ที่ตั้งของวัดนี้เดิมทีเป็นพื้นที่ขุนนางนามว่า ‘เจ้าสัวโต’ เป็นชาวจีนโพ้นทะเลผู้ดูแลการค้าสำเภาและเป็นพระสหายของรัชกาลที่ 3 เมื่อเห็นว่าพระองค์ทรงโปรดวัดมาก จึงสร้างวัดถวายบนพื้นที่ของตัวเองซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำและอยู่นอกพระนคร
มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ชื่อ ‘พระพุทธไตรรัตนนายก’ หรือ หลวงพ่อโต (ซำปอกง) ชาวพุทธนิยมแวะมาสักการบูชาเพื่อขอพรให้เดินทางแคล้วคลาดปลอดภัย และขอให้มีมิตรสหายและเพื่อนที่ดี เป็นพระพุทธรูปที่มีความสูงถึง 14.75 เมตร สร้างด้วยปูนปั้นลงรักปิดทองทั้งองค์ สร้างตามแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 คือ มีพระพักตร์นิ่งขรึม ไม่แย้มพระโอษฐ์ เพราะถือว่าเป็นพระต้องสำรวม พระอังสา (บ่าหรือไหล่) ใหญ่ ตามคติแบบอยุธยา ไม่มีพระถัน (นม) ห่มจีวรเฉียงแต่สูงมาก นิ้วพระหัตถ์เรียบเสมอกันแบบมหาบุรุษ โดโปรดให้สร้างหลวงพ่อโตขึ้นด้วยพระประสงค์ให้มีพระขนาดใหญ่ริมแม่น้ำ เช่นเดียวกับวัดพนัญเชิง สมัยกรุงศรีอยุธยา
ส่วนพระอุโบสถและพระวิหารหลวง เจ้าสัวโตได้สร้างตามคติจีน ทำให้เกิดสถาปัตยกรรมที่แหวกแนวไปจากเดิม เช่น พระอุโบสถและพระวิหารที่ไม่มีเครื่องลำยองอย่างช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มีข้อดีคือทนทาน ไม่ต้องคอยซ่อมบำรุง