Dancing River ผลงานศิลปะกรรมไฟในเทศกาลแสงไฟ Awakening Bangkok 2020 ที่จำลองผิวน้ำที่ไม่เคยหยุดนิ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา มาไว้ในรูปแบบของแท่งนีออนยาวเรียงกันในแนวนอนและเซ็ตระบบให้เคลื่อนที่พริ้วไหวราวกับคลื่นน้ำยามลมแรง และแท่งนีออนนี้ก็ยังสามารถเปลี่ยนสีได้เหมือนแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะเปลี่ยนสีไปตามแสงไฟของเมืองที่สะท้อนลงมา
![Dancing River Awakening Bangkok 2020](https://media.timeout.com/images/105732154/image.jpg)
ผลงานนี้จัดแสดงอยู่ที่ ‘บ้านริมน้ำ’ ร้านอาหารและพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะหลากหลายรูปแบบริมแม่น้ำเจ้าพระยา มันจึงถูกออกแบบโดยตั้งใจให้คนดูรู้สึกผ่อนคลายไม่ต่างจากการนั่งพักผ่อนริมแม่น้ำ
![Dancing River Awakening Bangkok 2020](https://media.timeout.com/images/105732153/image.jpg)
Dancing River เป็นผลงานของ ปวิมล สามเสน (ติ๊ดตี่) และ ชญานนท์ ต.เจริญ (นนท์) จาก 27 JUNE Studio สตูดิโอนิวมีเดียแห่งใหม่ที่เพิ่งเปิดได้เพียง 5 เดือน แต่ประสบการณ์และฝีมือของทั้งสองคนก็ไม่ธรรมดา โดยนนท์ จบการศึกษาด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์ และมีประสบการณ์ทำงานด้านนี้มานาน ส่วนติ๊ดตี่เองก็บินไปศึกษาด้าน Performance and Interaction Design ถึงอังกฤษ
“สตูดิโอเราจะเน้นงานพวก Multisensory โดยพยายามให้คนเข้าไปอยู่ในงานหรือเป็นส่วนหนึ่งของงาน เราไม่ได้มองว่าเราออกแบบงานอาร์ต แต่เราออกแบบประสบการณ์โดยรวม” ติ๊ดตี่ แนะนำ 27 JUNE Studio กับเราคร่าวๆ ก่อนจะพูดถึงผลงาน Dancing River ว่า
“อย่างงานนี้ เราออกแบบทั้งวิชวล กลิ่น และเสียง ทุกอย่างเราพยายามทำให้คนดูเกิดความผ่อนคลาย อย่างเพลงเราก็ใช้เป็นเพลงที่ให้ความรู้สึกสงบ กลิ่นก็ใช้อโรม่าที่ให้ความผ่อนคลาย เราอยากให้คนเข้ามาแล้วรู้สึกเหมือนอยู่ริมน้ำที่นั่งมองได้เรื่อยๆ รู้สึกผ่อนคลาย”
![Dancing River Awakening Bangkok 2020](https://media.timeout.com/images/105732156/image.jpg)
ความรู้ ประสบการณ์ ฝีมือ และความคิดสร้างสรรค์ที่ศิลปินทั้ง 2 คนมี ถือว่าเป็นส่วนผสมที่ลงตัว ทำให้ Dancing River เป็นผลงานที่สมบูรณ์แบบในทุกองค์ประกอบ และในการทำงานร่วมกันพวกเขาก็ยังเป็น ‘ทีมเวิร์ก’ ที่ดี
“ติ๊ดตี่จะเริ่มในการออกแบบก่อนว่าคอนเซ็ปต์จะเป็นยังไง รูปร่างลักษณะของงานจะเป็นยังไง แต่จริงๆ เราก็มีการคุยกัน ช่วยกันพัฒนาคอนเซ็ปต์ พัฒนารูปร่างตลอด ไม่ได้ทำงานขาดกันขนาดนั้น แต่ว่าเรื่องเทคนิคในผลงาน นนท์ก็จะดูแลเป็นหลัก” ติ๊ดตี่ อธิบาย
![Dancing River Awakening Bangkok 2020](https://media.timeout.com/images/105732157/image.jpg)
“ผมจบด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์ ก็เลยทำเทคนิคอะไรอย่างนี้ได้ เทคนิคที่เราใช้เรียกว่า Kinetic Installation จริงๆ ระบบตัวนี้มันก็เป็นการทดลองอะไรใหม่ๆ ของเราด้วย เพราะก่อนหน้านี้เราทำแต่พวกโปรเจ็กเตอร์ แต่ Kinetic Installation จะเป็นระบบ Internet of Things หมด คือเราจะส่งข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ไปหาผลงานได้แบบไร้สาย และเราก็สามารถออกแบบรูปแบบการเคลื่อนไหวส่งไปที่ผลงานได้แบบเรียลไทม์ สามารถเพิ่มสี เปลี่ยนลาย ได้หมด” นนท์ เสริม