ท่าวาสุกรี-ท่าราชวรดิษฐ์ คือเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นเส้นทางเดิมที่ใช้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 9 นับว่าเป็นเส้นทางที่มีความสำคัญต่อประเพณีล้ำค่าของไทย
ขณะเดียวกัน บนฝั่งตั้งแต่ท่าวาสุกรีจนถึงท่าราชวรดิษฐ์ ก็มีสถานที่สำคัญที่มีความน่าสนใจในแง่ประวัติศาสตร์อยู่หลายที่ ไม่ว่าจะเป็นวัด ศาลเจ้า พิพิธภัณฑ์ และชุมชน วันนี้เราเลยจะพาเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาไปทำความรู้จักกับสถานที่เหล่านี้กับเรื่องเล่าบางเรื่องที่คุณอาจจะยังไม่รู้ต่อให้เคยไปมาแล้วกี่ครั้งก็ตาม
![วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร](https://media.timeout.com/images/105576103/image.jpg)
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok
![วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร](https://media.timeout.com/images/105576104/image.jpg)
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok
วัดประยุรวงศาวาสนับเป็นพระอารามเพียงแห่งเดียวที่ถือเป็นพุทธสถานประจำสมเด็จเจ้าพระยาฯ ตั้งอยู่ใกล้กับเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฝั่งธนบุรี ก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) มอบสวนกาแฟให้สร้างเป็นวัดขึ้นมา โดยชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดรั้วเหล็ก เพราะกำแพงบางส่วนเป็นรั้วเหล็ก ทำเป็นรูปอาวุธ เช่น หอก ดาบ ขวาน เป็นต้น
มีพระบรมธาตุเจดีย์ สีขาวองค์ใหญ่ที่มองเห็นได้แต่ไกลด้วยความสูงถึง 60.525 เมตร เริ่มสร้างโดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ และเสร็จสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เคยผ่านการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์หลายครั้ง รวมถึงเคยได้รับรางวัลอันดับ 1 ด้านการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก อีกด้วย
![พิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน](https://media.timeout.com/images/105576107/image.jpg)
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok
บ้านไม้ 3 ชั้นสีขาวสะอาดตา ตกแต่งด้วยพื้นลายกระเบื้องสไตล์อาซูเลโฆส ชั้นล่างถูกเนรมิตรให้เป็นคาเฟ่ขนาดเล็ก อบอวลไปด้วยกลิ่นหอมกรุ่นจากขนมปัง ‘สัพพะแยก’ ที่เป็นเมนูลูกผสมระหว่างไทย-โปรตุเกส ขณะที่ชั้นบนถูกจัดให้เป็นส่วนของพิพิธภัณฑ์เอกชนขนาดพอเหมาะโดยครอบครัวหนึ่งที่เป็นคนในพื้นที่ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์อันยาวนานของย่านกุฎีจีน
ในอดีตย่านกุฎีจีนเคยเป็นชุมชนของชาวคริสต์เชื้อสายโปรตุเกสที่อพยพจากกรุงศรีอยุธยามาพร้อมกับสมเด็จพระเจ้าตากสิน พิพิธภัณฑ์นี้จึงบอกเล่าสายสัมพันธ์ของสยามกับโปรตุเกส เรื่อยไปจนถึงเรื่องราวขนมไทยสูตรท้าวทองกีบม้า รวมถึงจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ที่สะท้อนถึงศิลปวัฒนธรรมและความเชื่อของคนไทย ส่วนชั้นบนสุดยังทำเป็นจุดชมวิวที่มองเห็นย่านกุฎีจีนและแม่น้ำเจ้าพระยาได้เกือบ 360 องศาอีกด้วย
![ศาลเจ้าเกียนอันเก็ง](https://media.timeout.com/images/105576116/image.jpg)
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok
![ศาลเจ้าเกียนอันเก็ง](https://media.timeout.com/images/105576117/image.jpg)
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok
ศาลเจ้าริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้ ไม่ชัดเจนว่าระดับความเก่าแก่อยู่ที่กี่ปี แต่มีบันทึกในหนังสือของนักพฤกษศาสตร์ชาวเดนมาร์กที่เข้าสยามมาในสมัยกรุงธนบุรี ยืนยันได้ว่า ศาลเจ้านี้ถูกสร้างอยู่ก่อนแล้ว และเมื่อชาวจีนฮกเกี้ยนมากราบไหว้พระที่วัดกัลยาณมิตร เห็นว่าศาลเจ้าเดิมชำรุดจึงรื้อทิ้งแล้วสร้างศาลเจ้าใหม่ขึ้นมาซึ่งก็คืออาคารปัจจุบัน
อาคารศาลเจ้าสร้างตามสถาปัตยกรรมแบบฮกเกี้ยนและด้วยความที่ชาวจีนฮกเกี้ยนผู้สร้างมีฝีมือด้านการแกะสลักไม้ ทำให้งานแกะสลักไม้ที่โถงด้านหน้าศาลมีความละเอียดและโดดเด่นกว่าที่อื่น รวมถึงช่องระบายอากาศก็สลักรูปมังกรล้อมรอบโต๊ะบูชาตามคติความเชื่อแบบจีน
![ศาลเจ้าเกียนอันเก็ง](https://media.timeout.com/images/105576121/image.jpg)
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok
![ศาลเจ้าเกียนอันเก็ง](https://media.timeout.com/images/105576125/image.jpg)
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok
ศาลเจ้าเกียนอันเกงเป็นศาลเจ้าพุทธมหายาน มีพระโพธิสัตว์กวนอิมปางสมาธิ ทำจากไม้จันทร์แกะสลักปิดทอง เป็นองค์ประธาน ด้านซ้ายคือหม่าโจ้ว (เจ้าแม่ทับทิม) ด้านขวาคือเจ้าพ่อกวนอู ขนาบข้างด้วย 18 อรหันต์ ส่วนที่เป็นไฮไลต์คือภาพวาดปูนเปียกบนผนังด้านในสุดของศาลเจ้า เล่าเรื่องสามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพเรือ เป็นฉากๆ จนจบเรื่อง ด้วยความงดงามที่ถูกรักษาไว้เป็นอย่างดี ทำให้ศาลเจ้าเกียนอันเกงได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ในปี พ.ศ. 2551
ทุกวันนี้ศาลเจ้าเกียนอังเกง เข้มงวดเรื่องการถ่ายภาพมาก มีป้ายห้ามถ่ายรูปติดรอบศาล จะถ่ายได้ต้องขออนุญาตก่อนเท่านั้น ทีแรกก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องห้าม แต่ผู้ดูแลศาลเจ้าเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนใครจะถ่ายก็ถ่ายตามสบาย แต่ปรากฏว่ามีคนใจบาปถ่ายรูป 18 อรหันต์ไปเสนอขายแล้วกลับมาขโมยไป ซึ่งยุคนั้นศาลเจ้าก็ไม่ได้มีระบบรักษาความปลอดภัยที่รัดกุม แต่หลังจากนั้นมาก็เริ่มให้ความสำคัญเรื่องนี้มากขึ้น รวมถึงการห้ามถ่ายรูปด้วย
![วัดกัลยาณมิตร](https://media.timeout.com/images/105576134/image.jpg)
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok
ที่ตั้งของวัดนี้เดิมทีเป็นพื้นที่ขุนนางนามว่า ‘เจ้าสัวโต’ เป็นชาวจีนโพ้นทะเลผู้ดูแลการค้าสำเภาและเป็นพระสหายของรัชกาลที่ 3 เมื่อเห็นว่าพระองค์ทรงโปรดวัดมาก จึงสร้างวัดถวายบนพื้นที่ของตัวเองซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำและอยู่นอกพระนคร
![วัดกัลยาณมิตร](https://media.timeout.com/images/105576136/image.jpg)
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok
![วัดกัลยาณมิตร](https://media.timeout.com/images/105576137/image.jpg)
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok
![วัดกัลยาณมิตร](https://media.timeout.com/images/105576138/image.jpg)
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok
มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ชื่อ ‘พระพุทธไตรรัตนนายก’ หรือ หลวงพ่อโต (ซำปอกง) ชาวพุทธนิยมแวะมาสักการบูชาเพื่อขอพรให้เดินทางแคล้วคลาดปลอดภัย และขอให้มีมิตรสหายและเพื่อนที่ดี เป็นพระพุทธรูปที่มีความสูงถึง 14.75 เมตร สร้างด้วยปูนปั้นลงรักปิดทองทั้งองค์ สร้างตามแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 คือ มีพระพักตร์นิ่งขรึม ไม่แย้มพระโอษฐ์ เพราะถือว่าเป็นพระต้องสำรวม พระอังสา (บ่าหรือไหล่) ใหญ่ ตามคติแบบอยุธยา ไม่มีพระถัน (นม) ห่มจีวรเฉียงแต่สูงมาก นิ้วพระหัตถ์เรียบเสมอกันแบบมหาบุรุษ โดโปรดให้สร้างหลวงพ่อโตขึ้นด้วยพระประสงค์ให้มีพระขนาดใหญ่ริมแม่น้ำ เช่นเดียวกับวัดพนัญเชิง สมัยกรุงศรีอยุธยา
ส่วนพระอุโบสถและพระวิหารหลวง เจ้าสัวโตได้สร้างตามคติจีน ทำให้เกิดสถาปัตยกรรมที่แหวกแนวไปจากเดิม เช่น พระอุโบสถและพระวิหารที่ไม่มีเครื่องลำยองอย่างช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มีข้อดีคือทนทาน ไม่ต้องคอยซ่อมบำรุง
![วัดอรุณ](https://media.timeout.com/images/105576142/image.jpg)
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok
วัดแห่งนี้ผูกพันกับรัชกาลที่ 2 และราชวงศ์จักรีมาก ในช่วงที่รัชกาลที่ 9 ทรงรื้อฟื้นกระบวนพยุหยาตราชลมารค ในการทอดผ้าพระกฐินวัดสำคัญเพื่อฉลองพระนครครบ 200 ปี ก็ทรงเสด็จฯ มาที่วัดอรุณฯ เพราะเมื่อขบวนเสด็จฯ ผ่านบริเวณนี้ จะพบสัญลักษณ์ของพระมหาธาตุสำคัญคู่พระนคร และมีพระพุทธรูปที่รัชกาลที่ 2 ทรงปั้นพระพักตร์ด้วยฝีพระหัตถ์พระองค์เอง รวมถึงเคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต
พระอุโบสถมีพระระเบียงและซุ้มเสมาล้อมรอบ ซึ่งสามารถถอดประกอบได้ แนวกำแพงแก้วเป็นลักษณะรูปสิงห์คู่ เรียกว่า ทวารบาล สื่อถึงโลกมนุษย์กับสวรรค์ เป็นการนำประติมากรรมตามคติจีนมาผสมผสานกับวัดที่เป็นแบบไทยประเพณี ซึ่งเป็นเอกลักษณ์มาก ส่วนพระประธานฝีพระหัตถ์รัชกาลที่ 2 มีพระนามว่า ‘พระพุทธธรรมมิศราชโลกธาตุดิลก’ เป็นพุทธศิลป์เป็นแบบรัตนโกสินทร์แต่ได้รับอิทธิพลมาจากอยุธยา แย้มพระโอษฐ์เล็กน้อย มีการบรรจุพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 2 ไว้ข้างใน
![วัดอรุณ](https://media.timeout.com/images/105576147/image.jpg)
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok
![วัดอรุณ](https://media.timeout.com/images/105576145/image.jpg)
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok
นอกจากนี้ก็ยังมีพระปรางค์อันโด่งดังที่มีลักษณะผอมเพรียว สูงชะลูด ฐานใหญ่ หรือเรียกว่าทรงจอมแห ซึ่งสร้างตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เป็นดินเลน จึงจำเป็นต้องทำฐานใหญ่เพื่อป้องกันการทรุดตัว
พระปรางค์วัดอรุณฯ ออกแบบตามลักษณะทางกายภาพของเขาพระสุเมรุ ที่ประกอบด้วยชาน ๕ ชั้น แต่ละชั้นมีกองรักษาสวรรค์ อันได้แก่ นาค ครุฑ กุมภัณฑ์ อสูร และเทวดา โดยมีพระอินทร์ประดิษฐานอยู่บนสุด คอยสอดส่งดูแลผู้คน ตามความเชื่อ ส่วนยอดพระปรางค์มีมงกุฎประดับไว้ ซึ่งเป็นมงกุฎของพระพุทธมหาจักรพรรดิ พระประธานในพระอุโบสถวัดนางนองวรวิหาร เขตจอมทอง แต่รัชกาลที่ 3 ทรงยืมมาประดับไว้เป็นสัญลักษณ์ให้ชาวต่างชาติที่เดินทางมายังสยามรับรู้ว่าสยามมีจักรพรรดิราชและมีรูปแบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และได้สร้างมงกุฎใหม่มอบคืนทางวัดในภายหลัง
![ประตูช่องกุด](https://media.timeout.com/images/105576149/image.jpg)
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok
ท่าราชวรดิษฐ์ เดิมทีเรียกว่า ‘ท่าขุนนาง’ มีที่มาจากการที่สมัยก่อนขุนนางไม่สามารถขึ้นลงท่าเดียวกับเจ้านายได้ ถึงแม้จะเป็นผู้ตามเสด็จก็ตาม ทำให้เมื่อเสร็จงานราชการแล้ว ขุนนางต้องเทียบเรือที่ถนนท่านี้ ปัจจุบันไม่มีท่าเรือชื่อท่าขุนนางแล้ว มีแต่ ‘ถนนท่าขุนนาง’ ซึ่งเป็นถนนสายสั้นๆ ที่แยกจากถนนมหาราชไปยังท่าราชวรดิษฐ์
![ประตูช่องกุด](https://media.timeout.com/images/105576154/image.jpg)
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok
มีเรื่องสนุกข้างวังเรื่องหนึ่งที่น่าจำไว้เป็นความรู้รอบตัว คือในสมัยรัชกาลที่ 3 บริเวณนี้เคยมีตลาดขนาดใหญ่ เรียกว่า ตลาดท้ายสนม มีพื้นที่กินอาณาบริเวณตั้งแต่ถนนท้ายวังจนถึงตลาดท่าเตียนในปัจจุบัน เป็นตลาดที่บรรดานางในจะออกมาช้อปปิ้งกันทาง ‘ประตูช่องกุด’ หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ‘ประตูดิน’ เพราะเป็นประตูเล็กๆ เตี้ยๆ เป็นโอกาสดีที่เหล่าขุนนางจะได้ขายขนมจีบให้กับเหล่านางใน ถ้าเคยได้ยินคำว่า ‘เจ้าชู้ประตูดิน’ ก็มีที่มาจากการขายขนมจีบของเหล่าขุนนางที่ประตูช่องกุดแห่งนี้แหละ
![วัดมหาธาตุ](https://media.timeout.com/images/105576156/image.jpg)
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok
![วัดมหาธาตุ](https://media.timeout.com/images/105576160/image.jpg)
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok
หนึ่งในวัดที่สำคัญที่สุดของกรุงเทพฯ ได้รับการบูรณะโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กวาดต้อนช่างฝีมือชั้นสูงมาปรับปรุงซ่อมแซม มีรูปแบบสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของสกุลช่างวังหน้า ที่ค่อนข้างเรียบง่ายและแตกต่างจากสกุลช่างหลวง
พระอุโบสถและพระวิหารลอกแบบมาจากอยุธยาผสมอิทธิพลขอมและเขมรที่มักจะสร้างพระระเบียงล้อมรอบ ส่วนใบเสมา ถ้าไม่สังเกตดีๆ อาจจะไม่เห็น เพราะแทนที่จะตั้งอยู่หน้าพระอุโบสถ กลับถูกนำไปติดบนเหลี่ยมเสา รวมถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ช่างวังหน้าแอบโชว์ฝีมือไว้เนียนๆ อย่าง ‘นาคเบือน’ บนซุ้มหน้าต่างพระอุโบสถ และเครื่องลำยองที่ไม่มีนาคสะดุ้ง
![วัดมหาธาตุ](https://media.timeout.com/images/105576162/image.jpg)
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok
![วัดมหาธาตุ](https://media.timeout.com/images/105576163/image.jpg)
Tanisorn Vongsoontorn / Time Out Bangkok
ครั้งหนึ่งวัดนี้เคยเป็นที่ทำการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 9 ของโลก โดยอาราธนาสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์มาทรงเป็นประธานในการดำเนินการ ต่อมาจึงเกิดเป็นธรรมเนียมว่าสมเด็จพระสังฆราชทุกองค์จะต้องเสด็จมาประทับที่วัดมหาธาตุ ก่อนจะยกเลิกธรรมเนียมไปนับแต่สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 6 ลงมา
ส่วนพระมณฑป เปรียบได้กับหัวใจของวัดนี้ เพราะเป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์ทองทรงเครื่องย่อมุมไม้สิบสอง บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ อันเป็นที่มาของชื่อวัด รอบพระเจดีย์ประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณทั้งพุทธศิลป์สุโขทัยและอยุธยารวมกันและส่วนใหญ่มีรูปพรรณสัณฐานที่เป็นเอกลักษณ์ตามฉบับพุทธศิลป์ที่รัชกาลที่ 3 ทรงโปรด
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีอีกหลายที่ที่ยังไม่ได้พาแวะ ถ้าจะเก็บให้ครบทุกที่คงต้องอ่านกันทั้งวันทั้งคืน (ซึ่งก็คงยังไม่หมด) เอาเป็นว่า อ่านจบแล้วลองออกไปเยือนแต่ละที่ด้วยตัวเอง และแวะสถานที่อื่นๆ แล้วกลับมาเล่าให้เราฟังบ้างนะ