RIVULET at Awakening Bangkok 2020
Tanisorn Vongsoontorn/Time Out Bangkok
Tanisorn Vongsoontorn/Time Out Bangkok

ธีรวัฒน์ คลังเจริญชัย: "ผมอยากให้ทุกคนได้ลองเอาชนะความกลัวด้วยการ 'เดินบนน้ำ'"

คุยกับศิลปินเจ้าของผลงาน 'Rivulet' ที่เทศกาล Awakening Bangkok 2020 ที่อยากชวนทุกคนเอาชนะตัวเอง

Kenika Ruaytanapanich
การโฆษณา

Rivulet (ริวัลเล็ต) ผลงานแสดงไฟในเทศกาล Awakening Bangkok 2020 ที่ฉายอยู่บนสนามฟุตบอลเล็กๆ ใกล้กับมัสยิดฮารูน เป็นชิ้นงานจัดแสดงในรูปแบบการฉาย mapping ลงบนพื้น ด้วยลวดลายคล้ายกับผืนน้ำ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนลายไปเรื่อยๆ ให้ทุกคนกลับไปถ่ายรูปกันได้ตลอดช่วงเทศกาล

และนอกจากแสง สี เสียง ถ้าพูดถึงสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินสร้างผลงานชิ้นนี้ออกมาก็มีความล้ำลึกไม่แพ้กัน

RIVULET
Tanisorn Vongsoontorn/TimeOut Bangkok

“ผมเริ่มสนใจงานศิลปะแนวนี้มา 10 กว่าปีแล้ว ตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เป็นความชอบส่วนตัวด้านแสงสีเสียงด้วย โดยเฉพาะพวก sound electronic ผมเลยไปเรียนต่อที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน ที่เขามีมหาวิทยาลัยขึ้นชื่อเรื่องพวกนี้โดยตรง”

คุณธี -  ธีรวัฒน์ คลังเจริญชัย ศิลปินเจ้าของผลงานชิ้นนี้เล่าให้เราฟังถึง ความชอบในการทำผลงานสไตล์ Mapping จนทำให้เขาตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโทคณะ Media Spaces (M.A.) ที่ University of Applied Sciences Europe ประเทศเยอรมนี เป็นคณะที่เรียนโดยตรงด้านมัลดิมีเดียและสเปซ โดยขณะเรียนอยู่ที่นั่นเขาก็เคยมีผลงานทำเสียงประกอบให้นิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ของกรุงเบอร์ลินด้วย

“ศิลปินที่ผมชื่นชอบคือ ริวจิ อิเคดะ (Ryoji Ikeda) เป็นศิลปินวิชวลอาร์ตที่ทำงานสื่อผสม การฉาย mapping หรือการเขียนโค้ดดิ้งแบบ generative design”

THEERAWAT KLANGJAREONCHAI
Tanisorn Vongsoontorn/Time Out Bangkok

หลังจากคุณธีกลับมาจากประเทศเยอรมนี เขาก็จัดแสดงผลงานชิ้นแรกในประเทศไทยร่วมกับศิลปินคนอื่นๆ ที่มาจากประเทศเยอรมนีเช่นกัน ในนิทรรศการที่ชื่อว่า ‘There Is No Thai Park’ ที่เคยจัดแสดงอยู่ ณ SAC Gallery ชิ้นงานของคุณธีเป็นดิสโก้บอลที่มีการฉาย mapping ลงบนลูกบอลดิสโก้ นิทรรศการนี้เล่าถึงความทรงจำที่ศิลปินมีเกี่ยวกับ Thai Park สวนสาธารณะแห่งหนึ่งในกรุงเบอร์ลิน

สำหรับผลงาน Rivulet ที่จัดแสดงในเทศกาล AWKN2020 จึงเป็นชิ้นงานที่ 2 ที่ศิลปินจัดแสดงในประเทศไทย เป็นการผสมทั้ง ความชอบ และ ความเชื่อ ส่วนตัวลงไป จนเกิดเป็นงานจัดแสดงชิ้นนี้ที่คุณธีต่อยอดมาจากคอนเซ็ปต์งานที่พูดถึงการก้าวไปข้างหน้า การมีความหวัง โดยศิลปินมองว่าเนื่องจากปีนี้เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ทุกคนเกิดทั้งความกลัว ความเศร้า และรู้สึกหดหู่ จึงอยากนำเสนอผลงานที่จะสร้างความกล้าให้ทุกคนไม่กลัวความเปลี่ยนแปลงที่จะเข้ามา

“การไม่มีความหวังทำให้ชีวิตเราไม่สดใส พอผมได้เห็นพื้นที่ตรงนี้ที่เป็นของมัสยิดฮารูนก็รู้สึกสนใจ เพราะเหมาะกับการฉาย mapping ลงบนพื้น ซึ่งพื้นที่นี้จะมีข้อจำกัดคือ ห้ามมีเสียง และต้องไม่รบกวนคนในพื้นที่เยอะ"

"ผมเลยกลับมาคิดว่าจะทำชิ้นงานแบบไหนดีที่ตรงกับสิ่งที่เราสนใจ แล้วก็จบที่งานเกี่ยวกับ ‘น้ำ’ เพราะผมอยากให้ทุกคนเอาชนะความกลัวของตัวเอง จึงตัดสินใจทำผลงานที่ให้ทุกคนมาลอง 'เดินบนน้ำ' ซึ่งเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติและเป็นไปไม่ได้”

คุณธีตั้งใจทำผลงานชิ้นนี้เพราะอยากให้ผู้มาชมงานได้รู้สึกได้ก้าวข้ามขีดจำกัด ราวกับได้เอาชนะความกลัวของตัวเอง และเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลง ความไม่แน่นอนต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งเราเพียงต้องกล้าที่จะก้าวออกไปเพื่อเอาชนะสิ่งเหล่านั้น

“ผมรู้สึกว่างานนี้เข้ากับพื้นที่ตรงนี้ได้ดี เหมือนมันสามารถอยู่กับทุกคนได้ ส่วนตัวแล้วผมเป็นคนสนใจเรื่องความเชื่อและศาสนาด้วย และไม่ว่าศาสนาไหนก็จะมีการพูดถึงน้ำ เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิต ก็เลยเกิดเป็นชิ้นงานนี้ ที่ชื่อว่า Rivulet แปลว่า แม่น้ำ หรือคูน้ำเล็กๆ

ส่วนตัวชอบคำนี้ด้วย เพราะว่า vu-let คล้ายกับคำว่า bullet ที่หมายถึงกระสุนพอดี ตรงกับความตั้งใจของผมที่อยากให้งานนี้เป็นเหมือนการยิงความกล้าออกไปให้ทุกคนเผชิญกับสิ่งใหม่ๆ”

RIVULET at Awakening Bangkok 2020
Yasinthorn Sangprateep
RIVULET at Awakening Bangkok
Yasinthorn Sangprateep
ถ้าถามว่าการเขียนโค้ดยากไหม ผมคิดว่าเพราะเป็นสิ่งที่เราชอบและเนิร์ดมากกว่า

คุณธีบอกว่างานชิ้นนี้จะมีอยู่ประมาณ 2-3 ลาย ซึ่งจะเปลี่ยนลายไปเรื่อยๆ ให้คนมาเดินเที่ยวงานไม่เบื่อ ซึ่งจะคงคอนเซ็ปต์น้ำเอาไว้ แต่ว่าจะเปลี่ยนรูปร่างรูปทรงต่างกันไป โดยงานนี้สร้างขึ้นจากการเขียนโค้ด หรือ generative design ที่ไม่ใช่ภาพวิดีโอ แต่เป็นการประมวลผลโดยอัลกอริทึ่มที่ทำให้ชิ้นงานเคลื่อนไหวจริงเหมือนน้ำ ลายที่ฉายลงพื้นจึงขยับไม่ซ้ำกัน

“ตอนเรียนก็ไม่มีการสอนทั้งหมด แต่เพราะเราชอบ เราสนใจ เราทำมันเรื่อยๆ ทำทุกวัน อีกอย่างหนังสือเกี่ยวกับการเขียนโค้ดก็มีอยู่ในห้องสมุดอยู่แล้ว ถ้าเราขยันพอที่จะขุดมัน ก็จะเจอวิธีทาง”

ซึ่งเรื่องน่าเสียดายอย่างหนึ่งคือตอนแรกคุณธีวางแผนให้ชิ้นงานสามาถ interact กับคนดูได้ด้วยตัวเอง แต่เพราะความสูงของหลังคาที่ต้องปีนขึ้นไปติดตั้งระบบ ทำให้ลูกเล่นนี้ต้องยกเลิกไป แต่ถึงอย่างนั้น ขณะนั่งสัมภาษณ์เราก็ได้เห็นการอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชนและชิ้นงาน อย่างเช่นเด็กๆ ที่มาเกลือกกลิ้งบนสนามฟุตบอลเพื่อเล่นกับแสง หรือเสียงพิธีกรรมจากมัสยิดฮารูน สิ่งเหล่านี้ช่วยเพิ่มบรรยากาศให้ชิ้นงานดูมีมนต์ขลังได้อย่างน่าสนใจ

“การนำชิ้นงานมานำเสนอบนพื้นที่ตรงนี้ คนในพื้นที่ก็ไม่ได้ต่อต้านอะไร แต่เราก็มีการคุยกันเพื่อปรับคอนเซ็ปต์ที่มีการพูดถึงศาสนา เพราะชาวบ้านแถบนี้ส่วนใหญ่เป็นอิสลาม หากมีคนมาถามเราก็จะเล่าเท่าที่เล่าได้ แต่ผมเองอยากให้มองว่าเป็นงานศิลปะมากกว่า”

Rivulet ชิ้นงานจัดแสดงหมายเลข 8 อยู่ที่ มัสยิดฮารูน ไม่ไกลจากบ้านพักตำรวจน้ำ เมื่อเจอทางเข้ามัสยิดจะเห็นผลงาน River Flow แล้วเดินเลยมาอีกนิดก็จะเจอผลงานไฟชิ้นนี้แล้ว 

View this post on Instagram

A post shared by Nattanich Sp (@viview_nns)

View this post on Instagram

A post shared by ffaeirst (@firstpyn__)

เรื่องเด่น
    เรื่องน่าสนใจอื่นๆ ที่คุณน่าจะชอบ
      การโฆษณา