[title]
ศาลเจ้าริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้ ไม่ชัดเจนว่าระดับความเก่าแก่อยู่ที่กี่ปี แต่มีบันทึกในหนังสือของนักพฤกษศาสตร์ชาวเดนมาร์กที่เข้าสยามมาในสมัยกรุงธนบุรี ยืนยันได้ว่า ศาลเจ้านี้ถูกสร้างอยู่ก่อนแล้ว และเมื่อชาวจีนฮกเกี้ยนมากราบไหว้พระที่วัดกัลยาณมิตร เห็นว่าศาลเจ้าเดิมชำรุด จึงรื้อทิ้งแล้วสร้างศาลเจ้าใหม่ขึ้นมาซึ่งก็คืออาคารปัจจุบัน
อาคารศาลเจ้าสร้างตามสถาปัตยกรรมแบบฮกเกี้ยนและด้วยความที่ชาวจีนฮกเกี้ยนผู้สร้างมีฝีมือด้านการแกะสลักไม้ ทำให้งานแกะสลักไม้ที่โถงด้านหน้าศาลมีความละเอียดและโดดเด่นกว่าที่อื่น รวมถึงช่องระบายอากาศก็สลักรูปมังกรล้อมรอบโต๊ะบูชาตามคติความเชื่อแบบจีน
ศาลเจ้าเกียนอันเก็งเป็นศาลเจ้าพุทธมหายาน มีพระโพธิสัตว์กวนอิมปางสมาธิ ทำจากไม้จันทร์แกะสลักปิดทอง เป็นองค์ประธาน ด้านซ้ายคือหม่าโจ้ว (เจ้าแม่ทับทิม) ด้านขวาคือเจ้าพ่อกวนอู ขนาบข้างด้วย 18 อรหันต์ ส่วนที่เป็นไฮไลต์คือภาพวาดปูนเปียกบนผนังด้านในสุดของศาลเจ้า เล่าเรื่องสามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพเรือ เป็นฉากๆ จนจบเรื่อง ด้วยความงดงามที่ถูกรักษาไว้เป็นอย่างดี ทำให้ศาลเจ้าเกียนอันเก็งได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ในปี พ.ศ. 2551