วัดแห่งนี้ผูกพันกับรัชกาลที่ 2 และราชวงศ์จักรีมาก ในช่วงที่รัชกาลที่ 9 ทรงรื้อฟื้นกระบวนพยุหยาตราชลมารค ในการทอดผ้าพระกฐินวัดสำคัญเพื่อฉลองพระนครครบ 200 ปี ก็ทรงเสด็จฯ มาที่วัดอรุณฯ เพราะเมื่อขบวนเสด็จฯ ผ่านบริเวณนี้ จะพบสัญลักษณ์ของพระมหาธาตุสำคัญคู่พระนคร และมีพระพุทธรูปที่รัชกาลที่ 2 ทรงปั้นพระพักตร์ด้วยฝีพระหัตถ์พระองค์เอง รวมถึงเคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต
พระอุโบสถมีพระระเบียงและซุ้มเสมาล้อมรอบ ซึ่งสามารถถอดประกอบได้ แนวกำแพงแก้วเป็นลักษณะรูปสิงห์คู่ เรียกว่า ทวารบาล สื่อถึงโลกมนุษย์กับสวรรค์ เป็นการนำประติมากรรมตามคติจีนมาผสมผสานกับวัดที่เป็นแบบไทยประเพณี ซึ่งเป็นเอกลักษณ์มาก ส่วนพระประธานฝีพระหัตถ์รัชกาลที่ 2 มีพระนามว่า ‘พระพุทธธรรมมิศราชโลกธาตุดิลก’ เป็นพุทธศิลป์เป็นแบบรัตนโกสินทร์แต่ได้รับอิทธิพลมาจากอยุธยา แย้มพระโอษฐ์เล็กน้อย มีการบรรจุพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 2 ไว้ข้างใน
นอกจากนี้ก็ยังมีพระปรางค์อันโด่งดังที่มีลักษณะผอมเพรียว สูงชะลูด ฐานใหญ่ หรือเรียกว่าทรงจอมแห ซึ่งสร้างตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เป็นดินเลน จึงจำเป็นต้องทำฐานใหญ่เพื่อป้องกันการทรุดตัว
พระปรางค์วัดอรุณฯ ออกแบบตามลักษณะทางกายภาพของเขาพระสุเมรุ ที่ประกอบด้วยชาน ๕ ชั้น แต่ละชั้นมีกองรักษาสวรรค์ อันได้แก่ นาค ครุฑ กุมภัณฑ์ อสูร และเทวดา โดยมีพระอินทร์ประดิษฐานอยู่บนสุด คอยสอดส่งดูแลผู้คน ตามความเชื่อ ส่วนยอดพระปรางค์มีมงกุฎประดับไว้เป็นสัญลักษณ์ให้ชาวต่างชาติที่เดินทางมายังสยามรับรู้ว่า สยามมีจักรพรรดิราชและมีรูปแบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์