พิธีถวายน้ำอภิเษกเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นการทำพิธีรดน้ำที่พระหัตถ์ โดยน้ำที่ใช้ในการพระราชพิธีจะต้องผ่านการเสกน้ำพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล
เดิมทีราชบัณฑิตและพราหมณ์จะเป็นผู้ถวาย จน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประจำทิศทั้ง 8 เป็นผู้ถวายน้ำอภิเษก ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 ซึ่งนัยถึงการเป็น “พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย” ครั้งแรก
ภาพ: พิธีถวายน้ำอภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9)
น้ำอภิเษก ประกอบด้วยน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์จากหอศาสตราคมในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร และอีก 76 จังหวัดทั่วประเทศ รวม 108 แหล่งน้ำ ซึ่งจะต้องผ่านพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งถือเป็นครั้งแรก ที่ใช้น้ำจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ แสดงถึงความมีส่วนร่วมของพสกนิกร ในพระราชพิธีที่สำคัญ
โดยหลังจากสรงพระมุรธาภิเษกและทรงรับน้ำอภิเษกแล้ว จะมีการน้อมเกล้าฯ ถวายเบญจราชกกุธภัณฑ์โดยพระราชครู ซึ่งในสมัยโบราณเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงรับมงกุฎมาแล้วก็เพียงทรงวางไว้ข้างพระองค์ เนื่องจากถือว่ามงกุฎมีค่าสำคัญเท่ากับราชกกุธภัณฑ์อื่นๆ
แต่ต่อมาเมื่อประเทศไทยติดต่อกับประเทศในทวีปยุโรปมากขึ้น จึงนิยมตามราชสำนักยุโรปที่ถือว่า ภาวะแห่งความเป็นพระมหากษัตริย์อยู่ที่เวลาได้สวมมงกุฎ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ได้ทรงเชิญทูตานุทูตในประเทศไทยร่วมในพระราชพิธีและทรงรับพระมหาพิชัยมงกุฎมาทรงสวม แต่นั้นมาก็ถือว่าพระมหาพิชัยมงกุฎเป็นสิ่งสำคัญในบรรดาเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และพระมหากษัตริย์จะทรงสวมพระมหาพิชัยมงกุฎในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ภาพ: พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ขณะทรงสวมพระมหาพิชัยมงกุฎ
สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 นี้ ผู้ที่ถวายน้ำอภิเษกทั้ง 8 ทิศ ได้แก่:
- ทิศบูรพา (ตะวันออก) พลเรือเอก หม่อมเจ้าปุสาณ สวัสดิวัตน์
- ทิศอาคเนย์ (ตะวันออกเฉียงใต้) หม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคล
- ทิศทักษิณ (ใต้) พลโท หม่อมเจ้าเฉลิมศึก ยุคล
- ทิศหรดี (ตะวันตกเฉียงใต้) พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี
- ทิศประจิม (ตะวันตก) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
- ทิศพายัพ (ตะวันตกเฉียงเหนือ) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
- ทิศอุดร (เหนือ) นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา
- ทิศอีสาน (ตะวันออกเฉียงเหนือ) นายจรัส สุวรรณเวลา ราชบัณฑิต