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

วัดไตรมิตร

Tanisorn Vongsoontorn/Time Out Bangkok

จากหน้าศาลเจ้าแม่กวนอิม มูลนิธิเทียนฟ้า มองสูงขึ้นไปจะเห็นยอดพระมหามณฑปวัดไตรมิตรฯ อยู่ไม่ไกล เดินไปได้สบายเลย ถ้าจะถามทางกับชาวบ้านอาจจะถามว่า วัดสามจีนไปทางไหน? ก็ได้ เพราะนั่นคือชื่อเดิมของวัดนี้ เชื่อว่าเป็นวัดที่ชาวจีน 3 คนร่วมกันสร้างขึ้นก่อนที่จะได้รับการพัฒนาเรื่อยมาและได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหารในปี 2482

พระมหามณฑปเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ที่มองเห็นได้แต่ไกลนี้สร้างขึ้นในปี 2550 เป็นอาคารหินอ่อนทรงไทยวิจิตรศิลป์ มีทั้งหมด 4 ชั้น ชั้นล่างสุดเป็นที่จอดรถ ชั้น 2 เป็นศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช รวบรวมเรื่องราวของชาวจีนที่มาตั้งรกรากในย่านเยาราชตั้งแต่ยุคแรกๆ จนถึงปัจจุบัน มีการแบ่งโซนตามยุค โดยโซนแรกได้จำลองสภาพท้องเรือสำเภาของชาวจีน เหมือนเราได้มาเทียบท่าพร้อมๆ กับชาวจีนในยุคนั้น

วัดไตรมิตร

Tanisorn Vongsoontorn/Time Out Bangkok

พอเดินพ้นท้องเรือมาก็จะเป็นการจำลองอาชีพของชาวจีนยุคนั้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นพ่อค้าแม่ขาย ทุกอย่างออกแบบมาอย่างสมจริงจึงทำให้เราเห็นภาพเยาวราชยุคนั้นได้ชัดเจนมาก ถัดจากโซนนี้ก็จะเป็นโซนของยุคกลาง และยุคใหม่ ที่เล่าเรื่องด้วยภาพถ่าย อยากรู้ประวัติศาสตร์เยาวราชแบบละเอียดและเห็นภาพต้องมาที่นี่

ชั้น 3 เป็นนิทรรศการพระพุทธรูปทองคำ จัดแสดงเรื่องราวโดยสรุปเกี่ยวกับองค์พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากรตั้งแต่การสร้าง การอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดต่างๆ จนเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ปูนพอกองค์พระแตกและเผยให้เห็นเนื้อทอง ไปจนถึงการอัญเชิญมาประดิษฐานในพระมหามณฑป

วัดไตรมิตร

Tanisorn Vongsoontorn/Time Out Bangkok

ส่วนชั้น 4 เป็นชั้นสูงสุด เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร หรือหลวงพ่อทองคำ พระพุทธรูปที่ได้รับการบันทึกไว้ใน The Guinness Book of World Record ปี 2534 ว่าเป็นพระพุทธรูปทองคำแท้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและมีมูลค่าสูงกว่า 21 ล้านปอนด์

ที่อยู่: 661 ถนนเจริญกรุง แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์

เวลาเปิด-ปิด: 08.00 - 17.00 น.

วัดบำเพ็ญจีนพรต

วิหารพระรัตนตรัยที่เล็กที่สุดในไทย

วัดบำเพ็ญจีนพรต

Tanisorn Vongsoontorn/Time Out Bangkok

จากเก่าแก่ที่สุด ใหญ่ที่สุด เราขอปิดท้ายด้วยความเล็กที่สุดที่วัดบำเพ็ญจีนพรต ตั้งอยู่ในซอบเยาวราช 8 เป็นวัดของคณะสงฆ์จีนนิกายที่เก่าแก่และมีขนาดเล็กที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ว่ากันว่าสร้างโดยชาวจีนในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ราวๆ ปี 2338

วัดบำเพ็ญจีนพรต

Tanisorn Vongsoontorn/Time Out Bangkok

วัดเล็กๆ แห่งนี้ มีวิหารพระรัตนตรัยที่เล็กที่สุดในประเทศไทย ด้วยความกว้าง 7.80 เมตร ยาว 10.20 เมตร เป็นอาคารไม้แบบจีน ผนังก่ออิฐฉาบปูน หลังคาจั่วมุงด้วยกระเบื้องดินเผากาบกล้วย  สันหลังคาก่ออิฐปั้นปูน เป็นจั่วปั้นลมตามแบบสถาปัตยกรรมจีนแต้จิ๋ว ภายในวิหารมีองค์พระประทาน 3 องค์ ที่ชาวจีนเรียกว่าซำป้อฮุกโจ้ว ประดิษฐานอยู่ (เหมือนที่วัดมังกรฯ)

วัดบำเพ็ญจีนพรต

Tanisorn Vongsoontorn/Time Out Bangkok

อีกหนึ่งจุดที่น่าสนใจคือ พระอรหันต์ 18 รูป ที่ผนังสองข้างของวัด เป็นพระพุทธรูปที่สร้างด้วย ‘ศิลปะผ้าป่านลงรัก’ หรือวิธีสร้างพระปิดทับผ้าป่านเป็นหนึ่งในวิธีการสร้างพระพุทธรูปที่ชาวจีนรับมาจากอินเดียและเอเชียกลางและเป็นที่นิยมมากเพราะใช้วัสดุที่หาง่ายในประเทศจีนคือ ไม้ ดิน ทราย ปูนปั้น ผ้าป่าน ยางรัก พระพุทธรูปทั่วไปในจีนจึงมักจะพบพระที่สร้างด้วยวิธีนี้เสมอ

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น จริงๆ แล้วรอบสถานีวัดมังกรยังมีสถานที่สำคัญอีกหลายแห่งให้เดินเที่ยว เดินดูอะไรสวยๆ งามๆ ได้ทั้งวัน (ซึ่งก็ยังไม่หมด) ส่วนกลางคืนก็เต็มไปด้วยของอร่อย จึงไม่แปลกใจเลยที่เห็นนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาเที่ยวย่านนี้กันแบบไม่มีเบื่อ

ที่อยู่: 324 ซอยเยาวราช 8 ถนนเยาวราช  แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์

เวลาเปิด-ปิด: 08.00 - 18.00 น.

เรื่องเด่น
    เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ
      การโฆษณา